รวมโทษจำคุกเกิน 10 ปีแล้ว ! ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาจำคุก 2 ปี 20 วัน คดี ม.112 “อานนท์ นำภา” ปราศรัยเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใน #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2

29 เม.ย. 2567 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ นัดฟังคำพิพากษาคดีของ อานนท์ นำภา ทนายความสิทธิมนุษยชน และหนึ่งในแกนนำกลุ่มคณะราษฎร 2563 วัย 39 ปี หลังถูกฟ้องใน 4 ข้อกล่าวหา ได้แก่ หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ ใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาต เหตุมาจากการปราศรัยถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2 ที่ลานหอศิลปวัฒนธรรมกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 ส.ค. 2564 

ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดทุกข้อหาตามฟ้อง พิพากษาจำคุกรวม 3 ปี 1 เดือน ปรับ 150 บาท ก่อนลดเพราะให้การเป็นประโยชน์ เหลือจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ เห็นว่าเป็นผู้จัดชุมนุม แต่ไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโควิด และไม่ได้ขออนุญาตชุมนุม-ขอใช้เครื่องขยายเสียง และไม่เลิกชุมนุมตามคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค

ส่วนในข้อหามาตรา 112 เห็นว่าเป็นการวิจารณ์รัชกาลที่ 10 โดยตรง ไม่มีเหตุที่จะยกสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพมาทำให้เสื่อมเสีย เป็นการทำให้ประชาชนเข้าใจว่าทรงมีความโลภ เป็นการใส่ความให้เสื่อมเสียเกียรติยศ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง และด้อยค่า โดยศาลไม่ได้พิจารณาว่าคำปราศรัยเป็นจริงหรือเท็จ

ทบทวนคดี: ถูกออกหมายจับและคุมขังเกือบ 7 เดือน หลังขึ้นปราศรัยปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ – พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ – ปัญหาวัคซีนโควิด

ย้อนไปในวันเกิดเหตุ ซึ่งเป็นวันที่ 3 ส.ค. 2564 กลุ่มฟื้นฟูประชาธิปไตย (DRG) และเครือข่าย ได้จัดกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน’ หรือ #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 ที่ลานหน้าหอศิลปวัฒนธรรม กรุงเทพฯ เนื่องในโอกาสครบรอบ 1 ปี ที่บทบาทของสถาบันพระมหากษัตริย์ถูกนำมาพูดถึงอย่างเป็นทางการบนเวทีปราศรัยครั้งแรกในกิจกรรม ‘เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาธิปไตย’ หรือ #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์ บริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย 

ในวันดังกล่าว อานนท์ นำภา ได้กล่าวปราศรัยย้ำถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์อย่างตรงไปตรงมาอีกครั้งถึงข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์, การแก้ไข พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 รวมถึงการบริหารจัดการและการนำเข้าวัคซีนป้องกันโรคโควิด หลังจากที่เขาเพิ่งได้รับการประกันตัวในคดีชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร เพียง 70 วัน

ย้อนอ่านเหตุการณ์ชุมนุม >> #ม็อบ3สิงหา : #เสกคาถาผู้พิทักษ์ปกป้องประชาชน : Mob Data Thailand

สำหรับคดีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้ออกหมายจับอานนท์หลังจากปราศรัยผ่านไปไม่ถึง 1 สัปดาห์ โดยมี ‘นพดล พรหมภาสิต’ เลขาธิการ ศชอ. เข้าแจ้งความที่ สน.ปทุมวัน ในข้อหามาตรา 112 นอกจากนั้นแล้วยังมี พ.ต.ท.ธนพล ติ้นหนู สารวัตรสืบสวน สน.ปทุมวัน ได้แจ้งความดำเนินคดีกับอานนท์และผู้ชุมนุมคนอื่น ๆ ในข้อหาร่วมกันฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย

