อัยการสั่งไม่ฟ้อง 4 คดีคาร์ม็อบขอนแก่น-นครพนม 6 นักกิจกรรมพ้นผิด ชี้การชุมนุมไม่เสี่ยงแพร่โรค  

เมื่อเดือนตุลาคม 2566 นักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” 5 ราย และอีก 1 นักกิจกรรม “นครพนมสิบ่ทน” ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งเด็ดขาดของอัยการไม่ฟ้องคดีคาร์ม็อบขอนแก่น #2 เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 และคดีคาร์ม็อบนครพนม เมื่อวันที่ 7, 15 และ 27 ส.ค. 2564 หลังเคยได้รับหมายเรียกและเข้ารับทราบข้อกล่าวหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และอีกหลายข้อหา ช่วง ก.ย.- ต.ค. 2564 

.

อัยการขอนแก่นพิจารณาเกือบ 2 ปี ก่อนไม่ฟ้องคดีเด็ดขาด

เหตุแห่งคดีคาร์ม็อบขอนแก่น #2 เริ่มจากเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 กลุ่มขอนแก่นพอกันทีจัดกิจกรรม CAR MOB #2 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” คู่ขนานกับคาร์ม็อบใน 39 จังหวัดทั่วประเทศ โดยเคลื่อนขบวนจากบึงแก่นนครไปหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เรียกร้องให้รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ลาออก, ร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ 

หลังการชุมนุมไม่นาน นักเรียน นักศึกษา และนักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” หลายรายถูก สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียกผู้ต้องหาจากกิจกรรมคาร์ม็อบในช่วงเดือน ก.ค. – ส.ค. 2564 รวม 3 คดี โดยคาร์ม็อบครั้งที่ 2 มีผู้ถูกดำเนินคดีรวม 5 คน ได้แก่ “ครูใหญ่” อรรถพล บัวพัฒน์, ธนสิทธิ์ นิสยันต์, ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, ภานุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ และนิติกร ค้ำชู โดยมี พ.ต.ท.วิโรจน์ นาหนองขาม รองผู้กำกับสืบสวน เป็นผู้แจ้งความดำเนินคดี

จากนั้นในเดือน ต.ค. 2564 หลังผู้ถูกออกหมายเรียกเข้ารับทราบข้อกล่าวหา พนักงานสอบสวนได้แจ้งพฤติการณ์ที่ดำเนินคดีว่า กิจกรรม “CAR MOB #2” ซึ่งมีประชาชนเข้าร่วมประมาณ 150 คน นํารถยนต์เข้าร่วมประมาณ 50 คัน และรถจักรยานยนต์ประมาณ 60 คัน มีการเคลื่อนขบวนรถไปในตัวเมืองขอนแก่นในลักษณะกีดขวางการจราจร บีบแตรรถส่งเสียงดัง แล้วไปหยุดที่บริเวณถนนหน้าศูนย์ราชการ มีการปราศรัยและทํากิจกรรมโจมตีรัฐบาล รวมทั้งประณามการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตํารวจที่ กทม. ในวันนั้น โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เครื่องเสียง และไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด -19 

นักกิจกรรมทั้งห้าถูกแจ้งข้อกล่าวหาหลายข้อหาดังนี้ “ร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 100 คน, ร่วมกันดําเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะที่อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันกีดขวางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขับขี่รถใช้เสียงสัญญาณแตรรถยาวเกินความจําเป็น และร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต” 

นอกจากนี้ ณัฏฐสกลยังถูกแจ้งข้อหา เผาภายในระยะ 500 เมตร จากทางเดินรถ เป็นเหตุให้เกิดควันในลักษณะที่อาจไม่ปลอดภัยแก่การจราจร อีก 1 ข้อหา เนื่องจากพนักงานสอบสวนอ้างว่า เป็นผู้ลงมือเผาหุ่นจำลองหน้าเวทีปราศรัย

