โควิด-19 ระลอกสาม ส่งผลอย่างไรต่อวิธีพิจารณาความอาญาในคดีชุมนุมและการแสดงออกทางการเมือง 

ในช่วงต้นเดือนเมษายน ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เปิดเผยตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่กลับมาสูงกว่าหลักร้อยอีกครั้ง ทั้งการติดเชื้อภายในเรือนจำจังหวัดนราธิวาส และการพบผู้ป่วยจากคลัสเตอร์ที่เชื่อมโยงกับสถานบันเทิงในกรุงเทพฯ ก่อนกระจายตัวไปหลายจังหวัด ทำให้ต้องมีการสืบสวนโรคและค้นหาเชิงรุกมาอย่างต่อเนื่องเกือบเดือน ทว่าสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อช่วงปลายเดือนระหว่างวันที่ 23-25 เม.ย. ยังมีตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่กว่า 2,000 คน ติดต่อกันสามวัน และมียอดผู้เสียชีวิตเกิน 10 คน ในวันเดียวกันของวันที่ 25 เม.ย. ซึ่งเป็นสถิติใหม่ในประเทศไทย 

ท่ามกลางการติดตามตัวเลข พื้นที่ที่มีการกระจายไปของเชื้อโควิด และมาตรการรับมือจากรัฐบาล ยังส่งผลถึงสถานการณ์การดำเนินคดี การคุมขังก่อนและระหว่างการพิจารณาคดีต่อผู้ชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง

>> 1 ปี สถานการณ์ฉุกเฉินรับมือโควิด: ผลกระทบต่อเสรีภาพในการชุมนุม

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนติดตามผลกระทบต่อการพิจารณาคดีที่เกี่ยวกับการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการชุมนุมโดยสงบ ในช่วงเดือนเมษายน ซึ่งเชื้อไวรัสโควิด-19 กลับมาระบาดหนักอีกครั้ง 

 

จำเลย 5 ราย คดีทุบรถควบคุมตัว “ไมค์-เพนกวิน” ถูกเลื่อนพิจารณา แม้ถูกคุมขังอยู่

เมื่อวันที่ 16 เม.ย. 2564 ที่ศาลอาญา มีนัดตรวจพยานหลักฐานในคดีของจำเลย 5 ราย ที่ถูกกล่าวหากรณีขัดขวางและทุบรถควบคุมผู้ต้องขังระหว่างการควบคุมตัวไมค์และเพนกวิน ไปยัง สน.ประชาชื่น เมื่อช่วงคืนวันที่ 30 ต.ค. 2563 แต่ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนมีคำสั่งให้เลื่อนนัดออกไป หลังจากพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องขอเลื่อนคดีไว้ตั้งแต่เมื่อวันที่ 7 เม.ย. 2564 ประกอบกับประกาศแนวทางการเลื่อนนัดพิจารณาคดีของศาลอาญาตามความเหมาะสม 

ศาลได้กำหนดวันนัดคดีใหม่เป็นวันที่ 7 มิ.ย. 2564 แม้ทนายความของจำเลยจะคัดค้านการเลื่อนนัดตรวจพยานหลักฐานนี้ เนื่องจากจำเลยทั้ง 5 ราย ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณาคดี คดีจึงควรได้รับการพิจารณาอย่างเร็วที่สุด และผู้พิพากษาสามารถสั่งให้มีการพิจารณาคดีในศาลได้โดยไม่ให้กระทบต่อความปลอดภัยของผู้ที่เกี่ยวข้องในช่วงที่มีการระบาดของโรคโควิด-19 

จำเลยทั้ง 5 คน ได้แก่ ณัฐนนท์ ไชยมหาบุตร, ธวัช สุขประเสริฐ, ศักดิ์ชัย ตั้งจิตสดุดี, สมคิด โตสอย และฉลวย เอกศักดิ์ ซึ่งไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการพิจารณา ส่งผลให้การพิสูจน์ความจริงเกี่ยวกับกรณีนี้ถูกเลื่อนออกไปเกือบ 2 เดือน โดยเฉพาะกรณีของฉลวย ชายชราผู้ต้องเลี้ยงดูหลานและมีโรคประจำตัวทางผิวหนังเรื้อรัง ที่ระบุว่าตนไม่ได้อยู่ในที่เกิดเหตุด้วยซ้ำ 

