ตั้งแต่ช่วงปลายเดือน ก.ย. – ต้นเดือน ต.ค. 2567 ทนายความเข้าเยี่ยมผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ได้แก่ ‘อัญชัญ’ ผู้ต้องขังหญิงที่ถูกลงโทษสูงที่สุด บอกเล่าถึงการรักษาสุขภาพและใช้ชีวิตท่ามกลางกิจวัตรในเรือนจำ รวมถึงความต้องการหนังสือด้านโหราศาสตร์ที่ต้องการศึกษาอย่างจริงจัง
‘อาย’ กันต์ฤทัย ได้สนทนาหลายเรื่องกับทนายความ นอกจากอายจะต่อสู้เรื่องยารักษาอาการทางจิตใจของตัวเองแล้ว กฏเกณฑ์บางอย่างทั้งเรื่องการตัดผมโดยที่ยังไม่เป็นนักโทษเด็ดขาด หรือการต่อสู้กับอภิสิทธิ์ชนในเรือนจำ ที่อายกลายเป็นกระบอกเสียงให้ผู้ต้องขังอื่น ๆ ไปโดยปริยาย
ส่วน ‘มานี’ ต้องใช้ยารักษาอาการซึมเศร้าเช่นกัน โดยเมื่อยาหมด ต้องผ่านการสื่อสารหลายขั้นตอนกว่าจะนำยาจากแพทย์ที่เคยรักษาเข้าไปภายในได้ ก่อนหน้านั้นมานีก็มีภาวะเครียดสะสม และสุขภาพไม่ดีนัก
ด้าน ‘ขนุน’ ยังมีความหวังกับการยื่นขอประกันตัว โดยยังศึกษาความเป็นไปได้ของการร่างเนื้อหาไว้ประกอบคำร้องเสมอ ๆ ขณะที่ ‘ขุนแผน’ นอกจากได้รักษาวัณโรคต่อเนื่อง สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการสอบถามถึงแนวโน้มการขอประกันตัวและทิศทางความเป็นไปได้ว่าศาลจะอนุญาตหรือไม่
รวมทั้งยังมีเรื่องของ ‘เก็ท’ ที่ฝากข้อความกับทนายความออกมาแสดงความยินดีกับ “ลุงดร” ภราดร เกตุเผือก และ มณฑา แสงเปล่ง ผู้ได้รางวัลสิทธิมนุษยชนคนธรรมดา ที่มีการประกาศไปในงานรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา
.
อัญชัญ: ยังรอหนังสือโหราศาสตร์ อยากให้บริจาคหนังสือน่าอ่านเพื่อผู้ต้องขัง

วันที่ 24 ก.ย. 2567 อัญชัญออกมาพร้อมเสื้อแขนสั้นสีฟ้ากับเสื้อกั๊กสีน้ำเงิน เขียนชื่อเรือนนอน ‘เพทาย’ ตรงหน้าอก ผมที่หงอกถูกย้อมกลับเป็นสีดำแล้ว แต่สีหน้ายังดูเครียด ๆ ไม่สดใส วันนี้มีผู้ฝากการ์ดทำมือมาให้กำลังใจ ทนายแนบการ์ดกับกระจกให้อ่าน อัญชัญยิ้มกว้างระหว่างอ่านข้อความ สีหน้าเริ่มดีขึ้น พูดขอบคุณไม่ขาดปาก
เธอเล่าถึงชีวิตตนเองช่วงนี้ว่า “ไปหาหมอมาเมื่อวาน หมอก็ดีนะ บอกว่าป่วยเป็นอะไรก็เบิกยาให้ หมอบางคน ยังไม่ทันได้นั่งเก้าอี้ก็ไล่กลับละ” อัญชัญจะเรียกว่า ‘หมอ 3 วิ’ โดยที่นี่หมอจะนัด 3 เดือน ตรวจ 1 ครั้ง เพราะไม่ได้มีโรคที่ต้องตรวจทุกเดือน