นักกิจกรรมทั้งห้าให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยให้การเป็นเอกสารว่า การชุมนุมดังกล่าวเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยชอบด้วยพันธกรณีระหว่างประเทศและรัฐธรรมนูญ อีกทั้งการชุมนุมมีมาตรการป้องกันโควิดตามความเหมาะสมแล้ว ผู้เข้าร่วมต่างอยู่ในรถของตนเอง ไม่ได้ใกล้ชิดกัน ทั้งยังสวมหน้ากากอนามัย สถานที่ชุมนุมก็เป็นที่โล่ง ไม่แออัด 

1 เดือนต่อมา (2 พ.ย. 2564) พนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนให้อัยการ ด้านนักกิจกรรมก็ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เพราะไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เนื่องจากภายหลังกิจกรรมก็ไม่ปรากฏข้อมูลทางสถิติว่ามีการแพร่ระบาดของโควิดในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นเพิ่มขึ้นจากการชุมนุมในคดีนี้แต่อย่างใด

คดีอยู่ในชั้นอัยการเกือบ 2 ปี ในที่สุดวันที่ 30 ส.ค. 2566 อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงขอนแก่นมีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้ง 5 คน ในทุกข้อหา คำสั่งไม่ฟ้องคดีแบ่งเป็น 2 ส่วน กล่าวคือ

.

ข้อหาที่มีเพียงโทษปรับขาดอายุความ

หนังสือจาก ธีรพล แก้วไวยุทธ อัยการจังหวัดคดีศาลแขวงขอนแก่น ระบุว่า พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นมีคําสั่งยุติการดําเนินคดีบางข้อหากับผู้ต้องหาทั้ง 5 คน เพราะคดีขาดอายุความ สิทธิการนําคดีอาญามาฟ้องย่อมระงับไป ตามระเบียบสํานักงานอัยการสูงสุดว่าด้วยการดําเนินคดีอาญาของพนักงานอัยการ พ.ศ. 2563 ข้อ 48 (7) 

โดยข้อหาที่ขาดอายุความและอัยการสั่งยุติการดำเนินคดี ได้แก่ ข้อหา ร่วมกันดําเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดภาวะที่อาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายแพร่ระบาดออกไป, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ, ร่วมกันกีดขวางจราจรโดยไม่ได้รับอนุญาต, ร่วมกันขับขี่รถใช้เสียงสัญญาณแตรรถยาวเกินความจําเป็น, ร่วมกันโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต รวมทั้งข้อหา เผาภายในระยะ 500 เมตร จากทางเดินรถ เป็นเหตุให้เกิดควันในลักษณะที่อาจไม่ปลอดภัยแก่การจราจร ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 (6), ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385, พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ มาตรา 114, 130, พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ มาตรา 4 

ทั้งนี้ ข้อหาที่ขาดอายุความดังกล่าวเป็นข้อหาที่มีเพียงโทษปรับ ซึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 95 กำหนดให้มีอายุความเพียง 1 ปี นับตั้งแต่วันเกิดเหตุ 

คาร์ม็อบขอนแก่น #2 (ภาพโดย Somjing Diary)

พยานหลักฐานไม่พอฟ้องข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เหตุการชุมนุมไม่เสี่ยงแพร่โรค-ไม่ปรากฏหลักฐานว่าเป็นผู้โพสต์ชวนชุมนุม 

ในส่วนข้อหา ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหาไว้ว่า “ร่วมกันชุมนุมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต และร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 100 คน” นั้น อัยการจังหวัดระบุว่า มีคำสั่งเด็ดขาดไม่ฟ้องผู้ต้องหาทั้งห้า เนื่องจากพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง ด้วยเหตุผลดังนี้ 

ข้อกล่าวหาที่ 1 “ร่วมกันชุมนุมหรือทํากิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ที่มีประกาศหรือคําสั่งกําหนดเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต” คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า การชุมนุมหรือทํากิจกรรมของผู้ต้องหาทั้งห้าดังกล่าวมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคตามข้อกล่าวหาหรือไม่ 