ตามแนวปฏิบัติการบริหารจัดการคดีในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ประจำเดือนพฤษภาคม 2564 กรณีที่จำเลยถูกคุมขังในเรือนจำ การตรวจพยานหลักฐานสามารถทำได้ตามระเบียบว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังในเรือนจำ รวมไปถึงการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อป้องกันมิให้เกิดการแพร่ระบาดของโรคในสถานที่คุมขังหรือเรือนจำนั้น ให้ศาลคำนึงถึงการขยายโอกาสในการเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวและการไม่เพิ่มความแออัดในเรือนจำ ผู้ต้องหาหรือจำเลยซึ่งไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนดังเช่นจำเลยในคดีทุบรถนี้ ศาลอาจพิจารณาอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลย หรือเงื่อนไขอื่นใด หรือมีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับดูแลได้

คดีนี้ประชาชน ทั้ง 5 ราย ถูกอัยการยื่นฟ้องต่อศาล ตั้งแต่วันที่ 24 ก.พ. 2564 และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัว ทำให้ทั้งหมดถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นับแต่วันนั้นเป็นต้นมา พวกเขาพยายามยื่นคำร้องขอให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวรวม 3 ครั้งเมื่อวันที่ 24 ก.พ.,  1 และ 29 มี.ค. 2564 และอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ปล่อยตัวชั่วคราวรวม 1 ครั้ง

>> เปิดคำฟ้องคดีทุบรถควบคุม “ไมค์-เพนกวิน” โทษหนักสุดจำคุก 7 ปีครึ่ง แต่ศาลไม่ให้ประกัน ขณะ 1 ในจำเลยยืนยันไม่ได้ร่วมชุมนุม 

 

“บาส มงคล” ถูกฝากขังต่อศาลบนรถตำรวจหน้าศาลจังหวัดเชียงรายในสภาพอากาศร้อนอบอ้าว คดีแชร์โพสต์ข้อความและคลิปเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ในเฟซบุ๊ก   

วันที่ 16 เม.ย. 2564 พ.ต.ท.ภาสกร สุขะ รองผู้กำกับสอบสวน สภ.เมืองเชียงราย ได้นำตัวมงคล ถิระโคตร หรือ “บาส” ไปยังศาลจังหวัดเชียงรายเพื่อยื่นคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ในข้อหามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊ก โดยเมื่อมงคลถูกนำตัวมายังเขตรั้วศาล เจ้าหน้าที่ไม่ได้นำตัวเขาลงจากรถควบคุมผู้ต้องขังของทางตำรวจ แต่ให้นั่งรออยู่ภายในรถเกือบตลอดเวลาตั้งแต่ 10.00 น. จนถึงราว 15.00 น. โดยในช่วงเที่ยง มีการนำตัวผู้ต้องหาลงมาจากรถพักหนึ่ง ราวหนึ่งชั่วโมง เพื่อนำรถไปรับผู้ต้องหาคดีอื่น

ศาลชี้แจงต่อมงคลและทนายความว่าเป็นมาตรการในช่วงสถานการณ์โควิดระบาดรุนแรงและมีข้อกำหนดเรื่องลดการพิจารณาในห้องพิจารณา มาตรการนี้เหมือนกันในทุกคดี ไม่ใช่การปฏิบัติต่อคดีใดคดีหนึ่งโดยเฉพาะ 

ในช่วงสายวันนั้น ผู้พิพากษาได้ไต่สวนคำร้องขอฝากขังมงคลผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์หรือการประชุมทางจอภาพจากด้านในตัวอาคารศาล โดยให้มงคลนั่งอยู่บนรถควบคุมและวิดีโอคอลผ่านโทรศัพท์มือถือของพนักงานสอบสวน ให้ทนายความและพนักงานสอบสวนยืนไต่สวนและสอบถามด้านข้างรถควบคุมผู้ต้องขัง จนเสร็จสิ้นกระบวนการ ท่ามกลางสภาพอาการร้อนอบอ้าว    