เมื่อถามถึงอาการปวดฟัน อัญชัญบอกว่า ใช้เกลือกับสารส้มมากะเทาะกัน ทาแปรงสีฟันตอนแปรงฟัน ช่วยได้เยอะเลย ทำให้อาการดีขึ้น พอได้เคี้ยว แต่ก็ใช่ว่าจะเคี้ยวอะไรแข็ง ๆ ได้ ต้องกินอะไรที่นิ่ม ๆ เป็นหลัก เพราะไม่อยากถอนฟันเลยทำแบบนี้ไปก่อน
ในภาพรวมอัญชัญเล่าความรู้สึกว่า “เหนื่อย จำเจ เจอแต่เรื่องเดิม ๆ วันนี้ก็เสียงดัง คนเยอะ” การอยู่เรือนนอน มีกิจกรรมที่ทำวันหนึ่งก็ร้องเพลงชาติ กินข้าว โดยเธอพึ่งกองเลี้ยงมื้อเดียวเพราะอาหารกลางวันค่อนข้างแย่ ส่วนที่เหลือต้องซื้อกินเอง ตอนนี้เรือนจำอนุโลมให้คนสูงอายุเข้าร้านค้าก่อนได้ แต่เธอคิดว่าของที่ขายมีราคาค่อนข้างแพงเกินไป
ก่อนจะต้องมานั่งเบียดกันในกองงาน มีพื้นที่นั่งคนละ 4 กระเบื้อง ขนาดกระเบื้องเล็กกว่าในห้องเยี่ยมอีก ต้องรออยู่ตรงนั้น จนกว่าจะถึงเวลาอาบน้ำ “อาบน้ำตอนเย็น ๆ ถ้าคนเยอะก็ได้อาบน้ำ 10 ขัน 3 ขันแรกถูตัว ฟอกสบู่ คนที่อยู่ชั้นสูง ๆ เคยเจอแบบไม่มีน้ำจริง ๆ ก็เลยต้องเก็บน้ำขันสุดท้ายไว้เข้าห้องน้ำ”
ในช่วงวันจันทร์-ศุกร์ ยังขอออกมาห้องสมุดได้ “ตอนนี้ป้าอยากได้หนังสือโหราศาสตร์” เธอพูดทันทีหลังถามว่าต้องการอะไรเพิ่มเติมไหม “ได้ยินว่าตอนนี้บริจาคหนังสือได้แล้ว อยากให้ช่วยบริจาคเข้าห้องสมุดหน่อยลูก เขียนรายละเอียดมาว่ากี่เล่ม ๆ มีเรื่องอะไรบ้าง ในนี้ไม่มีให้อ่านเลย”
จนถึงปัจจุบัน (10 ต.ค. 2567) อัญชัญถูกคุมขังที่ทัณฑสถานหญิงกลางหลังศาลมีคำพิพากษามาแล้ว 3 ปี กับ 8 เดือน 23 วัน ก่อนหน้านั้นเธอถูกคุมขังระหว่างสอบสวนและพิจารณาคดีมาแล้ว 3 ปี 9 เดือน 3 วัน โดยโทษเต็มของเธอคือราว 43 ปี 6 เดือน แต่หลังการลดหย่อนโทษในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้เธอมีกำหนดพ้นโทษในวันที่ 24 ก.ย. 2574 หรืออีกเกือบ 7 ปีข้างหน้า
.
อาย กันต์ฤทัย: ยังต่อสู้หลาย ๆ เรื่องจากข้างใน ทั้งเพื่อตัวเองและผู้อื่น

วันที่ 26 ก.ย. 2567 ทนายความเยี่ยมอายในรอบเช้า จึงไม่ชนกับญาติที่มาเยี่ยมไปแล้ว มีเวลาคุยกันนานมากขึ้น เมื่อเจอหน้ากัน อายรีบบอกว่าครั้งก่อนที่ไม่ได้ออกมาเพราะติดช่วงอาบน้ำ ทนายบอกว่าเข้าใจ จริง ๆ มายื่นใบขอเข้าเยี่ยมตั้งแต่บ่ายโมง รอเป็นชั่วโมงแต่อายยังไม่ออกมา ก็ไม่ทราบว่าทำไมกระบวนการนานขนาดนั้น แต่ทุกครั้งที่ไปตามกับเจ้าหน้าที่ เขาจะบอกว่าเป็นปกติ
