“ขอให้ความรักที่มีให้กับประชาชนคุ้มครองทุกคน” 5 นักกิจกรรมอีสาน ย้อนทวนถึงปีที่ผันผ่าน พร้อมความฝันต่อขบวนการประชาธิปไตยในขวบปีที่จะมาถึง

ปี 2564 กำลังจะผ่านพ้นไป สำหรับสถานการณ์สิทธิเสรีภาพการแสดงออกในภาคอีสาน ปรากฏคดีความที่ประชาชนและคนทำกิจกรรมทางการเมืองถูกดำเนินคดีไปไม่น้อยกว่า 50 คดี  ในปีที่เหล่านักกิจกรรม นักเคลื่อนไหว ต่างบ้างบอกว่าเป็นปีแห่งความวินาศสันตะโรของเหล่าเผด็จการ เพราะถูกกระทุ้งด้วยการชุมนุมอย่างหนักเมื่อยามต้นปี  

ในทางหนึ่งก็เป็นปีแห่งการขัง ขังทั้งนักกิจกรรม ขังทั้งเสรีภาพ ขังทั้งวันเวลาที่ต้องใช้ไปกับคดีความ ทั้งเป็นการสร้างความหวาดกลัวและเป็นอุปสรรคให้คนที่จะออกมาเรียกร้องสิทธิเสรีภาพ ต่างประเมินถึงอิสรภาพที่อาจสูญเสียไปได้ในระหว่างการต่อสู้ ทั้งเรื่องขับไล่รัฐบาลประยุทธ์ แก้ไขรัฐธรรมนูญ การปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ และแก้ไขปัญหาโครงสร้างอื่นๆ

แน่นอนว่าอีกอุปสรรคใหญ่ของปีนี้ที่ทุกคนต่างพูดถึงคือสถานการณ์โควิด-19 ส่งผลให้การชุมนุมสะดุดลงในช่วงกลางปี แต่ก็ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวรูปแบบต่างออกไปอย่างคาร์ม็อบที่เต็มไปด้วยสีสันและเจือความหวัง แม้การชุมนุมในหลายครั้งจะแลกมาด้วยการตกเป็นผู้ต้องหาทางการเมืองอย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่เรายังพบเห็นประชาชนและคนหนุ่มสาวที่ต่างมุ่งมาดออกมาแสดงความคิดเห็น เพื่อเรียกร้องเปลี่ยนแปลงบ้านนี้เมืองนี้ไปสู่สิ่งที่ดีกว่าอยู่เสมอๆ

ก่อนวันเวลาจะผลัดเปลี่ยนสู่ปีข้างหน้า ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ชวนตัวแทนนักกิจกรรมในภาคอีสาน 5 กลุ่ม มาพูดคุยถึงความเป็นไปในกิจกรรมและช่วงชีวิตเมื่อปีที่ผ่านมา พร้อมกับชวนมองไปในปี 2565 พวกเขาและเธอคิดฝันกับขบวนการต่อสู้ด้านประชาธิปไตยอย่างไร และหากมีพรสักอย่างที่อยากจะขอในช่วงปีใหม่นี้ นักกิจกรรมทั้งหมดปรารถนาต่อสิ่งใดเป็นที่สุด  

.

คณะอุบลปลดแอก: ปีแห่งการขัง ขังทั้งความเคลื่อนไหวและการเปลี่ยนแปลง 

ฉัตรชัย แก้วคำปอด หรือ ‘แชมป์’ อายุ 33 ปี จากคณะอุบลปลดแอก กลุ่มเคลื่อนไหวประเด็นทางสังคมการเมือง ในระดับประเทศและระดับจังหวัด เล่าว่าปี 2564 ทำกิจกรรมคาร์ม็อบไป 5 ครั้ง นอกจากนี้ยังทำกิจกรรมในวันครบรอบวันสำคัญต่างๆ ทางการเมือง

