เมื่อกลางเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า “ภูมิ” เยาวชนที่ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตา จากคดีมาตรา 112 มีอาการไหล่หลุด หลังนั่งคุยกับเจ้าหน้าที่แล้วเกิดเหตุขาเก้าอี้หัก จนวันที่ 15 ก.พ. 2567 แม่โทรเช็คที่โรงพยาบาลสิรินธร ทราบว่าภูมิยังไม่ได้ออกจากที่นั่น
ย้อนไปเหตุการณ์ซึ่งเริ่มจากขาเก้าอี้ด้านขวาหัก ทำให้ภูมิล้มลงกับพื้น และมีอาการเหมือนไหล่หลุด ซึ่งก่อนหน้านั้นไหล่ด้านขวาของภูมิเคยหลุดมาก่อน พอรู้สึกว่ามีอาการเหมือนไหล่หลุด ภูมิจึงแจ้งกับพยาบาลที่บ้านเมตตา แต่พยาบาลพูดประมาณว่า จะต้องส่งภูมิให้นักจิตวิทยาประเมิน ต่อมา ภูมิได้เห็นเอกสารประเมินซึ่งระบุว่า ภูมิมีอาการจิตเวชฉุกเฉิน
ภูมิเข้าใจว่า ทางบ้านเมตตาประสานไปที่โรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยา แต่ด้วยภูมิมีอาการบาดเจ็บทางกายด้วย ทางโรงพยาบาลสมเด็จเจ้าพระยาจึงยังไม่รับและให้ไปรักษาอาการบาดเจ็บทางกายก่อน จึงมีการส่งภูมิไปที่โรงพยาบาลสิรินธร แต่โรงพยาบาลสิรินธรไม่สามารถดูแลได้ จึงส่งต่อไปโรงพยาบาลจุฬาฯ
ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ หมอวินิจฉัยว่า เอ็นหัวไหล่ของภูมิมีความเสียหาย คงต้องผ่าตัดเพื่อซ่อมเอ็นหัวไหล่ ซึ่งไหล่จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป แต่ขณะนั้นโรงพยาบาลจุฬาฯ ไม่มีเตียง ทำให้ต้องส่งภูมิกลับไปที่โรงพยาบาลสิรินธรอีกครั้ง ด้วยความที่โรงพยาบาลสิรินธรไม่มีเตียงเหมือนกัน เจ้าหน้าที่จึงพาภูมิกลับมาที่บ้านเมตตา ตอนนั้นภูมิเริ่มไม่สบายใจ เป็นกังวลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บของตนเอง เนื่องจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ให้ภูมิกลับไปรักษา โดยให้อยู่ในความดูแลของแพทย์
ภูมิเองก็มองว่า การกลับมาอยู่ที่บ้านเมตตา หากอาการบาดเจ็บมีมากขึ้น จะไม่สามารถรักษาได้ทันท่วงที แม้ที่บ้านเมตตาจะมีพยาบาล แต่ก็ไม่ได้ทำหน้าที่วินิจฉัยโรค และเมื่อภูมิถามว่า ทำไมไม่ส่งเขาไปรักษาที่โรงพยาบาลอื่น เจ้าหน้าที่บ้านเมตตาแจ้งว่า ย้ายสิทธิการรักษาเข้ามาได้ แต่การย้ายออกต้องให้ผู้ปกครองเป็นผู้ดำเนินการเอง ซึ่งในวันนั้นแม่ภูมิติดธุระเรื่องอื่นอยู่ จึงไม่สามารถไปดำเนินการเรื่องนี้ได้
ภูมิย้ำว่า หมอโรงพยาบาลจุฬาฯ แจ้งว่าระหว่างการรอผ่าตัดจะไม่สามารถขยับตัวได้ และหลังผ่าตัดแล้วก็จะขยับแขนไม่ได้อย่างน้อย 6 เดือน นอกจากนี้ ที่หมอนัดไปพบในวันที่ 27 ก.พ. 2567 หมอไม่ได้คอนเฟิร์มว่าจะได้ผ่าตัดในวันนั้น แต่เป็นการไปตรวจและนัดคิวผ่า ซึ่งอาจจะต้องรอไปอีก 6 เดือน – 1 ปี กว่าจะถึงคิวผ่า ระหว่างนั้นก็ต้องอยู่ในการดูแลของแพทย์ ไม่สามารถขยับแขนได้
