บันทึกเยี่ยม “ฐาปนา”: เยาวชนผู้ถูกคุมขัง 4 ปี ที่บ้านกรุณา ยังฝึกฝนตัวตนทั้งเรียนและงาน คอยวันได้เจอครอบครัว

เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยม ‘ฐาปนา’ (นามสมมติ) ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา จ.สมุทรปราการ เยาวชนที่ถูกคุมขังมาตั้งแต่วันที่ 29 เม.ย. 2567 จากกรณีถูกศาลเยาวชนฯ พิพากษาให้รับการฝึกอบรม 4 ปี จากการถูกดำเนินคดีวางเพลิงตู้จราจรพญาไท และขว้างปาวัตถุระเบิด ในช่วงการชุมนุมดินแดง เมื่อวันที่ 1 ต.ค. 2564 โดยระหว่างการพูดคุยมีนักสังคมสงเคราะห์นั่งร่วมสังเกตการณ์อยู่ด้วย 

การเจอกันครั้งนี้มีหลายเรื่องราวพรั่งพรูออกมาจากความรู้สึก ทั้งชีวิตในบ้านกรุณาฯ การฝึกฝนตัวตนในด้านการเรียนและวิชาชีพ ตลอดจนการคิดถึงครอบครัวและคนรักในวันที่ต้องห่างไกลกัน

——————-

ฐาปนา ถูกดำเนินคดีในช่วงขณะเป็นเยาวชนอายุ 16 ปี จากเหตุที่เขาถูกกล่าวหาว่าได้ร่วมกันขว้างปาวัตถุระเบิด พลุ และสิ่งของใส่อาคารที่ทำการ สน.พญาไท และวางเพลิงตู้จราจรแยกพญาไท เมื่อคืนวันที่ 1 ต.ค. 2564 

ก่อนหน้านี้ ฐาปนาเคยช่วยทำงานในร้านขายของชำของญาติ ในช่วงกลางปี 2564 เขาเข้าไปร่วมการชุมนุมที่เกิดขึ้นบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง โดยไม่ได้สังกัดกับกลุ่มใด เนื่องจากรู้สึกว่าครอบครัวประสบกับปัญหาเศรษฐกิจในขณะนั้น โดยการบริหารงานของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ 

คดีนี้เดิมอัยการสั่งฟ้องเยาวชนจำนวน 3 คน ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง เมื่อวันที่ 29 ก.ย. 2565 หลังทั้งหมดให้การรับสารภาพ ศาลได้กำหนดให้เข้ามาตรการพิเศษแทนการมีคำพิพากษา โดยไม่ต้องถูกคุมขัง 

ต่อมาฐาปนาและครอบครัวไม่สามารถปฏิบัติตามมาตรการพิเศษได้ เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2567 ศาลได้วินิจฉัย ให้จำเลยออกจากมาตรการพิเศษ และกำหนดให้มีคำพิพากษาแทน โดยพิพากษาลงโทษจำคุก และเปลี่ยนโทษจำคุกเป็นให้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นระยะเวลา 4 ปี ที่ศูนย์ฝึกอบรมเด็กและเยาวชนชายบ้านกรุณา ทั้งนี้กระบวนการวินิจฉัยในช่วงหลังนี้ ที่ปรึกษากฎหมายไม่ทราบสถานการณ์ที่เกิดขึ้น จนมาทราบภายหลังเมื่อฐาปนาถูกคุมขังอยู่ที่บ้านกรุณาแล้ว

———————

ฐาปนาในวันนี้อายุย่าง 20 ปี ดูแตกต่างจากครั้งก่อน ผมที่เคยสั้นเกือบเป็นทรงสกินเฮด เริ่มยาวขึ้นเป็นรองทรงแล้ว แม้แววตาจะฉายความกังวล แต่ก็ยังเปล่งประกายสดใส ร่างกายแข็งแรงและสะอาดสะอ้าน เขายกมือไหว้ทักทายด้วยท่าทีสงบ

ที่ปรึกษากฎหมายเริ่มต้นการสนทนาด้วยการแจ้งข่าวสำคัญ เรื่องอัยการได้ยื่นอุทธรณ์ข้อกฎหมายในคดี ซึ่งอาจส่งผลให้มีโทษเพิ่มขึ้นหากศาลอุทธรณ์เห็นด้วย สีหน้าของฐาปนาฉายถึงความกังวล ที่ปรึกษาอธิบายเพิ่มเติมว่าจะต้องยื่นคำแก้อุทธรณ์ภายในวันที่ 28 พ.ย. 2567 โดยจะนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับภาระการดูแลลูกเล็ก และข้อเท็จจริงด้านการดำเนินชีวิตของฐาปนาประกอบ เพื่อให้ศาลใช้ดุลพินิจตัดสิน

จากนั้นฐาปนาเล่าว่าได้เขียนคำร้องขอย้ายไปศูนย์ฝึกอบรมฯ จ.พระนครศรีอยุธยา ซึ่งเป็นศูนย์บำบัดผู้ติดยา เนื่องจากที่บ้านกรุณามีเด็กและเยาวชนหลากหลายคดีปะปนกัน บางครั้งมีการยั่วยุกัน เขาจึงต้องการหลีกเลี่ยงปัญหาที่อาจเกิดขึ้นตามมา

