บันทึกเยี่ยม อัญชัญ-บุ๊ค-ขุนแผน: ว่าด้วย ‘นิรโทษกรรม’ ที่ไม่มีใครอยากให้ยืดเยื้อไปนานกว่านี้

ปลายเดือน ต.ค. 2567 ทนายเข้าเยี่ยม 3 ผู้ต้องขังทางการเมือง ได้แก่ ‘อัญชัญ’ ผู้ต้องขังหญิงที่ยังคงถูกคุมขังจากคดีมาตรา 112  ‘บุ๊ค’ ธนายุทธ  ศิลปินฮิปฮอป ผู้ถูกคุมขังในคดีที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบการครอบครองวัตถุระเบิดฯ และ ‘ขุนแผน’ หรือ เชน ชีวอบัญชา ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 อีกราย 

ครั้งนี้นอกจากพูดคุยเรื่องราวกิจวัตรวันต่อวันที่ผ่านไปในเรือนจำแล้ว ทั้งสามคนยังส่งเสียงและสื่อสารถึงเรื่องการนิรโทษกรรมประชาชน ทั้งนี้เมื่อวันที่ 25 ต.ค. 2567 เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชนออกแถลงการณ์ เรียกร้องใหนิรโทษกรรมคดีการเมืองทุกคดีกับฝ่ายและทุกมาตรา รวมไปถึงมาตรา 112

อัญชัญสะท้อนถึงการเคลื่อนไหวเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ว่าทำอะไรไปรัฐก็นิ่งเฉย ไม่เหมือนกับที่เคยให้คำมั่นไว้ในช่วงของการหาเสียงเลือกตั้ง ขณะที่บุ๊ค ให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ว่าจะไปหวังพึ่งทางสภามากคงไม่ไหว มันตันไปหมด ต้องชัดเจนว่าเรื่องนิรโทษกรรมมาตรา 112 จะรวมในแบบไหน 

ขุนแผน กล่าวถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาว่า ไม่ว่าจะรวมมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ก็ไม่ได้กลัวอะไรแล้ว หวั่นเกรงการยื้อเวลาไปเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น สุดท้ายจะไม่มีใครได้อะไรเลย 

.

อัญชัญ: นิรโทษกรรมดูเป็นเรื่องที่รัฐนิ่งเฉย ดูดาย แตะต้องไม่ได้เลย

วันที่ 25 ต.ค. 2567 อัญชัญยังอยู่ในชุดผู้ต้องขังสีฟ้าเหมือนเดิม ใบหน้าค่อนข้างเคร่งเครียด แต่ก็ยังยิ้มให้กันทันทีที่เห็นหน้า  ทนายเข้าเยี่ยมเธอเพราะอยากถามเรื่องจดหมาย ตั้งแต่ป้าบอกว่าส่งจดหมายมาหาช่วงต้นเดือนเพื่อฝากให้ดูเรื่องการพักโทษ ทนายยังไม่ได้รับ Domimail กลับจากป้าเลย

เมื่อยกหูโทรศัพท์ขึ้น ก็ถามไถ่สารทุกข์  ทนายแจ้งว่ายังไม่ได้รับ Domimail  ป้าก็ดูแปลกใจมาก ก่อนบอกว่า “ป้าจำได้ว่าส่งให้หนูแล้วนะลูก ส่งไปนานแล้ว โอ้ย ทำไมมันเป็นแบบนี้ ป้าเคยส่งจดหมายให้พี่ชายตั้ง 2 รอบ เขาก็ไม่ได้เหมือนกัน” ทนายถามป้าว่าจำวันที่ส่งมาได้หรือไม่ เธอได้แต่ส่ายหน้า พร้อมเล่าถึงปัญหาที่เธอไม่ค่อยได้จดหมายจากข้างนอกเลย เมื่อวันก่อนได้ไปรษณียบัตร 2 ใบ เขียนมาเป็นภาษาอังกฤษ เห็นว่ามีจดหมายมาพร้อมไปรษณียบัตรด้วย แต่ไม่ได้ตัวจดหมาย  “ป้าไม่เข้าใจว่าทำไมต้องกีดกันป้าขนาดนี้“ เล่าถึงตรงนี้อัญชัญถอนหายใจยาว ก่อนบอกว่า “ป้าจะเขียนย้ำออกมาอีกนะลูก”

