พรุ่งนี้ (4 ก.พ. 2567) เวลาประมาณ 8.00 น. “เอกชัย หงส์กังวาน” นักกิจกรรมทางการเมือง และเป็นผู้ต้องขังที่ถูกพิพากษาจำคุก 1 ปี กรณีโพสต์ข้อความเล่าประสบการการณ์เรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำ เมื่อปี 2560 จะครบกำหนดโทษและได้รับการปล่อยตัวออกจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ซึ่งขณะนี้เขาพักรักษาตัวอยู่
ย้อนไปในคดีนี้เอกชัยถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(4) ฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ ที่มีลักษณะอันลามก ซึ่งข้อความที่โจทก์หยิบยกมาฟ้องเป็นเนื้อหาที่เอกชัยบอกเล่าเกี่ยวกับประสบการณ์ในเรือนจำ รวมไปถึงประเด็นเรื่องเพศสัมพันธ์ในเรือนจำชาย ที่เอกชัยเคยประสบมาระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยบอกเล่าเป็นซีรีส์ทั้งหมด 14 ตอน โดยข้อความที่ถูกกล่าวหาปรากฏในตอนที่ 9 และศาลอาญา ได้เห็นว่าเขามีความผิด พิพากษาจำคุก 1 ปี
ต่อมา เมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2565 ภายหลังยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืน ตามศาลชั้นต้น ให้ลงโทษจำคุก 1 ปี ไม่รอลงอาญา ทำให้เอกชัยต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ โดยไม่ได้รับการประกันตัวในระหว่างฎีกาอยู่หลายครั้ง รวมถูกขังเป็นระยะเวลากว่า 154 วัน ซึ่งภายหลังได้รับการประกันตัวในการยื่นประกันครั้งที่ 6 เมื่อวันที่ 19 ก.ย. 2565
ก่อนที่วันที่ 6 ก.ค. 2566 ในนัดฟังคำพิพากษาศาลฎีกา ก็ได้พิพากษายืนเช่นกัน มีใจความสำคัญระบุว่า การโพสต์ใช้ถ้อยคำกล่าวถึงการมีเพศสัมพันธ์ของจำเลยกับนักโทษชายอื่นในระหว่างต้องขังคดีอื่นในเรือนจำอย่างโจ่งแจ้ง เป็นการผิดวิสัยของวิญญูชนผู้รู้ผิดชอบตามปกติพึงปฏิบัติ เป็นข้อความที่ไม่สุภาพ เข้าข่ายลามกอนาจาร และมีลักษณะยั่วยุกามารมณ์
ผลคำพิพากษาดังกล่าวทำให้เอกชัยต้องเข้าไปอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง ท่ามกลางคำถามถึง การคำนวณโทษจำคุก ที่ไม่เป็นไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 54 ตามบทบัญญัติศาลอาจเลือกใช้การคำนวณโทษได้สองวิธี วิธีที่ 1 เพิ่มโทษก่อน แล้วจึงค่อยลดโทษจากผลที่เพิ่ม หากศาลคำนวณตามวิธีนี้ ก่อนเพิ่มหรือลดโทษเอกชัยจะมีโทษจำคุก 1 ปี เมื่อเพิ่มโทษหนึ่งในสามจะมีโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน จึงค่อยนำผลลัพธ์นี้มาลดโทษลงหนึ่งในสาม เท่ากับว่าเอกชัยจะมีโทษจำคุกหลังลดโทษ 10 เดือน 20 วัน
วิธีที่ 2 ไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ (วิธีที่ศาลใช้) หากศาลคำนวณตามวิธีนี้ ส่วนของการเพิ่มโทษและการลดโทษที่เท่ากันนี้จะหายกันไป ไม่เพิ่มและไม่ลดโทษ เท่ากับว่าเอกชัยจะมีโทษจำคุกคงเดิมตามที่พิพากษาคือ 1 ปี
จากผลลัพธ์ในข้างต้น จะเห็นได้ว่าโทษจำคุกจากการคำนวณทั้งสองวิธีนี้แตกต่างกันถึง 1 เดือน 10 วัน แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้ศาลใช้ดุลยพินิจได้ว่าจะเพิ่มและลดโทษด้วยวิธีใด แต่ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (4) โดยเฉพาะในกรณีการบอกเล่าประสบการณ์ของเอกชัย ไม่ได้เป็นอาชญากรรมที่ร้ายแรงและไม่ได้เป็นภัยต่อสังคม ศาลกลับไม่ใช้กฎหมายส่วนที่เป็นคุณ บังคับแก่จำเลย
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ถูกจำคุกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2566 เอกชัย ติดอยู่ในเรือนจำอีกครั้ง 214 วัน เมื่อรวมทั้งคดี เอกชัยติดคุกรวม 368 วัน หรือมากกว่า 1 ปี
สำหรับเอกชัย ปัจจุบันอายุ 49 ปี มีภูมิหลังเป็นคนกรุงเทพมหานคร เรียนด้านบริหารธุรกิจ เคยประกอบอาชีพขายหวยใต้ดิน กระทั่งได้รับผลกระทบจากการรัฐประหาร 19 ก.ย. 2549 การสูญเสียการงาน ทำให้เขาผันตัวเองกลายมาเป็นผู้ชุมนุมและนักเคลื่อนไหวทางการเมือง
เอกชัยเผชิญการต่อสู้ทางการเมืองมาอย่างโชกโชน ทั้งการถูกดำเนินคดีถึง 30 คดี หนึ่งในนั้นคือคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 110 “ประทุษร้ายเสรีภาพพระราชินี” ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องไปแล้ว
เอกชัยถูกคุมขังในเรือนจำเป็น 4 ครั้ง ถูกลอบทำร้ายถึง 6 ครั้ง ถูกเผารถยนต์ 2 ครั้ง ในช่วงที่เอกชัยเคลื่อนไหวตรวจสอบปัญหาเรื่องนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ อย่างเข้มข้น และยังเคลื่อนไหวติดตามการหายไปของหมุดคณะราษฎร รวมทั้งยังถูกเจ้าหน้าที่รัฐบุกไปคุกคามถึงบ้านนับครั้งไม่ถ้วนตลอดหลายปีที่ผ่านมา
ทั้งนี้หลังเอกชัย ได้รับอิสรภาพในครั้งนี้ ยังคงมีผู้ต้องขังทางการเมืองอีกอย่างน้อย 37 คน ที่ถูกคุมขังอยู่
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
สรุป 30 คดีทางการเมืองของ “เอกชัย หงส์กังวาน” ผู้ถูกจองจำในเรือนจำครั้งที่ 4