วันที่ 9 พ.ค. 2567 “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ ศิลปินอิสระ วัย 55 ปี จะเดินทางไปศาลอาญา เพื่อฟังคำพิพากษาในคดีที่ถูกฟ้องในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ‘112’ กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เล่นกีตาร์ให้ร้องเพลงของวงไฟเย็น บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ในกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในโอกาสครบรอบ 8 ปี การดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565
คำฟ้องระบุว่าการร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” มีเนื้อหาใส่ร้ายป้ายสี หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อองค์พระมหากษัตริย์ คือ พระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 และรัชกาลที่ 10 โดยในการสอบคำให้การในชั้นศาล อาเล็กตัดสินใจให้การรับสารภาพ
นอกจากคดีนี้ อาเล็กยังถูกฟ้องเป็นคดี 112 จากกิจกรรมวันเดียวกัน หากเป็นกรณีร้องเพลงระหว่างกิจกรรมที่หน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล หลังจากกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเสร็จสิ้น เป็นอีกครั้งที่อาเล็กให้การรับสารภาพ และศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาต่อเนื่องไปในวันที่ 13 พ.ค. 2567
“การใช้เสียงเพลงร้องถึงเขาเป็นการชี้ให้เห็นว่าเราสู้ในเรื่องปัญหาโครงสร้างของอำนาจ เราไม่ได้เกลียดชังสถาบันกษัตริย์ เราเกลียดชังโครงสร้างอำนาจ” ผู้แทนตนว่าศิลปินเพื่อราษฎรกล่าวไว้ตอนหนึ่ง
จากชีวิตบ้านเกิดที่ อ.ท่าศาลา จ.นครศรีธรรมราช ก่อนไปเติบโตที่ จ.สุราษฎร์ธานี อาเล็กมีความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กอยากจะเป็นศิลปินออกเทป
“หลังจากเห็น แสงสุรีย์ รุ่งโรจน์ มาเล่นคอนเสิร์ตในวัด เรามีความฝันว่า สักวันจะต้องโด่งดังและเอาวงดนตรีของตัวเองมาเล่นในวัดนี้ให้ได้” จากนั้นจึงเริ่มฝึกเล่นกีต้าร์ ไม่นานก็เริ่มออกรับงานเล่นดนตรีเพราะไม่ได้ศึกษาต่อหลังจบประถมศึกษาปีที่ 6 ด้วยโรคต้อหิน ซึ่งติดตัวมาแต่กำเนิดส่งผลกระทบต่อการมองเห็น การเรียน เขียน อ่าน
ก่อนในวัยหนุ่มที่ค่อย ๆ สร้างชื่อตัวตน จนมากพอที่จะเข้าสู่กรุงเทพมหานคร เพื่อวิ่งตามความฝัน อาเล็กเริ่มจากการเป็นนักดนตรีในผับกลางคืน ออกเทปใต้ดินด้วยความมุ่งหวังว่าจะมีชื่อเสียงในสักวัน ก่อนจะมีสัญญาจ้างระยะยาวกับค่ายเพลงยักษ์ใหญ่แห่งยุคสมัยอย่างบริษัท ‘RS’ ในช่วงปี 2547
ก่อนชีวิตพลิกผันด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองที่เชื่อในความเป็นธรรม นำพาให้ ศิลปินนามว่า “อาเล็ก อาร์สยาม” ที่มีชื่อเสียงจากบทเพลง ‘อย่าลืมยากลาย’ หรือเพลงที่ประสบความสำเร็จสูงกับอัลบั้มที่สอง ‘คำสาบาน’ เปลี่ยนแปลงมาสู่ “อาเล็ก ศิลปินเพลงไพร่” เจ้าของเพลง ‘คนใต้เสื้อแดง’ ก่อนจะมาเป็น “อาเล็ก ศิลปินเพลงเพื่อราษฎร” ผู้ประพันธ์เพลง ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ และในที่สุดก็กลายมาเป็น “อาเล็ก โชคร่มพฤกษ์” ผู้ต้องหาคดี 112 จากการเล่นและเปิดเพลง ‘โชคดีที่มีคนไทย’ ของวงไฟเย็น ใน 2 คดี
ช่วงชีวิตก่อนจะฟังคำพิพากษา อาเล็กยังคงแต่งเพลงสะท้อนการเมือง หวังบันทึกเหตุการณ์และความเป็นไปทางสังคม เพื่อเป็นอนุสาวรีย์อากาศ ให้ผู้คนจดจำหากวันหนึ่งเขาถูกจำกัดอิสรภาพให้ไม่สามารถร้องเล่นต่อไปได้
.
