จำคุก 6 ปี ลดเหลือ 4 ปี “นุ้ย – อาเล็ก” เหตุร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ใน #ม็อบ23สิงหา65 ก่อนให้รอลงอาญา

วันที่ 9 พ.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลอาญา รัชดาฯ นัดฟังคำพิพากษา ในคดีของ วรัณยา แซ่ง้อ หรือ “นุ้ย” (จำเลยที่ 1) และ โชคดี ร่มพฤกษ์ หรือ “อาเล็ก” (จำเลยที่ 2) เหตุที่มีการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่า ร.8” ในระหว่างกิจกรรมเดินขับไล่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ครบ 8 ปี บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565  โดยทั้งสองถูกฟ้องในข้อหาตาม มาตรา 112 และวรัณยามีความผิดเพิ่มเติมตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

ศาลมีคำพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตาม มาตรา 112 จำเลยที่ 1 มีความผิดเพิ่มเติมในข้อหา พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จำคุกจำเลยทั้งสองคนละ 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษหนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 ปี 

เนื่องจากจำเลยทั้งสองเข้าสู่วัยชราภาพ มีสภาพดำรงชีพที่มีความลำบากทุกข์ยาก ประกอบกับคำแถลงประกอบคำรับสารภาพและสาบานตนว่าจะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันใดในลักษณะเช่นเดียวกันนี้อีก จึงให้รอการลงโทษ 2 ปี คุมความประพฤติ 1 ปี ให้รายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และทำกิจกรรมบริการสังคมไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง

.

ย้อนกลับไปในวันที่ 1 ก.ย. 2565 เวลาประมาณ 19.30 น. หลังเสร็จสิ้นกิจกรรม “ปล่อยเพื่อนเรา” บริเวณ หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ วรัณยาถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมในข้อหาตาม มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากเหตุในคดีนี้ ซึ่งการเข้าจับกุมเกิดขึ้นหลังศาลอาญาออกหมายจับได้เพียง 1 วัน โดยได้รับการประกันตัวระหว่างการสอบสวน

ตำรวจกล่าวหาว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 วรัณยากับพวกได้จัดกิจกรรมร้องเพลงเล่นดนตรีบริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ หลังป้ายรถเมล์ใต้สกายวอล์ค โดยมีการไลฟ์สดผ่านช่องยูทูป “ศักดินาเสื้อแดง” ให้บุคคลทั่วไปสามารถเข้าดูได้ โดยมีเนื้อเพลงลักษณะเสียดสีใส่ร้ายทางการเมือง และสถาบันพระมหากษัตริย์ ได้แก่ เพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และ “ใครฆ่าร.8” ของวงไฟเย็น

ต่อมาวันที่ 3 มี.ค. 2566 โชคดีได้เดินทางเข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พญาไท หลังจากตำรวจติดต่อให้เข้ารับทราบข้อกล่าวหา โดยพบว่าตนเองถูกกล่าวหาจากการเป็นผู้เล่นกีตาร์ให้ร้องเพลงดังกล่าว

ในทั้งสองคดีนี้มี อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ “เต้” สมาชิกกลุ่มอาชีวะปกป้องสถาบันฯ เป็นผู้ร้องทุกข์กล่าวโทษ

ต่อมาในวันที่ 24 พ.ย. 2565 และ 26 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องทั้งสองคน ต่อศาลอาญา ตามลำดับ กล่าวหาว่าทั้งสองคนได้ร่วมกันร้องเพลง เล่นดนตรี และเต้นรํา โดยมีการถอดความเนื้อเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และเพลง “ใครฆ่า ร.8” บางส่วนมาประกอบการบรรยายฟ้อง โดยวรัณยาและโชคดีได้รับการประกันตัวในระหว่างพิจารณาคดีตลอดมา

ต่อมา อัยการได้ขอรวมการพิจารณาคดีทั้งสองนี้เข้าด้วยกัน และหลังจากเริ่มการสืบพยานโจทก์ไปได้ 2 นัด ในนัดวันที่ 15 มี.ค. 2567 ทั้งสองคนได้กลับคำให้การเป็นรับสารภาพตามข้อกล่าวหา ศาลจึงสั่งให้สืบเสาะพฤติการณ์จำเลยประกอบการจัดทำคำพิพากษาต่อไป

.