นอกจากเรื่องจดหมาย บทสนทนายังว่าไปถึงความคืบหน้ากฎหมายนิรโทษกรรมด้วย หลังเมื่อวันที่ 24 ต.ค. 2567 สภาผู้แทนฯ มีมติไม่เห็นด้วยกับข้อสังเกตในรายงานของ กมธ.นิรโทษกรรม แม้จะไม่ได้บอกชัดว่ารวมมาตรา 112 ด้วยก็ตาม ป้าได้ฟังก็ถอนหายใจ ก่อนระบายว่า “ทำอะไรไปรัฐก็นิ่งเฉย ดูดาย แตะต้องไม่ได้เลย ตอนหาเสียงก็อีกเรื่อง ตอนนี้กลับทำอีกเรื่อง อย่างอภัยโทษก็มีกฎเกณฑ์มากมาย ป้าเลยไม่มีทีท่าจะได้ออก” 

ในวันเดียวกันนี้ เป็นวันที่คดีตากใบจะหมดอายุความพอดี ป้าเองก็รู้ว่าคดีตากใบมีเหตุการณ์อะไรเกิดขึ้นบ้าง ทนายบอกป้าว่าตอนนี้ยังจับผู้ต้องหาไม่ได้สักคน นอกจากนี้ท่าทีของรัฐบาลต่อคดี ดูแล้วน่าจะหมดอายุความไปเฉย ๆ ทั้งนี้ป้าพูดขึ้นมาทันทีก่อนจากกันว่า “อะไรต่อมิอะไรมันก็ยิ่งไปกันใหญ่ หาความเป็นธรรมอะไรไม่ได้เลยในประเทศนี้”

จนถึงปัจจุบัน (5 พ.ย. 2567) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางหลังศาลมีคำพิพากษามาแล้ว 3 ปี กับ 9 เดือน 19 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 9 วัน โดยโทษเต็มของเธอคือประมาณ 43 ปี 6 เดือน แต่หลังการลดหย่อนโทษในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้เธอมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกเกือบ 7 ปีข้างหน้า 

.

บุ๊ค ธนายุทธ: นิรโทษกรรม ‘112’ ต้องชัดเจนจะเอายังไง หวังพึ่งสภามากคงไม่ไหว

วันที่ 25 ต.ค. 2567 เนื่องจากระบบจอภาพยังไม่สามารถใช้งานได้ ระหว่างเยี่ยมทนายความจึงได้ยินแต่เสียงผ่านโทรศัพท์ในแดน 4 บุ๊คบอกว่าจอภาพเสียมาน่าจะ 3-4 เดือนแล้ว ยังไม่ได้ซ่อมสักที ก่อนเริ่มเล่าว่า ช่วงนี้ป่วย มีอาการไข้ ตัวร้อน หนาวสั่น ยิ่งตอนกลางคืนยิ่งหนาว ขนาดขณะเยี่ยม ที่แดดเปรี้ยง ยังรู้สึกหนาว ๆ บุ๊คบอกว่าอาการไข้หายยากมาก เพราะคนป่วยเยอะ พอจะหายก็ติดใหม่ได้ จะระบาดมาเป็นช่วง ๆ หลีกเลี่ยงได้ยาก

เขาเล่าย้อนไปเมื่อ 4 วันก่อน เขามีอาการปวดท้อง ท้องเสีย พอตื่นมาอีกวันรู้สึกไม่ไหว กระทั่งวันต่อมายังปวดท้อง อาเจียนรุนแรง ทานอาหารไม่ได้ ทานน้ำได้น้อย เลยขอออกฉุกเฉินไปที่สถานพยาบาล กระทั่งได้พบหมออาการจึงเริ่มทรงตัว บุ๊คก็เลยขอแค่ยามากิน ได้ยาแก้แพ้กับยาแก้ปวดมา  ตั้งแต่นั้นก็กินยาได้ 3 วัน อาการปวดท้องค่อยทุเลาลง ทานอาหารได้มากขึ้น โดยพยายามเลี่ยงอาหารรสจัด และดื่มน้ำเยอะ ๆ

