“แอมป์” กังวลสถานการณ์ย้ายเรือนจำ เล่าผู้ต้องขังทางการเมืองร่วมสะท้อนปัญหาต่อ รมต.ยุติธรรม-ผู้นำพรรคฝ่ายค้าน

เมื่อวันที่ 12 มี.ค. 2568 ทนายความเข้าเยี่ยม ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา หรือ “แอมป์” นักกิจกรรมวัย 30 ปี และผู้ต้องขังในคดีตามมาตรา 112 ซึ่งถูกคุมขังระหว่างฎีกามาตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 ธ.ค. 2567 หลังศาลอุทธรณ์พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น ให้จำคุก 1 ปี 7 เดือน คดีจากการปราศรัยในการชุมนุม #นับ1ถึงล้านคืนอำนาจให้ประชาชน บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 13 ก.พ. 2564   

บรรยากาศที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วันนี้ค่อนข้างคึกคัก มีญาติมาเยี่ยมผู้ต้องขังจำนวนมาก พบว่าเรือนจำมีการติดป้ายแนะนำให้ญาติไปตรวจเช็คเลขประจำตัวผู้ต้องขังที่เพิ่งย้ายมาก่อนจะมายื่นขอเยี่ยม  ขณะที่ในห้องเยี่ยมทนายความก็คึกคักไม่แพ้กัน มีทนายหลายคนมายืนอออยู่บริเวณข้าง ๆ ประตูห้องเยี่ยม เนื่องจากที่นั่งในห้องเยี่ยมเต็ม 

แอมป์นั่งรออยู่บนม้านั่งห้องเยี่ยมฝั่งของผู้ต้องขัง เมื่อมองเห็นกัน เรายิ้มทักทายกัน ก่อนยืนรอไม่นานนัก เก้าอี้นั่งเยี่ยมฝ่ายทนายความก็ว่างลง จึงได้เริ่มต้นบทสนทนา

.

ออกศาลบ่อย กำลังใจยังดี แต่กังวลเรื่องถูกย้ายเรือนจำ

แอมป์บอกว่าสองสัปดาห์นี้เขาต้องออกไปศาลหลายวัน ตั้งแต่ไปสืบพยานคดีชุมนุม #16ตุลาไปแยกปทุมวัน ที่ศาลแขวงปทุมวัน ซึ่งสืบพยานไปได้สองวัน และนัดสืบเพิ่มเติมอีก 1 นัด ในเดือนมิถุนายน 2568 นี้ ในวันศุกร์ที่แล้วและวันจันทร์นี้ ยังถูกนำตัวไปตรวจพยานหลักฐาน ในคดีมาตรา 112 อีก 2 คดี ทั้งที่ศาลจังหวัดธัญบุรี และศาลอาญากรุงเทพใต้ ซึ่งได้กำหนดนัดสืบพยานในช่วงกลางปีนี้เช่นกัน

เมื่อถามถึงสภาพจิตใจ แอมป์ยิ้ม ๆ แล้วบอกว่าจิตใจยังปกติ พลางบอกว่า “ช่วงที่ผ่านมาได้ออกศาลบ่อย แฟนกับแม่ก็ไปเจอ เลยรู้สึกได้พูดคุย ได้เจอคนในครอบครัว ก็ถือว่าสภาพจิตใจค่อนข้างโอเคเลย”

หากแต่ช่วงนี้ แอมป์ก็มีความกังวลในเรื่องสถานการณ์ย้ายเรือนจำของผู้ต้องขังพอสมควร ซึ่งเกิดขึ้นแทบทุกวัน และไม่รู้ว่าวันไหนจะเป็นคราวของใคร “ในนี้มันเอาแน่เอานอนไม่ได้เลย” แอมป์สะท้อน

.

