ระหว่างวันที่ 30 ต.ค. – 3 พ.ย. 2566 ทนายความได้เข้าเยี่ยม 10 ผู้ต้องขังทางการเมืองที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ และเรือนจำกลางคลองเปรม ทุกคนยังคงต้องต่อสู้กับความเป็นอยู่ในเรือนจำในรูปแบบต่าง ๆ
อาทิตย์นี้เป็นวันเกิดของ “แบงค์” ณัฐพล โดยเขาต้องฉลองวันเกิดในเรือนจำเป็นครั้งที่ 2 ภายหลังเคยถูกคุมขังระหว่างพิจารณาและเพิ่งถูกปล่อยตัวออกมาต้นปี 2566 ในส่วนของ “เก่ง” พลพล ศาลอุทธรณ์ได้อนุญาตให้ประกันระหว่างอุทธรณ์ โดยมีเงื่อนไขต้องเพิ่มญาติเข้ามาเป็นนายประกันและต้องติด EM โดยเก่งจะได้รับการปล่อยตัวในเย็นวันที่ 6 พ.ย. 2566
ขณะที่ “ธี” ถิรนัย ซึ่งประสบกับปัญหาการใช้อำนาจระหว่างผู้ต้องขังในแดนเดียวกัน ได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นตลอด 2 อาทิตย์ ให้ทนายฟังและหวังว่าจะมีการแก้ไขเรื่องนี้โดยเร็วเพราะเขารู้สึกไม่สบายใจเป็นอย่างมาก “บุ๊ค” ธนายุทธ และ “มาย” ชัยพร ก็ได้เล่าถึงปัญหาในเรือนจำ เช่น การที่มีของหายซ้ำ ๆ หรือการที่บล๊อกขับถ่ายไม่มีน้ำ ทำให้ผู้ต้องขังต้องใช้ถุงที่ได้จากการซื้อของตักน้ำจากบล๊อกอาบน้ำมาล้าง แต่ก็ทำให้มีสิ่งสกปรกติดอยู่ในบล๊อกอาบน้ำ ซึ่งบุ๊คบอกว่าไม่ถูกสุขอนามัยอย่างยิ่ง
สุดใจ ผู้ต้องขังวัย 53 ปี ยังสุขภาพร่างกายแข็งแรงและปรับตัวกับเรือนจำได้ดี เขาเล่าย้อนให้ฟังถึงช่วงที่ทำกิจกรรมยืนหยุดขังมาอย่างต่อเนื่องจนต้องกลายมาเป็นผู้ต้องขังเสียเอง ส่วนสุขสันต์ซึ่งถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำกลางคลองเปรม ยังคงเผชิญกับปัญหาความเจ็บป่วยอย่างซ้ำซาก
.
“ธี” ถิรนัย: ระแวงว่าชีวิตในเรือนจำจะเป็นยังไง ในเมื่อกฎเกณฑ์ไม่ได้ใช้กับทุกคน
“ฮัลโหลพี่” ธีเอ่ยทักทายทันทีที่ยกหูโทรศัพท์ขึ้น เขามีสิวเพิ่มขึ้นบนใบหน้าอย่างที่เคยบอกว่าแพ้น้ำในเรือนจำ แววตาดูอิดโรยเล็กน้อย แต่ธีมีท่าทีโล่งใจเมื่อได้คุยกับทนาย เป็นเวลาประมาณ 2 อาทิตย์ที่ธีเกริ่นเรื่องการมีปัญหากับผู้ต้องขังในเรือนจำ แต่เขายังไม่เคยเล่ารายละเอียดที่ชัดเจน ทนายขอให้เขาเล่าเรื่องที่ถูกข่มขู่อย่างละเอียด ธีนั่งคิดพักใหญ่ ก่อนจะเรียบเรียงไทม์ไลน์ทั้งหมดออกมา
“ต้องบอกว่าในแดน 5 มีผู้ต้องขังประมาณ 500 คน แล้วมันจะมีผู้ต้องขังคนหนึ่งที่มีอิทธิพลในเรือนจำมาก น่าจะเข้ามาด้วยคดีฉ้อโกงประชาชน เขาอยู่แดนธุรการ เป็นผู้ต้องขังที่กร่างมาก ทั้งข่มขู่แล้วก็ไถเงินนักโทษด้วยกันเอง ช่วงแรก ๆ ผมก็โดน เขาเคยมาด่า มาไถเงินผม แต่ผมไม่ได้เล่าให้ทนายฟัง เพราะตอนนั้นผมอยู่คนเดียว ไม่อยากมีปัญหา ก็เลยต้องยอม ๆ ไป
“ทีนี้พอมีเพื่อนเข้ามาแดน 5 เยอะขึ้น ผมก็เลยมีกำลังใจ มีแรงที่จะพูดมากกว่าเดิม เพราะถ้าผมเป็นอะไรไป เพื่อน 4-5 คน ก็ต้องรู้ ขจรศักดิ์กับอารีฟก็มีปัญหากับนักโทษคนนี้เหมือนกัน
“เมื่อวันเสาร์ที่ 14 ต.ค. ช่วงเช้า ผมออกมาทำงานธุรการแดนตามปกติ เขาก็เดินเข้ามาบอกผู้ต้องขังที่ยืนข้างผมให้แปลงไฟล์ให้หน่อย เจ้าหน้าที่ก็แซวว่า อะไรนะ แปรงฟันเหรอ แล้วผู้ต้องขังที่ทำงานธุรการ 7-8 คน ก็ขำกัน ผมก็ขำด้วย
