ห้ามอุทธรณ์-ฎีกา ศาลทหารตัดสินจำคุก 18 ปี 24 เดือน คดีธารา 112 แปะลิ้งก์ ‘บรรพต’ บนเว็บไซต์

ห้ามอุทธรณ์-ฎีกา ศาลทหารตัดสินจำคุก 18 ปี 24 เดือน คดีธารา 112 แปะลิ้งก์ ‘บรรพต’ บนเว็บไซต์

9 ส.ค. 2560 ศาลทหารกรุงเทพนัดฟังคำพิพากษาคดีที่ธาราถูกฟ้องข้อหาหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ จากการเผยแพร่คลิป ‘บรรพต’ จำนวน 6 ข้อความ ซึ่งเลื่อนมาจากนัดวันที่ 26 มิ.ย. 2560 ศาลพิพากษาจำคุกข้อความละ 5 ปี แต่ลดโทษให้ 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยรับสารภาพ เหลือข้อความละ 3 ปี 4 เดือน รวมโทษทั้งหมด 18 ปี 24 เดือน แต่เป็นคดีที่เกิดระหว่างประกาศกฎอัยการศึก จึงไม่สามารถอุทธรณ์ไปยังศาลทหารชั้นสูงกว่าให้ทบทวนคำพิพากษาได้

คดีนี้ ธารา (สงวนนามสกุล) ถูกฟ้องเมื่อ 23 เม.ย. 2558 ฐานหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวน 6 ครั้ง หรือ 6 กรรม จากการแปะลิ้งก์คลิปเสียง ‘บรรพต’ บนหน้าเว็บไซต์ขายสมุนไพรของเขาระหว่างวันที่ 6-25 ม.ค. 2558 ธาราถูกจับกุมขณะประกาศกฎอัยการศึกและถูกควบคุมตัวโดยทหารตั้งแต่ 25-30 ม.ค. 2558 ก่อนอัยการทหหารจะฟ้องคดีของเขาต่อศาลทหารกรุงเทพ โดยไม่เคยได้รับการประกันตัวตลอดกระบวนการ ทั้งในชั้นสอบสวนของตำรวจ หรือระหว่างพิจารณาคดีในศาลทหารกรุงเทพ แม้จะยื่นหลักทรัพย์ประกันตัวสูงสุด 400,000 บาทก็ตาม

หลังเลือกต่อสู้คดีแต่ผ่านมา 2 ปี ศาลทหารกรุงเทพสืบพยานได้เพียง 2 ปาก เนื่องจากพยานไม่มาศาลตามนัด ทำให้ต้องเลื่อนการสืบพยานออกไปบ่อยครั้ง ธาราตัดสินใจกลับคำให้การ จากปฏิเสธขอต่อสู้คดีเป็นรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหา เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2560 ซึ่งเป็นอีกวันที่พยานไม่มาศาลตามนัด ก่อนจะยื่นคำร้องประกอบคำรับสารภาพเพื่อขอให้ศาลลงโทษสถานเบาเมื่อวันที่ 26 มิ.ย. 2560

9 ส.ค. 2560 เวลา 09.50 น. องค์คณะตุลาการประกอบด้วย พล.ต.ศุภชัย อินทรารุณ, พ.อ.กิจจา เคลือบมาศ, และ พ.อ.สมพงษ์ จิณสิทธิ์ ออกนั่งบัลลังก์อ่านคำพิพากษา

เนื่องจากธารามีข้อโต้แย้งเรื่องวันควบคุมตัว ซึ่งตามฟ้องระบุว่า เขาถูกควบคุมตัวตั้งแต่ 30 ม.ค. 2558 ตลอดมา แต่ตามคำเบิกความพยานโจทก์ซึ่งเป็นนายทหารผู้จับกุม และนายตำรวจผู้กล่าวหาในคดี ให้การสอดคล้องกันว่า ธาราถูกเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารควบคุมตัวตั้งแต่วันที่ 25 ม.ค. 2558 ไว้ที่มณฑลทหารบกที่ 11 (มทบ.11) โดยใช้อำนาจตามกฎอัยการศึก ศาลทหารกรุงเทพเห็นว่า แม้ไม่ใช่การควบคุมตัวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา แต่เป็นการควบคุมตัวที่เกี่ยวข้องกับคดี ทำให้จำเลยสูญเสียอิสรภาพ จึงควรให้นับวันควบคุมตัวในส่วนนี้เพื่อหักออกจากโทษจำคุก

เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพ ศาลพิพากษาว่าการกระทำของธาราเป็นความผิดหนึ่งกรรมผิดต่อกฎหมายหลายบท ได้แก่ เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550 มาตรา 14 (1), (3), และ (5) แต่ให้ลงโทษตามกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุด คือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ลงโทษจำคุกกรรมละ 5 ปี แต่ลดโทษลง 1 ใน 3 เนื่องจากจำเลยให้การรับสารภาพ เหลือโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี 4 เดือน รวมความผิดทั้งสิ้น 6 กรรม ต้องโทษจำคุก 18 ปี 24 เดือน

ทั้งนี้ การนับเวลาจำคุกในทางกฎหมาย เวลา 1 เดือน เท่ากับ 30 วัน เวลา 24 เดือน จึงเท่ากับ 720 วัน แต่หากนับเป็นปี 1 ปี จะเท่ากับ 365 วัน 2 ปี เท่ากับ 730 วัน ซึ่งมากกว่าเวลา 24 เดือนอยู่ 10 วัน โทษจำคุก 18 ปี 24 เดือนจึงน้อยกว่าโทษจำคุก 20 ปี

ส่วนคำร้องประกอบคำรับสารภาพของธารา ที่ระบุว่า เขาเผยแพร่ลิ้งก์คลิปเสียงบรรพตเพราะมีข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรและได้รับความนิยมมาก จึงนำมาแปะในเว็บไซต์เพื่อหวังให้คนเข้ามาดูที่หน้าเว็บไซต์ และมีรายได้จากโฆษณา ขณะถูกจับกุม เขาให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่อย่างดี เป็นประโยชน์ต่อการสอบสวน และให้การรับสารภาพตลอดข้อกล่าวหาในชั้นสอบสวน อีกทั้ง ครั้งนี้เป็นการกระทำผิดครั้งแรก และธารามีภาระต้องดูแลครอบครัว จึงขอให้ศาลลงโทษในสถานเบา เพื่อให้โอกาสได้แก้ไขความประพฤติกลับตัวเป็นพลเมืองดีนั้น ศาลยกคำร้องโดยให้เหตุผลว่าได้ลงโทษจำเลยในสถานเบาอยู่แล้ว

เนื่องจากคดีของธาราเป็นคดีที่เกิดขึ้นระหว่างประกาศกฎอัยการศึก ธาราไม่สามารถยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาต่อศาลทหารชั้นสูงขึ้นไป เพื่อให้ศาลทหารกลางหรือศาลทหารสูงสุดทบทวนคำพิพากษาได้ คดีของเขาถือเป็นที่สิ้นสุด และด้วยจำนวนโทษที่สูงทำให้ธาราจะถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพไปอยู่ที่เรือนจำคลองเปรมต่อไป

X