ระหว่างวันที่ 3-5 เม.ย. 2567 ทนายความได้เดินทางเข้าเยี่ยม “มาร์ค”, “ธี” ถิรนัย, “มาย” ชัยพร, “บุ๊ค” ธนายุทธ และสุดใจ ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ
ท่ามกลางอากาศร้อนอบอ้าวในเดือนเมษายน ธีและมายต่างก็มีผื่นแพ้ขึ้นจากสภาพอากาศที่ร้อนในช่วงนี้ โดยมายต้องกินยาแก้แพ้ถึงวันละ 1-2 เม็ด เนื่องจากมีผื่นขึ้นเยอะ เขาต้องการจะไปหาหมอเพื่อขอให้หมอจ่ายยาแก้แพ้เพิ่มแต่ต้องรอคิวนาน ส่วนธีพยายามอาบน้ำบ่อย ๆ ทั้งมายและธียังคงรอฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และติดตามเรื่องการนิรโทษกรรม
ขณะที่บุ๊คก็เจ็บป่วยจากอากาศที่ร้อนจัดเช่นเดียวกัน โดยช่วงอาทิตย์นี้เขาและเพื่อน ๆ ในแดน 6 เพิ่งลงทะเบียนเข้าอบรมภาษาอังกฤษกับเรือนจำ ทางด้านมาร์คเพิ่งเข้าอบรมพุทธศาสนาเสร็จเรียบร้อยและกำลังรอรับประกาศนียบัตรเพื่อนำไปประกอบการขอเลื่อนชั้นนักโทษ
สำหรับสุดใจ เขาไม่สนใจเข้ารับการอบรมพุทธศาสนา และความร้อนก็ไม่ค่อยมีผลกระทบกับเขามากนัก เพราะเขาบอกว่าพยายามอยู่แต่ในร่ม แต่สิ่งที่สุดใจกำลังเฝ้ารอ คือความคืบหน้าหลังยื่นเรื่องขอพักโทษกับเรือนจำไป
มาย ชัยพร: “ข้างในนี้ถ้าเจ็บป่วยมา กว่าจะได้เจอหมอ ไม่หายก่อน ก็ตายก่อน”
3 เม.ย. 2567 มายสวมชุดผู้ต้องขังสีฟ้าตัวเก่งของเขา ที่หน้าอกเขียนคำว่า “ยิ้มสู้” เดินออกมาและทักทายเพื่อน ๆ ที่อยู่ในรอบเยี่ยมเดียวกันด้วยหน้าตาสดใส ยิ้มแย้ม มายบอกว่า โดยรวม ๆ ก็ยังถือว่าสบายดีเหมือนเดิม ถ้าจะมีเรื่องแย่ก็คืออากาศข้างในร้อนมาก
“เมื่อคืนมีผื่นขึ้นมาอีกแล้ว เริ่มตั้งแต่ช่วงเย็น ๆ ขึ้นที่หลังขนาดเท่าฝ่ามือ แล้วลามมาที่คอ ก็กินยาแก้แพ้เม็ดสุดท้ายไป”
มายเล่าว่า ยา 6 เม็ด ที่ได้รับมาจากการออกไปหาหมอช่วง 2 สัปดาห์ก่อน หมดไปแล้ว เลยไปขอจากเพื่อนมาอีก 4 เม็ด และหมดไปแล้วเมื่อคืน
“ยังไม่ได้ออกไปเจอหมอใหญ่ ผมแอบไปเห็นใบนัดหมอแว้บๆ ที่หน้าแดน มีการขีดชื่อคนออกไปหลายคนอยู่ รวมถึงชื่อผมด้วย ไม่มั่นใจว่าเลื่อนหรือยกเลิก แต่ยังไงผมก็คงต้องไปยื่นเพื่อเจอหมออีกรอบ เพราะยาหมดแล้ว
“อาการผื่นแพ้นี่ยังมีอยู่เรื่อย ๆ เวลาที่เราได้ไปหาหมอ ก็จะมีการวัดไข้ตั้งแต่หน้าแดน พอไปถึงหมอเขาก็แค่ถามชื่อแล้วก็ให้ยามากินเลย ไม่ได้มีการตรวจอะไร
“ข้างในนี้ถ้าเจ็บป่วยมา กว่าจะได้เจอหมอ ไม่หายก่อน ก็ตายก่อน”
มายเล่าถึงครอบครัวด้วยว่า มาเยี่ยมครั้งล่าสุดตอนไหนจำไม่ได้แล้ว น่าจะช่วงกลางปีที่แล้ว และไม่ได้มีการเยี่ยมผ่านไลน์ด้วย