เจ้าหน้าที่บ้านเมตตาบอกด้วยว่า ค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่เกิดขึ้น ทางผู้ปกครองภูมิต้องรับผิดชอบเอง ทำให้ภูมิเกิดความสงสัยว่า ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
การพูดคุยในวันนั้นที่ปรึกษาฯ อัพเดตเรื่องคดีให้ภูมิฟังว่า เมื่อสัปดาห์ที่แล้วได้ไปตรวจสำนวนที่ศาลเยาวชนฯ ทางเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า ตอนนี้สำนวนคดีอยู่ที่ศาลอุทธรณ์แล้ว ระหว่างนี้ก็รอหมายนัดฟังคำสั่งของศาลอุทธรณ์
.
วันที่ 28 ก.พ. 2567 แม่ภูมิอัพเดตหลังภูมิไปพบหมอโรงพยาบาลจุฬาฯ ว่า ไหล่ของภูมิไม่เข้าที่ หมอวินิจฉัยว่า ไหล่หลวม ต้องผ่าตัดเพื่อยึดน็อตใส่หัวไหล่ ปกติจะใช้เวลา 5-6 เดือน ในการนัดผ่าตัด แต่เคสของภูมิหากปล่อยไว้อาจมีปัญหาจึงจะนัดผ่าภายใน 2-3 สัปดาห์นี้ และต้องใช้ระยะเวลาเป็นปีในการรักษา
จากนั้นหมอได้ส่งภูมิกลับมาแอดมิทที่โรงพยาบาลสิรินธร แต่ไม่มีเตียงว่างเหมือนเดิม เจ้าหน้าที่จึงจะนำภูมิกลับบ้านเมตตา แต่แม่ภูมิกังวลว่า หากนำกลับบ้านเมตตาอาการจะทรุด จึงได้ปรึกษากับเจ้าหน้าที่ และมีข้อเสนอให้ส่งภูมิไปที่โรงพยาบาลเทพธารินทร์ เจ้าหน้าที่ขอทำหนังสือให้ ผอ.อนุมัติก่อน
อย่างไรก็ตาม ผอ.บ้านเมตตา เห็นว่า เคสของภูมิยังไม่วิกฤตถึงขนาดต้องส่งต่อโรงพยาบาลเอกชน แม่ภูมิจึงขอเข้าพบ ผอ. ในวันที่ 29 ก.พ. 2567 แต่ยังไม่ได้พบ ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่า ผอ.ติดราชการ จากการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่บ้านเมตตา เจ้าหน้าที่ซึ่งน่าจะได้คุยกับ ผอ. แล้ว แจ้งว่า ถ้าโรงพยาบาลสิรินธรระบุว่า จะส่งต่อภูมิไปรักษาโรงพยาบาลเอกชน บ้านเมตตาก็จะส่งตัวภูมิไปได้ เหมือนการปล่อยตัวชั่วคราว ทางเจ้าหน้าที่จึงแนะนำให้แม่ทำคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวต่อศาลเยาวชนฯ
กระทั่งวันที่ 1 มี.ค. 2567 แม่ได้รับแจ้งจากบ้านเมตตาว่า ภูมิเอาผ้าที่พันไหล่ออก ทำให้แค่เอี้ยวตัวไหล่ก็หลุดออกแล้ว เจ้าหน้าที่จึงต้องส่งตัวภูมิไปที่โรงพยาบาลจุฬาฯ อีกครั้ง หมอรักษาโดยการดันไหล่เข้าที่ จากนั้นก็ส่งภูมิกลับบ้านเมตตา เมื่อแม่โทรศัพท์ไปที่บ้านเมตตา เจ้าหน้าที่แจ้งว่า จะไม่ให้ภูมิกักตัวแล้ว เพราะถ้ากักตัวต้องอยู่คนเดียว ลุกทำอะไรไม่สะดวก ตั้งแต่วันนั้นเป็นต้นมา ภูมิจึงพักรักษาตัวอยู่ที่บ้านเมตตาโดยมีคนคอยช่วยเหลือในการใช้ชีวิตประจำวัน
