ศาลฎีกายังไม่ให้ประกัน “อานนท์” แม้ยกความเห็น UN กังวลการใช้ ม.112 ด้าน “แดง ชินจัง” ไม่ได้ประกันเช่นกัน แม้ระบุหลักฐานในคดีมาจากจำเลยถูกซ้อมทรมาน

ระหว่างวันที่ 9 – 11  เม.ย. 2568 ทนายความได้ยื่นประกันตัว “อานนท์ นำภา” ทนายความสิทธิมนุษยชนและผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 รวม 5 คดี  และ “แดง ชินจัง” หรือ ยงยุทธ ผู้ต้องขังทางการเมือง ซึ่งถูกฟ้องใน 5 คดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดในช่วงการชุมนุมของ กปปส. เมื่อปี 2557

กรณีของอานนท์ ทนายความได้ยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา ในคดีมาตรา 112 รวม 5 คดี ศาลฎีกายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันในทุกคดี ระบุคำสั่งว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

ปัจจุบันอานนท์ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมเป็นระยะเวลา 570 วันหรือกว่า 1 ปีครึ่งแล้ว 

ส่วนกรณีของแดง ชินจัง ทนายความได้ยื่นขอประกันในระหว่างพิจารณาคดีต่อศาลอาญา ซึ่งศาลก็ยังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน ระบุว่า “พิเคราะห์แล้วศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตไว้ชัดแจ้งแล้วกรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง”

ปัจจุบันแดง ชินจัง ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ รวมเป็นระยะเวลา 221 วันแล้ว


.

ศาลฎีกาไม่อนุญาตให้ประกันคดี 112 ของ “อานนท์ นำภา” แม้อ้างความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ UN ที่แสดงความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 

เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2568 ทนายความยื่นคำร้องอุทธรณ์คำสั่งไม่ให้ประกันของศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา หลังยื่นประกันเมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา ในคดีมาตรา 112 ของอานนท์จำนวน 5 คดี  ได้แก่ 

1.คดีปราศรัยใน #ม็อบ14ตุลา63 ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี

2. คดีโพสต์ 3 ข้อความในเฟซบุ๊ก ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอีก 4 ปี

3.คดีปราศรัยใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์1 ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกอีก 2 ปี 8 เดือน

4.ศาลอาญาพิพากษาจำคุกอีก 4 ปี ในคดีที่วิพากษ์วิจารณ์การใช้อำนาจบริหารราชการแผ่นดินของกษัตริย์ 

5.คดีโพสต์จดหมาย #ราษฎรสาส์น ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี

ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2567 ซึ่งเป็นวันที่ฟังคำพิพากษาในคดี #ม็อบ14ตุลา63 อานนท์ไม่เคยได้รับการประกันตัวให้ออกมาสู้คดีในระหว่างอุทธรณ์แม้แต่คดีเดียว โดยในการยื่นคำร้องอุทธรณ์ต่อศาลฎีกาครั้งนี้ ทนายได้อ้างความเห็นของผู้เชี่ยวชาญ UN ที่แสดงความกังวลต่อการใช้มาตรา 112 กับประชาชน เมื่อวันที่ 20 ม.ค. 2568 ระบุว่า ประเทศไทยต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทันที โดยมีใจความสำคัญว่า “การที่ประเทศไทยได้ใช้กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์เพื่อควบคุมตัวและจำคุกนักกิจกรรมและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องนั้น ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลอย่างร้ายแรง และเรียกร้องให้หน่วยงานรัฐเร่งยกเลิก หรือปรับแก้ประมวลกฎหมายอาญาของประเทศเป็นการใหญ่ เพื่อให้กฎหมายเป็นมาตรฐานสิทธิมนุษยชน”

นอกจากนี้ ผู้เชี่ยวชาญ UN ยังระบุว่า “กฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ของไทยนั้นรุนแรงและกำกวม เป็นการให้อำนาจดุลพินิจมหาศาลแก่หน่วยงานรัฐและศาลในการนิยามฐานความผิดดังกล่าวได้อย่างกว้างขวาง และทำให้บุคคลถูกควบคุมตัวดำเนินคดีไปแล้วกว่า 270 คน ตั้งแต่ปี 2563” 

ทั้งก่อนหน้านี้คณะทำงานของ UN ว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (WGAD) ได้ออกความเห็นว่า การคุมขังอานนท์เป็นการคุมขังโดยพลการและขัดต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนของ UN อีกหลายคนได้แสดงความกังวลต่อกรณีการดำเนินคดีอาญากับอานนท์ และประชาชนคนอื่น ๆ ในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง จึงขอให้ศาลพิจารณาแถลงการณ์ฉบับนี้เพื่อให้ประกันตัวจำเลยด้วย 

อย่างไรก็ตาม ศาลฎีกาได้มีคำสั่งลงวันที่ 11 เม.ย. 2568 ระบุเหมือนกันทุกคดีว่า “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลฎีกาเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มาแล้วหลายครั้ง หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยอาจจะหลบหนี คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวนั้นชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง”