แชมป์เล่าว่าโควิด-19 เป็นอุปสรรคในการจัดกิจกรรม ทำให้ปีนี้คนร่วมกิจกรรมน้อยกว่าที่คิด ประเด็นหลักๆ ที่กลุ่มยังเรียกร้องคือร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เสนอให้นายกฯ ลาออก และการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ เฉพาะปี 2564 แชมป์ถูกดำเนินคดีไป 3 คดี เป็นคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากกิจกรรมคาร์ม็อบที่อุบลราชธานี 2 คดี และคาร์ม็อบที่อำนาจเจริญ อีก 1 คดี 

อย่างไรก็ดี แชมป์มองว่า คาร์ม็อบนับเป็นกิจกรรมรูปแบบใหม่ เป็นการเคลื่อนขบวนในพื้นที่ที่ไม่จำกัดและรูปแบบน่าสนใจ เพราะไม่ค่อยมีมาก่อน ประชาชนที่เห็นกิจกรรมต่างสนใจและตอบรับอย่างดี เท่าที่แชมป์สังเกตปีนี้มีคนรุ่นใหม่ให้ความสนใจการเมืองมากขึ้น และมองว่าเป็นเรื่องของเขาเอง เพื่อตัวของเขาเอง เพื่ออนาคตของเขา ยิ่งประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ รู้สึกว่าคนให้ความสำคัญมากขึ้น 

“ปีหน้าต้องดูว่ากลุ่มแกนนำคณะราษฎรจะได้รับการปล่อยตัวหรือไม่ หากได้รับการปล่อยตัวก็คาดว่าจะมีการชุมนุมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง หากไม่ได้รับการปล่อยตัวก็จะมีกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำอีกหลายครั้ง” 

นักกิจกรรมแห่งลุ่มน้ำมูลยังคาดหวังที่จะเห็นรูปแบบการชุมนุมใหม่ๆ เพื่อดึงกระแสมวลชน สำหรับปีนี้แชมป์มองว่าเป็นปีแห่งการขัง ขังนักกิจกรรม ขังความคิด ขังเสรีภาพ ขังทุกสิ่งทุกอย่าง ขังการเคลื่อนไหวและความเปลี่ยนแปลง โดยใช้ข้ออ้างกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มากำกับควบคุม

“สำหรับปีใหม่หน้า อยากให้มีเสรีภาพในการพูด ในการเคลื่อนไหว ให้เหมือนสากลที่ทำกันได้ ให้ศาลทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมา”

แชมป์อวยพรทิ้งท้ายว่า อยากให้ทุกคนรอดพ้นจากโควิด-19 หรือโรคต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ขอให้ดูแลสุขภาพให้แข็งแรงเพื่อจะต่อสู้กับระบบเผด็จการไปเรื่อยๆ จนกว่าเราจะได้ประชาธิปไตยที่แท้จริง 

.

นครพนมสิบ่ทน: อยากให้ประเทศปลอดภัยทั้งตอนมีชีวิตปกติและตอนคิดฝัน

วารียา โรจนมุกดา อายุ 19 ปี เล่าว่ากลุ่มนครพนมสิบ่ทนหลักๆ เคลื่อนไหวทุกเรื่องที่เป็นปัญหาในประเทศ ทั้งยกเลิกมาตรา 112 และการสมรสเท่าเทียม

ปีนี้ทางกลุ่มจัดกิจกรรมคาร์ม็อบไป 5 รอบ ทุกครั้งจะพูดถึงปัญหาบ้านเมืองที่เป็นอยู่ทุกวันนี้เช่นการจัดหาวัคซีนโควิดที่ดี การแก้ไขรัฐธรรมนูญ และพูดถึงปัญหาในจังหวัดนครพนม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องนักเรียนนักศึกษาถูกคุกคามเวลาแสดงออกทางการเมือง ปัญหาการจัดการสภาพแวดล้อมภูมิทัศน์ในจังหวัด และปัญหาเรื่องสถานการณ์โควิด-19 สำหรับเธอทุกเรื่องต่างพันกันเป็นเสาไฟฟ้า ส่วนประเด็นหลักๆ คือการเดินหน้าปฏิรูปประเทศให้เป็นประชาธิปไตย การยกเลิกประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นอีกหนทางหนึ่งที่ทำให้เกิดความเสมอภาคเท่าเทียมของทุกๆ คน 