หลังจากอานนท์เข้ามอบตัวในวันที่ 9 ส.ค. 2564 ก็ถูกควบคุมตัวอยู่ที่สถานีตำรวจ จนกระทั่งวันที่ 11 ส.ค. 2564 พนักงานสอบสวนนำตัวอานนท์ไปขอฝากขังต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ฝากขัง และ อาคม รุ่งแจ้ง อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน ทำให้อานนท์ต้องถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ตั้งแต่นั้นเรื่อยมา

7 ต.ค. 2564 พนักงานสอบสวนได้แจ้งข้อหาอานนท์เพิ่มเติมในเรือนจำ ว่าร่วมกันฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่ออันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ​ ซึ่งอานนท์ได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา

เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2564 อัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญากรุงเทพใต้ 4 ได้มีคำสั่งฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ต่อมาในวันที่ 20 ต.ค. 2564 ศาลได้นัดคุ้มครองสิทธิหลังจากที่ถูกสั่งฟ้อง เขาได้เขียนคำร้องประกอบการขอปล่อยตัวชั่วคราวตนเอง โดยตอนหนึ่งมีเนื้อหาว่า “ในวันนัดคุ้มครองสิทธิของจำเลย สิทธิที่มีคุณค่ามากที่สุดคือ การได้รับการประกันตัวเพื่อออกไปแสวงหาพยานหลักฐานมาต่อสู้คดี” 

ในคดีนี้อานนท์ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำและไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้จะมีการยื่นประกันหลายต่อหลายครั้ง จนกระทั่งทนายความยื่นขอประกันตัวเป็นครั้งที่ 11 ในวันที่ 28 ก.พ. 2565 ศาลจึงอนุญาตให้ประกันตัว โดยให้ติดกำไล EM พร้อมเงื่อนไขอื่นรวม 7 เงื่อนไข รวมเวลาที่ถูกขังครั้งนั้นยาวนานถึง 202 วัน หรือเกือบ 7 เดือน

จำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ศาลได้นัดสืบพยานทั้งสิ้น 9 นัด โดยอัยการนำพยานโจทก์เข้าสืบทั้งหมด 12 ปาก ส่วนทนายความนำพยานจำเลยเข้าสืบทั้งหมด 5 ปาก โดยฝั่งจำเลยมีข้อต่อสู้ในคดีดังนี้

  • ในข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ มีข้อต่อสู้ว่า จำเลยเป็นเพียงผู้ปราศรัย ไม่ได้เป็นผู้จัดชุมนุม จึงไม่มีหน้าที่ในการขออนุญาตชุมนุม และขอใช้เครื่องขยายเสียง รวมถึงจัดเตรียมมาตรการป้องกันโควิด อีกทั้งขณะปราศรัยจำเลยก็ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา และมีการเว้นระยะห่างกับผู้ชุมนุม ลานหน้าหอศิลป์เป็นพื้นที่โล่ง อากาศถ่ายเทสะดวก และไม่ปรากฏว่ามีการแพร่ระบาดของโรคจากการชุมนุม
  • ในข้อหามาตรา 112 มีข้อต่อสู้ว่า สิ่งที่จำเลยพูดทั้งหมดเป็นความจริง และไม่มีพยานโจทก์ปากใดยืนยันว่าได้ว่าเป็นข้อความเท็จ และในการสั่งฟ้องคดีก็ไม่ได้นำ พ.ร.บ.จัดระเบียบทรัพย์สินฯ ปี 2560 และ 2561 มาพิจารณาประกอบ อีกทั้งการพิจารณาความผิดตามมาตรา 112 ต้องคำนึงถึงมาตรา 6 และมาตรา 34 แห่งรัฐธรรมนูญที่บัญญัติเรื่องเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนมาดูควบคู่กันไป มิอาจใช้หลักการตามมาตรา 6 มาทำลายหลักเสรีภาพ ซึ่งเป็นหลักคุณค่าของรัฐธรรมนูญเสมอกัน