บุ๊คเล่าอีกว่าการป่วยครั้งนี้ทำให้รู้สึกเพลียตลอดเวลา พอตกเย็นก็จะทานยา แล้วเข้านอนตั้งแต่ 1 ทุ่ม ที่นอนเร็วขึ้นมาก เพราะอยากหายป่วยเร็ว ๆ โดยบุ๊คจะตื่นตี 5 เป็นปกติทุกวัน ตั้งกฎกับตัวเองไว้ว่าจะตื่นมาเช้ามืด เพื่อเขียนเพลงหรือจดบันทึกอะไรสักอย่าง เพราะตอนเช้าบรรยากาศจะเงียบ คนยังไม่ตื่น เป็นช่วงที่มีสมาธิและสมองแล่นที่สุด

บุ๊คยังเล่าถึงเพลงตัวเองที่เขียนสะสมไว้อีกว่า มีเพลงเกี่ยวกับไฟป่าด้วย เขียนรวม ๆ ไว้ รู้สึกเป็นเพลงที่ท้าทายมาก เพราะต้องระมัดระวังว่าจะไปสนับสนุนข้อกล่าวหาที่รัฐชอบโยนให้ชาวบ้าน เช่น รุกที่ป่า เผาป่า เก็บเห็ด อะไรแบบนั้น  บุ๊คบอกความตั้งใจอีกอย่าง “ผมคิดว่าถ้าออกมาจากคุก อยากไปช่วยงานอาสาสมัครดับไฟป่าด้วย อยากไปเรียนรู้วิถีชีวิตพี่น้องชาติพันธุ์” 

แร็ปเปอร์หนุ่มยังเล่าถึงแพลนวาดหวังไว้อีกว่า หากได้ออกไปเขาวางแผนจะจัดนิทรรศการเกี่ยวกับผู้ต้องขังทางการเมือง รวบรวมพวกของใช้ พวกจดหมายออกไปด้วย เพื่อจะพูดในมิติความเป็นมนุษย์ของผู้ต้องขัง เช่น เรื่องคู่รัก เรื่องครอบครัว เรื่องชีวิตความเป็นอยู่

วันที่ 29 ต.ค. 2567 การพบกันวันนี้บุ๊คดูหน้าตาสดใสขึ้น พอเห็นหน้ากันก็โบกไม้โบกมือมาตั้งแต่เข้ามาในห้องเยี่ยม ยิ้มหัวเราะทักทายเสียงดังจนผู้ต้องขังคนอื่น ๆ หันมอง วันนี้มีสิ่งแตกต่างจากปกติคือบุ๊คใส่ชุดผู้ต้องขังสีฟ้าแบบปกติ ไม่ได้ใส่เสื้อตัวหลวมทรงฮิปฮอปที่เพ้นท์ลายตัวเก่งของเขา ก่อนเล่าว่าวันนี้เอาชุดไปซักหมดทุกตัวเลย เพราะแดดดี พอเห็นว่าทนายมาเยี่ยมก็เลยหยิบตัวใกล้ ๆ ที่ไม่ค่อยได้ใส่มาสวมแทน 

ก่อนบทสนทนาจะเข้าสู่เรื่องนิรโทษกรรม บุ๊คให้ความเห็นว่าจะไปหวังพึ่งทางสภามากคงไม่ไหว มันตันไปหมด คิดว่าต้องชัดเจนว่าจะเอายังไงต่อ จะดันเรื่องมาตรา 112 แบบไหน จะเอายังไงกับกฎหมายนิรโทษกรรม ถ้าอีกฝั่งใช้เรื่อง 112 มาขัดขา บุ๊คอธิบายอีกว่า ตอนนี้ดูยึกยักกันไปหมด จะให้รวม 112 ก็ตันที่สภา จะไม่รวมก็ต้องคุยกับเพื่อน ๆ หรือจะฉีกไปดันเรื่องประกันตัวไปเลย แล้วข้ามสภาไป เพราะยังไงก็ใช้เวลานานอยู่แล้ว 

