ฟ้องอีก! “อาเล็ก” ม.112 คดีที่2 เหตุร่วมเล่นกีต้าร์ร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ในกิจกรรมไล่ประยุทธ์ที่อนุสาวรีย์ชัยฯ 

 26 มิ.ย. 2566 เวลา 10.00 น. ที่ศาลอาญา รัชดา พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง “อาเล็ก” โชคดี ร่มพฤกษ์ กลุ่มศิลปินเพลงเพื่อราษฎร วัย 53 ปี ในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เป็นคดีที่ 2 จากกรณีที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้เล่นกีตาร์ให้ร้องเพลงของวงไฟเย็น 2 เพลง บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพญาไท ในกิจกรรมเดินขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่ดำรงตำแหน่งนายกฯ ครบ 8 ปี จากอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ มายังทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565

คดีนี้มี อัครวุธ ไกรศรีสมบัติ หรือ “เต้ อาชีวะ” กับพวก เป็นผู้กล่าวหา โดยโชคดีได้เข้ารับทราบข้อกล่าวหาที่ สน.พญาไท เมื่อวันที่ 3 มี.ค. 2566 และให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ซึ่งตำรวจไม่ได้มีการควบคุมตัวไว้

>>“อาเล็ก” ถูกแจ้ง ม.112 คดีที่ 2 เหตุเล่นกีต้าร์เพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ในกิจกรรมขับไล่ประยุทธ์

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2566 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 เพิ่งยื่นฟ้องโชคดีในข้อหา “หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ” และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14(3) จากการเล่นกีต้าร์และร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” พร้อมทั้งถ่ายทอดสดผ่านยูทูบ จากกิจกรรมในวันที่ 23 ส.ค. 2565 เช่นเดียวกันนี้ แต่เป็นกรณีการร้องเพลงระหว่างกิจกรรมหน้ามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลในช่วงหัวค่ำ หลังจากกิจกรรมที่อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิเสร็จสิ้นแล้ว 

>>>อัยการสั่งฟ้องคดี ม.112 ของ “อาเล็ก” กรณีถ่ายทอดสดขณะเล่นกีต้าร์ร้องเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ระบุเนื้อเพลงใส่ร้ายป้ายสี ร.9 กับ ร.10

สำหรับคดีนี้ ภัทรกร อุดมผล พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 3 บรรยายฟ้องใจความโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2565 จําเลยกับจำเลยในอีกคดีของศาลนี้ (วรัณยา แซ่ง้อ) ได้ร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ด้วยการร่วมกันร้องเพลง เล่นดนตรี และเต้นรํา โดยมีการถอดความเนื้อเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” และเพลง “ใครฆ่า ร.8” บางส่วนมาประกอบการบรรยายฟ้อง  

อัยการมีความเห็นว่า การร้องเพลงดังกล่าวน่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 และรัชกาลที่ 9 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกเกลียดชัง โดยจําเลยกับพวกมีเจตนาทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของประชาชนชาวไทย ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดไม่ได้ 

ภายหลังอัยการยื่นฟ้อง โดยไม่คัดค้านการประกันตัวระหว่างพิจารณาคดี และศาลรับฟ้อง โชคดีได้ยืนยันให้การปฎิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนทนายความจะยื่นประกันตัวด้วยหลักทรัพย์ 180,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ โดยศาลอนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวในเวลา 16.00 น. และกำหนดนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 ก.ย. 2566 เวลา 13.30 น.

คดีนี้ยังมี วรัณยา แซ่ง้อ หรือ “นุ้ย” ได้ถูกตำรวจจับกุมและดำเนินคดีที่ สน.พญาไท มาก่อนแล้ว จากการร้องเพลง 2 เพลงของวงไฟเย็นในกิจกรรมดังกล่าว โดยอัยการได้ยื่นฟ้องต่อศาลอาญาไปแล้วเมื่อวันที่ 24 พ.ย. 2565 อยู่ระหว่างรอการสืบพยานในช่วงต้นปี 2567 โดยโชคดีเป็นรายที่สองที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร่วมทำกิจกรรมดังกล่าว 

นอกจากนี้ มีศิลปิน นักข่าวอิสระ และผู้ชุมนุมถูกดำเนินคดีมาตรา 112 จากการร้องหรือเล่นดนตรีเพลง “โชคดีที่มีคนไทย” ของวงไฟเย็น ในการชุมนุมครั้งต่างๆ ถึง 5 คน รวม 5 คดี ได้แก่ คดีของวรัณยา, คดีของวรินทร์ทิพย์, คดีของโชคดี 2 คดี และคดีของขุนแผน-มานี โดยมีทั้งประชาชน “กลุ่มปกป้องสถาบันฯ” และตำรวจเป็นผู้กล่าวหา 

X