ย้อนอ่านบันทึกการสืบพยาน >> เปิดบันทึกคดี ม.112 จากห้องพิจารณา #แฮรี่พอตเตอร์2 เมื่อ ‘อานนท์ นำภา’ ยืนยันว่าสิ่งที่ปราศรัยทั้งหมดเป็นความจริง

ย้อนอ่านคำเบิกความทั้งหมดของอานนท์ในฐานะพยานจำเลย >> “ใครก็ตามในโลกนี้ที่ไม่สามารถติชมหรือวิพากษ์วิจารณ์ได้ คำยกย่องหรือสรรเสริญก็จะกลายเป็นแค่เรื่องโกหก” เปิดคำเบิกความมาตรา 112 คดีที่ 3 ของ ‘อานนท์ นำภา’ จากการปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ใน #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2

ทั้งนี้ ในระหว่างการสืบพยานทุกนัด อานนท์ถูกเบิกตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาร่วมการพิจารณาคดีโดยสวมชุดนักโทษสีน้ำตาล ติดแถบสีแดงที่แขนเสื้อ และถูกสวมกุญแจข้อเท้าทั้งสองข้าง เนื่องจากอานนท์ถูกคุมขังด้วยโทษจำคุกรวม 8 ปี ในคดีก่อนหน้านี้

โทษดังกล่าวมีเหตุมาจากเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 เหตุจากการปราศรัยเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 และต่อมาในวันที่ 17 ม.ค. 2567 ศาลอาญาก็มีคำพิพากษาจำคุกอีก 4 ปี ในคดีมาตรา 112 จากการโพสต์ 3 ข้อความ และให้นับโทษต่อจากคดีแรก ซึ่งอานนท์ยังไม่ได้รับสิทธิประกันตัวในระหว่างอุทธรณ์ทั้งสองคดี

หลังการสืบพยานเสร็จสิ้น ศาลจึงนัดหมายฟังคำพิพากษาในวันนี้

พิพากษาให้มีความผิดทุกข้อหาตามที่โจทก์ฟ้อง ลงโทษจำคุก 2 ปี 20 วัน แต่เมื่อรวมกับคดีก่อนหน้า โทษจำคุกของอานนท์เกิน 10 ปีแล้ว

สำหรับวันนี้ (29 เม.ย. 2567) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 703 มีครอบครัวของอานนท์, ประชาชน, สื่อพลเมือง, เพื่อนทนายความ, องค์กรด้านสิทธิมนุษยชน รวมประมาณ 40 คน มารอให้กำลังใจอานนท์ที่ศาลในวันนี้ โดยทุกคนสามารถเข้าไปนั่งฟังในห้องพิจารณาคดีได้ทุกคนจนที่นั่งเต็ม ทำให้บางคนต้องยืนฟังคำพิพากษาของศาล

เวลาประมาณ 09.30 น. อานนท์ถูกเจ้าหน้าที่ราชทัณฑ์นำตัวถึงห้องพิจารณา ในชุดนักโทษสีน้ำตาล ติดแถบสีแดงที่แขนเสื้อ และเดินเท้าเปล่าพร้อมกับสวมกุญแจข้อเท้าเหมือนที่ผ่านมา เมื่ออานนท์มาถึง ศาลก็เริ่มอ่านคำพิพากษาทันที โดยใช้เวลาอ่านคำพิพากษาเป็นเวลาครึ่งชั่วโมง สามารถสรุปเป็นใจความสำคัญได้ว่า

ขณะเกิดเหตุมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินฯ แต่จำเลยเชิญชวนผ่านโซเชียลมีเดียให้มาฟังการปราศรัย ซึ่งถือเป็นการนัดหมายชุมนุม ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่คนเริ่มต้นก็ตาม และการที่จำเลยปราศรัยบนรถกระบะเครื่องเสียง แปลว่าได้มีการเตรียมการมาไว้ล่วงหน้าแล้ว จำเลยเบิกความอีกว่าได้ปราศรัยจริง และเบิกความอีกว่าขณะนั้นมีการแพร่ระบาดโควิด-19 เข้าใจได้ว่าจำเลยมีความมุ่งหมายตั้งแต่ต้นที่จะจัดกิจกรรม จึงเห็นว่าจำเลยเป็นผู้จัดมิใช่ผู้เข้าร่วม และแม้จะเบิกความว่าตนสวมหน้ากากอนามัย และยืนห่างกับผู้อื่น แต่จำเลยก็ไม่สามารถควบคุมให้ผู้ชุมนุมยืนห่างกันได้ 