ผู้ต้องขังทางการเมืองพบ รมต.ยุติธรรม – สส. พรรคประชาชน

แอมป์ยังเล่าว่าเมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีกระทรวงยุติธรรม พร้อมกับ สส. จากพรรคประชาชนหลายคน นำโดยณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ หัวหน้าพรรค ได้มาเยี่ยมเรือนจำ พร้อมได้พบกับผู้ต้องขังคดีทางการเมืองด้วย จึงมีโอกาสได้พูดคุยถึงสถานการณ์ของเรือนจำ ทั้งเรื่องการประท้วงอดอาหารของขนุน การเรียกร้องให้จัดสอบของก้อง รวมทั้งเรียกร้องความเป็นธรรมในกรณีการเสียชีวิตของบุ้งด้วย

แอมป์ยังได้สะท้อนกับรัฐมนตรีเกี่ยวกับสิทธิของผู้ต้องขังที่มีความหลากหลายทางเพศ เรื่องความเป็นอยู่ การเข้าถึงฮอร์โมน และสะท้อนเรื่องสาธารณสุขในเรือนจำ อยากให้ผู้ต้องขังเข้าถึงการรักษาได้ดีกว่านี้ และรวดเร็วกว่านี้  รวมถึงผู้ต้องขังคดีทางการเมืองคนอื่น ๆ ก็สะท้อนถึงประเด็นเวลาออกศาล ไม่อยากให้มีการใส่เครื่องพันธนาการ 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการพูดคุยถึงประเด็นเรื่องการคุมขังนอกเรือนจำ ซึ่งนักโทษการเมืองหลายคน เห็นว่าคดีของพวกเขาเป็น “ความผิดทางความคิด” ไม่ใช่คดีอาญาแบบการทำร้ายร่างกาย เรื่องยาเสพติด หรือเรื่องเพศ ถ้าเป็นไปได้ ก็ควรมีการพิจารณาให้อยู่ในนโยบายการคุมขังนอกเรือนจำด้วย

ส่วนเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมือง ก็ได้ฟังจาก สส. พรรคฝ่ายค้าน แต่ก็ยังไม่แน่ชัดนักว่าร่างกฎหมายจะเข้าสภาเมื่อไร หากเนิ่นช้าออกไป ปัญหาเรื่องผู้ต้องขังทางการเมืองก็จะยังคงอยู่ต่อไป

ในเรื่องสถานการณ์การย้ายตัวผู้ต้องขังจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปยังเรือนจำอื่น ๆ ก็ได้มีผู้สะท้อนไปว่า การเปลี่ยนแปลงนี้กระทบสิทธิของผู้ต้องขังหลายอย่าง เช่น ผู้ที่ถูกย้ายไปเรือนจำกลางบางขวาง ที่เดิมเป็นเรือนจำโทษสูง ก็พบว่ามีข้อจำกัดในการเยี่ยมญาติมากขึ้น ไม่มีระบบการส่งจดหมายแบบโดมิเมล์ การติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกก็ยากขึ้นด้วย 

แอมป์บอกอีกว่า “จริง ๆ ทวีก็มีพูดว่า ผู้ต้องขังเด็ดขาด คือไม่มีการอุทธรณ์-ฎีกา แล้ว ถึงแม้จะมีตัวเลขมาแล้ว แต่ถ้าอยู่ในระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาก็ยังถือว่าเป็น ‘นักโทษระหว่าง’ อยู่ ก็ไม่ควรปฏิบัติเหมือนกับเป็น ‘นักโทษเด็ดขาด’ ทวีพูดทำนองนี้ แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น คือมีบางคนที่โทษไม่กี่เดือนก็ถูกย้ายไปคลองเปรม หรือบางคนคดียังอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ก็ถูกย้ายไปบางขวาง ซึ่งผมก็ไม่รู้ว่าจะยังไงเหมือนกัน”

เมื่อถามถึงบรรยากาศการพูดคุยโดยรวม แอมป์บอกว่า “รู้สึกว่าเป็นการที่เขามาดูงาน เอาอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เอา ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ผบ.ทัณฑสถานหญิงกลาง เข้ามาคุย มีการส่งต่อไมค์เพื่อให้พูดคุย บรรยากาศก็ดูรับฟัง แต่ไม่รู้ว่าจะเกิดการแก้ปัญหา หรือขยับแค่ไหน เราก็ไม่มั่นใจ เพียงแต่ว่าเราก็สะท้อนทั้งปัญหาของผู้ต้องขังคดีทางการเมือง และปัญหาที่เกิดขึ้นทั่วไปในเรือนจำด้วย” 

.