“เมื่อวานผมได้จดหมายจากรุ่นพี่ เขาบอกว่า เพื่อนฝูงกับพวกรุ่นพี่มีลูกกันหมดแล้ว บางคนลูกสองลูกสาม (หัวเราะ) ก็มีเพื่อน ๆ ส่งจดหมายมาคุยเรื่อย ๆ ผมก็จะตอบกลับไปตามที่อยู่ที่ส่งมา”
มายยังได้ฝากให้ทนายติดตามเรื่องความเป็นอยู่ของ “เอ” กฤษณะ ซึ่งย้ายไปอยู่ที่เรือนจำจังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากก่อนหน้านี้เคยอยู่แดนเดียวกัน
“เพื่อน ๆ ที่เข้ามาพร้อมกันจะได้ออกกันหมดแล้ว ส่วนของผม คิดว่ามาถึงขนาดนี้แล้ว ยังไงก็ต้องรออุทธรณ์ต่อไป ได้กลับก็กลับ อยู่จนครบก็ครบ ให้มันรู้กันไปว่าจะจบยังไง”
ก่อนจากกัน มายทิ้งท้ายว่า “ผมวางแผนแล้วนะว่า ถ้าได้ออกไป จะตั้งหลักยังไง ทำงานหาเงินจากไหน ตอนนี้ก็ไม่มีอะไรขาดเหลือ ถ้าอยากได้คงเป็นกำลังใจมากกว่า ”
จนถึงปัจจุบัน (9 เม.ย. 2567) ชัยพรถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 420 วัน หรือเกือบ 1 ปี 2 เดือน หลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกค้นพบก่อนมีการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64
.
ธี ถิรนัย: อยากรณรงค์เรื่องนิรโทษกรรม อยากให้คนรู้ว่ายังมีพวกเราที่ต้องเข้ามาอยู่ในนี้ และยังไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่
3 เม.ย. 2567 ธีมาที่ห้องเยี่ยมทนายช้ากว่าคนอื่น ๆ ต่างจากปกติที่จะออกมานั่งรอเป็นคนแรก ธีใส่ชุดผู้ต้องขังสีฟ้า ทนายสังเกตว่า วันนี้หน้าตาของธีนิ่ง ๆ เหมือนกำลังคิดอะไรอยู่ แต่พอได้คุยกับเพื่อน ๆ ก็หน้าตาสดใสขึ้น
ธีเล่าว่า ข้างในเรือนจำร้อนมาก “ผมผื่นขึ้น” ก่อนจะเปิดเสื้อให้ทนายดู ผื่นและตุ่มแดง ขึ้นที่อก ไหล่ และหลัง “เมื่อปีที่แล้วก็ขึ้นแบบนี้เลย ช่วงอากาศร้อน อยู่ยากมาก เมื่อคืนผมอาบน้ำไป 7 รอบ ยังไม่ได้กินยาแก้แพ้”
ธีบอกอีกว่า เขาและเพื่อน ๆ ในแดนคุยกันเรื่องการยื่นคำร้องให้นำผู้ต้องขังทางการเมืองมาอยู่รวมกันในแดนเดียว แต่เขาไม่แน่ใจว่าจะสามารถพูดคุยได้หรือมีความเป็นไปได้มากแค่ไหน เนื่องจากผู้คุมอาจมองว่าการให้ผู้ต้องขังทางการเมืองมาอยู่รวมกันจะทำให้เกิดความวุ่นวาย
ธียังคงติดตามเรื่องการนิรโทษกรรมคดีทางการเมืองอยู่ โดยเฉพาะเรื่อง กมธ.นิรโทษกรรม และทักษิณ ชินวิตร
“ผมรอดูวันที่ 20 เมษา ว่า คดี 112 ของทักษิณจะเป็นยังไง