วันที่ 9 พ.ค. 2567 ณ ห้องพิจารณาคดีที่ 907 วรัณยาและโชคดีเดินทางมาศาลด้วยสีหน้าแจ่มใส พร้อมด้วยเพื่อน ประชาชน และสื่ออิสระ ร่วม 15 คน ที่มารอให้กำลังใจ หรือมาร่วมติดตามฟังคำพิพากษา  ก่อนที่จะมีเจ้าหน้าที่ศาลแจ้งว่ามีการเปลี่ยนแปลงห้องในการอ่านคำพิพากษาเป็นห้องพิจารณาคดีที่ 908

เวลาประมาณ 9.45 น. ศาลออกนั่งบัลลังก์ และมีการพูดคุยกับจำเลยทั้งสองว่า ภายหลังจากการรับสารภาพ จำเลยทั้งสองมีความรู้สึกสำนึกผิดหรือไม่ อย่างไร ก่อนโชคดีตอบคำถามว่า ตนมีความสำนึกผิดในการกระทำแล้ว และจะไม่กระทำความผิดซ้ำกับการกระทำที่ผ่านมา ซึ่งวรัณยาตอบคำถามในทำนองเดียวกัน ว่าสำนึกในการกระทำ และจะไม่กระทำความผิดซ้ำอีก

ก่อนศาลอ่านคำพิพากษา บริเวณเหนือบัลลังก์ที่มีรูปพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 ประดับอยู่ เมื่อศาลเห็นว่าจำเลยทั้งสองสำนึกผิด จึงให้สาบานตนต่อหน้ารูปพระบรมฉายาลักษณ์ ทีละคนในคอกพยานว่าข้าพเจ้าสำนึกในการกระทำความผิดว่า หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ ให้เป็นที่ระคายเบื้องพระยุคลบาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และให้สัตย์ปฏิญาณว่า จะจงรักภักดีและเทิดทูนไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ และจะไม่กลับไปกระทำการ หรือเข้าร่วมกิจกรรมใด ๆ ที่มิบังควรไม่ว่าทางตรง หรือทางอ้อม หากไม่ปฏิบัติตามขอให้พบกับความวิบัติ อย่าให้มีความสุขสวัสดิ์” พร้อมทั้งลงนามในเอกสารสาบานตน

จากนั้น ศาลจึงเริ่มอ่านคำพิพากษา สามารถสรุปใจความสำคัญในส่วนของคำวินิจฉัยได้ดังนี้

เห็นว่า จำเลยทั้งสองมีความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประกอบมาตรา 83 (ร่วมกันกระทำความผิด) โดยจำเลยที่ 1 (วรัณยา) มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ด้วย เป็นการกระทำความผิดกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษฐานร่วมกัน หมิ่นประมาท ดูหมิ่น อาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ตามมาตรา 112 อันเป็นบทหนักสุด ลงโทษจำคุกคนละ 6 ปี จำเลยให้การรับสารภาพหลังสืบพยานโจทก์ มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุกคนละ 4 ปี

พิเคราะห์คำฟ้องและรายงานการสืบเสาะแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ได้เป็นผู้นำ หรือผู้จัดกิจกรรม และไม่พบว่ามีการกระทำเข้าร่วมกับกลุ่มผู้กระทำความผิดในลักษณะเดียวกันอีกภายหลังการปล่อยตัวชั่วคราว โดยในอีกคดีหนึ่งของจำเลยที่ 2 ก็เป็นการกระทำในวันเดียวกันกับคดีนี้ จำเลยทั้งสองประกอบอาชีพสุจริต มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และมีภาระหน้าที่ตามปุถุชนคนทั่วไป

จากประวัติที่ผ่านมาจำเลยทั้งสองได้มีส่วนร่วมในการทำงานช่วยเหลือราชการอันเป็นประโยชน์สาธารณะต่อสังคม และกิจกรรมก็เป็นโครงการในพระราชดำริของสถาบันพระมหากษัตริย์

ปัจจุบัน จำเลยทั้งสองเข้าสู่วัยชรา โดยจำเลยที่ 1 เป็นหญิงมีภาระที่ต้องอุปการะมารดาซึ่งเป็นบุคคลชราภาพ ส่วนจำเลยที่ 2 แพทย์มีความเห็นว่า การมองเห็นของจำเลยอยู่ในระดับตาบอดถาวรทั้งสองข้าง

ตามคำแถลงประกอบคำรับสารภาพและคำสาบานต่อหน้าศาล จำเลยทั้งสองได้ตระหนักแล้วว่าการกระทำของตนเป็นการมิบังควร ทั้งสำนึกในการกระทำความผิด ขอกลับตัวเป็นพลเมืองดี ยึดมั่นและเทิดทูนในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และให้คำมั่นสัญญาและสาบานว่า จะไม่เกี่ยวข้องกับการกระทำอันใดที่มีลักษณะเช่นเดียวกับคดีนี้อีก