ปัจจุบัน อานนท์ถูกคุมขังหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุกในคดี 112 รวมทั้งสิ้น 7 คดี รวมทั้งคดีอื่น ๆ อีก 3 คดี โดยมีโทษจำคุกรวม 20 ปี 25 เดือน 20 วัน ตลอดเวลาที่อานนท์ถูกคุมขังมาตั้งแต่ปี 2566 – 2568 เขายืนยันต่อสู้คดีที่ตนเองถูกฟ้องจนถึงที่สุด ซึ่งทุกคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์คำพิพากษา ยังไม่มีคดีใดสิ้นสุด และในทุกคดีความ เขาได้พยายามยื่นขอประกันตัวออกมาเพื่อต่อสู้คดี และถึงแม้ว่าในปีที่ผ่านมา (2567) อานนท์จะเป็นผู้ต้องขังที่มีสถิติการยื่นประกันตัวสูงที่สุดถึง 47 ครั้ง ใน 6 คดี แต่ศาลก็มีคำสั่งยกคำร้องทุกครั้ง 

.

ศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันคดีเกี่ยวกับระเบิดของ “แดง ชินจัง” เป็นครั้งที่ 5 แม้ทนายยื่นเหตุพยานหลักฐานในคดีที่เป็นคำให้การรับสารภาพของจำเลยมาจากการถูกซ้อมทรมานระหว่างการควบคุมตัวของทหาร

เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2568 ทนายความยื่นคำร้องขอประกันแดง ชินจัง ในคดีที่เกี่ยวเนื่องกับวัตถุระเบิดเมื่อปี 2557 รวม 5 คดี โดยมีเนื้อหาในคำร้องระบุว่า จำเลยให้การปฏิเสธต่อศาลและประสงค์ต่อสู้คดีถึงที่สุด ทั้งมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า พฤติการณ์ในคดีทั้งห้าเป็นเหตุเดียวกับคดีที่ศาลมีคำพิพากษายกฟ้องจำเลยทุกคนไปแล้ว ซึ่งในคดีดังกล่าวมีพยานหลักฐานชุดเดียวกับคดีทั้งห้านี้ และมีเพียงคำให้การรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนหรือบันทึกคำให้การรับสารภาพและซักทอดบุคคลอื่นในชั้นซักถามของเจ้าหน้าที่ทหาร 

ทั้งปรากฏข้อเท็จจริงในการเบิกความของชินจังในชั้นพิจารณาคดีเหล่านั้นว่า คำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนหรือชั้นซักถามดังกล่าว เป็นคำให้การที่มิชอบเนื่องจากได้มาจากการที่จำเลยถูกข่มขู่ ทำร้ายร่างกาย และพูดจาข่มขู่ว่าจะทำอันตรายครอบครัว เพื่อให้การรับสารภาพ 

และคำพิพากษายกฟ้องในคดีเหล่านั้นระบุในทำนองว่า คำให้การรับสารภาพของชินจังซึ่งให้การไว้โดยไม่สมัครใจ เพราะถูกทำร้ายและบังคับให้รับสารภาพ ตลอดจนได้รับคำมั่นจากเจ้าพนักงานทหารชุดจับกุมว่า หากให้การเช่นนั้นจะกันตัวชินจังไว้เป็นพยานโจทก์ ไม่น่าเชื่อถือ ไม่มีน้ำหนักที่รับฟังได้ ซึ่งปัจจุบันคดีเหล่านั้นได้ถึงที่สุดแล้ว

จำเลยจึงขอให้ศาลพิจารณาคำสั่งประกันตัวของจำเลยใหม่ เนื่องจากพยานหลักฐานในคดีที่จำเลยถูกฟ้องมานี้ทั้งหมดเกิดขึ้นจากการจูงใจ มีคำมั่นสัญญา ขู่เข็ญ อันเป็นพยานหลักฐานที่ต้องห้ามมิให้รับฟังตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 226/1 

การที่จำเลยไม่ได้รับอนุญาตให้ประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดีย่อมขัดต่อหลักการคุ้มครองสิทธิของจำเลยในคดีอาญาที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุด โดยจำเลยยอมรับทุกเงื่อนไขที่ศาลกำหนดและยินยอมติดอุปกรณ์ติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์หรือ EM 

อย่างไรก็ตาม ในวันเดียวกันศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวชินจังทั้ง 5 คดี ระบุคำสั่งเช่นเดียวกันว่า “พิเคราะห์แล้วศาลนี้และศาลอุทธรณ์เคยมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ให้ยกคำร้อง” 

ปัจจุบันแดง ชินจัง ถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ โดยเขาได้พยายามยื่นขอประกันตัวเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 5 ครั้งแล้ว ตั้งแต่ถูกคุมขังเมื่อวันที่ 9 ก.ย. 2567 

.

อ่านเรื่องที่เกี่ยวข้อง

ศาลยังไม่คืนสิทธิประกัน ‘อานนท์’ แม้ยื่นประกัน 6 คดี 112 พร้อมระบุความเห็นผู้เชี่ยวชาญ UN ‘ประเทศไทยต้องยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ทันที’

ศาลยังยกคำร้องขอประกันตัว ‘ขนุน’ สิรภพ – ‘แดง ชินจัง’ อีกครั้ง ทั้งสองคนถูกขังยาวเกือบปีแล้ว

X