“ถ้า กมธ.นิรโทษกรรม สรุปผลช่วงปลายเดือนพฤษภา ผมเคยคิดว่า อยากรณรงค์แบบทำป้ายนิรโทษกรรม ไปติดที่บิลบอร์ดต่าง ๆ แบบเช่าป้ายโฆษณา หรือทำไปแปะตามสถานที่ต่าง ๆ แต่ก็คงได้แค่หวังพึ่งคนฝ่ายเราที่อยู่ข้างนอก ผมคิดว่า อย่างน้อยมันก็คงจะทำให้ทุกคนเห็นบ้างว่ายังมีคนอยู่ข้างในนี้ ยังมีคนที่ไม่ได้รับความยุติธรรมอยู่ อยากให้เขาได้ข้อมูล ให้รู้เหตุผล อยากบอกว่า ในปี 63-64 ที่ทุกคนออกมาชุมนุมกันทั้งประเทศ มันยังมีพวกเราที่ต้องเข้ามาอยู่ในนี้ เพราะเหตุการณ์ตั้งแต่วันนั้น”
ธีกล่าวต่อว่า “ของผมปีหน้ายังไงก็ได้ออก แต่ผมอยากให้เพื่อน ๆ ทุกคนได้ออกด้วย ผมคิดว่าเรื่องนี้คงเป็นภารกิจสุดท้ายของผมแล้ว ผลักดันเรื่องนิรโทษ หลังจากนั้นผมคงพัก แล้วกลับไปทำงานของผมไป”
ก่อนจากกันธีบอกว่า เขาอยากให้ทนายช่วยตามเรื่องชุดบล๊อคสีที่เคยขอไปและพวกอุปกรณ์เครื่องเขียน กระดาษ
“อยากทำงานศิลปะส่งออกไปข้างนอก” เขากล่าว
จนถึงปัจจุบัน (9 เม.ย. 2567) ถิรนัยถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 420 วัน หรือเกือบ 1 ปี 2 เดือน หลังศาลอาญามีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 6 ปี ก่อนลดเหลือ 3 ปี เพราะให้การรับสารภาพ ในคดีครอบครองระเบิดปิงปอง ซึ่งถูกค้นพบก่อนมีการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา64
.
มาร์ค: เตรียมยื่นขอเลื่อนชั้นเป็นนักโทษชั้นดีมาก
4 เม.ย. 2567 มาร์คเดินเข้ามาในห้องเยี่ยมด้วยท่าทางยิ้มแย้ม พอเจอเพื่อน ๆ ก็ยิ้มทักทายกัน มาร์คใส่เสื้อสีฟ้าของผู้ต้องขัง ไม่ได้ใส่เสื้อสีขาวที่มีไว้เพื่อใส่อบรมธรรมะแล้ว มาร์คบอกว่า การอบรมเสร็จสิ้นแล้ว หลังจากนี้เรือนจำออกใบรับรองให้ เขาสามารถใช้ใบรับรองนี้ประกอบกับใบเด็ดขาด เพื่อเลื่อนชั้นผู้ต้องขังจากชั้นดีเป็นชั้นดีมาก
มาร์คยังพูดถึงการอบรมในเรือนจำว่า มีหลายหลักสูตร การอบรมด้านศาสนาไม่ได้มีเพียงแค่ศาสนาพุทธ มีศาสนาคริสต์ด้วย มีอบรมภาษาอังกฤษ ตัดผม ฯลฯ ทุกหลักสูตรจะได้รับประกาศนียบัตรและนำไปใช้เลื่อนชั้นนักโทษได้
มาร์คเล่าอีกว่า หากจะเลื่อนเป็นนักโทษชั้นเยี่ยม จะต้องใช้ประกาศนียบัตร 2 ใบ แต่ในชั้นอื่น ๆ ใช้ใบเดียว และหากใช้ในการเลื่อนชั้นไปแล้วจะใช้ซ้ำไม่ได้ ต้องไปอบรมเพิ่มเติมเพื่อให้ได้ใบใหม่
มาร์คบอกว่า โทษของเขานั้นเหลืออีกประมาณ 1 ปี ช่วงนี้คนข้างในพูดกันถึงเรื่องการลดโทษหรือการได้รับอภัยโทษ ซึ่งน่าจะมาถึงในช่วงวันเกิดของรัชกาลที่ 10 โดยบอกกันว่า เคยมีการปล่อยตัวคนที่โทษต่ำกว่า 1 ปีทั้งหมดออกจากเรือนจำ
จนถึงปัจจุบัน (9 เม.ย. 2567) มาร์คถูกคุมขังมาแล้ว 392 วัน มาร์คถูกศาลอาญาพิพากษาจำคุก 2 ปี 1 เดือน และตัดสินใจไม่อุทธรณ์ รวมทั้งอัยการไม่ยื่นอุทธรณ์ ทำให้คดีถึงที่สุดแล้ว
.
