แจ้งข้อหา 4 “ราษฎรขอนแก่น” ร่วมคาร์ม็อบ#3 “ทำให้เสียทรัพย์” อีกคดี เหตุปาสีป้ายตำรวจภูธรภาค 4 กระเซ็นเปื้อนรูป ร.10 

20 ธ.ค. 2564 เวลา 13.45 น. 4 นักกิจกรรมกลุ่ม “ราษฎรขอนแก่น” ไปที่ สภ.เมืองขอนแก่น เพื่อรับทราบข้อกล่าวหา หลังทราบว่าถูกออกหมายเรียกข้อหา “ทำให้เสียทรัพย์” อีกคดี จากกิจกรรมคาร์ม็อบขอนแก่น#3 “แห่ ไล่ ประยุทธ์” เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 โดยมีสำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นผู้กล่าวหา  แม้ว่าเมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมานักศึกษา-นักกิจกรรมทั้งสี่เคยเข้ารับทราบข้อกล่าวหาตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมครั้งดังกล่าวไปแล้ว

>> คาร์ม็อบขอนแก่น แห่ไล่ประยุทธ์ 3 ครั้ง “ราษฎรขอนแก่น” เจอ 3 คดี นร.สะท้อน “รัฐควรแก้ปัญหา ไม่ใช่ดำเนินคดีผู้ชุมนุม”

คณะพนักงานสอบสวนแจ้งการกระทำที่กล่าวหาเป็นคดีใหม่นี้ให้ ณัฏฐสกล เวชศิรพลานนท์, นุ้ก (นามสมมติ), กุลธิดา กระจ่างกุล และพายุ บุญโสภณ ทราบ โดยมีทนายเครือข่ายของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน และทนายจากศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคมเข้าร่วม มีเนื้อหาว่า วันดังกล่าวผู้ต้องหาได้เข้าร่วมกิจกรรม “CAR MOB #3” โดยได้มีการเคลื่อนขบวนไปตามถนนต่างๆ ในเขตอําเภอเมืองขอนแก่น 

เมื่อถึงบริเวณหน้ากองบัญชาการตํารวจภูธรภาค 4 ผู้ต้องหาได้นําถุงบรรจุสีน้ำซึ่งมีการตระเตรียมมาจํานวนมาก ขว้างปาใส่ป้ายตํารวจภูธรภาค 4 จนสีน้ำเปรอะเปื้อนบริเวณป้ายตํารวจภูธรภาค 4 และกระเด็นไปถูกพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 ซึ่งอยู่ในบริเวณดังกล่าว ได้รับความเสียหายมูลค่า 63,966.16 บาท 

ต่อมา สํานักงานตํารวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผู้บัญชาการตํารวจแห่งชาติ ในฐานะนิติบุคคล ซึ่งเป็นเจ้าของทรัพย์ที่ได้รับความเสียหายข้างต้น ได้มอบอํานาจให้ พ.ต.อ.เชษฐ แตงนารา (ผู้กำกับกลุ่มงานสอบสวน กองบังคับการสืบสวนสอบสวนตำรวจภูธรภาค 4) ร้องทุกข์ให้ดําเนินคดีกับผู้ต้องหา

จากนั้นพนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อกล่าวหา “ร่วมกันทําให้เสียทรัพย์” อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นักกิจกรรมทั้งสี่ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และจะให้การเพิ่มเติมเป็นหนังสือภายใน 30 วัน (ภายในวันที่ 19 ม.ค. 2565)

ระหว่างสอบคำให้การ ทนายความได้สอบถามเรื่องค่าเสียหายกว่า 60,000 บาท ตามที่กล่าวหาว่ามีรายละเอียดอย่างไรบ้าง พนักงานสอบสวนระบุว่า เป็นค่าทำความสะอาดโล่ห์ตำรวจบนป้ายตำรวจภูธรภาค 4 และบริเวณด้านหน้าป้ายรวม 12,000 บาท และค่าปรับปรุงพระบรมฉายาลักษณ์ราว 52,000 บาท

