สรุปคำพิพากษาคดี ม.112 เดือนกันยายน 2567 คดีในชั้นอุทธรณ์ 5 คดี ยืนตามศาลชั้นต้นทั้งหมด มี 2 คดี ยืนยกฟ้องไม่มีความผิด โทษรวมสูง 54 ปี 6 เดือน 1 ราย

ตลอดทั้งเดือนกันยายน 2567 ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาในคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 7 คดี ของประชาชนและนักกิจกรรมรวม 8 ราย แบ่งเป็นคดีที่ศาลชั้นต้น 2 คดี และศาลอุทธรณ์ 5 คดี 

ส่วนในศาลชั้นต้น พบคำพิพากษาจำคุกไม่รอลงอาญา แต่ได้ประกันตัว อย่างน้อย 2 ราย ได้แก่ “ไผ่”จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา และ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ นักกิจกรรมภาคอีสาน และยังมีประชาชนอีก 1 ราย ที่ศูนย์ทนายฯ ได้รับทราบข้อมูลว่าถูกดำเนินคดีจากการโพสต์ในเฟซบุ๊กส่วนตัว และศาลให้รอลงอาญาไว้

ในศาลอุทธรณ์ 5 คดี พบว่ามีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นทั้งหมด แยกเป็นคดีที่พิพากษายืนเห็นว่ามีความผิด  ได้แก่ กรณีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร, “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชน, “ปาฏิหาริย์” พ่อลูกอ่อนวัย 27 ปี และคดีที่พิพากษายืนยกฟ้อง ได้แก่ “รามิล” ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ ศิลปินชาวเชียงใหม่ และ “แต้ม” ผู้ป่วยจิตเวชที่อุบลราชธานี

.

.

อุทธรณ์ภาค 5 ยืนโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน คดี ม.112 คดีที่สามของ “บัสบาส” รวมโทษจำคุกทุกคดีสูง 54 ปี 6 เดือน สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ไทย

วันที่ 4 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมวัย 31 ปี จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 2 โพสต์ เมื่อวันที่ 28 และ 30 ก.ค. 2565 ลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน โดยศาลเห็นว่าข้อความของจำเลยเป็นการเหยียดหยาม ใส่ความเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตาม เป็นการทำให้เสื่อมเสียพระเกียรติ เป็นความผิดตามมาตรา 112 โดยที่ความไม่พอใจต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่จำเลยอ้าง ก็ไม่ใช่เหตุที่จะมากระทำความผิดได้

ผลของคำพิพากษาดังกล่าว ส่งผลให้บัสบาสถูกลงโทษจำคุกรวมกัน 3 คดี เป็นจำนวนโทษจำคุกรวมกันสูงถึง  54 ปี 6 เดือน นับเป็นผู้ต้องขังในคดี ม.112 ที่มีโทษรวมกันสูงที่สุดในประวัติศาสตร์เท่าที่ศูนย์ทนายฯ ติดตามข้อมูลได้

ปัจจุบัน บัสบาสถูกควบคุมตัวในระหว่างฎีกาในคดีมาตรา 112 ทั้ง 3 คดี อยู่ที่เรือนจำกลางเชียงราย และไม่ได้สิทธิประกันตัวในระหว่างฎีกา โดยเขาได้ยื่นขอประกันตัวในปีนี้รวม 4 ครั้ง และศาลฎีกาได้ยกคำร้องเรื่อยมา ระบุว่าเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี แม้บัสบาสจะยืนยันต่อสู้คดีถึงที่สุดในทุกคดีตาม ม.112 ของตัวเอง

.

อุทธรณ์ภาค 3 และ 5 ยืนยกฟ้องคดี ม.112 ของ “แต้ม” ผู้ป่วยจิตเวช และ “รามิล” ศิลปินชาวเชียงใหม่

วันที่ 4 ก.ย. 2567 เช่นเดียวกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3  และศาลอุทธรณ์ภาค 5  มีคำพิพากษาในคดีของ “แต้ม” (นามสมมติ) ผู้ป่วยจิตเวช วัย 34 ปี และ “รามิล” อดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ตามลำดับ

กรณีของแต้มนั้น ถูกฟ้องในข้อหา ม.112  และทำให้เสียทรัพย์ จากเหตุทุบทำลายป้ายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 รวม 3 จุด ใน อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 6 พ.ย. 2564  ส่วนกรณีของรามิล ถูกฟ้องจากกรณีแสดง Performance art หรือ ศิลปะการแสดงสด ที่หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2564 

ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษายืนในคดีของแต้มตามศาลชั้นต้น โดยลงโทษเฉพาะฐานทำให้เสียทรัพย์ โดยเห็นว่า ขณะก่อเหตุแต้มมีความผิดปกติในลักษณะที่มีจิตบกพร่อง แต่ไม่ถึงกับควบคุมตัวเองไม่ได้ ลงโทษสถานเบาโดยให้รอลงอาญา และยกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 เนื่องจากจำเลยกระทำการในขณะมีความผิดปกติทางจิต จึงไม่ชัดเจนว่า จำเลยมีเจตนาดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาดมาดร้ายพระมหากษัตริย์หรือไม่    

ส่วนศาลอุทธรณ์ภาค 5 พิพากษายืนในคดีของรามิลเช่นเดียวกัน โดยมีคำพิพากษาเห็นว่าไม่มีพยานโจทก์ยืนยันว่าการกระทำของจำเลยเข้าข่าย ม.112 พยานหลักฐานของโจทก์มีพิรุธ โดยไม่นำส่งคลิปวิดีโอการแสดง แม้ตำรวจฝ่ายสืบสวนจะบันทึกไว้ การแสดงออกของจำเลยยังเป็นสิทธิตามรัฐธรรมนูญ พิพากษายกฟ้อง 

ทั้ง 2 ราย เป็นตัวอย่างกรณีคดี ม.112 ที่ไม่ได้มีให้เห็นบ่อยนักในคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ จากการติดตามข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน พบว่าคดี ม.112 ที่ศาลยกฟ้องมีทั้งหมด 23 คดี (นับรวมกรณีที่ยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ศาลลงโทษในข้อหาอื่น ๆ) คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 15 จากคดีที่ศาลมีคำพิพากษาไม่น้อยกว่า 158 คดี ในยุคหลังปี 2563

.

จำคุก “ไผ่” 2 ปี 12 เดือน “ครูใหญ่” 2 ปี ผิด ม.112 เหตุปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ภูเขียว เข้าเรือนจำรอ ก่อนศาลอุทธรณ์ให้ประกันตัว

วันที่ 13 ก.ย. 2567 ศาลจังหวัดภูเขียวพิพากษาคดีของ “ไผ่” จตุภัทร บุญภัทรรักษา และ “ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์ สองนักกิจกรรมภาคอีสาน กรณีปราศรัยในประเด็นปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในการชุมนุมหน้าโรงเรียนภูเขียวและ สภ.ภูเขียว เมื่อวันที่ 1 ก.พ. 2564

ศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองมีความผิดตาม ม.112 จำคุกคนละ 3 ปี เพิ่มโทษไผ่กึ่งหนึ่ง กรณีทำผิดซ้ำภายหลังพ้นโทษภายในเวลาไม่เกิน 3 ปี จำคุกไผ่ 4 ปี 6 เดือน จำเลยให้การเป็นประโยชน์ลดโทษ 1 ใน 3 คงจำคุกไผ่ 2 ปี 12 เดือน จำคุกครูใหญ่ 2 ปี ยกฟ้องในข้อหาตามมาตรา 116, พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต

ในวันเดียวกันไผ่และครูใหญ่ถูกส่งตัวเข้าเรือนจำอำเภอภูเขียว เพื่อรอฟังคำสั่งขอประกันตัวในชั้นอุทธรณ์ จนถัดมาอีกหนึ่งวัน ศาลอุทธรณ์ภาค 3 มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวนักกิจกรรมทั้งสองคน ระบุเหตุผลว่าจำเลยทั้งสองไม่มีพฤติการณ์หลบหนี ให้วางหลักทรัพย์ประกันตัวคนละ 300,000 บาท 

ในกรณีคำร้องขอประกันตัวทั้งสองคน ซึ่งศาลจังหวัดภูเขียวส่งให้ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณา และพบว่าศาลอุทธรณ์ในต่างจังหวัดอนุญาตให้ประกันตัว หากเทียบกับศาลอุทธรณ์ที่พิจารณาคำร้องขอประกันตัวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จากข้อมูลของศูนย์ทนายฯ ในช่วงปี 2566  พบว่าคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำสั่งและยกคำร้องไม่อนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองกว่า 24 ฉบับ ส่งผลให้ประชาชนหลายคนถูกคุมขังเป็นระยะเวลานาน และไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในชั้นอุทธรณ์เรื่อยมา 

ในปีนี้ การยื่นประกันตัวผู้ต้องขังในคดี ม.112 (1 ม.ค. – 30 ก.ย. 2567) พบว่าในคดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษา และต้องยื่นประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ ศาลชั้นต้นมักส่งคำร้องขอประกันตัวของจำเลยให้ศาลอุทธรณ์เป็นผู้พิจารณาคำร้องขอประกันตัว ซึ่งมีแนวโน้มที่ยกคำร้องเรื่อยมา เป็นจำนวนกว่า 44 ฉบับแล้ว 

