ในวันที่ 9 ก.ค. 2567 เวลา 09.00 น. ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางนัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษ หลัง “ภูมิ หัวลำโพง” นักกิจกรรมเยาวชนและอาสากู้ภัยวัย 20 ปี ยื่นอุทธรณ์ขอให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลเยาวชนและครอบครัวกลางที่ให้ควบคุมตัวภูมิในสถานพินิจฯ ในคดีมาตรา 112 กรณีเข้าร่วมกิจกรรมเรียกร้องให้ปล่อยตัว “นิว” สิริชัย นาถึง ซึ่งถูกจับกุมไปยัง สภ.คลองหลวง เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2564
สำหรับคดีนี้ เมื่อวันที่ 18 ต.ค. 2566 ภูมิได้ให้การรับสารภาพ ก่อนศาลเห็นควรให้ใช้มาตรการพิเศษแทนการพิพากษาคดี ตามพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัวฯ มาตรา 132 วรรค 2 โดยให้ส่งตัวจำเลยไปที่สถานพินิจฯ เป็นเวลา 1 ปี ให้อบรมหลักสูตรวิชาชีพ 2 หลักสูตร และให้ ผอ.สถานพินิจฯ รายงานความประพฤติจำเลยให้ศาลทราบทุก 3 เดือน
จากคำสั่งดังกล่าวทำให้ภูมิต้องถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ บ้านเมตตาตั้งแต่วันนั้น แม้ที่ปรึกษากฎหมายได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลเปลี่ยนแปลงคำสั่ง 2 ครั้ง เนื่องจากมีข้อเท็จจริงที่เปลี่ยนแปลงไป ที่สำคัญคือมารดาของภูมิได้เดินทางกลับจากทำงานต่างประเทศแล้ว และพร้อมจะดูแลภูมิในฐานะผู้ปกครอง แต่ศาลเยาวชนฯ ยังเห็นว่า ไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ต่อมา วันที่ 19 ธ.ค. 2566 ที่ปรึกษากฎหมายได้เข้ายื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลเยาวชนฯ โดยมีสาระสำคัญว่า คำสั่งศาลชั้นต้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย และขัดต่ออนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็ก ประกอบกับข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับจำเลยและผู้ปกครองที่ดูแลจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม จึงขอให้ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้เปลี่ยนไปใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดี และให้จำเลยอยู่ในความดูแลของมารดา ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ แทน พร้อมกับยื่นคำร้องขอให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลางอนุญาตให้อุทธรณ์
ต่อมา อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนฯ มีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ดังกล่าว และส่งให้อัยการโจทก์แก้ รวมทั้งส่งให้ศาลอุทธรณ์คดีชำนัญพิเศษแผนกคดีเยาวชนและครอบครัววินิจฉัย กระทั่งมีนัดฟังคำพิพากษา 9 ก.ค. 2567
.
ศาลอนุญาตให้ภูมิฝึกวิชาชีพในบ้านเมตตาตามคำสั่งศาล แม้มีอาการบาดเจ็บจากหัวไหล่หลุด
จนถึงปัจจุบันนี้ ภูมิถูกควบคุมตัวในสถานพินิจฯ บ้านเมตตามาเกือบ 9 เดือนแล้ว และได้ฝึกวิชาชีพตามคำสั่งศาลจำนวน 2 หลักสูตร ได้แก่ หลักสูตรชงกาแฟ ซึ่งภูมิฝึกจบแล้ว และหลักสูตรศิลปะ ซึ่งยังอยู่ระหว่างการฝึกอบรม นอกจากนี้ ในช่วงเวลาดังกล่าว ภูมิยังเรียนจนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้นตั้งแต่ปลายเดือน มี.ค. 2567 ด้วย
ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2567 ภูมิมีอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ด้านขวา ทำให้ต้องไปพบแพทย์และเข้ารับการรักษาอยู่บ่อยครั้ง อาการบาดเจ็บยังส่งผลให้เกิดความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำในบ้านเมตตา ตลอดจนการเข้ารับการฝึกอบรมตามคำสั่งศาลที่ยังเหลืออีก 1 หลักสูตร ทำให้ที่ผ่านมาภูมิมีความเครียดและกังวลในเรื่องนี้ แต่เมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2567 แม่ของภูมิได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้ภูมิเข้าฝึกอบรมวิชาชีพได้ในระหว่างพักฟื้นและรักษาตัวที่บ้านเมตตา เนื่องจากเกรงว่าภูมิอาจจะเกิดความเครียดสะสมจากความกังวลว่าจะไม่ได้เข้าฝึกอบรม โดยในที่สุดศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ภูมิเข้ารับการฝึกอบรมตามความประสงค์
ต่อมา ในช่วงปลายเดือน พ.ค. ภูมิเล่าว่า ผอ.บ้านเมตตา ขึ้นไปเยี่ยมขณะกักตัว และพูดเรื่องการอบรมวิชาชีพว่า ให้ภูมิอบรมให้ครบตามหลักสูตรที่ศาลสั่ง ถ้าจบแล้ว รายงานรอบเดือน ก.ค. นี้ จะเสนอให้ปล่อยตัวภูมิ
ทั้งนี้ ตาม พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ มาตรา 137 ระบุไว้ว่า หากปรากฏจากรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ หรือจากคำร้องของบิดา มารดา ว่า ข้อเท็จจริงหรือพฤติการณ์ของเยาวชนได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ถ้าศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีซึ่งพิพากษาหรือมีคำสั่งเห็นว่า มีเหตุอันสมควรก็ให้มีอำนาจแก้ไขเปลี่ยนแปลงคำพิพากษาหรือคำสั่งเกี่ยวกับการลงโทษหรือวิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนได้
ดังนั้น หากภูมิฝึกอบรมจบทั้งสองหลักสูตรภายในเวลาก่อน 1 ปี เป็นไปได้ว่าภูมิจะได้รับการปล่อยตัวออกจากสถานพินิจฯ เร็วกว่ากำหนด แต่หากในวันที่ 9 ก.ค. 2567 ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาเปลี่ยนแปลงมาตรการให้ภูมิไปอยู่ในความดูแลของแม่แทนการควบคุมตัวในสถานพินิจฯ ภูมิก็จะได้รับการปล่อยตัวโดยทันที ซึ่งทั้งสองกรณีจะเป็นประโยชน์ต่อการรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ด้านขวาของภูมิให้หายเป็นปกติได้โดยไว ก่อนที่จะเรื้อรังจนอาจทำให้ภูมิไม่สามารถกลับมาใช้แขนขวาได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิมอีก
.
“ผมอยู่ในนี้นานเกินไปแล้ว” ภูมิพยายามฝึกวิชาชีพให้ครบ หวังอยากกลับบ้านในเร็ววัน
สำหรับอาการบาดเจ็บที่ไหล่ด้านขวาของภูมินั้น ล่าสุด เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2567 ที่ปรึกษากฎหมายได้เข้าเยี่ยมภูมิที่โรงพยาบาลสิรินธร ตึกศัลยกรรมกระดูกชาย ขณะภูมิกำลังเข้ารับการรักษาหลังเกิดการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัดเย็บเอ็นหัวไหล่ด้านขวา ที่ทีมแพทย์โรงพยาบาลจุฬาฯ ทำการผ่าตัดให้เมื่อต้นเดือน มิ.ย.
ภูมินอนถอดเสื้ออยู่บนเตียงผู้ป่วย สวมกางเกงผู้ป่วยสีขาว ที่ไหล่ด้านขวามีผ้าก๊อซสีขาวปิดแผลอยู่ ก่อนขยับตัวขึ้นนั่งเมื่อเห็นที่ปรึกษาฯ เดินเข้ามา สีหน้าภูมิดูอิดโรย ผมยาวขึ้นมาก ที่ปรึกษาฯ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการถามไถ่อาการเจ็บป่วย