จากการนำสืบว่าการชุมนุมเป็นการใช้เสรีภาพตามกฎหมาย พื้นที่ชุมนุมเป็นที่เปิดโล่ง ไม่พบการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งรัฐธรรมนูญตามมาตรา 44 ได้รับรองไว้ แต่เห็นว่าชุมนุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย

อีกทั้งหลังจากพนักงานควบคุมโรคได้แจ้งประกาศเตือนตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และให้ประชาชนยุติการชุมนุม แต่ผู้ชุมนุมไม่ยุติ อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งเจ้าพนักงานควบคุมโรค ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ อีกทั้งจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดก็ไม่ได้จัดให้มีมาตรการป้องกันโรคโควิด-19 การกระทำของจำเลยจึงเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

ตามที่พยานโจทก์เบิกความว่าจำเลยได้ขึ้นปราศรัยบนรถกระบะโดยใช้เครื่องขยายเสียง โดยไม่ได้ขออนุญาตก่อน จึงฟังได้ว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง

ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 2 บัญญัติไว้ว่า ประเทศไทยปกครองด้วยระบอบประชาธิปไตยอันมีกษัตริย์ทรงเป็นประมุข และมาตรา 6 บัญญัติไว้ว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และในมาตรา 50 ก็ได้บัญญัติไว้ว่า บุคคลมีหน้าที่พิทักษ์รักษาไว้ซึ่งชาติ ศาสน์ กษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข นอกจากนี้ได้บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เกี่ยวกับความผิดเป็นพิเศษต่างจากคนทั่วไป

ประชาชนไทยมีหน้าที่รักษาไว้ซึ่งสถาบันกษัตริย์ การกล่าวจาบจ้วง ล่วงเกิน เสียดสี เป็นการหมิ่นประมาท ข้อความที่กล่าวจะทำให้เสื่อมเสียหรือไม่นั้น ต้องพิจารณาความรู้สึกของประชาชนไทยร่วมด้วย

เห็นว่า จำเลยกล่าวใส่ความรัชกาลที่ 10 ว่านำของที่ประชาชนใช้ร่วมกันมาเป็นของตนเอง เป็นการหมิ่นประมาท แม้จำเลยจะเบิกความว่าเป็นการวิจารณ์ตรงไปตรงมา แต่ไม่อาจถ่ายทอดความเข้าใจของจำเลยซึ่งเป็นผู้กล่าวเท่านั้น เมื่อพิจารณาคำปราศรัยก็ไม่มีเหตุที่จะยกสถาบันกษัตริย์อันเป็นที่เคารพมาทำให้เสื่อมเสีย ทำให้คนเห็นว่ารัชกาลที่ 10 มีความโลภ ใส่ความให้เสื่อมเสียพระเกียรติยศ ถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ไม่สามารถหักล้างพยานพยานโจทก์ได้ และไม่มีเหตุยกเว้นความผิดในทำนองเดียวกันตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329 และ 330 

สรุปแล้ว จำเลยมีความผิดตามข้อหามาตรา 112,  พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 9 และ 18, พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ มาตรา 34 และ 51 , พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียง มาตรา 4 วรรคหนึ่ง, มาตรา 9 วรรคหนึ่ง เป็นความผิดหลายกรรมให้ลงโทษทุกกรรม 

ข้อหามาตรา 112 ให้ลงโทษจำคุก 3 ปี, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามข้อหา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ซึ่งมีโทษที่หนักที่สุด คือจำคุก 1 เดือน ส่วนข้อหาตาม พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ ให้ปรับ 150 บาท