การขอฝากขังบนรถควบคุมตัวผู้ต้องขังของตำรวจ ไม่ได้ถูกกำหนดไว้ให้เป็นสถานที่เพื่อการสอบถามหรือไต่สวนในการออกหมายขังครั้งแรก ผ่านระบบการประชุมทางจอภาพหรือสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ตามแนวทางปฏิบัติงานการสอบถามผู้ต้องหาหรือไต่สวนพยานหลักฐานในการออกหมายขังครั้งแรกในลักษณะการประชุมทางจอภาพ ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของศาลยุติธรรม ซึ่งกำหนดให้ดำเนินการภายในห้องพิจารณาคดี โดยมีการถ่ายทอดภาพและเสียงระหว่างห้องพิจารณาคดีในศาลกับสถานีตำรวจ กรณีผู้ต้องหาอยู่ที่ทำการของพนักงานสอบสวน หรือเรือนจำ กรณีพนักงานสอบสวนนำตัวผู้ต้องหามาที่เรือนจำ หรือที่ทำการของพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี 

การไต่สวนคำร้องเพื่อฝากขังมงคลนี้ อาจลดจำนวนบุคคลที่เข้าถึงบริเวณตัวอาคารศาลได้ แต่อย่างไรก็ตามอาจไม่บรรลุผลเพื่อลดความเสี่ยงต่อการแพร่เชื้อของผู้ต้องหา ทนายความ และพนักงานสอบสวน รวมถึงสวัสดิภาพของมงคลที่ต้องนั่งบนรถควบคุมตัวที่มีอากาศถ่ายเทน้อยเป็นเวลานาน และผู้ต้องหารายนี้ยังเพิ่งอดอาหารมา 3 วันที่หน้าศาลอาญา ก่อนถูกควบคุมตัวมาอีกด้วย 

>> ศาลเชียงรายให้ประกันตัว “บาส มงคล” คดี ม.112 วางหลักทรัพย์ 1.5 แสนบาท

 

“ชูเกียรติ-พรชัย” คดี 112 ติดโควิดขณะถูกควบคุมตัวในเรือนจำ  

เมื่อวันที่ 24 เม.ย. 2564 รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ออกมายอมรับว่า ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ “จัสติน” ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังระหว่างพิจารณา ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานครในห้องแยกกักโรค ได้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จริง จากการตรวจหาเชื้อเมื่อวันที่ 23 เม.ย. โดยในห้องแยกกักโรคมีแกนนำกลุ่มราษฎรและผู้ต้องขังอื่นรวมกว่า 20 คน ก่อนจะส่งตัวชูเกียรติไปรักษาที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์  

ด้านพรชัย (สงวนนามสกุล) ผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 ซึ่งได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางเชียงใหม่ อ.แม่แตง จ.เชียงใหม่ เมื่อค่ำของวันที่ 23 เม.ย. และเข้ารับการตรวจหาเชื้อในวันถัดมา จนมาทราบผลเมื่อวันที่ 26 เม.ย. ว่าผลเป็นบวก ทำให้พรชัยต้องเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลสนามใน จ.เชียงใหม่ การตรวจพบเชื้อของพรชัย สอดคล้องกับสถานการณ์ที่ศูนย์บัญชาการสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 จังหวัดเชียงใหม่ เปิดเผยในวันเดียวกันว่า พบผู้ติดเชื้อในเรือนจำกลางเชียงใหม่ 146 คน แล้ว ทำให้เรือนจำกลางเชียงใหม่เป็นพื้นที่เสี่ยงของการระบาดของโรคอีกแห่งหนึ่ง

ทั้งชูเกียรติและพรชัย ต่างถูกกล่าวหาในคดี 112 และถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาคดีโดยไม่ได้รับสิทธิการปล่อยตัวชั่วคราวทั้งคู่ แม้ต่อมาพรชัยจะได้รับการประกันตัวชั่วคราวแล้ว แต่เขาก็ติดเชื้อในช่วงที่ถูกคุมขังในเรือนจำรวม 44 วัน

การติดเชื้อโควิด-19 ของบุคคลในระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำส่งผลมากที่สุดต่อสุขอนามัยและชีวิตของบุคคลนั้น ว่าจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีหรือไม่ 

กรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงถึงการยกระดับมาตรการป้องกันโรคในเชิงรุกในช่วงเดือนเมษายน ว่าจะตรวจหาเชื้อไวรัสโควิดในผู้ต้องขังเข้าใหม่ทุกราย อย่างน้อย 2 ครั้ง คือ หลังรับตัวเข้าห้องแยกกักโรค ภายใน 3 วันแรก และก่อนออกจากห้องแยกกักโรคอีก 1 ครั้ง เพื่อยืนยันว่าไม่มีเชื้อ อย่างไรก็ตาม หากผู้ต้องขังพ้นระยะเวลากักตัวไปแล้ว กรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้มีมาตรการที่ชัดเจนว่าจะมีการตรวจหาเชื้อภายในเวลาเท่าใด มีเพียงการกำหนดให้เจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ทุกคนเข้ารับการตรวจหาเชื้อทุก 14 วัน 

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 19 เม.ย. ชูเกียรติ เล่าผ่านทนายความถึงอาการของเขาว่าเป็นไข้มาสองสามวันแล้ว ช่วงวันที่ 17-18 เม.ย. หนักหน่อย มีอาการครั่นเนื้อครั่นตัว ปวดตา คอแห้ง กังวลว่าเป็นอาการของโควิดหรือเปล่า ชูเกียรติเล่าต่อว่ากระบวนการคัดกรองในเรือนจำค่อนข้างช้า หลังแจ้งว่าป่วยและมีอาการ ก็ต้องใช้เวลารอ เกรงว่าหากเกิดกรณีเร่งด่วนจะไม่ทันกาลต่อการรักษาได้ ในเรือนจำมีการตรวจโควิดแบบ Swab เดือนละครั้งก็จริง แต่หากมีอาการไข้ระหว่างนี้จะไม่ได้ตรวจซ้ำจนกว่าจะถึงรอบของการตรวจอีกครั้ง 

ชูเกียรติระบุว่าช่วงก่อนที่เขาจะได้รับการตรวจยืนยันเชื้อ เขาได้รับยามากิน ทั้งพาราเซตามอล ยาแก้แพ้ และยาฆ่าเชื้อ เขาอัดยาหนักมากเพื่อบรรเทาอาการ แต่ทางเรือนจำก็ยังไม่ได้มีการให้แยกตัวไปดูอาการโดยเฉพาะแต่อย่างใด      

นอกจากนี้ การตรวจพบว่าบุคคลนั้นติดเชื้อโควิด ทำให้การเบิกตัวผู้ต้องหาหรือจำเลยที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมาศาล ไม่สามารถทำได้ มาตรการทางสาธารณสุขย่อมต้องจำกัดการเดินทางบุคคลนั้นและส่งตัวเข้าเขตรักษา ส่งผลให้ในคดีนั้นๆ ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ด้วย เนื่องจากหลักการการพิจารณาคดีและการสืบพยานให้ศาลทำต่อหน้าจำเลย 

แม้จะมีระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยให้สืบพยานผ่านทางภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ แต่อาการป่วยจะเป็นอุปสรรคลำดับถัดมาของผู้ป่วยโควิด ทำให้การพิจารณาคดีและการสืบพยานอาจทำไม่ได้หรือทำได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ   

ท้ายที่สุด ผลกระทบต่อบุคลากรในกระบวนการยุติธรรมเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ การตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ของชูเกียรติ ส่งผลให้เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ต้องแยกกักตัวและเร่งตรวจหาเชื้อในกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงรวม 35 ราย เป็นเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ 9 ราย และผู้ต้องขังที่เป็นกลุ่มสัมผัสใกล้ชิดที่มีความเสี่ยงสูงในห้องแยกกักโรค และสถานพยาบาลเรือนจำ 26 ราย 

ด้านเจ้าหน้าที่ศาลอาญาในห้องพิจารณาไต่สวนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา ซึ่งนอนห้องเดียวกับชูเกียรติ โฆษกศาลยุติธรรมได้ยืนยันว่าให้ทั้งผู้พิพากษา เจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ ตำรวจศาลซึ่งประจำอยู่ที่ห้องพิจาณาคดีดังกล่าวให้งดการเดินทางและกักตัวเอง 

ส่วนการตรวจพบเชื้อไวรัสโควิด-19 ของพรชัย ส่งผลให้ผู้ที่เดินทางไปรับพรชัยในวันที่เขาได้รับการประกันตัว ต้องเร่งไปตรวจหาเชื้อและทำการกักตัวเพื่อสังเกตอาการต่อไป

 