เห็นว่า เมื่อพิจารณาภาพถ่ายการชุมนุม พื้นที่จัดกิจกรรมตั้งแต่จุดรวมพล เส้นทางถนนที่รถวิ่ง จนถึงหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่น เป็นสถานที่โล่งกว้าง อากาศถ่ายเทได้สะดวก โดยผู้ที่มาชุมนุมสามารถเดินไปมาได้ และโดยสภาพการชุมนุมไม่มีเหตุที่ผู้เข้าร่วมการชุมนุมจะต้องหยุดอยู่ในบริเวณหนึ่งบริเวณใด หรืออยู่รวมกลุ่มกับบุคคลอื่นเป็นเวลานาน มีการขับขี่รถจักรยานยนต์และรถยนต์ไปตามเส้นทางตลอดเวลา โดยมีผู้เข้าร่วมทํากิจกรรมประมาณ 100-150 คน เท่านั้น อีกทั้งบริเวณหน้าศาลากลางจังหวัดขอนแก่นมีพื้นที่ค่อนข้างใหญ่ ผู้ร่วมทํากิจกรรมไม่ได้อยู่เต็มพื้นที่ เชื่อได้ว่าบริเวณที่เกิดเหตุไม่ได้มีสภาพเป็นสถานที่แออัด 

และถึงแม้ว่า นักวิชาการสาธารณสุขชํานาญการ สํานักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น ให้การยืนยันข้อเท็จจริงว่า หลังจากที่มีการทํากิจกรรม ผู้ติดเชื้อโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นตามกราฟสถิติก็ตาม แต่เมื่อพิจารณาจากกราฟดังกล่าวเป็นการเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย และไม่มีหลักฐานใดมายืนยันว่าการเพิ่มขึ้นดังกล่าวเพิ่มขึ้นจากการจัดกิจกรรมในครั้งนี้ เนื่องจากก่อนหน้าการจัดกิจกรรมก็มีการติดเชื้อจํานวนมากอยู่แล้ว 

กับเมื่อพิจารณาภาพถ่าย ผู้ร่วมชุมนุมโดยส่วนใหญ่จะมีการป้องกันตนเองโดยสวมใส่หน้ากากอนามัยอยู่ตลอด จึงเชื่อได้ว่า มีการป้องกันการแพร่เชื้อพอสมควร และปรากฏตามรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองเมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2564 ว่า การรวมกลุ่มทํากิจกรรมใช้เวลาประมาณ 1 ชั่งโมงกว่า ๆ ซึ่งเป็นเพียงระยะเวลาสั้น ๆ จึงไม่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค 

การกระทําของผู้ต้องหาทั้งห้าจึงไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา และเมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาทั้งห้าให้การปฏิเสธ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง 

ข้อกล่าวหาที่ 2 “ร่วมกันจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุด ซึ่งมีการรวมกลุ่มของบุคคลมีจํานวนรวมกันมากกว่า 100 คน” คดีมีประเด็นที่จะต้องพิจารณาว่า ผู้ต้องหาทั้งห้าเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้หรือไม่ 

เห็นว่า ตามรายงานความเคลื่อนไหวทางการเมืองฯ ไม่ปรากฏพยานหลักฐานยืนยันว่า ผู้ต้องหาทั้งห้าเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบในครั้งนี้แต่ประการใด ลําพังแต่การเข้าร่วมชุมนุมและอยู่ในที่เกิดเหตุ และขึ้นกล่าวปราศรัยบนเวทีของผู้ต้องหาทั้งห้า ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นผู้จัดกิจกรรมคาร์ม็อบขึ้นในครั้งนี้ 

และแม้ว่าจะปรากฏข้อความเกี่ยวกับการประกาศเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมชุมนุม ซึ่งได้มีการประกาศผ่านทางเพจเฟซบุ๊กชื่อ “ดาวดิน สามัญชน” “ขอนแก่นพอกันที” และ “ภาคีนักเรียน KKC” ก็ไม่ปรากฏพยานหลักฐานใดยืนยันว่าผู้ต้องหาทั้งห้าเป็นผู้เขียนข้อความเชิญชวนให้บุคคลทั่วไปเข้าร่วมการชุมนุมในเพจเฟซบุ๊กดังกล่าว 

คดีจึงไม่มีหลักฐานเพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดและแสดงให้เห็นว่าผู้ต้องหาทั้งห้าเป็นผู้จัดกิจกรรม “CarMob ขอนแก่น #2” และเมื่อคดีนี้ผู้ต้องหาทั้งห้าให้การปฏิเสธ คดีมีพยานหลักฐานไม่พอฟ้อง 

.

