ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนพบว่า ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564 มีคดีความทางการเมืองในกรุงเทพฯ ที่อัยการมีคำสั่งฟ้องนักกิจกรรมและประชาชนอีก 6 คดี เป็นคดีในศาลอาญา 4 คดี และคดีในศาลแขวง 2 คดี โดยยื่นฟ้องต่อศาลในช่วงครึ่งเดือนแรก รวม 3 คดี ได้แก่ คดีสืบเนื่องจาก #ม็อบ16กันยา และ #ม็อบ10สิงหา ของกลุ่มทะลุแก๊สที่แยกดินแดง มีจำเลยคดีละ 1 ราย คือ ชิติพัทธ์ (สงวนนามสกุล) และประวิทย์ ธิบูรณ์บุญ และคดีที่สืบเนื่องจากการชุมนุม #เยาวชนปลดแอก เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 อัยการฟ้องนักศึกษาเพิ่มอีก 1 ราย คือ เนตรนภา อำนาจส่งเสริม ซึ่งถูกออกหมายจับภายหลังจากการชุมนุมนานนับปี
ช่วงครึ่งเดือนหลัง อัยการยังยื่นฟ้องอีก 3 คดี ได้แก่ คดีที่สืบเนื่องจาก #ม็อบ18พฤศจิกา63 ที่แยกราชประสงค์ มีจำเลยเป็นนักกิจกรรม 5 ราย, คดีความจาก #ม็อบ28กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์ จำเลย คือ “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง ที่เลือกเปลือยกายในหน้าแถว คฝ. เพื่อแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ และคดีที่สืบเนื่องจาก #ม็อบ11กันยา ที่แยกดินแดง มีจำเลย 2 ราย
+++ ฟ้อง “ชิติพัทธ์” เหตุร่วม #ม็อบ16กันยา ปี 64 ต่อมาถูกจับพร้อมกัญชา ถูกขังตั้งแต่ชั้นสอบสวน ศาลยังไม่ให้ประกัน +++
3 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการสูงสุด (สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดียาเสพติด 2) ได้ยื่นฟ้องชิติพัทธ์ (สงวนนามสกุล) ต่อศาลอาญา ในคดีความสืบเนื่องจากเข้าร่วมในการชุมนุมเมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 หรือ #ม็อบ16กันยา ที่แยกดินแดง เขาถูกจับกุมในวันเดียวกันนั้น พร้อมกัญชาจำนวนหนึ่ง และถูกกล่าวหาว่า กระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215, 216 รวมไปถึง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ โดยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวเลยนับตั้งแต่ถูกจับ
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า จำเลยกับผู้ชุมนุมทางการเมืองอีกหลายคนได้กระทำผิดกฎหมายหลายกรรม กล่าวคือ เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2564 จําเลยกับพวกได้ฝ่าฝืนเคอร์ฟิว และไปชุมนุมที่บริเวณถนนอโศก – ดินแดง เรื่อยไปถึงถนนวิภาวดี โดยไม่มีเหตุหรือความจําเป็น
มีผู้ชุมนุมประมาณ 50 คน ได้มาร่วมกันชุมนุมที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค ทั้งยังไม่มีการจัดให้มีมาตรการป้องกันโรคที่ทางราชการกำหนด และจำเลยกับผู้ชุมนุมยังร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป กระทําการให้เกิดความวุ่นวาย โดยหนึ่งในผู้กระทําผิดมีอาวุธ และร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน ด้วยการขว้างปาสิ่งของเข้าใส่เจ้าหน้าที่ตํารวจและสถานที่ราชการ ขว้างปาพลุ และประทัดยักษ์ เมื่อเจ้าพนักงานตํารวจสั่งการให้เลิกมั่วสุม แต่ทั้งหมดกลับไม่เลิก
วันเดียวกันจําเลยยังได้มีกัญชา ยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ จํานวน 1 ซอง น้ำหนักสุทธิ 11.820 กรัม ไว้ในครอบครองของจําเลย
หลังอัยการยื่นฟ้อง โดยชิติพัทธ์ให้การปฏิเสธ ศาลกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 13 ธันวาคม 2564 เวลา 9.00 น.