บุ๊ค ธนายุทธ: อยากทำนิทรรศการเรื่องคนที่ต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย
4 เม.ย. 2567 บุ๊คเดินมาในห้องเยี่ยมทนายห้องที่ 3 ด้วยหน้าตายิ้มแย้ม สวมชุดผู้ต้องขังสีฟ้า และเริ่มบทสนทนาด้วยการเล่าถึงสุขภาพว่า ช่วงนี้ป่วยนิดหน่อย ตัวร้อน คอแห้ง แสบคอ แต่ไม่ไอ ไม่ปวดหัว มีอาการหน้ามืดบ่อย ๆ น่าจะเป็นเพราะอากาศร้อนอบอ้าว หายใจลำบาก
จากนั้นเล่าถึงชีวิตประจำวันว่า วนเวียนอยู่กับการเขียนเพลง แล้วก็เขียนจดหมายถึงที่บ้าน เขียนถึงแฟน
“คิดโปรเจ็คไว้เยอะแยะว่า ถ้าออกไปจะทำอะไรบ้าง มีอันนึงคือจะชวนแฟนทำนิทรรศการเกี่ยวกับคนที่ออกมาต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยและอยู่ในคุก กับความสัมพันธ์ของคู่รักที่อยู่ข้างนอก ผมส่งจดหมายหาแฟนทุกวัน ฉีดน้ำหอมใส่ด้วย (หัวเราะ) ทำโปสการ์ดส่งออกไปบ้าง ของพวกนี้ผมจะเก็บไว้เป็นส่วนนึงของนิทรรศการด้วย
“จะบันทึกไว้ว่า กว่าเราจะผ่านอะไรมาด้วยกันได้ กว่าจะรักกัน รักษาความสัมพันธ์ต่อกันมาได้ขนาดนี้ เจออุปสรรคอะไรบ้าง มีหลายบททดสอบที่อยากบอกเล่า ผมคิดว่ามันน่าจะส่งต่อกำลังใจให้คนอื่น ๆ ได้บ้าง”
อาทิตย์ก่อนบุ๊คเล่าถึงคนที่มีอาการทางจิตเวชในเรือนจำเข้ามาคุยด้วย เขาบอกว่า ยังคงมีคนที่ป่วยลักษณะนี้เข้ามาคุยอยู่เรื่อย ๆ
“ผมชอบนะ อย่างมีคนนึงเป็นวัยรุ่น เมื่อปี 64 เคยออกไปชุมนุมด้วย เขารู้ปัญหาการเมืองเยอะนะ แต่คนในแดนจะบอกว่าเขาบ้า เพราะเขาพูดไม่หยุด บางทีก็พูดคนเดียว แต่เขามีเรื่องราวที่น่าสนใจมากเลย และเวลาเขาเล่า เขาอินมาก อย่างเรื่องการเมือง เขาพูดแล้วเขาโกรธไปด้วย โกรธเรื่องความเหลื่อมล้ำ โกรธเรื่องเศรษฐกิจ คอร์รัปชั่น ปัญหาคนจน คนสลัม พอได้คุยมันก็ทำให้เราเห็นมุมมองของเขามากขึ้น”
เรื่องการเข้าถึงหมอในเรือนจำก็เป็นปัญหาที่บุ๊คหยิบยกมาพูดถึง
“ข้างในนี้มีกฎเกี่ยวกับการไปหาหมอ คือ 15 วัน ถึงจะไปหาหมอได้ครั้งนึง บางครั้งมีคนป่วย แต่ก็ออกไปหาหมอไม่ได้ มันเลยทำให้ในนี้คนป่วยเรื้อรังเยอะ หรือป่วยมากแต่ได้ไปหาหมอช้า ถ้าช่วงมีไข้หวัดก็คือติดต่อกันง่ายมาก
“อย่างมายที่ออกไปหาหมอเรื่องผื่นแพ้ เขาได้ยาแก้แพ้มาแค่ 6 เม็ด มันไม่พอแน่ ๆ สำหรับ 15 วัน เพราะมายต้องกิน 1 เม็ด ทุกครั้งเมื่อมีอาการ ถ้าอาการหนักก็ต้องกิน 2 เม็ด พอมันหมดก็ต้องขอจากผู้ต้องขังคนอื่น ๆ มากินไปก่อน”
บุ๊คยังเล่าเรื่องการอบรมที่มีการจัดในเรือนจำว่า ผู้ต้องขังคดีทางการเมืองทุกคนในแดน 6 ได้เข้าอบรมภาษาอังกฤษ โดยมีผู้ต้องขังที่เป็นคนแคเมอรูนและเคยเป็นครูมาก่อน เป็นคนสอน