แต่ประเด็นที่วารียาอยากพูดถึงมากคือ เวลาจะเคลื่อนไหวกิจกรรมอะไรสักอย่างนักกิจกรรมก็จะถูกติดตาม หรือพอจังหวัดอื่นๆ จัดกิจกรรม ตำรวจก็จะมาที่นครพนม เข้ามาสอบถามเพื่ออยากรู้ว่าจะอยู่ที่บ้านหรือไม่ เคลื่อนไหวอะไรหรือไม่ 

ในฐานะแอดมินเพจนครพนมสิบ่ทน ปีนี้วารียาถูกศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ ส.ส.จังหวัดนครพนม พรรคภูมิใจไทย รวมถึงนักการเมืองอีก 2 ราย แจ้งความข้อหา หมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ  นอกจากวารียาในจังหวัดนครพนมยังมีประกอบ วงศ์พันธ์ เกษตรกรและนักกิจกรรม วัย 51 ปี ถูกดำเนินคดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รวดเดียว 3 คดี จากคาร์ม็อบนครพนม 3 ครั้ง

อย่างไรก็ตาม วารียาสังเกตว่า ที่จังหวัดของเธอมีการตื่นตัวทางการเมืองมากกว่าปีที่แล้ว “เมื่อก่อนคนนครพนมจะไม่กล้า ตอนนี้พอทั่วประเทศจัดกิจกรรม คนที่ไม่เคยกล้าพูดก็กล้าแสดงออกมากขึ้น รู้สึกพอใจมากที่ได้ทำกิจกรรม แต่ยังมองว่ายังมีหลายคนที่ถูกจับกุมจากการแสดงออกทางการเมืองอยู่ ต้องหาช่องทางในการสื่อสารเรื่องนี้ให้มาก” 

เมื่อวารียามองไปถึงปีหน้า เธออยากให้สังคมไทยคืบหน้ากว่านี้ ไม่ใช่แค่การออกมาร่วมชุมนุม ปี 2564 เป็นปีแห่งการเบิกเนตรของประชาชนในอีกระดับหนึ่ง มองเห็นภาพเผด็จการชัดเจนยิ่งขึ้น แต่ถ้าเราตาสว่างแล้วต้องตามหาข้อมูลข้อเท็จจริงที่จะเอามาต่อสู้กับรัฐเผด็จการมากขึ้น สิ่งแรกที่ต้องการเธออยากเห็นนักกิจกรรมที่อยู่ในเรือนจำได้รับการปล่อยตัว และอยากให้ประเทศดีขึ้นจริงๆ โดยที่ไม่ต้องหาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมถึงหยุดการพัฒนา

“หนูมีความฝัน คนอื่นๆ วัยเดียวกับหนูก็มีความฝันเหมือนกัน แต่เขาอาจไม่ได้มานั่งชิลๆ แบบเรา บางคนก็ถูกขังอยู่”

วารียากล่าวด้วยว่า เธออยากให้ประเทศปลอดภัยทั้งตอนมีชีวิตปกติและตอนคิดฝัน ปีใหม่นี้อยากให้ทุกคนมองหาความสุขเล็กๆ ได้กินข้าว ได้อิ่มท้อง ได้นอนหลับ และพอตื่นขึ้นมาก็จะขับเคลื่อนกันต่อ กอดกันไว้เยอะๆ และรักษาสุขภาพทั้งกายและใจ 

.