อายเริ่มพูดถึงความกังวลเรื่องยาต่อ เท่าที่รู้ มีการย้ายสิทธิบัตรทองของอายไปที่โรงพยาบาลราชทัณฑ์แล้ว โดยเป็นการดำเนินการต่อผู้ต้องขังทุกคน แต่ที่โรงพยาบาลนี้ไม่มียาจิตเวชที่อายใช้รักษาต่อเนื่องมา 6-7 ปี ค่ายาก่อนหน้าที่อยู่ข้างนอกค่อนข้างแพง ถ้าไม่มีสิทธิรักษาเลย จะเสียเงินต่อเดือนประมาณ 5,000-6,000 บาท เป็นยาที่มีคุณสมบัติหลายอย่าง
ก่อนหน้านี้เวลาไปพบแพทย์ หมอจะบอกเธอว่ายานี้ช่วยเรื่องอะไร และมีผลกระทบอย่างไรบ้าง แต่ยาในราชทัณฑ์ไม่มี อายไม่รู้ว่าเป็นยาอะไร ตอนนี้ยาเหลือทานได้อีกประมาณ 1-2 เดือน ยังไม่รู้ว่าจะได้ยาตัวเดิมจากที่เคยได้ภายนอกหรือไม่
อายเล่าอีกว่า หลังอยู่ที่นี่มา 1 เดือนแล้ว ผู้ช่วยแจ้งว่าเรือนจำอยากให้ตัดผม แม้เธอไม่อยากตัดเลย เพราะยังไม่ใช่นักโทษเด็ดขาด เธออยากให้ช่วยดูเรื่องกฏเกณฑ์การตัดผมในเรือนจำ แต่จะลองพูดคุยกันดูก่อน และเธอแจ้งว่าจะเขียนจดหมายเล่าเรื่องนี้ออกมาด้วย
เมื่อถามว่าตอนนี้เป็นยังไงบ้าง อายดูเศร้าทันที พูดอย่างคับแค้นใจว่า “ช่วงนี้ไม่โอเคค่ะ มันรอแล้ว ไม่ได้คำตอบ ไม่มีอะไรเป็นหลักให้อายและครอบครัวได้เลยสักอย่าง อายอยากมีความหวังว่าจะได้ประกันตัวออกไป อายพยายามเข้มแข็งไว้ พยายามให้มันนอนหลับได้ไปวัน ๆ”
อายบอกเรื่องราวที่เผชิญอีกว่า “ล่าสุดผ้าถุงหาย ต้องซื้อใหม่ทั้งชุด ที่นี่ของหายบ่อยจนท้อ ทุกอย่างดูสกปรก แต่เราก็พยายามรักษาความสะอาด กลัวจะเป็นกลากเกลื้อน เชื้อรา” ขณะที่ความเป็นอยู่อื่น ๆ อายเล่าว่า “ผ้าอนามัยต้องซื้อ ในเรือนจำไม่มีแจก ของสิ่งแรกที่ได้จากเรือนจำ คือแปรงสีฟัน ผงซักฟอก ชุดหลวงมือสอง 2 ตัว ชุดนอนมือสอง 2 ชุด เสื้อในจะได้มือ 1 มือ 2 ก็แล้วแต่ดวง กางเกงในตัวละ 10 บาท ของกินก็แพง ข้าวเปล่าถุงละ 12-15 บาท แกงถุงละ 50 บาท ลาบน้ำตกถุงละ 100 บาท ปริมาณน้อย ทุกคนต้องแย่งกันซื้อ ถ้าจะกินข้าวหลวงก็ต้องรีบกิน ถ้าไม่ทันก็ไม่ต้องกิน ซักผ้าใช้น้ำได้ถังเดียว”
ส่วนกฏเกณฑ์อื่น ๆ เธอเล่าว่า “มีกฎห้ามใส่ชุดชั้นในนอน เอาน้ำขึ้นห้องไปได้ขวดเดียว ยาดมยาหม่องต้องป้ายฝาขวดน้ำขึ้นไป ทิชชู่เอาไปได้ 10 แผ่น ถ้าเป็นเมนส์ถึงจะใส่กางเกงในได้ แต่บางคนก็จะถูกจับก้นเพื่อดูว่าใส่ผ้าอนามัยอยู่จริงไหม เอาผ้าอนามัยขึ้นไปได้ แต่ต้องแกะให้เค้าดูก่อนว่าเป็นผ้าอนามัยจริง ๆ คิดว่าน่าจะเป็นกฎของทุกแดนนะ”
