บันทึกเยี่ยม “บุ๊ค” ธนายุทธ:  บทเพลงจากพลังและความหวังผู้ต้องขังฯ ‘วัยหนุ่ม’

ช่วงปลายเดือน พ.ย. และ ต้นเดือน ธ.ค. 2567 ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทนายความเข้าเยี่ยม “บุ๊ค” ธนายุทธ ณ อยุธยา ศิลปินฮิปฮอป และผู้ต้องขังคดีการเมืองจากเหตุตรวจพบการครอบครองระเบิดปิงปอง, ประทัด และพลุ ในช่วงชุมนุมทางการเมือง เมื่อปี 2565  

ครั้งนี้บุ๊คออกมาสนทนาถึงความเป็นไปในชีวิตประจำวัน ที่นอกจากกิจวัตรของผู้ต้องขังทางการเมือง บุ๊คยังคงสังเกตการณ์ผู้คน ก่อนแปรเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นเป็นบทเพลงในแบบที่เขาเชื่อมั่นว่าจะสร้างผลงานสะท้อนสังคมออกมาได้ รวมถึงการพูดคุยและร่วมคิดในเชิงตกผลึกถึงปัญหาทางออกการมีผู้ต้องขังปริมาณเยอะเกินกว่าเรือนจำจะรองรับไหว รวมไปถึงการมองประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องโครงสร้างทางสังคมที่ทุกคนต้องมีส่วนร่วมจัดการ

ข้อค้นพบจากบันทึกเยี่ยมครั้งนี้ยังบ่งชี้ว่า บุ๊คไม่ได้มองตนเองเป็นเพียงผู้ต้องขัง แต่เขาคือนักคิด นักฝัน นักต่อสู้เพื่อความเป็นธรรม แม้อยู่ในห้องขัง แต่จิตวิญญาณวัยหนุ่มของเขายังคงเสรี เต็มเปี่ยมไปด้วยความหวังและพลังแห่งการเปลี่ยนแปลง 

.

วันที่ 28 พ.ย. 2567 

บุ๊คปรากฏเพียงเสียงผ่านทางโทรศัพท์ แม้ไม่ได้พบหน้ากัน แต่ฟังจากน้ำเสียงยังคงสดใส เขาบอกว่าช่วงนี้สุขภาพกายยังพอทรงตัว แม้จะมีปัญหาผิวแห้งและหนังศีรษะลอกเป็นแผ่น เพราะบรรดาแชมพู สบู่ และน้ำ ข้างในเรือนจำ ยังไม่มีเพียงพอสำหรับผู้ต้องขัง ทั้งยังเลือกคุณภาพไม่ได้ 

บุ๊คเล่าถึงชีวิตในเรือนจำที่ค่อย ๆ ตกผลึกว่า ที่แห่งนี้ไม่เพียงเป็นสถานที่คุมขัง แต่ยังเป็นพื้นที่ซึ่งรวบรวมผู้คนหลากหลายชีวิต จากดาราไปจนถึงนักการเมือง แต่ละคนล้วนมีเรื่องราวและความทุกข์ที่ซ่อนเร้น เท่าที่พบปัจจุบัน แดน 4 มีผู้ต้องขังถึง 671 คน แต่มีเพียง 100 คนเท่านั้นที่คดีถึงที่สุด ห้องขังแต่ละห้องจากที่ปกติรองรับได้ 45 คน บัดนี้กลับแน่นขึ้นเป็น 55 คน สะท้อนให้เห็นถึงความแออัดที่น่าเป็นห่วง  

บุ๊คยังได้คุยกับผู้ต้องขังหลายคน โดยเฉพาะคนที่โดนคดีเล็ก ๆ แต่ไม่มีเงินประกันตัว เพราะยากจน ก่อนสะท้อนว่าถ้าให้สิทธิประกันตัว ผู้ต้องขังในนี้จะลดลงเยอะ ถ้ายึดหลักว่าเขาออกไปแล้วไม่หลบหนี ไม่ไปยุ่งเหยิงพยานหลักฐานจนกระทบคดี หรือหาวิธีการอื่น ๆ แทนการวางหลักทรัพย์ อย่างการใส่กำไล EM หรือให้กักขังที่บ้าน ก็จะทำให้คนได้รับสิทธิประกันตัวมากขึ้น  

สำหรับบุ๊ค สิ่งเหล่านี้ช่วยได้มากกว่าการย้ายผู้ต้องขังไปเรือนจำอื่นแบบที่เคยทำ ยิ่งกับหลายชีวิตถ้าได้สิทธิออกไปสู้คดี ออกไปทำงานหารายได้มาดูแลตัวเองและครอบครัว “เขาก็มีโอกาสมากขึ้นที่จะชนะคดี ถ้าไม่ผิด เขาก็ไม่เสียชีวิตปกติไป”  

บุ๊คยังสะท้อนประสบการณ์ตัวเองอีกว่า การอยู่ข้างนอกสู้ง่ายกว่าในนี้อยู่แล้ว ในนี้เจอทนายความยังเป็นเรื่องยาก ไม่ต้องพูดถึงคนที่ต้องใช้ทนายขอแรง “ส่วนถ้าประกันไปแล้วพิพากษาว่าเขาผิดจริง ค่อยเอากลับมารับโทษก็ยังไม่สายไป” บุ๊คแสดงทัศนะอีกตอน