นอกจากคดีคาร์ม็อบขอนแก่น #1 เมื่อ 15 ก.ค. 2564 ซึ่งอรรถพลและภานุพงศ์ยอมถูกเปรียบเทียบปรับคนละ 1,200 บาท ในข้อหากีดขวางทางสาธารณะและใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต และคดียุติลงในชั้นสอบสวน และคดีคาร์ม็อบขอนแก่น #2 เมื่อ 1 ส.ค. 2564 ที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีแล้วนั้น นักกิจกรรมขอนแก่น 10 คน ยังต้องเผชิญกับคดีคาร์ม็อบ #3 เมื่อ 22 ส.ค. 2564 ซึ่งอัยการยื่นฟ้องในหลายข้อหา เช่นเดียวกับคดีคาร์ม็อบขอนแก่น #2 โดยศาลแขวงขอนแก่นนัดสืบพยานในวันที่ 18-22 ธ.ค. 2566 ที่จะถึงนี้

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ศาลแขวงขอนแก่นมีคำพิพากษายกฟ้องคดีฝ่าฝืน พ.ร.กฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในขอนแก่นมาแล้วรวม 4 คดี ได้แก่ คดีชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ”, คดีชุมนุมสวนเรืองแสง, คดีชุมนุมหน้า สภ.ย่อย มข. และคดีชุมนุมให้กำลังใจหน้า สภ.เมืองขอนแก่น   

.

อัยการนครพนมไม่ฟ้อง 3 คดีคาร์ม็อบ หลังพิจารณาเกือบ 2 ปีเช่นกัน

เดือน ต.ค. 2566 เช่นกัน ประกอบ วงษ์พันธ์ เกษตรกรและนักกิจกรรมกลุ่ม “นครพนมสิบ่ทน” ก็ได้รับหนังสือแจ้งคำสั่งไม่ฟ้องจากอัยการจังหวัดนครพนม ระบุว่า คำร้องขอความเป็นธรรมมีน้ำหนักเพียงพอให้รับฟังได้ หลังเมื่อวันที่ 22 ก.ย. 2564 ประกอบต้องเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองนครพนม รวม 3 คดี ในข้อหาจัดกิจกรรมรวมกลุ่มมากกว่า 50 คน ในพื้นที่ควบคุมโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบนครพนม 3 ครั้ง ในวันที่ 7, 15 และ 27 ส.ค. 2564 และให้การปฏิเสธ

เมื่อพนักงานสอบสวนส่งสำนวนการสอบสวนทั้ง 3 คดี ให้อัยการเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2564 ประกอบได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม ขอให้อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดี เนื่องจากคาร์ม็อบทั้ง 3 ครั้ง จัดในที่โล่ง ใช้เวลาไม่นาน และผู้เข้าร่วมสวมหน้ากากอนามัย จึงไม่เสี่ยงต่อการแพร่โรค ประกอบกับเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความเห็นและการชุมนุมตามรัฐธรรมนูญ เพื่อเรียกร้องสิทธิอันควรได้จากรัฐบาล คือ การจัดหาวัคซีนที่มีคุณภาพ ที่สำคัญ ทั้งก่อนและหลังกิจกรรม ไม่ปรากฏผู้ติดเชื้อโควิด-19 จากคาร์ม็อบทั้ง 3 ครั้งนี้ 

คาร์ม็อบนครพนม 27 สิงหา (ภาพโดย นครพนมสิบ่ทน)

ท่ามกลางคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการใช้เสรีภาพในการชุมนุมต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ที่ถูกสั่งฟ้องต่อศาล และอยู่ระหว่างการต่อสู้คดี เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามข้อมูลคดี พบว่ามีคดีที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว 54 คดี และศาลมีคำพิพากษายกฟ้องแล้วรวม 84 คดี (ข้อมูล ณ วันที่ 15 พ.ย. 2566)

ดูตารางสถิติ:

สถิติคดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่ศาลยกฟ้อง-อัยการสั่งไม่ฟ้อง

X