ก่อนอธิบายอีกปัญหาสำคัญ คือเรื่องอาบน้ำ “คุณจะเป็นเมนส์ หรือคุณจะตัวใหญ่แค่ไหน ก็ได้อาบน้ำแค่ 10 ขันเท่ากัน จะมีผู้ช่วยนับขันอาบน้ำ อายเคยถามว่าแล้วคนที่อ้วนมาก ๆ จะทำยังไง ผู้ช่วยก็บอกว่า มันเป็นปัญหาของเขาเอง”
นอกจากนั้นยังมีเรื่องยารักษาโรค “มันแย่จริง ๆ มีเพื่อนอายเป็นไข้ตอนกลางคืน ตอนเช้าไปหาหมอ โต๊ะยาบอกให้มากินยาตอนเย็น แล้วก็ได้กินอีกรอบตอนเช้า มีให้กินแค่ยาพาราฯ ยาแก้แพ้ ขนาดเป็นไข้ตอนกลางคืนแล้วได้กินยาตอนเย็นของอีกวัน ปวดฟันก็ยังไม่ได้ถอน ต้องลงชื่อรอกันนานมาก”
วันที่ 30 ก.ย. 2567 ทนายไปยื่นใบแต่งตอน 10.15 น. รอมากกว่า 1 ชั่วโมงแล้วยังไม่ได้เจอ จนตามอยู่ 3 รอบ เจ้าหน้าที่ก็บอกว่าไม่มีอะไร ข้างในปกติดี จนเวลาประมาณ 11.45 น. อายถึงได้ออกมาเจอ ซึ่งเหลือเวลาคุยแค่ 15 นาที ก่อนที่ผู้ต้องขังต้องพักกินข้าวกลางวัน
อายบอกว่าที่ออกมาช้าเพราะมีคนมาเยี่ยม อายอัปเดตเรื่องบังคับตัดผมให้ฟังต่อว่า “คุยกับเจ้าหน้าที่เรือนนอนแล้วว่าทำไมต้องตัดผมและย้อมผม มันละเมิดสิทธิส่วนบุคคลเกินไป เขาก็บอกว่าหนูไม่ต้องตัดเพราะไม่ใช่นักโทษเด็ดขาด”
ก่อนจะเล่าว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ตอนที่รอผู้ต้องขังคนอื่น ๆ เก็บของเข้าล็อกเกอร์ อายทะเลาะกับคนจีน เขาเดินมาชนแรงแบบกระเด็นเลย อายพูดขอโทษโดยอัตโนมัติ แต่ฝั่งนั้นไม่ได้ขอโทษกลับ พวกนี้เป็นอภิสิทธิ์ชนในเรือนจำ ไม่รู้ว่าติดคุกคดีอะไร เขาพูดประมาณว่าใครชนมึง ทะเลาะกันจนพี่เลี้ยงมาแยก มีพัศดีมาคุย ขอให้เลิกแล้วต่อกัน
อายพูดถึงสถานการณ์ข้างในเรือนจำอีกว่า ผู้ช่วยเสื้อฟ้าก็มีอภิสิทธิ์กว่าคนอื่น ชอบแทรกแถวเข้าร้านค้าสวัสดิการ คนที่ต่อแถวหลัง ๆ บางทีพอเข้าไปก็ไม่มีอะไรกินแล้ว แม้แต่น้ำเย็นก็ไม่มี เพราะคนที่ได้เข้าก่อนก็เลือกหยิบอะไรดี ๆ ไปหมด อายก็ถามว่าทำไมไม่เข้าแถวกัน ทำไมถึงมีอภิสิทธิ์มากกว่า ไม่งั้นอายจะไปถามหัวหน้าฝ่ายปกครอง จากนั้น 2 วันต่อมา เท่าที่สังเกตพวกผู้ช่วยก็เข้าแถวกันหมดทุกคน ร้านค้าก็บอกให้ทุกคนเข้าแถว
“คนในเรือนจำก็แบบว่าอายทำได้ขนาดนี้เลยเหรอ อายบอกว่าอายไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ทำไมพวกพี่ไม่กล้าพูดกัน มันเป็นเรื่องของกฎระเบียบ ถ้าเรายอม เราก็จะถูกเอาเปรียบไปเรื่อย ๆ” อายพูดได้ถึงตรงนี้ ไฟในห้องเยี่ยมก็ดับลง จึงได้บอกลากัน
ปัจจุบัน (10 ต.ค. 2567) อายถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 1 เดือน กับ 15 วัน
.