อย่าลืมยากลาย: บทเพลงสะท้อนตัวตนเมื่อครั้งเป็นศิลปินสังกัดค่ายเพลงยักษ์ใหญ่
อาเล็กเล่าว่าจากวันที่เข้ากรุงเทพฯ เมื่อปี 2534 เขาผ่านงานดนตรีมามากมาย หนึ่งในนั้นคือการได้พบเจอศิลปินดังจากปักษ์ใต้อย่าง ‘มาลีฮวนน่า’ ที่ต่อมาได้คลุกคลีจนเป็นผู้จัดการวงในช่วงที่มาลีฮวนน่าทัวร์คอนเสิร์ต ราว ๆ ปี 2537-2538 กับผลงานชุด ‘บุปฝาชน’ และ ‘คนเช็ดเงา’ ในปี 2539 “เมื่อมาลีฮวนน่าโตเกินไปก็เกินความสามารถของผมแล้ว ก็ส่งต่อข้อมูลที่จำเป็นให้กับผู้จัดการคนถัดไป”
แล้วอาเล็กก็ออกมาเป็นศิลปินอีกครั้ง เข้าสังกัดค่ายอาร์สยามเมื่อปี 2547 เรียกได้ว่าเป็นช่วงที่คลายพยศ หลังใช้ชีวิตเล่นดนตรีตามผับไม่สังกัดค่ายเพลง ด้วยว่าต่อต้านในเรื่องของสัญญาจ้างที่ไม่เป็นธรรม จนสุดท้าย เพื่อความอยู่รอดในตอนนั้น อาเล็กทำสัญญา 8 ปี กับทางค่าย RS และได้ออกอัลบั้มแรกเมื่อปี 2548 ในอัลบั้มชื่อ ‘อย่าลืมสัญญา’
อาเล็กเล่าว่าช่วงนั้นเป็นยุคที่ค่าย RS รุ่งเรืองมาก ศิลปินรุ่นราวคราวเดียวกันก็มีหลวงไก่, บ่าววี, ต้อย หมวกแดง,หนู มิเตอร์ ซึ่งเข้ามาในระยะเวลาไล่เลี่ยกัน
“ผมเป็นคนเรียบเรียงเสียงประสาน 100% อัดและทำเดโม่ทั้งหมด แล้วส่งไปให้โปรดิวเซอร์ขัดเกลา ผมตามใจโปรดิวเซอร์ทั้งหมด เพราะผมอยากออกเทป ไม่อยากขัดใจเขา ถ้าผมไม่ยอม มันก็จะกลายเป็นว่า ไม่ต้องทำ ก็ดองงานไว้ก่อน ผมก็เลยยอม แม้ว่าเพลงที่ออกมาจะไม่ได้ดั่งใจเราหรอก” อาเล็กย้อนเล่าถึงบรรยากาศทำเพลงในตอนนั้น
ผลงานที่เด่น ๆ จากอัลบั้มแรกที่ยังคงความนิยมถึงวันนี้คือเพลง ‘อย่าลืมยากลาย’ อาเล็กอธิบายว่าพูดถึงวิถีชีวิตของคนลุ่มน้ำกลาย แม่น้ำสายสั้นที่ไหลเชี่ยวที่สุดในประเทศไทย ตั้งอยู่ที่ท่าศาลาซึ่งเป็นบ้านเกิด ไหลมาจากป่าต้นน้ำเขาหลวง เวลาฤดูน้ำหลากความเชี่ยวนั้นสามารถกระชากลงทะเลได้เลย และยังพูดถึงหนังตะลุง มโนราห์ และวิถีชีวิตชาวบ้าน ที่มีชีวิตควบคู่กับพื้นที่เขาหลวง
“มันเลยเป็นตัวตนของผม กลายเป็นเพลงพื้นถิ่นของตรงนั้น ตอนนั้นในเนื้อหาของเพลงก็ยังไม่มีการเมืองหรือทัศนะใดเด่นชัด ตามที่เขาอ่านเราและปั้นให้เป็น ‘ลูกทุ่งเพื่อชีวิต’ เป็นเพลงตลาดที่เข้าถึงผู้ฟังในยุคนั้นที่อยู่รุ่นราวคราวเดียวกับผมและย้อนหลังกันไปสักสิบปี”
เทียบกับศิลปินในค่ายเดียวกันแม้อาเล็กจะไม่มีชื่อเสียงเท่า แต่ก็เล่าถึงผลงานตัวเองว่า “เพลงเราก็จะดังข้ามไปยังมาเลเซีย ที่ลาว เวียดนาม จากที่เราเคยไปเล่นคอนเสิร์ตแล้วคนร้องตามกันได้ อัลบั้มที่สองจึงตามมาในชื่อ ‘คำสาบาน’ ก็ดังเปรี้ยงเลย”
อาเล็กสะท้อนถึงงานเพลงชุดที่สองว่า ตราบใดที่โลกมนุษย์ยังมีปรากฏการณ์ธรรมชาติ เขาเชื่อว่าเพลงนี้ใช้ได้ตลอด พูดถึงคำสาบาน ถึงหญิงที่ผิดคำพูด หลังประสบความสำเร็จจากอัลบั้มที่สอง และอยู่ในระหว่างจะออกอัลบั้มที่ 3 ที่เตรียมจะใช้ชื่อ ‘ฟ้าเป็นใจให้โจร’ ก็เกิดรัฐประหารปี 2549 อันทำให้ชีวิตของศิลปินผู้นี้หันเหไปอีกด้าน
.