“อบรมรอบละ 2 สัปดาห์ ถ้าครบก็จะได้ใบประกาศมาเก็บไว้ เอาไปใช้เลื่อนชั้นนักโทษได้ วันนี้อบรมมาเป็นวันที่ 4 แล้ว พวกผู้ต้องขังการเมืองในแดน 6 เข้าอบรมทุกคน อบรมภาษาอังกฤษจะมีเป็นรอบ ๆ ไป รอบละประมาณ 50 คน มีหลายรุ่น”
บุ๊คเล่าอีกว่า ครูชาวแคเมอรูนนอนห้องเดียวกับพวกเขา จึงได้คุยกันบ่อย
“เขามีแนวคิดทางการเมืองที่เข้าใจเรามาก ๆ เขาอยากให้มีการนิรโทษกรรมคดีการเมืองเหมือนกัน เขาบอกว่าทั่วโลกเขาพูดถึงประเทศไทยนะ เรื่องการชุมนุม คดีความ รวมถึง 112 ประเทศประชาธิปไตยไม่ควรมีผู้ต้องขังทางการเมือง”
จนถึงปัจจุบัน (9 เม.ย. 2567) บุ๊คถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์และฎีกาที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 201 วัน เขาถูกศาลอาญากรุงเทพใต้และศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี 6 เดือน จากคดีครอบครองวัตถุระเบิด หลังเจ้าหน้าที่ตรวจพบประทัดลูกบอล, ไข่ก็อง, พลุควัน และระเบิดควัน ที่บ้านพัก
.
สุดใจ: รอคอยความคืบหน้าหลังการยื่นขอพักโทษ
5 เม.ย. 2567 เมื่อพบหน้าทนายความ สุดใจยิ้มแย้มเป็นปกติเช่นทุก ๆ ครั้ง ทนายได้อธิบายเรื่องขั้นตอนการพักโทษที่สุดใจฝากหาข้อมูล สุดใจแจ้งกับทนายว่า เพื่อน ๆ ที่เข้าเยี่ยมบอกเขาว่า ได้ทำเรื่องขอพักโทษให้กับเขาและสรศักดิ์ เพื่อนนักโทษการเมืองอีกคนแล้ว และพวกเขาอาจจะได้พักโทษตั้งแต่ต้นเดือนกรกฎา
สุดใจกล่าวว่า ถ้าได้ออกไป ถึงจะต้องอยู่แต่ในบ้านก็ยังดีที่อย่างน้อยจะได้ทำอะไรหลาย ๆ อย่างได้สะดวกมากขึ้น ฝากขอบคุณทุกท่านที่ช่วยเหลือดูแลมาโดยตลอด
ทนายถามด้วยความเป็นห่วงเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังในช่วงที่อากาศร้อนมากนี้ สุดใจตอบว่า เขาไม่มีปัญหาอะไรเพราะไม่ค่อยได้ออกไปไหน
“อยู่แต่ในร่ม พอต้องออกกำลังก็แค่เดินไปเดินมาและดูทีวี ถึงเวลาก็เข้าเรือนนอน”
สุดใจเล่าต่อว่า เรือนจำเปิดให้สมัครเข้าอบรมค่ายธรรมะ ถ้าสมัครเข้าไปและผ่านการอบรมจะได้เลื่อนชั้นนักโทษ แต่เขาไม่ได้สมัครไปเพราะไม่อยากทำกิจกรรมอะไรแบบนั้น
สุดใจทิ้งท้ายเช่นทุกครั้งว่า ฝากเป็นกำลังใจให้กับทุกคนที่ยังสู้อยู่เสมอ เขาบอกว่าถ้าได้พักโทษและมีอะไรที่พอจะช่วยได้ก็พร้อมช่วย
จนถึงปัจจุบัน (9 เม.ย. 2567) สุดใจถูกคุมขังในฐานะผู้ต้องขังคดีสิ้นสุดมาแล้ว 181 วัน
สุดใจถูกดำเนินคดีคดีจากการถูกตรวจพบว่าครอบครองระเบิดปิงปอง ในช่วงที่มีการชุมนุมเมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2564 บริเวณคอนโดแห่งหนึ่งย่านดินแดง ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษายืนตามศาลชั้นต้นจำคุก 1 ปี 6 เดือน และไม่ได้รับอนุญาตให้ฎีกา ทำให้คดีสิ้นสุดลง