“แต่แล้วเขากลับตะโกนด่าผมคนเดียว ทุกคนในห้องก็เงียบ จากนั้นเขาก็เดินเข้ามาใกล้ผม โดยมีเจ้าหน้าที่นั่งคั่นกลางอยู่ แล้วโยนแฟ้มสีน้ำเงินที่น่าจะมีกระดาษ 30-40 แผ่น ข้ามหัวเจ้าหน้าที่มาตกตรงหน้าผม บอกให้ผมจดรายชื่อคนใหม่ให้หน่อย แล้วก็ยืนด่าผมอยู่อย่างนั้น
“พี่เชื่อไหม เจ้าหน้าที่ก็เงียบ ไม่ทำอะไรเลย ทั้งที่ผมโดนด่าอยู่ตรงหน้า เขาขู่จะทำร้ายร่างกายผมด้วยนะ พอเขาด่าผมจนพอใจก็ออกไป ทุกคนก็ออกจากแดนธุรการด้วย เพื่อนผู้ต้องขังบอกผมว่า ถ้ากูเป็นมึง กูไม่ยอมหรอก มันคุกคามกันเกินไปอะ เขาวางอำนาจกับทุกคน
“วันพุธที่ 18 ต.ค. เขาก็มาใช้ผมทำงานให้อีก ผมตอบไปว่า ไม่ทำ ก็ทะเลาะกัน อาทิตย์นั้นมีตะวัน พี่แนน และทนายตีเยี่ยม ผมก็เล่าให้ทุกคนฟัง พอวันเสาร์ที่ 21 ต.ค. หัวหน้าฝ่ายควบคุมแดน 5 ก็เข้ามาคุยกับผมเลย ทั้งที่มันเป็นวันหยุดของเขานะ แล้วเขาก็เรียกผู้ต้องขังคนดังกล่าวมาด่าต่อหน้าผม ว่ามีสิทธิอะไรไปทำแบบนั้น
“แต่ผมไม่ได้รู้สึกว่าการที่เขาเรียกมาด่าแล้วมันจบ ปัญหามันก็เหมือนเดิม เรือนจำก็มีกฎระเบียบนะพี่ ผมอยากให้กฎถูกบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน ไม่ใช่ให้ใครบางคนมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น
“วันจันทร์ที่ 23 ต.ค. เพื่อนก็มายื่นหนังสือหน้าเรือนจำ เป็นข่าวสนั่นเรือนจำเลย เขาก็รู้กันหมดว่าผมโดนอะไร ผมทำอะไรบ้าง ผู้ต้องขังคนอื่นก็ถามตลอดว่า เรื่องเป็นไงบ้าง มันจะเงียบไปเหรอ ก่อนออกมาพบทนาย ก็มีผู้ต้องขัง 3-4 คน มาจับมือผม บอกว่า ธี อย่าให้เรื่องเงียบนะโว้ย ทุกวันนี้คนคนนั้นก็ยังอยู่งานธุรการ ยังข่มเหงนักโทษคนอื่นเหมือนเดิม แค่ไม่มายุ่งกับผมเท่านั้น”
ทนายถามธีว่า เรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบกับธียังไงบ้าง ธีตอบด้วยความอึดอัดใจว่า
“ด้านร่างกายไม่มีอะไรหรอก ผมคิดว่า เขาคงไม่กล้าทำร้ายร่างกายผมจริง ๆ คือ ต่อหน้าเจ้าหน้าที่หรือผู้คุม เขาก็จะทำตัวดีทันที แต่ลับหลังก็กร่างกับผู้ต้องขังไปทั่ว แต่ด้านจิตใจอะ กระทบหนัก ผมเครียดเรื่องความปลอดภัย ในแดนมีคนมากมาย ไม่รู้ว่าใครเป็นพวกเขาบ้าง
นอกจากนี้ ธียังบอกว่า ช่วงนี้มีปัญหาเกี่ยวกับของเยี่ยมที่อยากให้ทนายช่วยเช็คให้
“รู้สึกว่าของฝากไม่ครบ ไม่รู้ว่ามันได้มาเท่านั้นหรือถูกขโมย ผมไม่แน่ใจ คือ คนข้างนอกจะฝากข้าว น้ำ แล้วก็นมมาให้ผู้ต้องขังทางการเมือง บางทีผมก็ไม่ได้นม บางทีคนอื่นก็ไม่ได้น้ำ คือถ้าเขาสั่งให้ทุกคนเท่ากัน มันก็ควรจะได้เหมือนกันใช่ไหม”
ก่อนจากกัน เขาย้ำถ้อยคำที่พูดกับทนายทุกครั้งว่า “อยากกลับบ้าน สองวันที่ผ่านมาผมหลับตา คิดถึงสถานที่ท่องเที่ยว คิดถึงบ้าน” ธีพูดทั้งรอยยิ้ม ราวกับว่าสิ่งที่เขาพูดออกมามันช่างน่าขำ แต่แววตาเศร้าสร้อย
“มันนานแล้วนะ มันเหมือนมองไม่เห็นอะไร ไม่กล้าคาดหวังอะไรเลย นอกจากรอผลอุทธรณ์เฉย ๆ มันมีอะไรที่ผมพอจะทำได้อีกไหม”
จนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566 ธีถูกคุมขังมาแล้ว 266 วัน หรือเกือบ 9 เดือน
.