มานี: หยุดยารักษาอาการทางจิตใจไประยะหนึ่ง อาการแย่ลง ก่อนได้รับยาจากหมอข้างนอกที่เคยรักษา

วันที่ 2 ต.ค. 2567 ที่ทัณฑสถานหญิงกลาง ทนายเข้าเยี่ยม “มานี” เธอมานั่งรออยู่ก่อนแล้ว ก่อนเปิดบทสนทนาเรื่องอาการของเธอ เล่าว่าเธอได้หยุดทานยาของทางโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไปตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว เพราะทนไม่ไหวกับอาการข้างเคียงที่ได้รับจากยา และไม่ไว้ใจตัวยา
เธอบอกว่าการใช้ยาและไม่ใช้ยาดังกล่าว แย่ไปคนละแบบ โดยสรุปอาการของมานีก่อนและหลังการหยุดยา มีดังนี้ อาการขณะที่ทานยาของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ มีอาการซึม เบลอ นอนไม่หลับ ไม่อยากอาหาร ทรงตัวไม่ค่อยได้ เดินเซ แพนิค โดยเฉพาะอาการซึมและเบลอที่มีอาการหนักขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้ตัดสินใจหยุดยา
ส่วนอาการหลังจากหยุด จะอารมณ์แปรปรวน เศร้าและดิ่งได้ง่ายกว่าเดิม นอนไม่หลับ คลื่นไส้ หัวใจเต้นเร็วเวลาอยู่ในสถานที่ที่แออัด คนพลุกพล่าน ไม่สามารถทำกิจกรรมในเรือนจำได้ ทั้งมีภาวะการคิดทำร้ายตัวเองที่สูงขึ้น
ทั้งนี้ทางญาติทำเรื่องส่งยามาให้แล้ว ตั้งแต่วันที่ 30 ก.ย. 2567 แต่ยังไม่ได้รับ เนื่องจากต้องรอได้รับการรับรองจากแพทย์จิตเวชที่เคยจ่ายยาให้กับผู้ป่วยเสียก่อน และการเข้าพบจิตแพทย์สามารถเข้าพบได้สัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยจิตแพทย์จะมีเวรที่ไม่แน่นอน เวียนกันไปแต่ละสัปดาห์
จนวันที่ 9 ต.ค. 2567 ทนายอัปเดตว่า จากเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2567 สามีของมานีได้ไปซื้อยาตามเวชระเบียนผู้ป่วยของมานีที่โรงพยาบาลราชวิถี เพื่อดำเนินการส่งให้เธอระหว่างคุมขัง ต่อมาวันที่ 7 ต.ค. 2567 แพทย์ของโรงพยาบาลราชทัณฑ์ได้เข้าพบมานีและจ่ายยาที่ได้รับจากสามีให้ โดยจ่ายทั้งหมดตามที่ได้รับมาเป็นปริมาณที่สามารถรับประทานได้ 180 วัน
เมื่อได้รับยาที่เคยได้กินก่อนถูกคุมขัง ความเครียดและความกังวลได้ลดลงไปบางส่วน กินข้าวนอนหลับปกติขึ้น แต่ยังมีความกังวลเรื่องการรักษาโรคที่เกิดขึ้นในเรือนจำทั่วไปที่เป็นเพียงการจ่ายยาตามอาการโดยไม่ได้พบหมอ
ถึงปัจจุบัน (10 ต.ค. 2567) มานีถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 85 วัน
.
ขนุน: ยังคงวางแผนยื่นประกันตัว มีหนทางไหนบ้างก็จะพยายามสู้

วันที่ 30 ก.ย. และ 3 ต.ค. 2567 “ขนุน” สิรภพ กล่าวทักทายก่อนถามถึงสถานการณ์ข้างนอก ทั้งเรื่องสถานการณ์น้ำท่วม และข่าวสารทางการเมือง โดยขนุนฝากหาบันทึกการประชุมของกรรมาธิการนิรโทษกรรม และคำกล่าวของประธานศาลฎีกาเกี่ยวกับการประกันตัว เพราะเขายังคงวางแผนเรื่องการเขียนประกอบคำร้องขอประกันตัวครั้งถัดไป จึงอยากได้ข้อมูลหลายอย่างประกอบ หลังจากยื่นประกันตัวไปในช่วงปลายเดือนกันยายนอีกครั้ง หลังจากได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาแล้ว แต่ศาลอุทธรณ์ก็ยังปฏิเสธคำสั่งเช่นเดิม โดยเขาคิดว่าน่าจะลองยื่นอุทธรณ์คำสั่งดังกล่าว
ขนุนยังฝากไว้ว่าหากนิทรรศการ ซ่อน(ไม่)หา(ย) (Presumption of Innocence) ของ KINJAI CONTEMPORARY ที่เคยมาสัมภาษณ์เขาแล้วจัดงานในเดือนตุลาคมนี้ สามารถส่งรูปภาพทั้งจากนิทรรศการและกิจกรรมเข้ามาให้ดูได้ ก็จะดีมาก
ถึงปัจจุบัน (10 ต.ค. 2567) ขนุนถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 200 วัน
.