จากพฤติการณ์จึงเชื่อได้ว่า จำเลยทั้งสองเป็นคนหลงผิด ภายหลังได้เข้าใจในข้อความจริงอย่างถ่องแท้แล้วไม่ได้หวนกระทำความผิดอีก จำเลยทั้งสองเคยทำประโยชน์ต่อสังคมและมีสภาพการดำรงชีพมีความทุกข์ยากลำเค็ญ นับว่ายังมีคุณงามความดีต่อประเทศชาติ และมีข้อให้น่าเห็นใจอันเป็นเหตุให้ควรปราณีอยู่บ้าง ประกอบกับนิสัยและความประพฤติอื่นไม่พบข้อเสื่อมเสียที่ร้ายแรงประการอื่นใดอีก น่าจะอยู่ในวิสัยที่จะแก้ไขปรับปรุงให้ดีขึ้นได้ ควรให้โอกาสจำเลยทั้งสองกลับตัวกลับใจเป็นพสกนิกรที่ดี มีแนวคิดยึดมั่นและศรัทธาในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และพระมหากษัตริย์ที่เป็นสถาบันหลักในการปกครอง โดยนำวิธีการคุมความประพฤติมาใช้บังคับสักครั้งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม 

โทษจำคุกจึงให้รอการลงโทษ 2 ปี คุมความประพฤติ 1 ปี พร้อมให้ไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือน และให้ทำกิจกรรมบริการสาธารณะไม่น้อยกว่า 24 ชั่วโมง ตามที่พนักงานคุมประพฤติเห็นสมควร

ส่วนที่โจทก์มีคำร้องขอให้มีการนับโทษต่อจากคดีอื่นของจำเลย เนื่องจากคดีนี้และคดีดังกล่าว ศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุก คำขอในส่วนนี้จึงให้ยก

ผู้พิพากษาที่ทำคำพิพากษาในคดีนี้ ได้แก่ วัฒนา ชัยรัตน์ และ สุรเดช ยิ้มเกิด

หลังการอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ศาลได้มีการพูดคุยกับจำเลยทั้งสอง โดยศาลเชื่อว่า จำเลยทั้งสองสำนึกผิดจริง กลับตัวกลับใจเป็นพลเมืองที่ดี และพสกนิกรที่ดีของพระมหากษัตริย์ และหวังว่าจะไม่หวนกระทำความผิดซ้ำอีก พร้อมเน้นย้ำกับจำเลยทั้งสอง ถึงเงื่อนไขในระหว่างรอการลงโทษ หากมีการกระทำผิดอีก

.

ทั้งนี้ โชคดียังมีคดีตามมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีจากการเล่นกีต้าร์และร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านยูทูป ในกิจกรรมวันที่ 23 ส.ค. 2565 เช่นเดียวกันกับคดีนี้ แต่เป็นกรณีการร้องเพลงระหว่างกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในช่วงหัวค่ำ หลังจากกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเสร็จสิ้นแล้ว ซึ่งศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 13 พ.ค. นี้ โดยเขากลับคำให้การเป็นรับสารภาพเช่นเดียวกัน

ส่วนวรัณยามีคดีตามมาตรา 112 อีกหนึ่งคดีกับพวกรวม 8 คน จากการไปไลฟ์สดกิจกรรมทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 ก.พ. 2565 ซึ่งจะมีนัดสืบพยานโจทก์ต่อที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ในวันที่ 20, 27 พ.ค. นี้


จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน คดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 ในยุคหลังปี 2563 คดีแรกที่ศาลลงโทษจำคุกกระทงลง 6 ปี ก่อนลดหย่อนโทษลงและให้รอลงอาญา หลังจากก่อนหน้านี้โดยมากในคดีที่มีคำพิพากษาออกมา ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี เป็นหลัก แต่ก็มีคดีที่พิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 4 และ 5 ปีด้วย โดยมาตรา 112 กำหนดโทษจำคุกไว้ขั้นต่ำ 3 ปี และสูงสุดถึง 15 ปี อัตราโทษที่ศาลลงยังมีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงไปมาตามนโยบายและบริบททางการเมืองอีกด้วย

.

ย้อนอ่านบทสัมภาษณ์โชคดี

แม้ต้องจองจำแต่ศิลปินยังอิสระ บทเพลงเพื่อราษฎรของ ‘อาเล็ก’ ผู้รอฟังคำพิพากษาคดี ‘112’  

X