ขณะเดียวกัน แม้ใบเด็ดขาดจะยังไม่มาเพราะอัยการอุทธรณ์คดี แต่ด้วยโทษ 4 ปี ฐาปนาจึงพยายามเข้าร่วมทุกกิจกรรมเพื่อสะสมวันลดโทษ โดยได้รับกำลังใจจากพ่อบ้านให้เก็บสะสมการทำกิจกรรมไว้ก่อน เช่น งานในโรงเลี้ยง (โรงอาหาร) ซึ่งหากทำครบ 3 เดือน จะได้ลดโทษ 1 เดือน นอกจากการลดโทษ การร่วมกิจกรรมยังได้รับรางวัลเป็นขนม ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่สามารถใช้เงินซื้อได้ นอกจากนี้กิจกรรมที่เข้าร่วมมีทั้งการนั่งสมาธิ เดินจงกรม และกิจกรรมลูกเสือ

ล่าสุดในวันลอยกระทง (15 พ.ย. 2567) ฐาปนาได้ร่วมการประกวดวงดนตรีโฟล์คซองในฐานะมือกลอง และได้รับรางวัลด้วย ส่วนด้านการศึกษา เขาเปลี่ยนจากการเรียนช่างเชื่อมมาเป็นช่างยนต์ และกำลังพิจารณาเรียนดนตรีเพิ่มเติม พร้อมกันนั้นในระหว่างอยู่บ้านกรุณาฯ ก็กำลังเรียนเพื่อจบชั้น ม.3 ซึ่งผ่านมาแล้ว 1 เทอมจากทั้งหมด 3 เทอม

ปัจจุบันที่บ้านกรุณาฯ สถานะของฐาปนาอยู่เกรด 3 และคาดว่าจะเลื่อนเป็นเกรด 2 ในเดือน ม.ค. 2568   (เกรด 3 คือระดับกลาง ๆ เกรด 2 คือดี เกรด 1 คือ เยี่ยม) ตอนนี้พยายามเริ่มไต่เกรด ฐาปนายังได้รับข่าวดีว่ากองทุนราษฎรประสงค์จะให้ช่วยเหลือแก่เขาและครอบครัว ซึ่งช่วยคลายความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายของครอบครัวอยู่พอสมควร

ฐาปนายังกล่าวถึงกำหนดการเยี่ยมญาติใกล้ชิดในวันที่ 23 พ.ย. 2567 แม้หวังว่าจะได้พบลูกและใช้เวลาด้วยกันนาน ๆ แต่เวลาเยี่ยมสำหรับเด็กมีเพียง 5 นาที ต่างจากแม่หรือแฟนที่มีเวลา 45 นาที และในวันที่ 4 ธ.ค. 2567 จะมีกิจกรรมวันพ่อที่ญาติสามารถเข้าเยี่ยมได้นานขึ้น

กับชีวิตที่ไร้อิสรภาพ สิ่งที่สร้างกำลังใจให้ฐาปนาคือการได้รับจดหมายให้กำลังใจจำนวนมาก จากกิจกรรมของแอมเนสตี้ ประเทศไทย ที่เปิดโอกาสให้ประชาชนเขียนถึงผู้ต้องขังคดีการเมือง ทำให้ฐาปนารู้สึกไม่โดดเดี่ยว อย่างน้อยก็ยังมีคนที่นึกถึงคนธรรมดาอย่างเขาอยู่

ฐาปนาเล่าถึงจดหมายว่า “เพื่อน ๆ ข้างในเห็นแล้วก็ถามว่าผมเป็นคนดังเหรอ ทำไมถึงมีคนเขียนจดหมายเข้ามา”  จึงตอบไปว่า “ไม่แน่ใจ แต่เท่าที่อ่านดูน่าจะเป็นคนที่อยู่ฝั่งประชาธิปไตย ที่เขียนมาพูดคุยและให้กำลังใจ เนื้อความที่เขียนมาส่วนใหญ่ ก็สู้ ๆ เป็นกำลังใจให้, คนข้างในพยายามอย่าทุกข์, ขอให้กินอาหารให้อร่อย” 

ฐาปนาทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้เขาคิดถึงลูกมาก บางครั้งถึงขั้นฝันว่าได้เลี้ยงดูลูกอยู่ข้างนอก โดยทุกวันนี้พยายามทำตัวดี ๆ และหวังว่าศาลอุทธรณ์จะพิจารณาลดโทษจาก 4 ปี ลง เพราะระยะเวลาขนาดนี้ทำให้เขากังวลว่าชีวิตจะเปลี่ยนแปลงไปมากเพียงใด และลูกอาจจำเขาไม่ได้แล้ว

จนถึงปัจจุบัน (22 พ.ย. 2567) ฐาปนาถูกคุมตัวและรับการฝึกอบรมที่บ้านกรุณาฯ มาแล้ว 208 วัน เท่าที่ทราบข้อมูล เขาเป็นผู้ต้องขังเยาวชนคนเดียวที่มีเหตุจากสถานการณ์ทางการเมือง ซึ่งถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้ หลังจากก่อนหน้านี้ “ภูมิ หัวลำโพง” ที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังจากถูกคุมขังที่บ้านเมตตา เป็นระยะเวลา 1 ปี

ดูรายชื่อผู้ต้องขังทางการเมืองปี 2567 

X