ในวันที่ 4 ก.ค. 2568 เวลา 9.00 น. ศาลอาญาธนบุรี นัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ ในคดี “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของ “ตี้” วรรณวลี ธรรมสัตยา จากการปราศรัยในการชุมนุมบริเวณลานอนุสาวรีย์พระเจ้าตากสิน วงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 หรือ #ม็อบ6ธันวา
สำหรับคดีนี้มี จักรพงศ์ กลิ่นแก้ว อดีตแกนนำกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) และต่อมาสังกัดพรรคไทยภักดี เป็นผู้กล่าวหา ก่อนหน้านี้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกวรรณวลี 2 ปี 8 เดือน โดยได้รับการประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ และจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์ต่อมา
.
ศาลชั้นต้นลงจำคุก 2 ปี 8 เดือน เห็นว่าปราศรัยทำให้ ร.10 เสื่อมเสีย ได้ประกันระหว่างอุทธรณ์
สำหรับการชุมนุมช่วงเย็นวันที่ 6 ธ.ค. 2563 คณะราษฎรฝั่งธนบุรีจัดการชุมนุมบริเวณวงเวียนใหญ่ มีนักกิจกรรมผลัดกันขึ้นปราศรัยวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล การถูกล่วงละเมิดทางเพศในสถานศึกษา การแก้ไขกฎหมายแท้งไม่พร้อม และติติงการรับบริจาคเงินช่วยเหลือน้ำท่วมของนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสนับสนุนข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์
ต่อมา วันที่ 11 ม.ค. 2564 ชูเกียรติ แสงวงค์ หรือ “จัสติน”, วรรณวลี ธรรมสัตยา หรือ “ตี้” และนักกิจกรรมเยาวชนอีก 1 ราย ได้ถูกออกหมายเรียกไปแจ้งข้อกล่าวหาตามมาตรา 112 ที่ สน.บุปผาราม ทั้งหมดให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
ต่อมาวันที่ 27 เม.ย. 2564 อัยการสั่งฟ้องคดีของชูเกียรติและวรรณวลี ที่ศาลอาญาธนบุรี ในส่วนของวรรณวลีกล่าวหาจากการปราศรัยโดยกล่าวถึงการชี้นำกองทัพ ปัญหาในการรับรองการรัฐประหาร รวมไปถึงชี้นำการทำงานของคณะรัฐมนตรี โดยในตอนแรกศาลไม่ให้ประกันวรรณวลี ทำให้เธอถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงธนบุรี เป็นระยะเวลา 11 วัน ก่อนได้รับการประกันตัว
ในชั้นศาลทั้งสองคนต่อสู้คดี ต่อมา วันที่ 27 มิ.ย. 2566 ศาลอาญาธนบุรีพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกคนละ 4 ปี ให้การเป็นประโยชน์ ลดเหลือจำคุกคนละ 2 ปี 8 เดือน และมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ในวันเดียวกัน
ในส่วนของวรรณวลี แม้จะเบิกความว่ากล่าวถึงรัชกาลที่ 10 เพื่อให้ทราบว่ามีผู้แอบอ้างใช้พระนามในทางที่มิชอบ แต่พูดถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมักจะอ้างว่าปกป้องสถาบันกษัตริย์ เป็นหลัก ไม่ได้มีเจตนาจะดูหมิ่นและอาฆาตมาดร้าย แต่ศาลเห็นว่า เมื่ออ่านคำปราศรัยแล้ว วิญญูชนทั่วไปเข้าใจว่าจำเลยกล่าวให้ร้ายรัชกาลที่ 10 ว่าใช้อำนาจโดยมิชอบ เป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท และอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ เข้าองค์ประกอบมาตรา 112
.