อุดรพอกันที: ขอให้ทุกคนแข็งแรงเพื่ออยู่เห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคต 

ดรีม (นามสมมติ)  อายุ 19 ปี จากกลุ่มอุดรพอกันที ทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานของกลุ่ม โดยปกติกลุ่มอุดรพอกันทีจะจัดชุมนุมทางการเมืองและประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการใช้อำนาจที่ไม่เป็นธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ 

ปีนี้เน้นประเด็นไปที่การรณรงค์ให้แก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112  

ดรีมกล่าวว่า ทางกลุ่มพยายามจัดกิจกรรมทางการเมืองหลายครั้ง ทั้งการยืนหยุดขังเพื่อเรียกร้องให้ศาลปล่อยตัวแกนนำราษฎรที่ถูกคุมขัง และการทำกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองตามวันสำคัญต่างๆ แต่ทุกอย่างมาหยุดลงด้วยสถานการณ์โควิด-19 ทำให้กิจกรรมปรับเปลี่ยนไปในรูปแบบคาร์ม็อบที่ทุกครั้งหากจะมีการจัดงานก็จะมีตำรวจเดินมาเตือนและขู่เรื่องจะใช้ข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ กับผู้ทำกิจกรรม 

ดรีมเล่าอีกว่าแม้ปีที่แล้วนักกิจกรรมในพื้นที่อุดรธานี จะไม่ถูกดำเนินคดีทางการเมือง แต่อุปสรรคสำคัญคือการถูกติดตามและคุกคามจากเจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกิดขึ้นในจังหวัดนี้มาโดยตลอด ยิ่งส่วนใหญ่นักกิจกรรมเป็นนักเรียน นักศึกษา ทำให้บางรายมีปัญหากับครอบครัว เนื่องจากถูกปรามไม่ให้ออกไปทำกิจกรรม หรือหากจะเข้าร่วมกิจกรรมก็ไม่สามารถทำได้เต็มที่เพราะถูกจับตาจากทั้งผู้ปกครองและเจ้าหน้าที่ตำรวจ 

สำหรับปีหน้าดรีมมองว่า ประเด็นที่อยากจะสานต่อคือการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ร่วมกับกลุ่มอื่นๆ ทั่วประเทศ และอยากสร้างกลุ่มอุดรพอกันทีให้เป็นเครือข่ายที่แข็งแรง และสามารถไปช่วยสนับสนุนกลุ่มการเมืองในจังหวัดอื่นๆได้ อย่างเช่นที่จังหวัดหนองคาย และจังหวัดบึงกาฬ 

หากมีอะไรจะเป็นของขวัญได้ เธออยากให้ศาลมีคำสั่งปล่อยตัวนักกิจกรรมที่ถูกคุมขังอยู่ทุกคน เธอทิ้งท้ายในการพูดคุยว่า ขออวยพรให้ทุกคนสุขภาพแข็งแรงและอยู่เพื่อเห็นการเปลี่ยนแปลงในอนาคตนี้

ขอนแก่นพอกันที: หากจะให้มันจะจบที่รุ่นเรา ก็ต้องยืนระยะให้นานที่สุด 

วชิรวิทย์ เทศศรีเมือง หรือ ‘เซฟ’ นักศึกษาปี 3 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น สมาชิกกลุ่มขอนแก่นพอกันที กลุ่มที่ตั้งขึ้นมาเพื่อจัดกิจกรรมทางการเมือง สมาชิกส่วนมากเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยขอนแก่น  