ขุนแผน: ยังรักษาวัณโรคเหมือนเคย และอยากรู้แนวโน้มการขอประกันตัว

วันที่ 4 ต.ค. 2567 ทนายความเยี่ยม “ขุนแผน” ผ่านทางโทรศัพท์ของแดน 8 โดยไม่มีจอภาพ ทำให้ไม่ได้เห็นหน้ากัน และจุดที่นั่งคุยโทรศัพท์ให้แดน 8 ค่อนข้างเสียงดัง ทำให้ฝั่งขุนแผนได้ยินเสียงไม่ชัด ต้องใช้เวลาในการพูดคุยแต่ละเรื่องนานกว่าปกติ เพราะต้องคุยช้า ๆ ชัด ๆ
ขุนแผนเล่าว่า สุขภาพยังโอเคดี มีปัญหาเดียวคืออาการคันตามตัว ยาทาหมดอีกแล้ว วันก่อนฝากเพื่อนไปขอจากแดนพยาบาลมา ได้มาหลอดเล็ก 3-4 วันก็ใช้หมด ฝากเพื่อนที่มาเยี่ยมให้โทรหาพี่สาว ให้ช่วยฝากยาเข้ามาให้ ไม่รู้ว่าจะได้ไหม เพราะมันไม่ใช่ยาที่ได้จากโรงพยาบาล โดยปกติเจ้าหน้าที่เรือนจำบอกว่าถ้าจะฝากยาเข้าไป จะต้องมีใบจ่ายยาจากแพทย์และประวัติการรักษาแนบเข้าไปพร้อมด้วย
ขุนแผนเล่าอีกว่า ยากินที่รักษาวัณโรค ก็ไม่รู้ต้องยังไงต่อ เพราะเขาจ่ายยามารายวัน ก็กินเรื่อย ๆ แต่ถ้ายึดตามที่หมอข้างนอกบอก คือกินยาถึงวันที่ 8 ต.ค. 2567 แล้วไปตรวจ “ผมคิดว่าถ้ายังไม่หาย ก็ไม่เป็นไร ก็มีข้อดีคือเราจะได้อยู่ห้องกักโรค (ห้องพักฟื้น) คือห้องที่อยู่นี้มันกักผู้ป่วยที่ไม่ได้อยู่ในระยะแพร่เชื้อได้แล้วไว้” ตอนนี้คนยิ่งน้อยกว่าเดิมทั้งห้องเหลือ 18 คน ถ้าห้องอื่นคือจะ 30-40 คน ขึ้นไปทั้งนั้น ก็จะเบียด ๆ หน่อย แถมตอนนี้แดน 8 มีผู้ต้องขังเกินมา 80 กว่าคนแล้ว ยิ่งเบียดเสียดกัน
ขุนแผนกล่าวถึงคดีที่อยู่ระหว่างการอุทธรณ์ แต่ตอนนี้ไม่รู้สถานการณ์เป็นไงบ้าง อยากรู้ด้วยว่าการประกันตัวมีแนวโน้มอย่างไร กับกิจวัตรข้างใน ก็ไม่มีข่าวสารอะไรให้ดู อย่างทีวีเปิดแค่หนัง ซีรีย์ ละคร เพลงบ้าง ตอนนี้น่าจะเป็นหนังจีน ทุกแดนจะฉายเหมือน ๆ กัน ต่อสายเคเบิลเดียวกัน “ถ้าเราจะรู้ข่าวสารก็ต้องมาจากคนที่มาเยี่ยมเท่านั้น”
ปัจจุบัน (10 ต.ค. 2567) “ขุนแผน” หรือ เชน ชีวอบัญชา ถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 85 วัน
.