กรณีดังกล่าว เปรียบเทียบให้เห็นว่าในปีนี้ (2567) แนวโน้มของผู้ต้องขังทางการเมืองคดี ม.112 จะมีมากขึ้น ซึ่งจำนวนคำร้องขอประกันตัวที่ถูกยกคำร้อง ก็ได้เพิ่มขึ้นมาเป็นจำนวนเท่าตัวแล้วเมื่อเทียบกับปีก่อน แม้จะยังไม่ถึงสิ้นปี  โดยเฉพาะคดี ม.112 ที่มีคำพิพากษาแล้วในชั้นต้นและมีโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญา เมื่อคดีขึ้นไปอยู่ในศาลที่สูงขึ้น มักจะถูกยกคำร้องไม่อนุญาตให้ประกันตัว แม้หลายกรณีจะไม่มีพฤติการณ์หลบหนี และยืนยันต่อสู้คดีถึงที่สุด

.

ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษายืนคดี 112  “สายน้ำ” แต่งครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์สีลม จำคุก 12 เดือน รอลงอาญา

วันที่ 16 ก.ย. 2567 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ แผนกคดีเยาวชนและครอบครัว ในคดีของ “สายน้ำ” นักกิจกรรมเยาวชน ณ ขณะเกิดเหตุอยู่ในวัย 16 ปี เหตุแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ และเขียนข้อความบนร่างกายในการชุมนุม #ภาษีกู เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขก บนถนนสีลม

คดีนี้ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าสายน้ำมีความผิดตาม ม.112 แม้จำเลยไม่ได้มีส่วนร่วมในการจัดกิจกรรม ทั้งมิได้ร่วมตระเตรียมหรือวางแผนการกันมาก่อน แต่การแสดงออกของคำเลยเป็นความผิดตามมาตราดังกล่าว ข้ออ้างของจำเลยไม่มีน้ำหนักให้รับฟัง  ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 12 เดือน แต่ให้โอกาสจำเลยโดยการลงอาญาไว้มีกำหนดโทษ 2 ปีนั้น เห็นสมควรแล้ว พิพากษายืน

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาในคดีของ “นิว” จตุพร แซ่อึง นักกิจกรรมจังหวัดบุรีรัมย์ วัย 27 ปี ที่ถูกกล่าวหาตามมาตราเดียวกันนี้ โดยจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา กรณีของนิว เป็นกรณีที่พบได้น้อยมากที่ศาลสูงมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างฎีกา หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนไปแล้ว โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับมาตรา 112 

.

ศาลอุทธรณ์ฯ พิพากษายืนคดี 112  “ปาฏิหาริย์” พ่อลูกอ่อน จำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่รอลงอาญา

วันที่ 19 ก.ย. 2567 ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนคดีของ “ปาฏิหาริย์” พ่อลูกอ่อนวัย 27 ปี ถูกกล่าวหาจากเหตุแสดงความคิดเห็นบนโพสต์เฟซบุ๊กของ Somsak Jeamteerasakul เกี่ยวกับข่าวลือเรื่องการประชวรของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2564 โดยลงโทษจำคุก 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง คงจำคุก 1 ปี 6 เดือน ไม่มีเหตุให้รอการลงโทษ

ในวันดังกล่าว ปาฏิหาริย์ไม่ได้เดินทางไปฟังคำพิพากษา โดยศาลชั้นต้นได้อ่านคำพิพากษาลับหลังจำเลย และมีคำสั่งให้ออกหมายจับมาฟังคำพิพากษา

นอกจากคดีของปาฏิหาริย์ ยังมีคดีมาตรา 112 อย่างน้อยอีก 3 คดี ที่พบว่าเหตุแห่งการกล่าวหาเกิดจากการเข้าไปแสดงความคิดเห็นในโพสต์เฟซบุ๊กลักษณะดังกล่าวของสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ได้แก่ คดี “นันท์” (นามสมมติ), คดี “ภู” (นามสมมติ) และคดี “ลักขณา” (นามสมมติ) ทั้งหมดถูกดำเนินคดีที่ บก.ปอท. เช่นเดียวกัน

จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน นับตั้งแต่รัฐเริ่มนำมาตรา 112 กลับมาบังคับใช้ ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน พ.ย. 2563 มีผู้ถูกดำเนินคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวนอย่างน้อย 169 คดี คิดเป็นราวร้อยละ 55 ของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล

.

X