จำเลยในและนอกเรือนจำใกล้ชิดกันผ่านกุญแจมือ ส่งจำเลยเข้าเรือนจำรอฟังผลประกันตัว คดีสหพันธรัฐไท 

วันที่ 27 เม.ย. ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดีสหพันธรัฐไท ข้อหา“ยุยงปลุกปั่น” และ “เป็นอั้งยี่” ตามประมวลกฎหมายอาญา จากการทำกิจกรรมเกี่ยวเนื่องกับธงสัญลักษณ์สหพันธรัฐไท ในวันดังกล่าว ประพันธ์ถูกเบิกตัวออกมาจากทัณฑสถานหญิงเพื่อมาร่วมฟังคำพิพากษากับเพื่อนจำเลยอีก 3 คน ที่ได้รับการประกันตัวชั่วคราวระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์ ครอบครัวของจำเลยเดินทางมาพร้อมกัน

ศาลเรียกให้ทนายความและจำเลยเข้าไปฟังคำพิพากษา หลังนั่งรออยู่ด้านหน้าห้องพิจารณาในระหว่างที่ศาลกำลังพิจารณาคดีอื่นและไม่อนุญาตให้ญาติและผู้สังเกตการณ์อื่นเข้าห้องพิจารณา โดยศาลอ้างถึงนโยบายมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 

หลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นในคดีที่ 1 จำเลยทั้ง 4 ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์ใส่กุญแจมือเป็นคู่ ๆประพันธ์ถูกจับใส่กุญแจมือคู่กับวรรณภา ส่วนกฤษณะคู่กับเทอดศักดิ์ เพื่อเดินไปอีกห้องและรอฟังคำพิพากษาในคดีที่ 2 จากนั้นเจ้าหน้าที่ได้แยกวรรณภาและกฤษณะลงไปไว้ที่ห้องเวรชี้ ใต้ถุนศาลอาญา ปล่อยให้ประพันธ์และเทอดศักดิ์นั่งฟังคำพิพากษาของทั้งคู่  สำหรับคดีที่ 2 ตัวของผู้พิพากษาที่อ่านคำพิพากษาให้จำเลยฟังนั่งอยู่อีกห้องพิจารณาหนึ่งและถ่ายทอดภาพและเสียงมายังอีกห้องหนึ่ง 

การนำตัวบุคคลผู้ถูกขังในเรือนจำออกมาเพื่อฟังคำพิพากษานี้ไม่สอดคล้องกับมาตรการเบื้องต้นที่ทางกรมราชทัณฑ์เสนอไว้ คือ คนในห้ามออก คนนอกห้ามเข้า (Bubble and seal) และแยกกักผู้สัมผัสเสี่ยงสูง ผู้ที่มีประวัติเสี่ยง ประพันธ์ถูกขังระหว่างพิจารณาชั้นอุทธรณ์มาตั้งแต่วันที่ 10 พ.ค. 2562 จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว จึงอยู่ในลักษณะที่ปลอดเชื้อเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับสถานการณ์ที่โลกภายนอกเรือนจำมีการแพร่ระบาดของโรคได้เร็วและมากในขณะนี้ 

การถูกเบิกตัวออกมาจากเรือนจำและถูกจับใส่กุญแจมือ นั่งใกล้ชิดกับบุคคลภายนอก ย่อมเพิ่มความเสี่ยงให้ประพันธ์อาจได้รับเชื้อ และนำเชื้อเข้าสู่เรือนจำโดยไม่จำเป็น 

อีกทั้ง การอ่านคำพิพากษาโดยจำเลยบางคนอยู่ในเรือนจำอยู่แล้วสามารถนำ คำแนะนำของประธานศาลฎีกา เกี่ยวกับแนวทางปฏิบัติในการสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ฉบับที่ 3) เรื่องว่าด้วยการดำเนินคดีอาญาในศาลที่เกี่ยวกับผู้ถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างการแพร่ระบาดของโรคโควิด โดยให้พิจารณาคดี สืบพยาน หรือฟังคำพิพากษาผ่านทางภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพได้ เพื่อที่บุคคลที่อยู่ในเรือนจำไม่ต้องออกมาภายนอก 