กับคดีตัวเองบุ๊คเล่าว่าเดือนธันวาคมจะทำเรื่องขอพักโทษ เผื่อหวังว่าจะมีโอกาสได้ออกเร็วขึ้น  ก่อนพูดเรื่องสุขภาพที่อาการป่วยจากการเยี่ยมครั้งที่แล้วดีขึ้นตามลำดับ เพราะฝนไม่ตกแล้ว แต่กลางวันยังร้อนอยู่ ส่วนกลางคืนเย็นสบาย นอนหลับได้ปกติ มีแค่อาการเจ็บคอและเสมหะที่ยังเหลืออยู่ 

ส่วนในแง่อื่น ๆ บุ๊คเล่าว่าชีวิตข้างในค่อนข้างโอเค รักษาบาลานซ์ได้ดีขึ้น ช่วงนี้ได้ดูซีรีย์เรื่อง “สิบแปดมงกุฎโตเกียว” (Tokyo Swindlers) ที่รู้สึกสนุกมาก โดยที่แดน 4 ฉายวันหนึ่งให้ดูเกือบ 2 ชั่วโมง บางวันก็มีหนังจาก Brandthink cinema ให้ดู บางรอบมีสารคดี ดี ๆ ให้ดู อย่างวันที่ 6 ตุลา 14 ตุลา  

“ผมคิดว่าคนเลือกรายการมาให้เราดูนี่เขาก้าวหน้าอยู่นะ อย่างหนังก็เลือกมาได้ดีเลย เป็นพวกสืบสันดาน หรือหนังเกี่ยวกับการปฏิวัติ เกี่ยวกับสิทธิมนุษยชน หรือการต่อสู้ของประชาชนก็มี ผู้ต้องขังในนี้ก็ชอบดูด้วย เวลามีหนังมา พอดูจบเพื่อนในห้องก็มาคุยกับผมต่อด้วย บรรยากาศค่อนข้างดีเลย” บุ๊คกล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง

ทั้งนี้การรับสารจากข้างในเรือนจำ บุ๊คให้ข้อมูลว่ามีข่าวให้ดูบ้าง สั้น ๆ ช่วงก่อน 18.00 น. ระหว่างที่ให้สวดมนต์ เป็นข่าวช่องทีวีทั่วไป บางทีก็แอบเห็นข่าวสภา ข่าวนิรโทษกรรมบ้าง ข่าวชุมนุมบ้าง มีข่าวกรณี The Icon ด้วย (หัวเราะ) “ผมรู้สึกแอบแปลกใจอยู่ เพราะจำเลยคดีนั้นก็อยู่ในนี้ ก็ต้องนั่งดูข่าวตัวเอง แต่สิ่งที่จะไม่มีทางได้ดูเลยคือ ข่าวในพระราชสำนัก ไม่มีเปิดเลย” บุ๊คเล่าทิ้งท้าย 

ปัจจุบัน (5 พ.ย. 2567) บุ๊คถูกคุมขังมาแล้ว 1 ปี กับอีก 1 เดือน 15 วัน  คดีของบุ๊คสิ้นสุดลงแล้ว บุ๊คต้องรับโทษจำคุก 2 ปี 6 เดือน ตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ แต่เขาได้ลดหย่อนโทษลงราว 6 เดือน หลังมี พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อเดือนสิงหาคม 2567

.