เซฟย้อนเหตุการณ์ไปว่า ปีนี้เป็นความทรงจำที่ดี เป็นปีที่หนักหน่วง มีช่วงที่พีคที่สุดตอนชุมนุมกดดันรัฐบาลได้มากตอนต้นปี ช่วงที่แย่ที่สุดมีคนถูกพรากเสรีภาพไปเยอะและถูกดำเนินคดีไปจำนวนมาก ช่วงสามเดือนแรกมีการจัดกิจกรรมทางการเมืองอย่างเข้มข้น ก่อนจะเข้าสู่การแพร่ระบาดของโควิด-19 ช่วงกลางปีกิจกรรมจึงเริ่มหายไป และกิจกรรมส่วนมากจะเป็นการรณรงค์ช่วยเพื่อนให้ออกจากเรือนจำ พ้นไปจากนั้นเป็นการชุมนุมของคาร์ม็อบ เซฟรู้สึกตื่นเต้นเพราะเป็นการชุมนุมที่ไม่เคยจัดมาก่อน ก่อนเข้าสู่ช่วงปลายปีที่ยังไม่ได้ทำอะไรมาก เขายอมรับว่าปีนี้นักกิจกรรมหลายคนมีจิตใจย่ำแย่เพราะเพื่อนๆ ถูกจับกุมเยอะ และยังไม่ได้ปล่อยตัว แต่ก็พยายามโฟกัสและยอมรับในข้อเท็จจริงรวมถึงหาวิธีสู้ต่อในปี 2565 

“อย่างที่ทราบกันดี โควิด-19 เป็นปัจจัยภายนอกที่นักกิจกรรรมไม่สามารถควบคุมได้ การถูกจับกุมคุมขังของเพื่อนก็เป็นสถานการณ์ที่เราควบคุมไม่ได้ มันไม่แฮปปี้ แต่มันก็แสดงให้เห็นในแง่หนึ่งว่าคุณจะจับไปสักกี่คน สุดท้ายก็ยังมีคนต่อๆ ไปที่ออกมาต่อสู้เหมือนเดิม การจับกุมไม่ได้สร้างความหวาดเกรงให้พวกเราขนาดนั้น สิ่งที่เราต้องการสื่อสารคือปัญหาเฉพาะหน้า สถานการณ์โควิด อย่างที่สองเรื่องของโครงสร้างรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ต้องลาออก สถานการณ์ที่สามคือการรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 ที่เป็นบันไดขั้นแรกของกระบวนการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์”

เฉพาะปีนี้เซฟถูกดำเนินคดีไป 4 คดี คดีแรกจากกิจกรรมชักธงปฏิรูปกษัตริย์ ในมหาวิทยาลัยขอนแก่น และอีก 3 คดีในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุม 3 ครั้ง

เท่าที่สังเกตเห็น นักกิจกรรมผู้นี้เล่าว่า ผู้คนตื่นตัวทางความคิดสูงมาก “สิ่งหนึ่งที่เราเห็นคือการออกมาชุมนุมน้อยลงๆ ปัจจัยก็มีทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและโควิด คิดว่าสถานการณ์ข้างหน้าที่การฉีดวัคซีนและการป้องกันโรคดีขึ้นก็อาจจะมีประชาชนออกมาชุมนุมเยอะขึ้น”  

ความสนุกของปีนี้คือได้เจอเพื่อนๆ ที่พร้อมจะเดินร่วมทางกันแม้ในอนาคตอาจจะไม่ได้เห็นกัน “ดีใจที่ได้ร่วมงานกัน ไม่ว่าจะเป็น เพนกวิน พริษฐ์  หรือ ไผ่ จตุภัทร์ อย่างที่สองได้ทำในสิ่งที่อยากจะทำ การเคลื่อนไหวคือการตอบสนองความต้องการของตัวเองและความท้าทาย พอใจมากๆ กับสิ่งที่ได้ทำในปีนี้ น่าจะเป็นสิ่งที่เสี่ยงที่สุดในชีวิต แย่ที่สุด มีความสุขที่สุด มันผสมปนเปกันไปหมด ในอนาคตคงมีเรื่องเล่าได้บอกคนอื่นว่าได้ทำอะไรลงไปบ้าง” 