ต่อมา วันที่ 23 พ.ย. 2564 ศาลอาญาอนุญาตปล่อยชั่วคราวชิติพัทธ์ระหว่างพิจารณาคดี โดยมีเงื่อนไขให้ติด EM และห้ามออกจากเคหสถาน รวมเวลาถูกคุมขังทั้งหมด 68 วัน
นอกจากคดีนี้แล้ว ชิติพัทธ์ยังถูกกล่าวหาในอีกคดี คือคดีจากการเข้าร่วม #ม็อบ29สิงหา ก่อนถูกจับกุมบริเวณด่านตรวจหน้า ธกส. ถนนนครสวรรค์ โดยศาลให้ประกันในชั้นฝากขัง กำหนดหลักทรัพย์ประกัน 15,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์
+++ ยื่นฟ้อง “เนตรนภา” นศ. เหตุร่วมม็อบเยาวชนปลดแอกตั้งแต่ 18 กค. 63 แยกคดี ถูกออกหมายจับหลังเหตุการณ์ชุมนุมนานนับปี ศาลให้ประกัน +++
9 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 10 ได้ยื่นฟ้อง เนตรนภา อำนาจส่งเสริม นักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากร ต่อศาลอาญา เหตุจากการร่วมชุมนุม #เยาวชนปลดแอก ตั้งแต่เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2563 โดยในคดีนี้ยังมีจำเลยรายอื่นอีก 14 ราย ซึ่งถูกทยอยฟ้องไปก่อนหน้านี้แล้ว โดยเธอเป็นจำเลยรายสุดท้ายที่ถูกออกหมายจับหลังการชุมนุมนานนับปี และถูกฟ้องแยกคดี
>>> ผ่านไปปีกว่า ตร.ไม่เคยจับ นศ.ศิลปากรเข้ามอบตัวหมายจับคดี ม.116 เยาวชนปลดแอก ก่อนศาลให้ประกัน
อัยการบรรยายฟ้องเนตรนภาเช่นเดียวกับคนอื่นที่ถูกฟ้องไปก่อนหน้า และกล่าวหาเนตรนภาว่ากระทำผิดรวม 7 ข้อหา เช่นเดียวกับคนอื่น ได้แก่ “ยุยงปลุกปั่นฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116, “ร่วมกันมั่วสุมตั้งแต่ 10 คนใช้กำลังประทุษร้ายให้เกิดความวุ่นวายฯ โดยเป็นหัวหน้า” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 215 วรรคสาม, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, ร่วมกันกีดขวางทางสาธารณะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 385 , ร่วมกันกีดขวางการจราจร ตาม พ.ร.บ.จราจรทางบกฯ , ร่วมกันตั้ง วาง หรือกองวัตถุใด ๆ บนถนน ตาม พ.ร.บ.รักษาความสะอาดฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต
ในชั้นสอบสวน พนักงานสอบสวนได้ฝากขังเนตรนภาด้วย ก่อนศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยใช้ตำแหน่งอาจารย์มหาวิทยาลัยเป็นหลักประกัน ตีราคาประกันเป็นเงิน 45,000 บาท พร้อมทั้งยังกำหนดเงื่อนไข “ห้ามกระทำการในลักษณะตามที่ถูกกล่าวหาอีก” ต่อมา หลังอัยการยื่นฟ้อง ศาลยังคงอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาคดีโดยใช้หลักประกันเดิม กำหนดนัดสอบคำให้การวันที่ 23 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา และนัดตรวจพยานหลักฐาน วันที่ 20 ธันวาคม 2564
+++ ฟ้องผู้ชุมนุม #ม็อบ10สิงหา 4 ข้อหา รวมวางเพลิงเผาสาธารณสมบัติ โทษถึงประหารชีวิต ก่อนศาลให้ประกัน +++
10 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 เป็นโจทก์ฟ้อง ประวิตร ธิบูรณ์บุญ ต่อศาลอาญา ในคดีที่สืบเนื่องจากเหตุการณ์เผาป้อมจราจรใน #ม็อบ10สิงหา ที่แยกดินแดง กล่าวหาประวิตรใน 4 ข้อหา ได้แก่ มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป, ร่วมกันวางเพลิงเผาทรัพย์ผู้อื่น, ร่วมกันวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 215, 217, 218 และฝ่าฝืนข้อกำหนดและประกาศเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ
อัยการบรรยายฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม 2564 จำแลยกับพวกได้ร่วมกันทำกิจกรรมทางการเมือง Car Mob ที่บริเวณแยกราชประสงค์ ต่อมาหลังจากที่ได้มีการประกาศยุติการชุมนุมที่หน้า King Power ซอยรางน้ำ จำเลยกับพวกซึ่งเป็นผู้ชุมนุมราว 20 คน ไม่ยอมเลิกการชุมนุม ได้ไปชุมนุมที่แยกดินแดง อันเป็นการรวมกลุ่มมากกว่า 5 คน ที่มีโอกาสแพร่เชื้อโรคได้ง่าย และไม่มีมาตรการป้องกันตามที่ทางราชการกำหนด
