ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน คดี ม.112 “ตี้ วรรณวลี” กรณีปราศรัย #ม็อบ6ธันวา63 จำคุก 2 ปี 8 เดือน ก่อนได้ประกันตัวชั้นฎีกา

วันที่ 4 ก.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาธนบุรีนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา จากการปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 หรือ #ม็อบ6ธันวา

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน เห็นว่า มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองเพียงเฉพาะกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้นและคำปราศรัยของจำเลยเป็นถ้อยคำที่ร้ายแรง ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือนนั้นเหมาะสมแล้ว

.

คดีนี้ วรรณวลีให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา เธอเคยถูกคุมขังมาแล้ว 11 วัน หลังถูกสั่งฟ้องคดีในปี 2564 ก่อนได้รับการประกันตัว คดีมีการสืบพยานจนเสร็จสิ้นในช่วงปี 2566  ในส่วนของวรรณวลี เบิกความยืนยันว่าการปราศรัยที่กล่าวถึงรัชกาลที่ 10 ก็เพื่อต้องการส่งเสียงไปถึงในหลวง ให้ทราบว่ามีผู้แอบอ้างใช้พระนามในทางที่มิชอบ และพูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และกลุ่มคนซึ่งมักจะอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ ไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย  

ต่อมา วันที่ 27 มิ.ย. 2566 ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาเห็นว่า เมื่ออ่านคำปราศรัยของจำเลยแล้ว วิญญูชนทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยกล่าวให้ร้ายรัชกาลที่ 10 ไม่ใช่เหตุผลอย่างที่จำเลยกล่าวอ้าง ซึ่งเป็นการกล่าวอ้างขึ้นลอยๆ ไม่มีน้ำหนัก ไม่สามารถรับฟังได้ การกระทำของจำเลยทำให้พระมหากษัตริย์ถูกดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ 

พิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน และต่อมามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ในวันเดียวกัน และวรรณวลีได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา

.

เวลา 08.48 น. ผู้รับมอบฉันทะทนายความและนายประกันเดินทางมารอที่ห้องพิจารณาที่ 11 พร้อมกับมีประชาชนประมาณ 9 ราย มาร่วมให้กำลังใจวรรณวลี ก่อนจะได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่หน้าบัลลังก์ว่ามีการเปลี่ยนห้องพิจารณาจากห้อง 11 เป็นห้อง 24 

เวลา 09.18 น. วรรณวลีเดินทางมาถึงห้องพิจารณาที่ 24 โดยกล่าวว่าตอนแรกไม่ทราบว่ามีการเปลี่ยนห้องพิจารณา ภายหลังนั่งรอสักระยะจึงมีเจ้าหน้าที่เดินมาแจ้ง ทำให้มาช้า ก่อนที่ผู้พิพากษาจะออกนั่งพิจารณาคดี วรรณวลีได้พูดคุยกับประชาชนที่มาร่วมให้กำลังใจเธอด้วยรอยยิ้ม

เวลา 09.29 น. ผู้พิพากษาออกนั่งพิจารณาและดำเนินอ่านคำพิพากษาคดีก่อนหน้าจนแล้วเสร็จ จากนั้นจึงเริ่มอ่านคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ในคดีนี้ ในเวลา 09.43 น. 

โดยสรุป เห็นว่าข้อเท็จจริงข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า วันที่ 6 ธ.ค. 2563 มีการเสวนาในหัวข้อ “ใครฆ่าพระเจ้าตากฯ” มีเจ้าหน้าที่ตำรวจจาก สน.บุปผาราม สังเกตการณ์ตลอดการชุมนุม ตามที่จำเลยที่ 2 ยื่นอุทธรณ์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยดังนี้

1. ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าในมาตรา 112 กษัตริย์หมายถึงกษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น การที่ศาลชั้นต้นนำบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาขยายความร่วมกับมาตรา 112 ในกฎหมายอาญาจึงไม่อาจทำได้

ศาลอุทธรณ์ ห็นว่ามาตรา 112 เป็นมาตราที่มีลักษณะเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เป็นการกระทำความผิดต่อพระมหากษัตริย์ย่อมกระทบต่อความมั่นคงของราชอาณาจักร และการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์นั้นเป็นการสืบตามสายโลหิตตามกฎมณเฑียรบาลว่าด้วยการสืบราชสันตติวงศ์ พ.ศ. 2467 อีกทั้งมาตรา 112 ไม่ได้ระบุว่าคุ้มครองเพียงเฉพาะพระมหากษัตริย์ที่ครองราชย์อยู่เท่านั้น 

ดังนั้นการกระทำผิดต่อพระมหากษัตริย์องค์ก่อนหน้าก็มีความผิดเช่นเดียวกัน เห็นว่าที่ศาลชั้นต้นพิพากษานั้นถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น