เซฟคิดอีกว่าประเทศไทยไม่สามารถที่จะกลับไปสู่การประนีประนอมได้ โดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ชี้ว่าประชาชนจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ไม่ได้ นั่นคือความแตกหักทางการเมืองของฝ่ายอนุรักษ์นิยมและฝ่ายประชาธิปไตยที่แทบจะปิดประตูการพูดคุยเลย และอาจจะเกิดความรุนแรงขึ้นได้ในอนาคต 

แต่เขาก็รับว่าไม่อยากให้เกิดความสูญเสียทั้งสองฝ่าย

“ผมว่าปีหน้าสิ่งที่จะเห็นประเด็นที่แหลมคมคือการรณรงค์ยกเลิก 112 อย่างเป็นรูปธรรมมากขึ้น รวมถึงการปฏิรูปศาลรัฐธรรมนูญ ผมอยากเห็นการนำประเด็นที่หลากหลายเข้ามาส่งเสียงให้ดังมากขึ้น โดยเฉพาะประเด็นเชิงพื้นที่ทั้งบางกลอย จะนะ หรือนาบอน เพราะทุกครั้งที่มีเวทีชุมนุม แล้วมีคนพูดประเด็นเฉพาะถิ่นจะทำให้รัฐไม่กล้าทำอะไรกับชาวบ้านมาก เพราะมีการสาดแสงจับตาอยู่”

ปี 2565 เซฟอยากจะใช้ชีวิตในมหาวิทยาลัยปีสุดท้าย โดยเคลื่อนไหวแบบไม่ลดเพดาน การรณรงค์ยกเลิกมาตรา 112 จะทำต่อไปแน่นอน อยากรณรงค์ทางด้านความคิดในมหาวิทยาลัยขอนแก่นให้ตื่นตัวทางการเมือง เป็นพื้นที่ปลอดภัยในการแสดงออก ประการสุดท้ายอยากทำงานเชิงวิชาการมากขึ้น อยากเขียนบทความเพื่อสื่อสารกับคนทั่วไปที่ยังลังเลจุดยืน ให้สนับสนุนหนทางประชาธิปไตยให้มากที่สุด

“ปีใหม่ผมอยากให้เพื่อนที่อยู่ในเรือนจำได้รับการปล่อยตัว นี่คือของขวัญที่ดีที่สุด เสรีภาพไม่สามารถประเมินราคาได้ อยากจะให้ทุกคนที่ยึดมั่นในระบอบประชาธิปไตยมีความสุข อย่ายอมแพ้กับการต่อสู้ที่ผ่านมา ปี 2564 อาจจะเป็นปีที่หนักหน่วง แต่ผมก็คิดว่ามันจะดีขึ้น ถ้าทุกคนร่วมกันรณรงค์ทางความคิดต่อไป” 

เซฟฝากอวยพรอีกว่าขอให้ทุกคนอดกลั้น รักษาสุขภาพ เพราะการต่อสู้ครั้งนี้มันคือการเดินทางระยะยาว การเปลี่ยนแปลงอาจไม่ได้มาพรุ่งนี้ทันที แต่มันจะมาแน่ๆ ในอนาคต ถ้าอยากให้มันจบที่รุ่นเรา เราก็ต้องยืนระยะให้นานที่สุด เพื่อให้ทุกคนได้เห็นการปฏิรูปสู่ระบอบประชาธิปไตยไปพร้อมๆ กัน

.