เก็ท โสภณ: ฝากยินดีรางวัลสิทธิมนุษยชนคนธรรมดา ขอให้ได้รู้ว่ายังมีมิตรสหายเคียงข้างการต่อสู้

วันที่ 9 ต.ค. 2567 “เก็ท” โสภณ ส่งข้อความผ่านทางทนายความว่า ขอแสดงความยินดีกับผู้ที่ได้รับรางวัลสิทธิมนุษยชนคนธรรมดา เนื่องในโอกาสครบรอบ 48 ปี เหตุการณ์ 6 ตุลา ทั้งสองท่าน ทั้ง “ลุงดร” และ “ป้ามล” รางวัลนี้ถูกสร้างเพื่อมอบเป็นกำลังใจให้กับสามัญชนทุกคนที่ยืนหยัดต่อสู้เพื่อความเสมอภาคในสังคม สังคมนี้ไม่ได้ต้องการเพียงวีรบุรุษไม่ได้ต้องการเพียงคนที่เก่งที่สุด ฉลาดที่สุด
“เราต้องการคนธรรมดาที่กล้าพูดถึงปัญหาที่ตนและเพื่อนร่วมสังคมกำลังเผชิญ เมื่อเราเจอปัญหา เราอาจหาวิธีแก้ไขปัญหาไม่ได้ หรือแม้รู้วิธีการแก้ปัญหา อาจดำเนินการไม่ได้ด้วยตัวคนเดียว แต่หากเราเปล่งเสียงออกมาให้สาธารณชนได้ทราบ เราจะมีคนร่วมขบคิดหาวิธี และร่วมแรงร่วมใจแก้ปัญหานั้นได้
“ผมไม่หวังให้รางวัลนี้เป็นรางวัลส่งเสริมเรื่องการบูชาตัวบุคคล แต่ปรารถนาอย่างสุดใจให้รางวัลนี้เป็นการสื่อสารและเป็นกำลังใจต่อสามัญชนทุกคนว่า เมื่อคุณสู้ คุณอาจพบแรงปะทะ แรงเสียดทาน อาจถูกใครหลายคนมองว่าเป็นตัวประหลาด บางครั้งอาจรู้สึกโดดเดี่ยว แต่ขอให้รู้ว่าคุณไม่ได้อยู่คนเดียวยังมีมิตรสหายที่มีอุดมการณ์เดียวกันกับคุณมีความปรารถนาดีต่อสังคมเดียวกับคุณ คอยยืนเคียงข้างและประคับประคองคุณอยู่เสมอ
“รางวัลนี้เป็นของประชาชนคนใดคนหนึ่งที่ได้ลุกขึ้นสู้เพื่อประชาธิปไตยและความเท่าเทียม ของประชาชนคอยปกป้องดูแลกัน เพื่อสร้างสังคมที่ถูกปกครองโดยประชาชนเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง ยินดีกับป้ามลและลุงดรมาก ๆ ครับ”
ปัจจุบัน (10 ต.ค. 2567) เป็นระยะเวลา 1 ปี กับอีก 1 เดือน 17 วัน แล้วที่ “เก็ท โสภณ” ถูกคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จากกรณีปราศรัยในการชุมนุม #ทัวร์มูล่าผัว ต่อมาเก็ทยังถูกศาลอาญาธนบุรีพิพากษาลงโทษจำคุกอีก 3 ปี ในคดีปราศรัยในกิจกรรม “ฟื้นฝอยหาตะเข็บ 240 ปี ใครฆ่าพระเจ้าตาก” ทำให้รวมโทษจำคุกของเขาอยู่ที่ 6 ปี 6 เดือน
เก็ทกำลังรอคอยฟังพิพากษาคดีมาตรา 112 ในอีก 1 คดี ได้แก่ คดีปราศรัยเนื่องในวันแรงงานสากล เมื่อวันที่ 1 พ.ค. 2565 ซึ่งศาลอาญากำหนดนัดหมายในวันที่ 29 ต.ค. 2567
.
ย้อนอ่านบันทึกเยี่ยม
บันทึกเยี่ยม 6 ผู้ต้องขังคดี ‘112’: ต่างมีคนที่รออยู่ หวังว่าคงได้ออกไปพบกันอีก