“วันนี้เป็นคืนที่ 5 ที่ได้นอนที่โรงพยาบาล พรุ่งนี้เจ้าหน้าที่บ้านเมตตาบอกว่าจะให้ออกแล้ว แต่แผลยังไม่ดีขึ้น ยังมีน้ำเหลืองซึมออกมา”
ภูมิกล่าวพร้อมกับลองขยับแขนให้ทนายดู แขนส่วนล่างยังขยับได้ แต่จากข้อศอกขึ้นไปถึงหัวไหล่ขยับไม่ได้แล้ว เมื่อให้ยกทั้งแขนขวาปรากฏว่ายกได้แค่ระดับเอว
“ตอนนี้แผลยังอักเสบ และมีไข้ตอนกลางคืน” ภูมิพูดพร้อมถอนหายใจยาว เขากังวลว่า หากต้องกลับไปพักรักษาตัวที่บ้านเมตตา การดูแลบาดแผลจะไม่ดีอย่างที่ควรเป็น
ที่มือซ้ายของภูมิมีเข็มฉีดยาแบบเฮพารินล็อคคาไว้อยู่ ภูมิเล่าย้อนไปว่า หลังเมื่อวันที่ 21 มิ.ย. ที่ภูมิถูกส่งตัวจากบ้านเมตตาไป รพ.จุฬาฯ เนื่องจากแผลมีอาการอักเสบและเป็นไข้ และหมอให้ยากลับมาทาน พร้อมทั้งนัดติดตามอาการในวันที่ 25 มิ.ย. 2567 ซึ่งอาการปวดที่ไหล่ด้านขวาและอาการไข้ของภูมิยังไม่ดีขึ้น หมอเจาะเลือดไปตรวจและวินิจฉัยว่า แผลมีการติดเชื้อ และเปลี่ยนวิธีการรักษาจากการให้ทานยา เป็นฉีดยาฆ่าเชื้อเข้าเส้นเลือดทุก 12 ชั่วโมง โดยหมอได้ให้อุปกรณ์ฉีดยากลับมาฉีดที่บ้านเมตตา
แต่เมื่อถึงเวลาที่ต้องฉีดยา ปรากฏว่าพยาบาลที่บ้านเมตตาไม่สามารถหาเส้นเลือดได้ ซึ่งปกติภูมิเป็นคนที่หาเส้นเลือดยากอยู่แล้ว เพราะอ้วน เวลาฉีดถ้าไม่ได้จุดจริง ๆ จะทำให้เส้นเลือดแตก และต้องหาใหม่ไปเรื่อย ๆ
“วันนั้นหาไม่เจอจนพยาบาลต้องหาเส้นเลือดที่ขา แต่ก็ไม่เจอ เขาเลยให้กินยาแทน ตอนแรกก็ไม่มีอาการอะไร ตกดึกอาการเริ่มแปลก มันแน่นหน้าอก หายใจไม่ออก ตอนนั้นผมรู้สึกเลยว่าไม่ไหว กลัว ตอนนั้นมัน 5 ทุ่ม คนขับรถของบ้านเมตตาก็กลับไปแล้ว กว่าจะตามกันมาได้ ตอนนอนมาในรถผมได้ยินเสียงเรียกแบบแว่ว ๆ ผมยังคิดเลยว่าถึงจุดตายของผมแล้วรึป่าว”
ภูมิแอดมิทอยู่ที่ รพ.สิรินธร ตั้งแต่คืนวันนั้น โดยได้รับยาฆ่าเชื้อที่ รพ.จุฬาฯ จ่ายมา ฉีดเข้าเส้นเลือดทุก 12 ชม.
นอกจากเรื่องบาดแผล ภูมิเล่าว่าเขายังคงมีความกังวลเกี่ยวกับฝึกอบรมวิชาชีพให้ครบ 2 หลักสูตร ตามคำสั่งของศาล
“ช่วงที่เป็นเวลาเรียน เป็นช่วงเดียวกับที่ครูผู้สอนติดภารกิจราชการ ทำให้เวลาเรียนต้องเลื่อนออกไป จริง ๆ ต้องปิดคอร์สในเดือน มิ.ย. แต่ตอนนี้ขยายออกไปน่าจะ 2 เดือนแล้ว ในส่วนของผมเหลือแต่ทำงานส่ง ถ้ากลับไปที่บ้านเมตตาผมก็ยังเรียนได้นะ ผมหวังว่า เจ้าหน้าที่จะให้ใบงานให้ผมขึ้นไปทำที่ห้อง หรือจะให้ลงมาทำกิจกรรมก็ได้ แต่เจ้าหน้าที่ต้องประเมินความเสี่ยงที่แผลจะติดเชื้อด้วย”
ทนายได้ถามภูมิเกี่ยวกับความหวังในคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่จะอ่านในวันที่ 9 ก.ค. 2567 นี้ ภูมินิ่งเงียบแล้วมองเหม่อไปข้างหน้าก่อนตอบว่า
“ผมอยากกลับบ้าน คิดถึงอาม่า คิดถึงแม่ คิดถึงครอบครัว คิดถึงมูลนิธิ คิดถึงเพื่อน ผมเข้ามาอยู่ในนี้นานเกินไปแล้ว ตอนนี้ไม่รู้ว่าถ้าออกไปข้างนอกผมจะยังสามารถทำงานที่รักได้อีกเหมือนเดิมมั้ย
“ถ้าศาลไม่เห็นใจ ให้ผมอยู่ต่อ เดือน ก.ค. นี้ผมจะจบ ม. 6 ด้วยนะพี่” ภูมิพูดพร้อมรอยยิ้มที่เหมือนจะปลอบใจตัวเอง แต่เป็นยิ้มที่เศร้าสร้อย
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
“ภูมิ หัวลำโพง” จากเด็กกู้ภัย สู่เยาวชนไทยที่ถูกดำเนินคดีความมั่นคง