ดาวดิน: ของขวัญที่ดีที่สุดคือการได้เห็นเพื่อนได้รับอิสรภาพ

ภาณุพงศ์ ศรีธนานุวัฒน์ หรือ ‘ไนซ์’  อายุ 26 ปี เจ้าหน้าที่ศูนย์กฎหมายสิทธิมนุษยชนเพื่อสังคม และเป็นสมาชิกกลุ่มดาวดิน หลักๆ กลุ่มเคลื่อนไหวอยู่ 2 ด้าน ด้านแรกเรื่องทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่ได้รับผลกระทบจากโครงการรัฐ โดยเฉพาะโรงน้ำตาล 7 แห่งในจังหวัดภาคอีสาน โดยลงไปให้ข้อมูลด้านสิทธิและกฎหมาย ในการปกป้องทรัพยากร การเข้าถึงข่าวสาร รวมถึงจัดตั้งองค์กรชาวบ้าน และชี้ช่องทางการต่อสู้กับหน่วยงานรัฐและหยุดโครงการดังกล่าว

ไนซ์เล่าว่าปีนี้หนักไปในด้านที่สองคือการเคลื่อนไหวทางการเมือง การจัดกิจกรรมชุมนุม และเวทีเสวนาย่อย และจัดตั้งเครือข่ายในจังหวัดขอนแก่น ทั้งนักเรียน นักศึกษา คนทำงาน เป็นเครือข่ายราษฎรขอนแก่น ส่วนในระดับภูมิภาครวมเครือข่ายนักกิจกรรมจังหวัดต่างๆ 13 จังหวัด เป็น “ราษฎรโขงชีมูล” ตั้งเป้าหมายมีกิจกรรมเรียกร้องประเด็นทางการเมืองร่วมกัน

สำหรับไนซ์ อุปสรรคของปีนี้ในการทำกิจกรรมคือเรื่องเวลา ด้วยปริมาณงานมหาศาล เพราะต้องทำทั้งด้านสิ่งแวดล้อมและการเมือง เรื่องสภาพจิตใจของนักกิจกรรมที่ถูกกดดันจากเจ้าหน้าที่ตำรวจและครอบครัวทำให้บางคนถอดใจ บางคนสู้ต่อ สถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างเป็นอุปสรรค เพราะเราต้องเซฟหลายอย่างและลดสเกลลงเพื่อควบคุมจำนวนผู้เข้าร่วม และมีกฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาครอบอีกชั้นหนึ่ง ทำให้รัฐสามารถนำมาปราบปรามผู้ชุมนุมได้อีก

ประเด็นหลักๆ ที่กลุ่มดาวดินสื่อสารในปีนี้ ค่อนข้างเทน้ำหนักให้รัฐธรรมนูญ เพราะกลไกของรัฐในการจัดสรรเรื่องอำนาจต้นตออยู่ที่รัฐธรรมนูญ และคิดว่าปีหน้าจะสื่อสารเรื่องรัฐธรรมนูญของภาคประชาชนต่อไป ไม่ว่าจะถูกปัดตกกี่ครั้ง เพราะเป็นเรื่องสำคัญมาก ถึงแม้รัฐบาลนี้ออกไป แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังอยู่ ก็แทบไม่มีประโยชน์อะไร หรือแม้กระทั่งการจะปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ยังทำไม่ได้ เพราะไม่ได้แก้ไขรัฐธรรมนูญที่บ่งชี้ว่าสถาบันกษัตริย์นั้นแตะต้องไม่ได้ 

สำหรับปีนี้ทางกลุ่มดาวดินและไนซ์จัดกิจกรรมแสดงออกทางการเมืองไปร่วม 20 ครั้ง ตัวเขาเองถูกดำเนินคดีจากกรณีชุมนุมเรียกร้อง “ปล่อยหมู่เฮา” คือ 4 แกนนำราษฎร ที่ไม่ได้รับการประกันตัวในคดีมาตรา 112  เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2564 คดีฝ่าฝืนเจ้าพนักงานขณะปฏิบัติหน้าที่ฯ แย่งไมค์หน้าศาลากลางขอนแก่น  และคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน เหตุจากกิจกรรมคาร์ม็อบอีก 3 คดี รวมเป็น 5 คดี