การนำสืบของจำเลยเป็นประโยชน์ต่อพิจารณา มีเหตุให้ลดโทษ 1 ใน 3 ทำให้ ข้อหามาตรา 112 คงจำคุก 2 ปี ส่วน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คงจำคุก 20 วัน และ พ.ร.บ.เครื่องขยายเสียงฯ คงปรับ 100 บาท 

รวมโทษเป็นจำคุก 2 ปี 20 วัน และปรับ 100 บาท และให้นับโทษต่อจากสองคดีที่ศาลอาญาพิพากษาไปก่อนหน้า อีกทั้งให้ริบเครื่องปั่นไฟ ลำโพง เพาวเวอร์แอมป์ มิกเซอร์ เครื่องรับสัญญาณไมโครโฟน และไมโครโฟน ของกลางในคดีนี้

ผู้พิพากษาในคดีนี้ได้แก่ วีระ พรหมอยู่ และ ศุทธิ์สิริ พยัคฆโส

.

หลังจากศาลอ่านคำพิพากษาแล้วเสร็จ ศาลก็สรุปโทษในคดีนี้ให้อานนท์ฟังอย่างเข้าใจง่ายอีกรอบ หลังจากนั้นประชาชนที่อยู่ในห้องพิจารณาคดีก็เข้ามาให้กำลังใจอานนท์ และช่วยกันชำระค่าปรับโดยการนำเหรียญ 1 บาท 2 บาท และ 5 บาท รวมแล้วเป็นเงิน 100 บาท เพื่อให้ทนายความของอานนท์ไปจ่ายค่าปรับต่อศาล

รูปจากเพจอานนท์ นำภา

ทั้งนี้ จากการชุมนุม #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์2 นอกจากคดีนี้แล้ว ยังมีประชาชนที่ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีก 26 คน ทั้งเป็นผู้ปราศรัย ผู้ร่วมชุมนุม ผู้นำรถเครื่องขยายเสียงเข้าร่วม ในข้อหาหลักฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพียงอย่างเดียว โดยคดียังอยู่ในชั้นอัยการ

.

ในส่วนของอานนท์ หลังจากที่วันนี้ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาจำคุกอีก 2 ปี 20 วัน ทำให้ปัจจุบันอานนท์ถูกลงโทษจำคุกรวมทั้งสิ้น 10 ปี 20 วันแล้ว เมื่อรวมกับสองคดีในข้อหามาตรา 112 ที่ศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุกคดีละ 4 ปี ไปเมื่อวันที่ 26 ก.ย. 2566 และ 17 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา

การฟังคำพิพากษาคดีมาตรา 112 ของอานนท์ในวันนี้ นับว่าเป็นคดีที่ 3 จากจำนวนทั้งหมด 14 คดี กล่าวคืออานนท์ยังมีคดีมาตรา 112 อีกถึง 11 คดี ซึ่งรวมถึงคดี #ม็อบแฮรี่พอตเตอร์1 ที่ยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดี โดยมีนัดหมายสืบพยานที่ศาลอาญาในวันที่ 17 พ.ค. 2567 นี้

ปัจจุบันอานนท์ยังถูกคุมขังในเรือนจำระหว่างอุทธรณ์ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566 จนถึงวันนี้ (29 เม.ย. 2567) เป็นเวลากว่า 218 วัน หรือกว่า 7 เดือนแล้ว โดยไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัว แม้ทนายความจะยื่นขอประกันตัวมาแล้ว 6 ครั้ง ซึ่งนับว่าเป็นการถูกคุมขังต่อเนื่องที่ยาวนานที่สุดเท่าที่อานนท์เคยถูกคุมขังมา

ภาพจากเฟซบุ๊ก Pipob Udomittipong

ฐานข้อมูลคดีนี้ 

คดี 112 ‘อานนท์ นำภา’ ปราศรัยย้ำข้อเรียกร้องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ #ม็อบแฮร์รี่พอตเตอร์2

X