วันที่ 19 ม.ค. 2568 นับเป็นระยะเวลา 4 ปีแล้ว ที่ “ป้าอัญชัญ” ถูกคุมขังในคดีตามมาตรา 112 เป็นรอบที่สองอยู่ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ปัจจุบันเธอมีอายุครบ 69 ปีไปเมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน
ตลอดช่วงทศวรรษที่ผ่านมา เธอต้องใช้ชีวิตอยู่ภายในเรือนจำสองครั้ง คิดเป็นเกือบร้อยละ 80 ของวันเวลา และหากคณิตศาสตร์ของการคุมขังนี้ยังไม่เปลี่ยนแปลง เธอยังต้องรอคอยอิสรภาพต่อไปอีกเกือบ 7 ปีข้างหน้า
.
ถูกคุมขังครั้งแรก 3 ปี 9 เดือนเศษ
อัญชัญ เป็นอดีตข้าราชการของหน่วยงานรัฐแห่งหนึ่ง เธอทำงานจนเกือบจะเกษียณอายุ แต่ได้ถูกดำเนินคดีนี้เสียก่อน โดยเธอถูกกล่าวหาว่าเป็นหนึ่งในผู้อัปโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการวิทยุใต้ดิน ซึ่งมีเนื้อหาเข้าข่ายหมิ่นประมาทกษัตริย์ รวมทั้งหมด 29 ครั้ง เป็นความผิด 29 กระทง ในช่วงระหว่างวันที่ 12 พ.ย. 2557 ถึง 24 ม.ค. 2558
อัญชัญถูกชุดเจ้าหน้าที่ทหารหลายสิบนายพร้อมอาวุธเข้าจับกุมเมื่อวันที่ 25 ม.ค. 2558 พร้อมกับตรวจค้นบ้าน ก่อนถูกนำตัวไปควบคุมในค่ายทหารโดยอ้างอำนาจตามกฎอัยการศึกในช่วงนั้น จนเมื่อวันที่ 30 ม.ค. 2558 เธอถูกนำตัวไปที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ พร้อมกับถูกแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ก่อนถูกนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลทหารกรุงเทพ โดยศาลอนุญาตให้ฝากขังและไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้เธอถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางนับตั้งแต่นั้น
เรื่องน่าประหลาดสำหรับคดีที่เกี่ยวข้องกับกรณีคลิปเสียง “บรรพต” นั้น เท่าที่ทราบว่ามีการจับกุมและดำเนินคดีประชาชนรวมทั้งหมด 12 ราย อัญชัญกลายเป็นผู้ที่ถูกกล่าวหาด้วยจำนวนกระทงมากที่สุด แม้แต่ “บรรพต” หรือ หัสดิน ซึ่งเป็นผู้จัดรายการวิทยุนั้น ยังถูกกล่าวหาและฟ้องร้องเพียง 1 กระทง โดยคดีของเขา ศาลทหารพิพากษาลงโทษจำคุก 10 ปี และลดโทษกึ่งหนึ่งเหลือจำคุก 5 ปี เนื่องจากให้การรับสารภาพ เขาติดคุกจริงเป็นระยะเวลา 1 ปี 10 เดือน 19 วัน ก็ได้รับการปล่อยตัว
รวมทั้งจำเลยรายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง คนที่ถูกกล่าวหามากที่สุด หากไม่นับกรณีอัญชัญ ยังถูกตั้งข้อหาจากการเผยแพร่คลิปเสียงจำนวน 6 กระทง และถึงปัจจุบันพ้นโทษไปหมดแล้ว
ระหว่างถูกคุมขัง คดีของอัญชัญได้ถูกสั่งฟ้องที่ศาลทหารกรุงเทพ เธอให้การปฏิเสธข้อกล่าวหา โดยคดีดำเนินไปอย่างล่าช้า หลายปีผ่านก็ยังสืบพยานไม่เสร็จสิ้น โดยเธอไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว จนระหว่างการสืบพยานโจทก์ปากที่ 7 ศาลทหารเพิ่งอนุญาตให้ประกันตัวในวันที่ 2 พ.ย. 2561
รวมระยะเวลาที่อัญชัญถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีในช่วงดังกล่าวเป็นจำนวน 1,373 วัน หรือประมาณ 3 ปี 9 เดือน กับอีก 3 วัน
.