2. ที่จำเลยอุทธรณ์ว่าคำกล่าวปราศรัยของจำเลยนั้นมีเจตนาต้องการส่งเสียงถึงสถาบันกษัตริย์ว่ามีผู้แอบอ้าง ก็คือพลเอกประยุทธ์กับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไม่ใช่การหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้าย

ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำกล่าวปราศรัยของจำเลยในถ้อยคำที่ปราศรัยว่า “จอมทัพไทย คือ วชิรา” ซึ่งวชิราเป็นส่วนหนึ่งของพระนามในหลวงรัชกาลที่ 10 คำกล่าวปราศรัยจึงเป็นการกล่าวพาดพิงรัชกาลที่ 10 ว่าดำรงตำแหน่งในฐานะจอมทัพไทย ทรงบงการพลเอกประยุทธ์ ทรงอยู่เบื้องหลังการรัฐประหาร 

ข้อความปราศรัยของจำเลยนั้นเป็นการให้ร้าย ทำให้บุคคลที่สามที่รับฟังเกลียดชังรัชกาลที่ 10 และทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติเป็นอย่างมาก ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าคำปราศรัยของจำเลยมีความผิดนั้นถูกต้องแล้ว อุทธรณ์ของจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนข้อความปราศรัยอื่นของจำเลยที่ 2 ไม่จำต้องวินิจฉัยอีกต่อไป เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลง

3. สมควรรอการลงโทษจำเลยหรือไม่

ศาลอุทธรณ์ เห็นว่าในกำหนดโทษมาตรา 112 ในกฎหมายอาญา มีกำหนดโทษ 3 ถึง 15 ปี การที่ศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 4 ปี ทางนำสืบจำเลยให้การเป็นประโยชน์อยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษลงหนึ่งในสาม คงเหลือโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือนนั้น เหมาะสมแล้ว

ประกอบการพิจารณาข้อความคำปราศรัยแล้วเห็นว่าเป็นข้อความที่ทำให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติเป็นอย่างมาก เป็นข้อความที่มีความร้ายแรง จึงไม่มีเหตุสมควรให้รอการลงโทษ

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ลงโทษจำคุก 2 ปี 8 เดือน โดยไม่รอการลงโทษ

.

หลังอ่านคำพิพากษาเสร็จสิ้น ตำรวจศาลหญิงได้เชิญวรรณวลีที่นั่งในแถวเดียวกับมวลชนออกมานั่งแยกที่เก้าอี้จำเลยเพื่อรอนำตัวไปใต้ถุนศาล ระหว่างรอเอกสาร มวลชนได้เข้าไปสวมกอด พูดให้กำลังใจและปลอบโยนวรรณวลี จากนั้นเธอได้ถูกนำตัวออกไป พร้อมกับนายประกันได้ยื่นขอประกันตัวในชั้นฎีกา

.

ต่อมา เวลา 15.20 น.  ศาลอาญาธนบุรีมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างฎีกา โดยให้วางหลักทรัพย์ 450,000 บาท ซึ่งต้องวางเพิ่มเติมจากชั้นอุทธรณ์อีก 150,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยมีเงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกประเทศเว้นแต่ได้รับอนุญาตจากศาล

.

สำหรับ วรรณวลี ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ทั้งหมด 4 คดี ได้แก่ กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb, โพสต์ภาพการชูป้ายสามป้ายระหว่างการชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่ถูกแจ้งความกล่าวหาเชียงใหม่, กรณีปราศรัยในชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน และ คดีนี้

ในจำนวนนี้ มี 3 คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยมีคดี #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกรวม 4 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 5 ปี  ส่วนคดีที่จังหวัดเชียงใหม่และคดีที่ศาลอาญาธนบุรีนี้ ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน เท่ากัน โดยไม่รอลงอาญา 

คดีนี้เป็นคดีแรกที่มีคำพิพากษาอุทธรณ์ออกมา และในวันที่ 24 ก.ค. 2568 คดีที่จังหวัดเชียงใหม่ ศาลได้นัดฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 แล้วเช่นกัน

.

ดูฐานข้อมูลคดีนี้ คดี 112 ชูเกียรติ-วรรณวลี-ธนกร (เยาวชน) ปราศรัย #ม็อบ6ธันวา วงเวียนใหญ่

ย้อนอ่านประมวลการต่อสู้ในคดีนี้ เปิดประมวลคดี ม.112 “ตี้-จัสติน” ปราศรัยวงเวียนใหญ่ ปมวิจารณ์ ประยุทธ์-สนช. ขยายขอบเขตอำนาจพระมหากษัตริย์เกินขอบเขต

X