สำหรับความรู้สึกไนซ์ ปีนี้ผู้คนค่อนข้างตื่นตัวทางการเมืองมาก ไม่ได้น้อยไปกว่าปีที่แล้ว เริ่มมาสะดุดตอนโควิดระบาดหนัก ในอินเตอร์เน็ตก็มีการขยายการรับรู้ไปมากแล้ว ก็ต้องกลับมาปรับกันใหม่ ความสนุกของปีนี้คือการได้เห็นการเรียนรู้ของประชาชนตั้งแต่ปี 2557 ที่ตัวเขาเองเริ่มทำกิจกรรม ย้อนไปช่วงนั้นการพูดถึง คสช. และทหาร เป็นเรื่องที่คนไม่ค่อยอยากพูดถึง แต่ตอนนี้ด่ากันกระจุยกระจาย มันคือพัฒนาการของประชาชน หรือแม้กระทั่งตัวสถาบันกษัตริย์เอง เป็นเรื่องต้องห้ามหากจะพูดถึง ตอนนี้ก็เปลี่ยนไปแล้ว

อีกอย่างไนซ์เห็นการเติบโตของคนรุ่นใหม่ที่ไม่ยอมอยู่ในสังคมที่เลวร้ายอีกต่อไปแล้ว จึงเริ่มมีการรวมกลุ่มออกมาจัดงานและแสดงออก ความสนุกอีกอย่างการจัดกิจกรรมการเมืองกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ๆ ไปแล้ว ทุกคนต่างร่วมกันออกมาแสดงออก 

“ค่อนข้างพอใจต่อสิ่งที่ได้ทำในปีที่ผ่านมา เราพยายามจัดตั้งขบวนชาวบ้านและคนรุ่นใหม่ และสามารถเดินไปเองได้ มีผลผลิตที่เราพอใจ แต่รู้สึกยังไม่พอ และคิดว่าปีหน้าต้องยกระดับการเคลื่อนไหวให้มากกว่านี้” 

สำหรับปีหน้า ไนซ์มองว่าเรื่องที่จะเป็นประเด็นมีทั้งเรื่องรัฐธรรมนูญและสถาบันกษัตริย์ เมื่อก่อนมันถูกแยกกัน ปีนี้คนสามารถวิเคราะห์เชื่อมโยงกันได้ว่า ทั้งปัญหาของรัฐบาล ปัญหาของสถาบันกษัตริย์ และรัฐธรรมนูญเป็นเรื่องเดียวกัน การเคลื่อนไหวข้อเสนอด้านปฏิรูปสถาบันกษัตริย์คนพูดถึงกันเยอะมาก ข้อมูลและข้อเสนอมากขึ้น

ภารกิจในปีหน้า ไนซ์อยากทำขบวนภาคประชาชนในภาคอีสานให้เข้มแข็งมากขึ้น ขยายแนวร่วม มีกลไกต่างๆ ในการพูดคุยและจัดกิจกรรมกัน และดันเรื่องรัฐธรรมนูญที่สถาปนาอำนาจให้ประชาชน ตอนนี้อยู่ระหว่างศึกษารูปแบบต่างๆ การจัดการทรัพยากร อำนาจทางการเมือง และอำนาจของท้องถิ่น

เมื่อให้ตั้งชื่อปีนี้ นักกิจกรรมหนุ่มให้คำตอบว่า “ปีแห่งความวินาศสันตะโรของพวกเผด็จการปรสิต” เพราะถูกบั่นทอน โจมตีด้วยชุดข้อมูล และกิจกรรมขับไล่ แต่ก็ยังไม่จบ และปีหน้าก็ต้องเตรียมอีก ด้านของขวัญที่ดีที่สุด คืออยากให้เพื่อนที่ถูกจองจำคดีการเมืองออกมาจากเรือนจำให้หมด มาฉลองปีใหม่ด้วยอิสรภาพด้วยกัน ปีหน้าก็ก้าวไปด้วยกันอีกรอบ และอยากจะอวยพรว่า “ขอให้ความรักที่มีให้กับประชาชนคุ้มครองทุกคน”

.

X