ถูกคุมขังครั้งที่ 2 ครบ 4 ปี
หลังจากนั้นคดีของอัญชัญถูกโอนย้ายมายังศาลอาญาในช่วงปี 2562 ทว่าก่อนที่จะสืบพยานต่อจากที่ค้างไว้ในศาลทหาร ช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 อัญชัญตัดสินใจกลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ด้วยหวังว่าศาลจะลดโทษและระยะเวลาในการคุมขังลง
วันที่ 19 ม.ค. 2564 ศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกอัญชัญกระทงละ 3 ปี รวมเป็นจำคุก 87 ปี แต่เนื่องจากรับสารภาพ จึงลดโทษให้กึ่งหนึ่ง เหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน เหลือโทษจำคุกรวม 29 ปี 174 เดือน (หรือประมาณ 43 ปี 6 เดือน) นับเป็นผู้ถูกพิพากษาจำคุกคดีมาตรา 112 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ในขณะนั้น ก่อนจะมีคดีของบัสบาสที่ถูกลงโทษจำคุก 50 ปี มาทำลายสถิติอันไม่มีใครอยากเป็นเจ้าของนี้
ตั้งแต่วันนี้ของเมื่อ 4 ปีก่อน อัญชัญต้องไปใช้ชีวิตในทัณฑสถานหญิงกลางอีกครั้ง พร้อมคดีที่สิ้นสุดลง และนับเป็นระยะเวลาการถูกคุมขังเนิ่นยาวครั้งแรกออกไปแล้ว โดยหากรวมระยะเวลาที่เธอถูกคุมขังในทั้งสองครั้ง อัญชัญถูกคุมขังมาแล้ว 7 ปี กับ 9 เดือนเศษ จวนจะครบ 8 ปีในอีกสองเดือนกว่าข้างหน้า
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน อัญชัญนับเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ถูกคุมขังจริงมากที่สุดคนหนึ่ง แม้จะมีผู้ต้องขังหลายคนที่ถูกลงโทษด้วยข้อหานี้ในอัตราสูงเช่นกัน แต่เมื่อคดีสิ้นสุด หลายคนได้รับการลดหย่อนโทษลง จากการอภัยโทษในโอกาสสำคัญ ทำให้มักถูกปล่อยตัวก่อนครบอัตราโทษตามคำพิพากษา หรือกรณีนักกิจกรรมที่ต่อสู้คดีไปจนสุดทาง อย่างสมยศ พฤกษาเกษมสุข ก็ถูกคุมขังในช่วงปี 2554-2561 เป็นระยะเวลา 7 ปีเต็ม ขณะที่อัญชัญถูกคุมขังมาเป็นระยะเวลาสูงกว่าแล้ว
ในช่วงการถูกคุมขัง 4 ปีที่ผ่านมา อัญชัญเข้าข่ายได้รับการลดหย่อนโทษลง 2 ครั้งจากการอภัยโทษในโอกาสสำคัญ แต่เธอไม่ได้รับประโยชน์จาก พ.ร.ฎ.อภัยโทษ เมื่อสิงหาคม 2567 ซึ่งกำหนดให้ผู้ต้องขังถึงที่สุดแล้วต้องรับโทษจำคุกมาแล้วไม่น้อยกว่า 1 ใน 3 ของกำหนดโทษตามคำพิพากษา หรือไม่น้อยกว่า 8 ปี ซึ่งเธอไม่เข้าเกณฑ์ดังกล่าว แม้เธอจะคาดหวังไว้มากก็ตาม
อัญชัญยังมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกราว 6 ปี กับอีก 8 เดือนข้างหน้า ซึ่งขณะนั้นเธอจะมีอายุ 76 ปี
.