วรรณวลีต่อสู้ ยืนยัน ม.112 ไม่เกี่ยวกับ รธน. ม.6-คำปราศรัยไม่ได้กล่าวถึงรัชกาลที่ 10-ถูกดำเนินคดีโดยไม่ชอบจากกลุ่มผู้เห็นต่าง
ต่อมาชูเกียรติได้ลี้ภัยทางการเมือง ส่วนวรรณวลียังยืนยันต่อสู้คดี และได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา โดยสรุปใน 3 ประเด็นหลัก ได้แก่
ประเด็นแรก ป.อาญา มาตรา 112 ไม่ได้เกี่ยวข้องกับมาตรา 2, มาตรา 6 และมาตรา 50 (3) แห่งรัฐธรรมนูญ
ที่ศาลชั้นต้นเห็นว่าบทบัญญัติดังกล่าว อยู่ในลักษณะ 1 ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรแสดงให้เห็นว่า แม้การกระทำความผิดจะกระทบต่อพระมหากษัตริย์เพียงพระองค์เดียว ย่อมส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศ
จำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น เนื่องจากรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 และมาตรา 6 เป็นบทบัญญัติที่มุ่งกำหนดรูปแบบของรัฐและการให้ความคุ้มครองพระมหากษัตริย์จากการถูกฟ้องร้องทางกฎหมายเท่านั้น มิได้มีความเกี่ยวข้องหรือสอดคล้องกับบทบัญญัติในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่อย่างใด
คำว่า “ละเมิดมิได้” จึงมิได้หมายรวมถึงความสามารถในการติชมหรือถกเถียงเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์โดยสุจริต แต่มีที่มาจากหลักการ “The king can do no wrong” ที่สาระสำคัญคือการกระทำของกษัตริย์จะได้รับความคุ้มครองโดยกฎหมายภายใต้เงื่อนไขที่ต้องเป็นไปตามคำแนะนำของนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีเท่านั้น และมิอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ นอกจากนี้ มาตรา 2 แห่งรัฐธรรมนูญยังเป็นการกำหนดรูปแบบการปกครองของประเทศไทยให้เป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ซึ่งทำให้พระราชอำนาจและพระราชฐานะของพระมหากษัตริย์ลดลงและต้องอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ
ส่วน มาตรา 50 (3) ที่บัญญัติหน้าที่ของบุคคลในการพิทักษ์รักษาชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ ก็เป็นเพียงการกำหนดหน้าที่หลักที่มาคู่กับสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น ซึ่งรัฐธรรมนูญรับรองไว้ว่าสามารถจำกัดได้ภายใต้ข้อยกเว้นบางประการตามกฎหมาย แต่ก็ต้องดำเนินการไปอย่างชัดเจนและไม่ปล่อยให้มีการตีความขยายออกไปอย่างกว้างขวาง มิฉะนั้นจะถือเป็นการทำลายสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้
จำเลยจึงเห็นว่า การที่ศาลชั้นต้นขยายความหมายและเจตนารมณ์ของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ มาตรา 2 มาตรา 6 และมาตรา 50 (3) ว่าสอดคล้องกับประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และนำมาพิจารณาประกอบเพื่อลงโทษจำเลยนั้น เป็นการผิดแผกไปจากระบอบการปกครองปัจจุบันของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง เพราะการขยายความหมายตามรัฐธรรมนูญเพื่อมุ่งเน้นปกป้องพระมหากษัตริย์เพื่อทำลายสิทธิเสรีภาพของประชาชน อาจใช้ได้กับการปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่ในปัจจุบันประเทศไทยมีการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข การขยายความของศาลชั้นต้นที่นำบทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญมาขยายความร่วมกับมาตรา 112 ในกฎหมายอาญาจึงไม่อาจทำได้ อีกทั้งยังจะส่งผลให้เกิดความสับสนและความเคลือบแคลงขององค์ประกอบกฎหมายในหมู่ประชาชนเป็นอย่างมาก
.