คนใต้เสื้อแดง: เพลงสะท้อนตัวตนจากยุคเสื้อแดง นปช.
ในระหว่างเป็นศิลปินสังกัดอาร์สยาม ปี 2547-2549 เป็นช่วงที่การเมืองเริ่มร้อนแรงจากกลุ่มการเมืองเสื้อเหลือง จนนำมาสู่การที่รัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลทักษิณเมื่อกันยายนปี 2549 ตอนนั้นทางค่ายเขาบอก ‘อย่ายุ่งการเมือง’ เพราะถ้าไปขึ้นเวทีการเมืองก็ไม่สามารถอยู่ร่วมค่ายกันได้
อาเล็กเล่าว่าหลังจากออกอัลบั้มสอง ก็จะวางมือจากค่ายแล้ว “ช่วงนั้นก็มีแอบ ๆ ไปชุมนุม ตอนนั้นยังไม่ทันเป็น นปช. ด้วยซ้ำ พออัลบั้มที่สาม ค่ายอาร์สยาม เขาก็นัดถ่าย MV อีก 10 กว่าวัน ผมไปขึ้นเวทีที่โบนันซ่า เขาใหญ่ ซึ่งจัดชุมนุมเสื้อแดงโดยทิ้งสัญญาที่จะถ่าย MV ของเพลงในอัลบั้มที่สาม”
อาเล็กย้อนเล่าถึงตอนนั้นว่า “ผมก็บอกไปว่า ‘พี่ครับ ผมขอโทษครับ ผมจะขึ้นเวทีเสื้อแดงแล้ว’ เขาบอกว่า ‘ก็แล้วแต่’ ที่ยอมทิ้งตรงนั้นเพื่อที่จะบอกว่า ‘ผมเลือกเส้นทางแล้ว’ ทางค่ายรับทราบ ไม่ว่าอะไร สัญญาก็ยกเลิกโดยปริยาย ต่างคนต่างแยก”
.
กับเพลงแรกที่แต่งช่วงนั้น ‘คนใต้เสื้อแดง’ สะท้อนถึง คนใต้ที่จะมาเป็นเสื้อแดงสมัยนั้นมันหายาก ส่วนใหญ่เป็นประชาธิปัตย์ เป็นเสื้อเหลืองหมด แต่อยากจะสื่อสารออกไปว่า “ผมนี่ไง ที่เป็นคนใต้เสื้อแดง รักในความเป็นธรรม จึงออกมาเรียกร้องในนามคนเสื้อแดง เนื้อเพลงก็จะบอกเล่าถึงเหตุผลว่าทำไมคนใต้ที่ชื่อว่าอาเล็กถึงมาเป็น นปช.” และยังมีอีกหลายเพลง เช่น ความหวังของไพร่, วันของเรา ที่ถูกแต่งขึ้นหลังจากเคลื่อนไหวทางการเมืองเต็มตัว พร้อมทั้งทำเพลงและแต่งเพลงให้คนอื่นด้วยเช่น แต่งให้แกนนำในขณะนั้นอย่าง ‘ตู่’ จตุพร และ ‘เต้น’ ณัฐวุฒิ
ตั้งแต่ช่วงปี 2551-2552 อดีตศิลปินมีสังกัดค่ายอย่างอาเล็กก็ไปร่วมชุมนุม โดยขายแผ่นซีดี ขายเสื้อ ขายบางอย่างที่พอจะเลี้ยงชีวิตได้ “ถ้าพูดให้เคลียร์ตรงนี้เลยคือ ผมไม่เคยได้สตางค์จากทักษิณ ชินวัตร ตามที่ใคร ๆ ชอบกล่าวอ้างกัน จะมีก็แต่น้ำจิตน้ำใจจากพี่ตู่ พี่เต้น ในฐานะพี่น้อง นปช. ที่เขาไม่ทิ้งเรา ช่วยเหลือกันตลอดเวลา สองคนนี้ไม่เคยทิ้งผม”
ก่อนชีวิตผ่านความเจ็บปวดช่วงสลายการชุมนุมเมื่อปี 2553 “ผมไปหลบอยู่ในวัดปทุมวนาราม อารมณ์ตอนนั้นคือคับแค้นมาก บอกได้เลยว่าถ้าใครไม่เคยเจอประสบการณ์ที่เขาล้อมยิงล้อมฆ่าแล้วต้องไปนอนกองในวัดปทุมฯ จะไม่รู้หรอกว่า จะรู้สึกโกรธเผด็จการขนาดไหน นี่เป็นเหตุผลที่ผมเลิกไม่ได้ เลิกสู้ไม่ได้ด้วยเหตุผลนี้”