จากนั้น จำเลยกับพวกราว 20 คน ยังได้ทำการมั่วสุมตั้งแต่ 10 คน ขึ้นไป และวางเพลิงเผาป้อมจราจร อันเป็นโรงเรือนซึ่งเป็นสาธารณสมบัติ ภายในมีตู้ควบคุมสัญญาณไฟจราจร โทรทัศน์ ตู้เย็น ตู้ทำน้ำเย็น กล้องวงจรปิด เครื่องปรับอากาศ ถังเก็บน้ำ และอุปกรณ์สำนักงาน ซึ่งเป็นทรัพย์สินของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสียหายทั้งหมดคิดเป็นค่าเสียหายจำนวน 993,000 บาท
หลังศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวประวิตรในชั้นพิจารณาโดยใช้หลักประกันเดิมที่เคยวางในชั้นสอบสวน เป็นเงินสด 310,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ และกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานวันที่ 24 มกราคม 2565
ทั้งนี้ ความผิดฐานวางเพลิงเผาโรงเรือนอันเป็นสาธารณสมบัติ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 218 นั้น มีอัตราโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปีถึง 20 ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต
+++ สั่งฟ้อง 5 นักกิจกรรม กล่าวหาจัด #ม็อบ18พฤศจิกา63 ที่ราชประสงค์ ฝ่าฝืน พ.ร.บ.ชุมนุมฯ – พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนให้ประกันทั้งหมด ขณะ อานนท์-พรพจน์-ไมค์ ยังอยู่คุกในคดีอื่น +++
17 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนักกิจกรรม 5 ราย ได้แก่ อานนท์ นำภา (จำเลยที่ 1), ธานี สะสม (จำเลยที่ 2), พรพจน์ แจ้งกระจ่าง (จำเลยที่ 3), “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง (จำเลยที่ 4) และ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก (จำเลยที่ 5) ต่อศาลแขวงปทุมวัน ฐาน ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ชุมนุมฯ มาตรา 10 และข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ โดยกล่าวหาว่าทั้งห้าเป็นผู้จัดการชุมนุมเมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ที่แยกราชประสงค์ ทั้งนี้ นักกิจกรรม 3 ราย ในจำนวนนี้ยังคงถูกคุมขังอยู่ในคดีความอื่น
>>> สถิติผู้ถูกคุมขังคดีทางการเมืองในระหว่างต่อสู้คดี
สำหรับพฤติการณ์คดีตามคำฟ้อง ระบุว่า เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ตั้งแต่เวลา 4 โมงเย็น จนถึงราว 2 ทุ่มครึ่ง ได้มีการจัดการชุมนุมทางการเมืองเกี่ยวกับการบริหารราชการของรัฐบาลในขณะนั้น ในพื้นที่แยกราชประสงค์ ซึ่งประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมได้ โดยจำเลยทั้ง 5 กับพวกซึ่งประสงค์จะจัดการชุมนุม หลีกเลี่ยงไม่แจ้งการชุมนุมกับผู้กำกับ สน. ลุมพินี ฝ่าฝืน พ.ร.บ. ชุมนุมฯ อันเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความในมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ
นอกจากนั้น ในการชุมนุมดักงล่าวยังไม่มีการจัดมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 ไม่จัดให้ผู้ชุมนุมสวมหน้ากากอนามัยและเว้นระยะห่างทางสังคม ฝ่าฝืนข้อกำหนดที่ออกตามความมาตรา 9 ของ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เช่นเดียวกัน
ชั้นสอบสวน จำเลยทั้ง 5 ให้การปฏิเสธ โดยพนักงานสอบสวนไม่ได้ยื่นคำร้องฝากขังจำเลยแต่อย่างใด คดีขาดผัดฟ้อง และรองอัยการสูงสุดอนุญาตให้ฟ้องจำเลยทั้ง 5 แล้ว
ในวันที่อัยการยื่นฟ้อง ซึ่งมีเพียงธานีและชินวัตรเท่านั้นที่เดินทางไปศาล ในขณะที่จำเลยที่เหลือยังถูกคุมขังในคดีความอื่น อย่างไรก็ตาม ทนายความได้ยื่นประกันนักกิจกรรมทั้ง 5 คน ก่อนศาลได้อนุญาตให้ประกันจำเลยในชั้นพิจารณา กำหนดหลักประกันรายละ 20,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดพร้อมตรวจพยานหลักฐานวันที่ 15 ธันวาคม 2564