ร่างกายยังไหว แต่รู้สึกหายใจไม่อิ่มในเรือนจำ

จากนั้น แอมป์ยังได้อัปเดตเรื่องการเยี่ยมญาติที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เอง ตอนนี้ก็เหมือนจะแตกต่างกันเดิม จากเดิมเยี่ยมได้ทุกวัน แต่ดูเหมือนจะเปลี่ยนให้เยี่ยมได้วันอังคาร พฤหัส และเสาร์ แต่ทนายความยังสามารถเยี่ยมได้ทุกวัน 

ก่อนสิ้นสุดการเยี่ยม เราอัปเดตถึงสุขภาพร่างกาย แอมป์แจ้งว่ายาความดันหมดมาตั้งแต่วันอาทิตย์ แต่วันจันทร์ออกศาล เมื่อวานก็ไม่ทันได้ลงชื่อ วันนี้เพิ่งลงชื่อขอพบหมอ น่าจะได้พบอีกทีช่วงวันศุกร์ ต้องรอดูว่าหมอจะประเมินอาการยังไง จะให้กินยาต่อหรือไม่ 

แอมป์บอกว่าตอนนี้ไม่ได้มีอาการหน้ามืด หรือเวียนหัว แตีมีเสมหะนิดหน่อย คิดว่าเพราะอากาศเปลี่ยนแปลงบ่อย เมื่อบทสนทนาเงียบลง ได้ยินเสียงหายใจของแอมป์ค่อนข้างแรง เมื่อทักเรื่องนี้ แอมป์หัวเราะ แล้วบอกว่าตั้งแต่เข้ามาอยู่ในนี้ เขารู้สึกหายใจไม่อิ่มตลอดเวลา ซึ่งพอถามกับผู้ต้องขังคนอื่น หรือเพื่อน ๆ ในแดน 4 ด้วยกัน ทุกคนก็รู้สึกคล้ายกัน อาจจะเพราะอากาศในนี้มันไม่ดี สภาพผู้คนค่อนข้างแออัด ก็ยังไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร ได้แต่ทำใจ แอมป์ทิ้งท้าย

.

จนถึงปัจจุบัน (13 มี.ค. 2568) แอมป์ ณวรรษ ถูกคุมขังระหว่างชั้นฎีกามาแล้ว 95 วัน โดยจากบทบาทจากการชุมนุมของคนรุ่นใหม่ในช่วงปี 2563-65 ทำให้เขาถูกดำเนินคดีรวม 20 คดี ขณะนี้สิ้นสุดไปแล้ว 8 คดี เขายังต้องต่อสู้อีกหลายคดีต่อไป

.

📩 สามารถเขียนจดหมายถึงแอมป์ได้ที่ “ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา แดน 4 เรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร เลขที่ 33 ถนนงามวงค์วาน แขวงลาดยาว เขตจตุจักร กรุงเทพฯ 10900”

📩 หรือเขียนจดหมายออนไลน์ผ่านโครงการ Free Ratsadon โดยแอมเนสตี้อินเตอร์เนชั่ลแนล

.

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

“ผมเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองและเป็นผู้ติดเชื้อ HIV” การเมือง ชีวิต ความหลากหลายทางเพศ และภาพสะท้อนการต่อสู้ในสายตาของ “แอมป์” ณวรรษ เลี้ยงวัฒนา

.

X