ล่าสุด วันที่ 4 มีนาคม 2567 ที่ปรึกษาฯ ได้ยื่นคำร้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ขอให้ยกเลิกคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการพิพากษาคดีตามมาตรา 132 วรรคสองแห่ง พ.ร.บ.ศาลเยาวชนฯ โดยให้ใช้มาตราการแทนการพิพากษาคดี ตามมาตรา 132 วรรคหนึ่ง แทน เนื่องจากข้อเท็จจริงและพฤติการณ์เกี่ยวกับสภาพร่างกายและสภาพจิตใจของจำเลยเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม โดยระบุถึงอาการบาดเจ็บไหล่หลุด ทำให้มีความยากลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน เกิดความเครียด และไม่อาจฝึกอบรมตามคำสั่งศาลได้ ทั้งนี้ เพื่อให้โอกาสจำเลยได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลอย่างเร็วที่สุด ตลอดจนได้รับการดูแลจากมารดาและครอบครัวในระหว่างที่เข้ารับการรักษา โดยแนบใบรับรองแพทย์เพื่อประกอบการพิจารณาของศาลด้วย
และเนื่องจากเมื่อวันที่ 19 ธ.ค. 2566 ได้มีการยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลเยาวชนฯ ที่ให้ภูมิเข้ามาตราการตามมาตรา 132 วรรคสอง โดยขอเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นเข้ามาตรการตามมาตรา 132 วรรคหนึ่งแทน สำนวนคดีนี้จึงอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ โดยเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่า คำร้องที่ยื่นใหม่นี้จะส่งตามไปที่ศาลอุทธรณ์
ในขณะที่รอคำสั่งศาล ซึ่งไม่รู้แน่ว่าศาลจะมีคำสั่งมาเมื่อใด ภูมิยังคงต้องอยู่ที่บ้านเมตตา โดยมีอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ ไม่สามารถใช้แขนขวาได้ตามปกติ
สำหรับมาตรา 132 ของ พ.ร.บ.ศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. 2553 มีเนื้อหาถึงการกำหนดมาตรการพิเศษให้กับเด็กและเยาวชนที่กระทำความผิด โดยศาลไม่ต้องมีคำพิพากษา โดยวรรคหนึ่งให้อำนาจศาลใช้ดุลยพินิจกำหนดเงื่อนไข ตามแผนฟื้นฟูเยาวชน เช่น เข้าร่วมกิจกรรมบำบัด หรือเข้ารับคำปรึกษา เพื่อให้เด็กสามารถกลับสู่สังคมได้ และจะไม่ถูกควบคุมตัว ส่วนมาตรา 132 วรรคสองกำหนดให้ศาลที่เห็นว่าไม่ควรกำหนดเงื่อนไขตามวรรคแรก ให้ส่งเด็กหรือเยาวชนเข้าสถานพินิจฯ หรือสถานที่อื่นก็ได้ ซึ่งทำให้เยาวชนต้องถูกส่งเข้าไปควบคุมตัวอยู่ในสถานพินิจฯ เป็นเวลาตามที่กำหนด
จนถึงปัจจุบัน (5 มี.ค. 2567) ภูมิถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานพินิจฯ บ้านเมตตามา 140 วันแล้ว