ทั้งนี้ #ม็อบ18พฤศจิกา ที่แยกราชประสงค์จนถึงหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มีการดำเนินคดีทั้งที่ สน.ปทุมวัน และ สน.ลุมพินี โดยอานนท์และภาณุพงศ์ถูกดำเนินคดีทั้ง 2 สน. และพนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ฟ้องคดีของ สน.ปทุมวัน ไปก่อนหน้านี้ 1 สัปดาห์
+++ สั่งฟ้อง ‘ป้าเป้า’ 2 ข้อหา “ทำการขายหน้าต่อธารกำนัล” – พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ เหตุเปลือยร่างแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ใน #ม็อบ28กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์ +++
17 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีศาลแขวง 3 มีคำสั่งฟ้อง “ป้าเป้า” วรวรรณ แซ่อั้ง และยื่นฟ้องต่อศาลแขวงดุสิต จากเหตุเปลื้องผ้าหน้าแนว คฝ.ประท้วงการสลายการชุมนุมและจับกุมผู้ชุมนุมใน #ม็อบ28กันยา หยุดราชวงศ์ประยุทธ์ หลังการแจ้งข้อกล่าวหา 1 เดือน โดยป้าเป้าถูกกล่าวหาว่าฝ่าฝืนข้อกำหนดเรื่องการชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และ “กระทำการอันควรขายหน้าต่อหน้าธารกำนัล โดยเปลือยหรือเปิดเผยร่างกายฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 388
อัยการบรรยายฟ้องว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2564 ซึ่งอยู่ภายในระยะเวลาที่การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จำเลยกับพวกอีกหลายคนซึ่งแยกดำเนินคดีต่างหากแล้ว ได้ร่วมกันทำกิจกรรมเพื่อแสดงความเห็นต่างทางการเมือง และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องให้รัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ลาออก มีการเดินขบวนในลักษณะกีดขวางการจราจรเพื่อเคลื่อนขบวนจากแยกนางเลิ้งไปยังทำเนียบรัฐบาล มีประชาชนเข้าร่วมกิจกรรมราว 150 คน ยืนกันหนาแน่น เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโควิด 19 โดยไม่มีมาตรการป้องกันตามที่ทางราชการได้กำหนดไว้
ต่อมา เจ้าหน้าที่ได้นำรั้วลวดหนามไปวางบริเวณแยกนางเลิ้ง และจัดวางกำลัง คฝ. เพื่อดูแลความปลอดภัยในบริเวณดังกล่าว แต่ผู้ชุมนุมได้รื้อลวดหนาม ตะโกนด่าทอ ขว้างปาสิ่งของ ยิงจรวดขวดน้ำ หนังสติ๊ก และยิงสีใส่ คฝ. นอกจากนี้ จำเลยยังได้เปลือยกายโดยไม่มีสิ่งใดปกปิดร่างกาย และแสดงออกเชิงสัญลักษณ์โดยการลงไปนอนกับพื้นถนน และกางขาทั้ง 2 ข้างออก ต่อหน้าเจ้าหน้าที่ตำรวจและประชาชนบริเวณแยกนางเลิ้ง อันเป็นการกระทำอันควรขายหน้าต่อธารกำนัล
ชั้นสอบสวนจำเลยให้การปฏิเสธ และพนักงานสอบสวนไม่ได้ขอฝากขัง โดยอัยการยื่นฟ้องทันในวันครบกำหนดผัดฟ้องครั้งที่ 5
หลังศาลรับฟ้อง ได้อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในชั้นพิจารณาตามที่ทนายยื่นคำร้อง กำหนดหลักทรัพย์ประกัน 20,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ ศาลนัดพร้อมและตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2565
ทั้งนี้ ในการชุมนุมครั้งดังกล่าว ก่อนหน้าที่ป้าเป้าจะเปลื้องผ้าประท้วง คฝ.ได้ฉีดน้ำที่ก่อให้เกิดอาการระคายเคืองใส่ผู้ชุมนุม และมีการเดินแถวเข้าจับกุมผู้ชุมนุมรวม 9 คน โดยป้าเป้าได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนถึงสาเหตุการแสดงออกดังกล่าวว่า เป็นการสะท้อนถึงการต่อสู้เพื่อเรียกร้องความถูกต้องของประชาชนซึ่งไม่มีอะไรจะสู้แล้ว มีแต่ตัวเปล่าๆ ไม่ได้มีอาวุธใดจะสู้กับเจ้าหน้าที่ควบคุมฝูงชน ซึ่งเข้าสลายการชุมนุมของประชาชน
+++ ฟ้อง 2 ผู้ชุมนุม #ม็อบ11กันยา ดินแดง กล่าวหา 5 ข้อหา ศาลให้ประกัน ใช้หลักประกันเดิมในชั้นสอบสวน +++