ขุนแผน: ไม่อยากยื้อ หาก ‘112’ ไม่มีนิรโทษกรรม ก็อยากให้คดีอื่นได้ไปก่อน

วันที่ 28 ต.ค. 2567 ที่แดน 8 เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ทนายได้คุยกับขุนแผนผ่านเสียงทางโทรศัพท์ เนื่องจากระบบภาพยังคงไม่สามารถใช้งานได้  ขุนแผนรับสายและหัวเราะทักทายด้วยน้ำเสียงสดใส ก่อนบอกเล่าถึงสุขภาพโดยรวมที่ถือว่าแข็งแรงดี ตามวัยของคนอายุ 57 ปี  ส่วนอาการคันจากยารักษาวัณโรคดีขึ้นมากแล้ว เพราะพี่สาวฝากยาเข้ามาให้ โดยได้มาจากโรงพยาบาลกระปุกขนาดใหญ่ ใช้ได้นานเป็นเดือน ขุนแผนให้ข้อมูลเพิ่มว่า ยาที่ซื้อข้างนอกดีกว่าที่ได้รับจากข้างใน ทั้งคุณภาพและปริมาณ พอทาไปอาการก็ดีขึ้นตามลำดับ ตุ่มคันก็ค่อย ๆ ยุบลงและไม่เกิดขึ้นใหม่

ส่วนเรื่องสัปดาห์ก่อนที่มีให้ลงชื่อพบแพทย์ผิวหนัง ก็พบว่ามีหมอมาจริง ๆ โดยที่ไม่ทราบว่าเป็นหมอผิวหนังหรือหมออะไร เพราะไม่ได้มีการแนะนำตัว แต่ไม่ได้ตรวจอะไร พอถึงคิวก็แค่เรียกไปถามว่าคันตรงไหน เมื่อตอบไป หมอก็ไม่ได้พูดอะไรต่อ ก่อนให้กลับไป โดยไม่ได้วินิจฉัย ไม่ได้บอกว่าคันเพราะอะไร ไม่ได้แนะนำวิธีการรักษา เลยรู้สึกเหมือนเป็นการทำแบบขอไปที 

ขุนแผนให้ภาพวันนั้นว่ามีคนไปหาหมอเยอะ ต่อแถวเกือบร้อยคน ยาวเหยียด ก่อนระบายว่า “ถ้าจะถามแค่นี้ไม่ต้องมาก็ได้  ผู้ต้องขังไม่ได้ประโยชน์อะไรนัก เพราะเหมือนแค่มาดูหลักฐานว่าเราคันจริงเฉย ๆ หลังจากนี้ก็ไม่รู้จะทำไงกับพวกเราต่อ”  ได้แต่เดาว่าคงได้แค่ยาแก้คันมาคนละหลอดเล็ก ๆ ที่ใช้ไม่กี่วันก็หมด ยังให้ความเห็นว่ายาหลอดแค่นั้นไม่ได้ช่วยผู้ต้องขังเท่าไหร่ การรักษาพยาบาลข้างในเรือนจำค่อนข้างเละเทะมาก

กับสภาพข้างใน ผู้ต้องขังคดี 112 อย่างเขายังอดเล่าไม่ได้ว่า เวลามีคนจากภายนอกมาตรวจทีหนึ่ง ก็สั่งให้ผู้ต้องขังไปทำความสะอาดให้เรียบร้อย เสร็จแล้วก็ต้องมานั่งรออย่างเป็นระเบียบเรียบร้อย ซึ่งไม่ใช่ธรรมชาติที่คนอยู่กันปกติ คนมาตรวจก็เห็นแต่การสร้างภาพ ผักชีโรยหน้า พอเขากลับไปมันก็เละเหมือนเดิม ขุนแผนบอกอีกว่าอย่างวันนี้ ผบ.เรือนจำ เข้ามาตรวจ ก็ถามว่าใครมีเรื่องทุกข์ร้อนไม่สบายใจบ้าง ก็เงียบกริบ ใครจะกล้าตอบ ก็นั่งเงียบกันหมด ถ้าตอบไปก็อาจโดนผู้คุมเพ่งเล็งอีก

จากการได้สัมผัสชีวิตข้างใน เขาเล่าอีกว่า บางครั้งมีคนมาตรวจมาดูงานที่แม้ไม่ได้มาทุกแดน แต่มาแดนข้าง ๆ แต่แดนที่อยู่ก็โดนสั่งให้ต้องเก็บของเตรียมตัวรอ นั่งสงบเสงี่ยมรอ เผื่อเขามาตรวจแดน 8 ด้วย ก็ลำบากผู้ต้องขัง  