ความหวังในปีใหม่: นิรโทษกรรมรวม ม.112 -ได้รักษาสุขภาพฟัน-เงินเกษียณ
ในการถูกคุมขังเข้าสู่ปีที่ 4 ของรอบหลังนี้ ป้าอัญชัญอายุมากขึ้น เผชิญกับปัญหาสุขภาพมากขึ้น โดยเฉพาะสุขภาพฟันที่ทรุดโทรมลง เมื่อฟันเธอหักและร่วงไปหลายซี่ ฟันล่างด้านหน้าของป้าเหลือ 4 ซี่ ในขณะที่ฟันบนหักเกือบหมด และเมื่อฟันไม่ดี ก็เคี้ยวอาหารได้ลำบาก พอกินไม่ค่อยได้ ก็กระทบต่อสุขภาพด้านอื่นที่แย่ลงเป็นทอด ๆ ไป
“เหมือนป้าเคี้ยวข้าวแล้วมันหลุด แล้วก็ไม่ได้ออกไปทำใหม่เลย ใช้ฟันปลอมชุดเดิมมาตลอด หนูดูสิ มันเก่ามากแล้ว ไปหาหมอ หมอก็จะถอนอย่างเดียว ป้าไม่อยากถอนแล้วลูก อยากเหลือฟันไว้กินข้าวอยู่”
ความหวังของเธอเรื่องหนึ่ง คือการได้ออกไปรักษาสุขภาพฟันทั้งหมดภายนอกเรือนจำ รวมทั้งอีกเรื่องหนึ่ง คือคาดหวังเรื่องเงินบำนาญจากการทำงานราชการมากว่า 30 ปี เธอยังไม่แน่ใจว่าจะได้รับเงินหรือไม่หากได้ออกไป แต่พยายามลองต่อสู้ดูอยู่
ในการเข้าเยี่ยมของทนายความเมื่อช่วงปลายปี 2567 อัญชัญยังได้สรุปถึงความรู้สึกในรอบปีที่ผ่านมาว่า “สำหรับป้านะลูก ปี 2567 เป็นปีแห่งความผิดหวัง ป้าคอยอภัยโทษ เขาก็ไม่ให้ พอไม่ได้ออกก็ต้องใช้ชีวิตในเรือนจำที่เสียงดัง ข้าวของแพง จะกินจะนอนก็ลำบาก มีแต่คนเพิ่มขึ้น ๆ ไม่มีคนออก สภาพแวดล้อมมันหดหู่น่ะลูก”
ส่วนความคาดหวังในปีใหม่นี้ เธอบอกว่า “อยากให้นิรโทษกรรมทางการเมืองรวม 112 ป้าอยากกลับบ้าน อยากกลับบ้านไว ๆ มันนานเกินไปแล้ว ป้าอยากกลับไปใช้ชีวิตที่เหลืออยู่ไม่มากข้างนอก คนที่รอป้าอยู่เขาก็อายุเยอะแล้วลูก”
อัญชัญอยากออกไปตอบแทนบุญคุณพี่ชาย ออกไปอยู่กับคนรัก ซึ่งอยู่ต่างประเทศ และเขียนมาในจดหมายว่าจะรอเจอเธอ “ก็หวังว่าอะไร ๆ มันจะดีขึ้น ก็อยากให้เขาดูแลสุขภาพร่างกายตัวเอง ป้าก็จะดูแลตัวเองให้มีลมหายใจไปหาเขา”
.
ย้อนอ่านเรื่องราวของอัญชัญ
จากศาลทหารสู่ศาลยุติธรรม: การต่อสู้ของ “อัญชัญ” จำเลยคดี 112 กับโทษจำคุกครึ่งชีวิต
บันทึกเยี่ยม “อัญชัญ”: ครบวันเกิดอายุ 69 ปีในเรือนจำ ยังไม่ทิ้งความหวังได้ใช้ชีวิตที่มีอิสรภาพ
คณะทำงานสหประชาชาติเรียกร้องให้ปล่อยตัวผู้หญิงที่ถูกจําคุกในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์โดยทันที
.