18 พฤศจิกายน 2564 – พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 4 ยื่นฟ้องสุวิทย์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยที่ 1 และณัฐพงษ์ (สงวนนามสกุล) เป็นจำเลยที่ 2 ต่อศาลอาญา กล่าวหาว่า เข้าร่วม #ม็อบ11กันยา ของกลุ่ม #ทะลุแก๊ส ที่แยกดินแดง และกระทำความผิดฐานฝ่าฝืน พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ, เป็นซ่องโจร, มั่วสุมตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย, ไม่เลิกมั่วสุมเมื่อเจ้าหน้าที่บอกให้เลิก และต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน โดยใช้กำลังหรือมีอาวุธ โดยร่วมกันกระทำความผิดตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 210, 215, 216 และ 138 ประกอบ 140
สำหรับพฤติการณ์ตามคำฟ้อง ระบุว่า จำเลยทั้ง 2 กับผู้ชุมนุมทางการเมืองอื่นได้ร่วมกัน / แยกกันกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายบท กล่าวคือ เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2564 จําเลยทั้งสองกับพวกอีก 3 คนซึ่งเป็นเยาวชน ได้แยกไปดําเนินคดีต่างหากแล้ว กับพวกอีก 6 คน ที่ยังไม่ได้ตัวมาฟ้อง ได้ปรึกษาหารือกันเพื่อที่จะทําการมั่วสุมกันตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป ก่อความวุ่นวาย โดยคนหนึ่งคนใดมีอาวุธ และร่วมกันตั้งแต่ 3 คนขึ้นไป ต่อสู้หรือขัดขวางเจ้าพนักงานโดยใช้กําลังประทุษร้าย อันเป็นการกระทําความผิดฐานเป็นช่องโจร
จากนั้นจําเลยทั้งสองกับพวกรวมจํานวนประมาณ 150 คน ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมขับไล่ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่บริเวณแยกใต้ทางด่วนดินแดงและถนนวิภาวดี รังสิต ซึ่งเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยไม่มีมาตรการป้องกัน และเมื่อ คฝ. ได้สั่งการให้ผู้ชุมนุมรวมถึงจําเลยทั้งสองยุติการชุมนุม แต่จําเลยและพวกยังคงขัดขืนไม่กระทําการ ทั้งยังได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางโดยการด่าทอและใช้สิ่งของจําพวกประทัดยักษ์ และดอกไม้เพลิงเป็นอาวุธขว้างปาใส่ คฝ. อันเป็นการกระทําให้เกิดความวุ่นวายขึ้นในบ้านเมือง
ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ณัฐพงษ์ถูกตํารวจเข้าจับกุมจากบริเวณที่พัก ตามหมายจับของศาลอาญา และต่อมาวันที่ 4 ตุลาคม 2564 สุวิทย์ได้เข้ามอบตัว หลังจากทราบว่าถูกศาลอาญาออกหมายจับด้วย โดยชั้นสอบสวน ทั้งสองให้การปฏิเสธ และพนักงานสอบสวนขอฝากขังระหว่างสอบสวน ต่อมา ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยให้วางเงินประกันคนละ 35,000 บาท ใช้เงินจากกองทุนราษฎรประสงค์ และในส่วนของณัฐพงษ์ศาลยังกำหนดให้ติด EM ด้วย
หลังศาลรับฟ้องและจำเลยทั้งสองเข้ารายงานตัวตามสัญญาประกัน ศาลได้อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวระหว่างพิจารณาต่อไปโดยใช้หลักประกันเดิมที่วางในชั้นสอบสวน และนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 24 มกราคม 2565
ทั้งนี้ จากการชุมนุมของกลุ่มทะลุแก๊สในวันนั้น ปรากฏว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีทั้งหมด 7 ราย เป็นเยาวชน 3 ราย ถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 210 เช่นเดียวกัน และมีผู้ต้องหา 2 ราย ที่เป็นผู้ใหญ่ ถูกตั้งข้อหาในฐานความผิด “พยายามฆ่า” คือ ไพฑูรย์ และ สุขสันต์ (ทั้ง 2 สงวนนามสกุล) โดยทั้งคู่ถูกกล่าวหาว่า ร่วมกันโยนระเบิดใส่ คฝ.ที่ใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมในวันนั้นจนได้รับบาดเจ็บสาหัส 1 นาย ทั้งสองไม่ได้รับอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเลยหลังถูกจับกุมเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2564