คาร์ม็อบขอนแก่น#3 ยังเป็นคดี อัยการฟ้อง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 10 นศ.-นักกิจกรรม 

29 มี.ค. 2566 เวลา 13.00 น. นักศึกษาและนักกิจกรรม “ราษฎรขอนแก่น” รวม 10 คน เดินทางไปในนัดส่งฟ้องคดีตามที่นัดหมายกับพนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่น ในคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากคาร์ม็อบขอนแก่น#3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” ในวันที่ 22 ส.ค. 2564 

นักกิจกรรมทั้งสิบ ซึ่งเป็นนักศึกษา 6 คน ได้แก่ กุลธิดา กระจ่างกุล, ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, ชานน อาจณรงค์, วีรภัทร ศิริสุนทร, นุ้ก (นามสมมติ), พงศธร (สงวนนามสกุล), “ครูใหญ่” อรรถพล  บัวพัฒน์, กรชนก แสนประเสริฐ, ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ และพายุ บุญโสภณ ภายหลังกิจกรรมได้ถูก สภ.เมืองขอนแก่น ออกหมายเรียก และเดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาในวันที่ 8 และ 15 ต.ค. 2564

ชั้นสอบสวนพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันชุมนุมและจัดกิจกรรมที่มีจำนวนมากกว่า 20 คน และ 50 คน ในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต และฝ่าฝืนคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันขับขี่รถใช้เสียงสัญญาณแตรรถยาวเกินความจําเป็น, ร่วมกันกีดขวางการจราจร และร่วมกันใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต”

ในวันนี้ หลังจากเจ้าหน้าที่สำนักงานอัยการฯ นำคำฟ้องมายื่นต่อศาล เจ้าหน้าที่ได้แจ้งให้นักกิจกรรมทั้งสิบไปที่ห้องพิจารณาคดีที่ 6 เพื่อรอกระบวนการที่ศาลรับสำนวนฟ้องและรับตัวจำเลย รวมทั้งพิจารณาคำร้องขอปล่อยชั่วคราวจำเลยทั้งสิบระหว่างพิจารณาคดีโดยไม่มีหลักประกันตามที่ทนายยื่นไป

ราว 15.00 น. ศาลออกนั่งพิจารณาโดยเรียกชื่อจำเลยทั้งสิบและอ่านคำฟ้องให้ฟังโดยสรุป เบื้องต้นจำเลยทั้งหมดให้การปฏิเสธ ศาลจึงนัดถามคำให้การอีกครั้งหลังจำเลยแต่งตั้งทนายแล้วในวันที่ 25 พ.ค. 2566 เวลา 09.30 น. ก่อนมีคำสั่งอนุญาตปล่อยชั่วคราวโดยไม่ต้องวางหลักประกัน และให้จำเลยสาบานตนว่าจะมาศาลทุกนัดแทนการทำสัญญาประกัน

.

สำหรับฐานความผิดที่ รณกร ภูดิฐวัฒนโชค พนักงานอัยการคดีศาลแขวงขอนแก่นฟ้องมีเพียงฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยร่วมกันชุมนุมและจัดกิจกรรมที่มีการรวมกลุ่มมากกว่า 20 คน มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดโดยไม่ได้รับอนุญาต โดยบรรยายพฤติการณ์คดีว่า

เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 จําเลยทั้งสิบกับพวกได้ร่วมกันชุมนุม และจัดกิจกรรมการเคลื่อนไหวทางการเมืองโดยใช้ชื่อกิจกรรมว่า “CAR MOB #3” โดยร่วมกันประกาศชักชวนผ่านสื่อสังคมออนไลน์ให้ประชาชนทั่วไปเข้าร่วม มี “กลุ่มราษฎรขอนแก่น” เข้าร่วมประมาณ 150 คน นํารถยนต์เข้าร่วม 45 คัน และรถจักรยานยนต์ 31 คัน และ “กลุ่มแดงก้าวหน้า 63” เข้าร่วมประมาณ 20 คน นํารถยนต์เข้าร่วม 9 คัน และรถจักรยานยนต์ 6 คัน