ประเด็นที่สอง คำปราศรัยของจำเลยเป็นการวิพากษ์วิจารณ์พลเอกประยุทธ์และรัฐบาลโดยสุจริตถึงการบริหารการจัดการภัยพิบัติและการสลายการชุมนุมที่ไม่เป็นธรรม
ที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยและพิพากษาว่า ในส่วนคำปราศรัยของจำเลยที่ 2 นั้น มีเจตนาหมิ่นประมาทใส่ร้ายพระมหากษัตริย์ หากจำเลยต้องการปราศรัยถึงเหตุการณ์ในช่วงวันที่ 17 พ.ย. 2563 ที่มีการชุมนุมหน้ารัฐสภา ในวันเกิดเหตุนั้นจำเลยได้เข้าร่วมชุมนุมและเป็นผู้เห็นเหตุการณ์ดังกล่าวด้วย การชุมนุมได้เกิดเหตุปะทะกัน โดยเป็นกลุ่มราษฎร และกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมอีกกลุ่มที่ใส่เสื้อสีเหลือง และมีตราของสถาบันกษัตริย์ติดที่เสื้อ และกลุ่มราษฎรถูกยิง โดยกลุ่มเสื้อเหลือง ซึ่งเป็นไปตามข่าว
นอกจากนี้ยังถูกเจ้าพนักงานตำรวจฉีดน้ำแรงดันสูงซึ่งผสมแก๊ซน้ำตาใส่กลุ่มราษฎรด้วย ทั้งเจ้าพนักงานตำรวจไม่ได้มีความพยายามที่จะจับกุม และพยายามระงับเหตุที่ก่อเหตุยิงและทำร้ายผู้ชุมนุมคณะราษฎรในวันนั้น และกลุ่มเสื้อเหลืองยังได้อ้างว่า ได้ทำเพื่อปกป้องสถาบันฯ ทำให้เข้าใจได้ว่า มีคนพยายามดึงพระมหากษัตริย์เข้ามาเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองและความขัดแย้ง
ในเรื่องจอมทัพไทย ต้องการกล่าวเน้นถึงผู้บัญชาการทหารและตำรวจทุกหมู่เหล่า ซึ่งก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะมาเป็นนายกรัฐมนตรี นั้น ได้ดำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบก ซึ่งในหลายครั้งจะอ้างว่าตนปกป้องสถาบัน เป็นการดึงสถาบันพระมหากษัตริย์ให้ลงมา
การปราศรัยของจำเลย ก็เพื่อต้องการส่งเสียงถึงสถาบันกษัตริย์ว่ามีผู้แอบอ้าง ก็คือพลเอกประยุทธ์กับกลุ่มปกป้องสถาบันฯ ไม่ใช่การหมิ่นหรืออาฆาตมาดร้ายในหลวงรัชกาลที่ 10
.
ประเด็นที่สาม การดำเนินคดีเกิดจากการดำเนินการแจ้งความโดยกลุ่มที่มีความเห็นต่างทางการเมืองกับจำเลยการใช้สิทธิในการดำเนินคดีจึงมีเจตนาทุจริต
ผู้กล่าวหาในคดีนี้ คือ จักรพงษ์ กลิ่นแก้ว ซึ่งได้เบิกความว่า ตนเคยเป็นอดีตแกนนำ ศปปส. หรือศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน เคยไปร้องทุกข์กล่าวโทษแ ละในบางครั้งก็แจ้งข้อมูลให้ตำรวจตรวจสอบผู้ที่ทำการหมิ่นสถาบันฯ มากกว่า 100 คดี ทางศูนย์ฯ ใช้คำว่า “ขยะแผ่นดิน” เรียกบุคคลต่างๆ ที่กลุ่มนี้แจ้งความด้วย จำเลยเห็นว่าคดีนี้เป็นการแจ้งความโดยอาศัยกฎหมายมาเป็นเครื่องมือทำลายผู้เห็นต่าง
.
สำหรับ วรรณวลี ถูกดำเนินคดีในมาตรา 112 ทั้งหมด 4 คดี ได้แก่ กรณีปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ25พฤศจิกาไปscb, โพสต์ภาพการชูป้ายสามป้ายซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีข้อความเกี่ยวกับสถาบันกษัตริย์ ระหว่างการชุมนุมที่กรุงเทพฯ แต่ถูกแจ้งความกล่าวหาเชียงใหม่, กรณีปราศรัยในชุมนุม #ราษฎรยืนยันดันเพดาน บริเวณสกายวอล์คปทุมวัน และ คดีนี้
ในจำนวนนี้ มี 3 คดีที่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาแล้ว โดยมีคดี #ราษฎรยืนยันดันเพดาน ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุกรวม 4 ปี แต่ให้รอการลงโทษไว้ 5 ปี ส่วนคดีที่จังหวัดเชียงใหม่และคดีที่ศาลอาญาธนบุรีนี้ ศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี 8 เดือน เท่ากัน โดยไม่รอลงอาญา อยู่ระหว่างอุทธรณ์ทั้งสองคดี
.
ดูฐานข้อมูลคดีนี้ >>> คดี 112 ชูเกียรติ-วรรณวลี-ธนกร (เยาวชน) ปราศรัย #ม็อบ6ธันวา วงเวียนใหญ่
ย้อนอ่านประมวลการต่อสู้ในคดีนี้ >>> เปิดประมวลคดี ม.112 “ตี้-จัสติน” ปราศรัยวงเวียนใหญ่ ปมวิจารณ์ ประยุทธ์-สนช. ขยายขอบเขตอำนาจพระมหากษัตริย์เกินขอบเขต