แผนการข้างหน้าของบุ๊ค คือการขอเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีในเดือน ธ.ค. 2567 และหวังจะได้พักโทษในอีกเดือนถัดไป เขาอยากกลับไปดูแลย่าที่กำลังจะผ่าตัดกระดูก บุ๊คฝันถึงการใช้ชีวิตใหม่ที่เชียงใหม่ ซึ่งเขาหวังจะทำงานศิลปะ สร้างกิจกรรมทางสังคม และเรียนรู้เกี่ยวกับประชาธิปไตย วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อม ตามความสนใจของตัวเอง 

.

วันที่ 4 ธ.ค. 2567

ระหว่างรอคิวคุยกับทนายความ บุ๊คใช้เวลาพูดคุยกับผู้ต้องขังอื่น ๆ ซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับเขา ที่ชอบสังเกตผู้คนและสนทนาได้ในหลากหลายหัวข้อ ตั้งแต่เรื่องเล็ก ๆ ไปถึงชีวิตลึก ๆ 

สุขภาพของบุ๊คและเพื่อน ๆ ผู้ต้องขังคดีการเมือง ยังคงแข็งแรงดี พวกเขายังคงออกกำลังกายเป็นประจำ ช่วงนี้อากาศเริ่มคลายความหนาวลง จากช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ค่อนข้างหนาว

บุ๊คฝากขอบคุณโครงการ Freedom Bridge และทีมงานอย่างมาก ด้วยเห็นว่าการสนับสนุนจากส่วนนี้ช่วยบรรเทาความยากลำบากของผู้ต้องขังทางการเมืองได้มาก และหวังให้มีคนสนใจสนับสนุนมากขึ้น เพื่อแบ่งเบาภาระของทีมงาน และแสดงพลังการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย

ทุกช่วงเวลาที่อยู่ในเรือนจำ บุ๊คยังคงใช้เวลาในการเขียนเพลง ปัจจุบันมีเพลงครบ 13 เพลง พอจะออกอัลบั้มได้แล้ว บทเพลงที่แต่งจากในห้องขังมีเนื้อหาหลากหลาย ตั้งแต่เพลงเกี่ยวกับเหตุการณ์ทางการเมือง เหตุการณ์เดือนตุลา, กรณีตากใบ, ปัญหาไฟป่า ไปจนถึงเพลงที่สะท้อนถึงชีวิตของผู้ต้องขัง 

“ผมแต่งจากการไปพูดคุยกับพวกเขา ทั้งผู้ต้องขังทั่วไป และผู้ต้องขังจิตเวช ผมคิดว่ามุมมองของเขาน่าสนใจ มันสะท้อนถึงกระบวนการยุติธรรม และวิธีการที่รัฐมองประชาชนได้เยอะมาก” 

ก่อนยกตัวอย่างเรื่องราวของผู้ต้องขังคนหนึ่งที่ต้องเข้าคุกเพียงเพราะต้องการดื่มเบียร์หนึ่งกระป๋อง เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นถึงความซับซ้อนของระบบยุติธรรมและสภาพสังคม  

นอกจากนี้ บุ๊คยังเล่าถึงวิธีการทำเพลงผ่านการคุยกับคนแปลกหน้ามาตั้งแต่ก่อนเข้าเรือนจำ เขามักจะคุยกับแรงงาน คนไร้บ้าน และบันทึกเสียงเพื่อนำมาใช้ประกอบการเขียนเพลง ก่อนกล่าวอยากเชื่อมั่นว่า “ผมอยากสื่อสารเรื่องชีวิตของคนเหล่านี้ให้ดีที่สุด”  

ก่อนจากกันครั้งนี้ บุ๊คแจ้งข่าวว่าปัจจุบัน ได้รับการปรับเป็นนักโทษชั้นดีแล้ว ซึ่งจาก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อเดือน ส.ค. 2567 บุ๊คจะได้ลดหย่อนโทษลงราว 6 เดือน แต่ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอพักโทษ รวมถึงการนับวันขังในคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณา ทั้งตัวบุ๊คและทนายความจะติดตามเรื่องนี้ต่อไป 

ปัจจุบัน (6 ธ.ค. 2567) บุ๊คถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี กับอีก 2 เดือน 16 วัน คดีของบุ๊คสิ้นสุดลง โดยต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ โดยเขาได้ลดหย่อนโทษลงราว 6 เดือน หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

บันทึกเยี่ยม อัญชัญ-บุ๊ค-ขุนแผน: ว่าด้วย ‘นิรโทษกรรม’ ที่ไม่มีใครอยากให้ยืดเยื้อไปนานกว่านี้

บันทึกเยี่ยม ‘บุ๊ค’ ธนายุทธ: คุยเรื่องความสะอาดในเรือนจำ และการจดจำ ‘คดีตากใบ’ แม้หากสิ้นอายุความ

X