จากนั้นได้มีการขับขี่รถติดตามกันไปเป็นขบวน บีบแตรรถส่งเสียงดังเป็นระยะ และใช้เครื่องขยายเสียงกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล พร้อมกับใช้ป้ายผ้าและหุ่นฟางประกอบกิจกรรม เมื่อถึงบริเวณด้านหน้าตํารวจภูธรภาค 4 จําเลยทั้งสิบกับพวกได้ปิดกั้นช่องทางเดินรถ ทําให้รถของบุคคลทั่วไปไม่สามารถใช้ช่องจราจรได้ตามปกติ มีการร่วมกันตระเตรียมถุงบรรจุน้ำสี และปาใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 รวมทั้งโล่เจ้าหน้าที่ตํารวจ พร้อมกับกล่าวปราศรัยโจมตีการทํางานของรัฐบาล 

อันเป็นการร่วมกันชุมนุมจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันมากกว่า 20 คน ซึ่งขณะนั้นจังหวัดขอนแก่นได้กําหนดให้เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด โดยจําเลยทั้งสิบและผู้ที่เข้าร่วมทํากิจกรรมไม่มีมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อโควิด-19 ตามที่ทางราชการกําหนด 

คำฟ้องระบุด้วยว่า ความผิดฐาน ร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคําสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ, ร่วมกันขับขี่รถใช้เสียงสัญญาณแตรรถยาวเกินความจําเป็น, ร่วมกันกีดขวางการจราจร และร่วมกันทําการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต โจทก์มีคําสั่งยุติการดําเนินคดีกับจําเลยทั้งสิบแล้ว เพราะคดีขาดอายุความ 

.

คดีนี้เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.กฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมทางการเมืองในขอนแก่นที่ถูกฟ้องเป็นคดีที่ 5 โดย 4 คดีก่อนหน้านี้ ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องทั้งหมด นักกิจกรรมไม่มีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นๆ  ได้แก่ คดีชุมนุม “อีสานบ่ย่านเด้อ”, คดีชุมนุมสวนเรืองแสง, คดีชุมนุมหน้า สภ.ย่อย มข. และคดีชุมนุมให้กำลังใจหน้า สภ.เมืองขอนแก่น

เพจ “ขอนแก่นพอกันที” โพสต์นัดหมายคาร์ม็อบขอนแก่น#3 พร้อมแคปชั่นประกอบด้วยว่า “การชุมนุมรอบนี้ราษฎรขอนแก่นพร้อมยืนยันตอบโต้รัฐที่ทำร้ายประชาชนอย่างไม่แยแสความเป็นมนุษย์” เนื่องจากก่อนหน้านั้น มีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ต่อผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทั้งที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและที่ดินแดง โดยเฉพาะการชุมนุมหน้า สน.ดินแดง ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงบริเวณหน้า สน.ดินแดง กระสุนเข้าที่คอ อาการสาหัส กระทั่งเสียชีวิตในภายหลัง

นอกจากนักกิจกรรมทั้งสิบที่ถูกฟ้องในวันนี้ กิจกรรมในวันดังกล่าวยังมีนักเรียนและเยาวชนอีก 3 ราย ถูกดำเนินคดีในข้อหาตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต แต่เป็นข้อหาที่มีเพียงโทษปรับ พนักงานสอบสวนจริงเปรียบเทียบปรับตาม พ.ร.บ.ความสะอาดฯ คนละ 1,000 บาท และไม่ขออนุญาตใช้เครื่องขยายเสียง 200 บาท ทำให้คดีอาญาสิ้นสุดไป  

อีกทั้ง กุลธิดา, ณัฏฐสกล, นุ้ก และพายุ ยังถูกออกหมายเรียกในอีกคดีจากเหตุการณ์เดียวกัน โดยพนักงานสอบสวนแจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์” จากเหตุที่ระหว่างกิจกรรมมีการปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และกระเซ็นไปเปื้อนรูป ร.10 คดีนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของอัยการ

.

X