และในกระบวนการพิมพ์ลายนิ้วมือเพื่อนำไปตรวจสอบประวัติอาชญากรรม เจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำการพิมพ์ลายนิ้วมือได้สอบถามกุลธิดา ซึ่งเข้าพิมพ์ลายนิ้วมือเป็นคนแรกด้วยว่า หากจะขอเก็บดีเอ็นเอ จะยินยอมหรือไม่ โดยระบุว่า นายสั่งให้สอบถาม ถ้ายินยอมก็จะขอเก็บ อย่างไรก็ตาม กุลธิดาและทนายความปฏิเสธ เนื่องจากไม่มีเหตุที่เกี่ยวข้องกับคดีความ ทำให้ตำรวจไม่ได้สอบถามผู้ต้องหาคนอื่นอีก

หลังเสร็จกระบวนการ ทั้งหมดเดินทางกลับ โดยพนักงานสอบสวนนัดส่งตัวให้พนักงานอัยการ พร้อมสํานวนการสอบสวน ในวันที่ 11 ม.ค. 2565 เวลา 09.00 น. 

ทั้งนี้ ฐานความผิด ทำให้เสียทรัพย์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 358 นั้น มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ 

คดีนี้ ยังมีผู้ถูกดำเนินคดีอีก 1 ราย คือ พงศธร (สงวนนามสกุล) นักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งยังไม่ได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาพร้อมกันเนื่องจากอยู่ระหว่างรักษาตัวหลังประสบอุบัติเหตุ

นอกจากการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ดำเนินคดีกับนักเรียน นักศึกษา ประชาชน ที่ออกมาเคลื่อนไหวเรียกร้องประชาธิปไตย ขับไล่รัฐบาล เพื่อสร้างภาระทางคดีจนอาจยุติการเคลื่อนไหวไปโดยปริยาย กรณีนี้การดำเนินคดีนักกิจกรรมทั้งห้าเป็นคดีที่ 2 จากกิจกรรมคาร์ม็อบครั้งเดียวกัน ทั้งที่อาจจะแจ้งข้อกล่าวหาเพิ่มเติมเป็นคดีเดียวกันได้ ยิ่งเป็นการสร้างภาระเกินจำเป็นให้กับนักกิจกรรม เนื่องจากต้องไปสถานีตำรวจ สำนักงานอัยการ ศาล เพิ่มอีกคดี นอกจากนี้ยังอาจทำให้พวกเขาได้รับโทษเพิ่มมากขึ้นกว่าการถูกดำเนินคดีในคดีเดียว หากศาลเห็นว่าการกระทำของพวกเขาเป็นความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง 

คาร์ม็อบขอนแก่น#3 เพจ “ขอนแก่นพอกันที” โพสต์นัดหมายการชุมนุมเมื่อ 17 ส.ค. 2564 โดยโพสต์แคปชั่นประกอบด้วยว่า “การชุมนุมรอบนี้ราษฎรขอนแก่นพร้อมยืนยันตอบโต้รัฐที่ทำร้ายประชาชนอย่างไม่แยแสความเป็นมนุษย์” เนื่องจากก่อนหน้านั้น มีการใช้แก๊สน้ำตาและกระสุนยางเข้าสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ต่อผู้ชุมนุมขับไล่รัฐบาล ทั้งที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติและที่ดินแดง โดยเฉพาะการชุมนุมหน้า สน.ดินแดง ในวันที่ 16 ส.ค. 2564 วาฤทธิ์ สมน้อย เยาวชนอายุ 15 ปี ถูกยิงด้วยกระสุนจริงบริเวณหน้า สน.ดินแดง กระสุนเข้าที่คอ อาการสาหัส กระทั่งเสียชีวิตในภายหลัง การปาสีใส่ป้ายตำรวจภูธรภาค 4  โดยมีการประกาศก่อนเริ่มกิจกรรมว่า “เป็นการแอคชั่นเพื่อต่อต้านการใช้ความรุนแรงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ” (ดูวีดิโอ) จึงเป็นการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ หวังให้ตำรวจได้ทบทวนบทบาทหน้าที่ แต่กลับถูกดำเนินคดีถึง 2 คดี

X