การห้ามญาติและผู้ที่คู่ความไว้วางใจเข้าห้องพิจารณาในทุกกรณี โดยอ้างมาตรการป้องกันโควิดที่เข้มงวดมากเกินไปจนไม่ได้สัดส่วนกับมาตรการที่ศาลยุติธรรมได้วางแนวปฏิบัติไว้ เพื่อบริหารจัดการอาคารสถานที่และห้องพิจารณา กระทบต่อการพิจารณาโดยเปิดเผยเพื่อประกันสิทธิของจำเลยและป้องกันการลุแก่อำนาจจากกระบวนการยุติธรรม

ทั้งนี้ ศาลสามารถพิจารณาจำนวนผู้เข้าร่วมในห้องพิจารณาได้อย่างเหมาะสม ไม่จำกัดเฉพาะบุคคลที่จำเป็นตามกฎหมาย แต่อนุญาตให้บุคคลที่โจทก์หรือจำเลยร้องขอได้ด้วย เมื่อบุคคลเหล่านี้เข้าห้องพิจารณาแล้ว ก็แนะนำให้ปฏิบัติมาตรการด้านความปลอดภัยตามที่กำหนดไว้ คือ  เว้นระยะห่างอย่างน้อย 1 ถึง 1.5 เมตร และให้ใช้เจลแอลกอฮอล์ ล้างมือทำความสะอาดมือ สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา และเจ้าหน้าที่สามารถจัดจำเลยที่มาจากเรือนจำแยกนั่งเป็นส่วนสัดในห้องพิจารณา และมีระยะห่างจากบุคคลอื่น 

ในห้องพิจารณาคดีที่ 801 พบว่า ห้องมีขนาดกว้างขวางกว่าห้องอื่นๆ มีเก้าอี้ม้านั่งจำนวนมากพอถึงขนาดให้คู่ความ ญาติและผู้สังเกตการณ์นั่งเว้นระยะห่างกันได้ ทั้งจำเลยทั้ง 4 ได้นั่งเว้นระยะห่างกันแล้ว แต่ว่าเมื่อศาลพิพากษาลงโทษ กลับนำจำเลยที่อยู่ในเรือนจำมาใส่กุญแจมือคู่กับจำเลยที่อยู่นอกเรือนจำ

นอกจากนี้ หลังจำเลยทั้ง 3 ยกเว้นประพันธ์ ได้ยื่นประกันตัวชั่วคราวในชั้นฎีกา แต่ศาลอุทธรณ์ได้ส่งคำร้องให้ศาลฎีกาพิจารณาคำสั่งว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ ทำให้ทั้ง 3 ถูกควบคุมตัวเข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพและทัณฑสถานหญิงทันที ระหว่างรอผลคำสั่งอีก 2-3 วัน ท่ามกลางข้อเท็จจริงว่าเรือนจำมีการแพร่ระบาดของโรคแล้ว 

การปฏิบัติของศาลที่พยายามให้บุคคลเว้นระยะห่างในห้องพิจารณาคดีในตัวอาคารศาล แต่กลับส่งตัวบุคคลนั้นเข้าเรือนจำก่อน ระหว่างรอผลการประกันตัวเพียงไม่กี่วัน เป็นการริดรอนเสรีภาพทางร่างกายและสุขอนามัยของบุคคลโดยไม่จำเป็น เพิ่มความเสี่ยงให้กับเรือนจำ ผู้ต้องขังอื่นและเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์เอง ทั้งยังสร้างความแออัดให้กับเรือนจำอีกด้วย 

และไม่สอดคล้องกับการพิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในสถานที่คุมขังหรือเรือนจำ ซึ่งศาลสามารถให้บุคคลเข้าถึงสิทธิที่จะได้รับการประกันตัวทันที แม้ยังไม่ได้รับอนุญาตให้อุทธรณ์หรือฎีกาหรือบุคคลนั้นไม่เคยถูกคุมขังมาก่อนดังเช่นจำเลยในคดีสหพันธรัฐไท โดยกำหนดเงื่อนไขเกี่ยวกับที่อยู่ของจำเลย หรือเงื่อนไขอื่นใด หรือมีคำสั่งแต่งตั้งผู้กำกับดูแลได้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค และการไม่เพิ่มความแออัดในเรือนจำ     

>> อุทธรณ์ยืน! ลงโทษ 4 ปชช. ข้อหา “อั้งยี่” ไม่รอลงอาญา คดีแจกใบปลิว-ขายเสื้อดำสหพันธรัฐไท แต่ยกฟ้องข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” 

X