หลังเลือกตั้งปี 2554 ที่พรรคเพื่อไทยได้จัดตั้งรัฐบาล อาเล็กมีหน้าที่ในตำแหน่งกรรมการ นปช. เป็นฝ่ายดูแลศิลปินเพลง โดยได้รับเลือกเป็นประธาน ‘ศิลปินเพลงไพร่’ และยังร่วมทำรายการทีวีสังกัดช่อง Peace TV ชื่อรายการ “ภาษาเพลง” เชิญศิลปินเช่น นิค นิรนาม, วงคันไถ, วงจ่าหลอย เฮนรี่ เล่าถึงที่มาที่ไปของตัวศิลปินสลับกับร้องเพลงเล่นกีต้าร์คุยกันเหมือนเป็นวงธรรมชาติ ซึ่งตอนนั้นสำนักงานอยู่แถวอิมพีเรียล ลาดพร้าว ก่อนจะต้องหยุดลงไปหลังรัฐประหาร 2557
.
กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ: ประกายความหวังเกิดขึ้นใหม่ หลังรัฐประหารปี 57 สู่ม็อบราษฎร 63
“ก็ล้มลุกคลุกคลาน แม้จะยังเล่นดนตรีอยู่ก็ไม่เป็นกิจลักษณะ เหมือนทุกอย่างมันราบคาบ ก็ไปหาตู่ จตุพรบ้าง ไปหาเต้นบ้าง ไปอิมพีเรียลบ้าง ย้ายไปหลายจุด ไม่มีข่าว โซเชียลมีเดียก็ไม่ได้แพร่กระจายแบบทุกวันนี้ เหมือนอยู่อยู่ไปวัน ๆ แต่ว่าเราก็ ‘รอวันเอาคืน’ ” อาเล็กย้อนเล่าถึงเหตุการณ์หลังรัฐประหารโดย คสช. ที่มีคนที่ถูกมองเป็นขั้วตรงข้ามกับรัฐขณะนั้นถูกเรียกเข้าค่ายปรับทัศนคติ บ้างถูกดำเนินคดีทางการเมือง และมีอีกหลายรายต้องลี้ภัยทางการเมืองเพราะกังวลความปลอดภัย
แม้การชุมนุมเกาะกลุ่มได้ไม่เหมือนเดิม แต่เขายืนยันไม่ได้หยุดสู้ และยังคงแต่งเพลงอยู่ จนการมาถึงของม็อบราษฎรเมื่อปี 2563 ที่ศิลปินอิสระอย่างเขาไปเปิดหมวก “ก่อนหน้าไม่ค่อยอยากเปิดหมวกเท่าไหร่ด้วยศักดิ์ศรีศิลปินมันค้ำคอส่วนหนึ่ง แต่พอหลัง ๆ มาก็ต้องเปิด เพราะหนึ่งมันเป็นการใช้เพลงการเมืองของเราสื่อสารไปในตัว สองคือมันต้องเลี้ยงชีพ ต้องหารายได้จากการเปิดหมวก พร้อมกับถ่ายทอดสดทางยูทูปด้วย”
จากคนเคยต่อสู้ในนามคนเสื้อแดงมาร่วม 10 ปี อาเล็กยอมรับว่า ความหวังเกิดขึ้นอีกครั้งตรงที่ม็อบราษฎร ที่ยืนยันว่าสิ่งที่เคยสู้มาไม่เสียเปล่า “ผมจึงร่วมม็อบราษฎรในทุกครั้งที่มีโอกาส และวันที่ผมตื่นเต้นที่สุดคือวันที่ 3 ส.ค. 2563 วันนั้นมีม็อบแฮร์รี่ พ็อตเตอร์ ที่ อานนท์ นำภา ปราศรัยอยู่หน้าแมคโดนัลด์ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ผมนั่งอยู่ใกล้ ๆ ปรบมือจนลืมตัวเลย “เฮ๊ย คนกล้าแบบนี้มีด้วยเหรอ?” ผมขนลุกขนชันไปทั้งตัวเลย เพราะอานนท์เป็นคนแรกที่เปิดเรื่องแบบนี้ และกล้าที่จะพูดเรื่องสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมา
วันนั้นเป็นวันที่ผมมีความหวังมากที่สุดว่า เมื่อคนทลายกำแพงแล้ว จะมีคนตามมา และมันเป็นอย่างนั้นจริง ๆ”
กับเพลง ‘กล้ามาก เก่งมาก ขอบใจ’ อาเล็กสะท้อนว่า มันสั้น ๆ แต่ได้ใจความในประโยคนี้ในเนื้อหาที่ชื่นชมความกล้าของผู้ที่ออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมืองในม็อบราษฎรที่ผ่านมา ซึ่งจริง ๆ ก็มีอีกหลายเพลงเช่นกัน ‘อย่างปฏิวัติประชาชน’ เพลง ‘กำไล EM’ ซึ่งล้วนแล้วแต่บันทึกสถานการณ์ทางการเมืองที่เกิดขึ้นทุกขั้นตอน
กับข้อแตกต่างระหว่างการเคลื่อนไหวของคนเสื้อแดง กับ ม็อบราษฎร อาเล็กมองว่าว่าอยู่ที่ประเด็นการต่อสู้ เขามองว่าคนเสื้อแดงมาถึงในขั้นที่ 2 แต่ของราษฎรได้ขึ้นไปสู่ขั้นที่ 1 พูดถึงอีกเรื่องหนึ่งที่แหลมคมกว่าเก่า และเหมาะสมสอดคล้องกับเวลา
“เพราะอย่าลืมว่าตอนเสื้อแดง ปี 52-53 คนเสื้อแดงพูดได้แค่ว่า อำมาตย์ฆ่าประชาชน ก็หรูแล้ว แต่สิ่งที่อานนท์ เปิดประเด็นขึ้นมา มันทำให้ชัดเจนถึงปัญหาที่ทำให้เกิดเรื่องราวทางการเมืองทั้งหมดมันมาจาก โครงสร้างทางอำนาจ ที่เป็นตัวปัญหา เมื่อเรารู้แล้ว เราก็มีความหวังว่า ถ้ามีคนกล้าพูด ต่อไปก็จะมีคนที่กล้าออกมาพูดถึงเรื่องนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาได้ จนเกิดพรรคก้าวไกลอย่างที่เราเห็น เพราะความกล้าที่จะพูดถึงเรื่องที่ใครก็ไม่อยากพูด อย่าง 112”
ปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ จึงเป็นข้อเรียกร้องที่ตรงใจอาเล็กที่สุดในช่วงชุมนุม “วันที่มีการชุมนุมที่ธรรมศาสตร์ รังสิต ข้อเรียกร้อง 3 ข้อ และ 10 ประการ ผมมองว่า นั่นคือแก่นสารของการต่อสู้ทั้งหมดที่เราทำมาทั้งหมดตั้งแต่เริ่ม นปช. เราเริ่มเห็นผลจากการที่มีข้อเรียกร้องของราษฎรออกมา
“ถึงวันนี้ เรื่องนี้ก็ยังคงเป็นเรื่องหลักเหมือนเดิม ไม่อย่างนั้นคือ ไร้สาระ การต่อสู้ทางการเมืองถ้าไม่รู้แก่นสารของปัญหาก็ไร้สาระ การที่ผมและใครหลาย ๆ คนที่ร่วมสู้และสั่งสมมามันไม่สูญเปล่า แต่มันตกผลึก และมีความหวัง และต่อไปอีกขั้นหนึ่ง”
.