ขุนแผนให้ข้อมูลว่าวันที่ 12 พ.ย. 2567 ผู้คุมบอกว่าจะมีคนมาดูงาน ซึ่งไม่รู้ว่าใครจะมา แต่ก็มีการสั่งให้ฝ่ายเรือนนอนทำความสะอาด ทาสีใหม่ บอกว่าห้ามมีฝุ่นแม้แต่นิดเดียว ถ้าเจอตรงไหนมีฝุ่นจะให้เลียให้หมด  โดยผู้ต้องขังเองก็ไม่รู้ว่าคนมาตรวจดูงานจะมาดูอะไรกันแน่ และมาแบบนี้ก็ไม่เห็นความเป็นจริง ถ้าเห็นของจริงมันถึงจะได้ประโยชน์ เห็นจุดบกพร่องแล้วเอาไปแก้ไขได้ อันนี้เจอแต่การสร้างภาพ “ข้าราชการบ้านเรามันก็แบบนี้ รู้ ๆ กันหมด คนมาตรวจก็รู้ คนอยู่ก็รู้ คนข้างนอกยังเดาออกเลย เจอกันมาทั้งชีวิต”  อดีตสื่ออิสระวัย 57 กล่าวไว้อีกตอน

เจ้าของนาม ‘ขุนแผน แสนสะท้าน’  กล่าวอีกว่า ถ้าเจตนาของการมาดูงานคือทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังดีขึ้น การมาแบบนี้กลับยิ่งทำให้ผู้ต้องขังลำบาก ยิ่งมีคนมาทีหนึ่งแล้วผู้ต้องขังในแดนต้องมานั่งรอรับ ของทุกอย่างต้องเก็บให้หมด  ของใช้ส่วนตัวต้องเก็บเข้าล็อคเกอร์หมด อุปกรณ์อาบน้ำก็ต้องเก็บ พอเขากลับ ถึงจะได้เอาออกมาเตรียมกันใหม่ ในความรู้สึกของผู้ต้องขังคนหนึ่งก็ลำบากอยู่ 

ก่อนจะได้พูดคุยเรื่องนิรโทษกรรม เรื่องที่ผู้ต้องขังทางการเมืองต่างให้ความสนใจ ในฐานะผู้ต้องขังคดี 112 เขาให้ความเห็นว่าสถานการณ์ตอนนี้ไม่ว่าจะรวมมาตรา 112 ด้วยหรือไม่ ก็ไม่ได้กลัวอะไรแล้ว กลัวแค่จะยื้อเวลาไปเรื่อย ๆ ไม่จบไม่สิ้น สุดท้ายจะไม่มีใครได้อะไรเลย 

“ผมว่าการยื้อมันแย่สุด เลยอยากให้จบไว ๆ ถ้านิรโทษกรรมไม่มี 112 ก็ช่างมัน ไม่เป็นไร ก็ปล่อยให้นิรโทษกรรมคดีอื่นไปก่อน แล้วค่อยมาเคลื่อนเรื่อง 112 เน้น ๆ ไปเลยหลังจากนั้น”  ขุนแผนกล่าวอย่างตรงไปตรงมา

ด้วยเพราะเห็นว่าถ้านิรโทษกรรมลากยาวจะเข้าเกมฝั่งผู้มีอำนาจ  กฎหมายจะถูกดองไปเรื่อย ๆ คลุมเครือแบบนี้ยิ่งทำให้คนอยากให้มีนิรโทษกรรมทะเลาะกันเอง “เราเองก็ต้องทำใจ ว่าคดี 112 มันยาว รู้สภาพกันอยู่ อดทนหน่อย”  

ก่อนบอกทิ้งท้ายที่เขาทำใจไว้เบื้องต้นว่าต้องรอหลังเลือกตั้ง 2570 ที่หากมีการเลือกตั้งใหม่ ได้รัฐบาลใหม่ ค่อยผลักดันให้มี สส. ที่รับเรื่องปัญหามาตรา 112 เข้าสภาให้เยอะขึ้น ถึงจะมีโอกาสผ่านเรื่องนี้ไปได้

ปัจจุบัน (5 พ.ย. 2567) “ขุนแผน” หรือ เชน ชีวอบัญชา ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 111 วัน

X