โชคดีที่มีคนไทย: เพลงจากการชุมนุม 23 ส.ค. 65 นำมาสู่คดี 112
อาเล็กย้อนไปในวันเกิดเหตุว่า “เป็นวันที่เราบอกว่า ประยุทธ์ จันทร์โอชา คุณอยู่มา 8 ปีแล้ว มันนานเกินไปแล้ว เราจะไปชุมนุมเพื่อบอกสิ่งนี้ เราไล่กันมานานแล้ว โดยตั้งที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิก่อนจะเดินไปที่ทำเนียบรัฐบาล ระหว่างตั้งเวทีที่จะเรียกคน ผมก็เปิดเพลงบ้าง ร้องเพลงกันบ้าง ก็มีเพื่อน ๆ มาแจมมาเต้นรำกันอะไรบ้าง แต่เพลงที่โดนนี้ คือเพลงที่ผมเปิดแค่อย่างเดียว แล้วยืนเล่นกีต้าร์ ไม่ได้ร้องเองด้วย แต่ว่าเนื้อหาของเพลงนี้ เพลงโชคดีที่มีคนไทย ของวงไฟเย็น ซึ่งเขาบอกว่ามันผิดประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112”
อาเล็กยืนยันว่า “ผมไม่ได้ร้องเอง ผมแค่ยืนเล่นกีต้าร์ เป็นจำเลยที่ 2 แล้วเหตุการณ์หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมงเราก็เคลื่อนตัวไปที่ทำเนียบ ก็มีคนขอเพลงมานี้อีก เราก็เปิดให้อีก ก็เลยโดน 2 คดีในเรื่องเดียวกัน วันเดียวกัน ซึ่งถ้าเอาจริง ๆ นั้น มันไม่ได้พูดถึงพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน เพลงนั้นพูดถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 แต่ความกำกวมในเรื่องขอบเขตของกฎหมายดังกล่าวก็เกิดขึ้น เมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นการพูดถึงสถาบันกษัตริย์ หากพูดถึง ร.1 คุณก็อาจจะโดน 112 ได้เช่นกัน
กับมาตรา 112 ที่เผชิญอยู่อาเล็กให้ความเห็นว่า “การใช้เสียงเพลงร้องสื่อสารถึงเขา เป็นการชี้ให้เห็นว่าเราสู้ในเรื่องปัญหาโครงสร้างของอำนาจ เราไม่ได้เกลียดชังสถาบันกษัตริย์ แต่เราเกลียดชังโครงสร้างอำนาจ เราไม่ได้ว่าต้องไปล้มล้าง ไม่ ! ด้วยเรารู้ว่ายุคสมัยนี้มันไม่มีทางทำเช่นนั้นได้”
“แต่เขาหาว่าไปเยาะเย้ยให้สถาบันมีมลทินมัวหมอง นี่คือปัญหา แต่ถ้าเรารู้ตั้งแต่ตอนนั้นว่าถ้าเพลงนี้จะโดนนะ เราจะไม่ร้องตั้งแต่วันนั้นแล้ว แต่ว่าเมื่อโดนแล้ว ก็ว่ากันไป แล้วผมคิดว่าเราไม่ได้เป็นคนล้มล้างสถาบันหรอก เราแค่อยากให้ประเทศพัฒนาถูกจุดมากกว่า” อาเล็กกล่าวไว้อีกตอนหนึ่ง
เมื่อถามถึงสิ่งทกังวลที่สุดกับการฟังคำพิพากษาครั้งนี้ ศิลปินอิสระตอบอย่างไม่ลังเลเลยว่า “กังวลเรื่องสุขภาพ คอบ่าไหล่เสื่อมเพราะสะพายกีต้าร์นานเกินไป เราไม่ระมัดระวังตัว ทำให้กังวลว่าถ้าได้เข้าไปอยู่ในคุกคิดว่าจะมีปัญหาเรื่องนี้”
ส่วนเรื่องความเป็นอยู่ “ผมไม่กังวล เพราะผมปรับตัวปรับใจได้ และจะภูมิใจด้วย แต่เราต้องทำหนักให้เป็นเบา ถึงอย่างไรผมก็ต้องพร้อมที่จะยืดอกรับสิ่งที่จะตามมา การผ่อนหนักให้เป็นเบาจากการรับสารภาพของเรา เราก็เลือกเองและทำลงไปแล้ว แต่ถามว่ายังสู้ไหม ก็ยังสู้ สู้ในทางที่ยังสู้ได้ ในเพดานที่สู้ได้”
.