“มาย” ชัยพร: เจอปัญหาของหายในแดน
มายกล่าวทักทายทนายด้วยน้ำเสียงร่าเริง เขาดูแข็งแรงดี มายบอกว่า เขาสบายดี ชีวิตในเรือนจำไม่ได้มีปัญหาอะไรนัก
“อยู่ได้ แต่ไม่อยู่ดีกว่า” มายพูดทั้งเสียงหัวเราะ อย่างไรก็ตาม เขาบอกว่าที่จริงก็มีปัญหาหนึ่ง เกี่ยวกับเรื่องข้าวของหาย
มายถามว่า เอกชัยยังอยู่ที่โรงพยาบาลใช่ไหม เมื่อทนายบอกว่าใช่ เขาก็มีท่าทีโล่งใจ
“พี่เอกชัยอยู่โรงพยาบาลก็ดีแล้ว ถ้าอยู่แดนแล้วเจ็บป่วย อยากออกมาโรงพยาบาลมันยาก ตอนนี้เรื่องป่วยไข้ก็ซาลงเยอะ แทบจะไม่มีแล้ว ไม่เหมือนก่อนหน้านี้ที่ป่วยกันเกือบหมด ผมก็ยังเหลืออาการหวัดนิด ๆ มีน้ำมูก แต่ไม่ได้ร้ายแรงอะไร”
มายสอบถามเรื่องดิจิตอลวอลเล็ตซึ่งเป็นประเด็นที่เขาสนใจ แต่ไม่ได้เห็นด้วยกับการนำเงินมาแจกให้ประชาชนเฉย ๆ แทนที่จะเอาไปใช้อย่างอื่นที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนอย่างยั่งยืน
“การแจกเงินมันไม่ค่อยดีนะ ได้มาก็หมดไป มันเป็นเงินที่ได้มาง่าย โครงการแบบนี้ทุกคนก็อยากได้กัน แต่ไม่ได้นึกเลยว่าเงินจะมาจากไหน ต้องยืมมารึเปล่า ถ้าจัดการไม่ดี อาจจะเป็นต้นเหตุที่ทำให้เกิดเงินเฟ้อได้เลยนะ พวกคนละครึ่งหรือเราชนะ มันก็มีปัญหาตามมาทั้งนั้น เดี๋ยวราคาสินค้าก็แพงขึ้น ปริมาณลดลงบ้างล่ะ น่าจะเอางบประมาณส่วนนี้ไปลงทุนในส่วนที่จะพัฒนาคุณภาพชีวิตประชาชนได้จริง ๆ มากกว่า อะไรที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจปากท้องอะ”
จนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566 มายถูกคุมขังมาแล้ว 266 วัน หรือเกือบ 9 เดือน
.
“แบงค์” ณัฐพล: ฉลองวันเกิดในเรือนจำเป็นปีที่ 2
วันนี้แบงค์นั่งรอรับโทรศัพท์ด้วยสีหน้าตึง ๆ สวมเครื่องแบบที่เป็นเสื้อแขนสั้นสีฟ้าอ่อน กางเกงขาสั้นสีดำ ผมเขายาวกว่าเดิม และเอาหน้ากากอนามัยไปคาดไว้บนหัว ท่าทางออกกวน ๆ
ทนายทักทาย แบงค์บอกว่า แม่เพิ่งมาเยี่ยมและบ่นใหญ่ ร้องไห้ด้วย เขาก็เลยรู้สึกเครียดเล็กน้อย ทนายถามถึงอาการเศร้า ๆ เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่าดีขึ้นหรือยัง แบงค์ตอบว่าน่าจะดีขึ้น เพราะเมื่อวานแฟนเพิ่งมาเยี่ยม “เราก็ผ่อนคลายขึ้นบ้าง”
แบงค์บอกกับทนายว่า วันนี้ (3 พ.ย.) วันเกิดของเขา อายุครบ 22 ปีเต็ม เสียใจที่ต้องอยู่ในนี้ แต่อยากได้ยินเสียงพลุ
ทนายอ่านข่าวเกี่ยวกับคดีของพุฒิพงศ์ สมบุญ ที่ศาลยกฟ้องทุกข้อหา หลังถูกฟ้องว่า ได้เข้าร่วมการชุมนุมของทะลุแก๊สบริเวณดินแดงและเผายางรถยนต์ 2 เส้น เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. 2565 ให้ฟัง แบงค์มีท่าทีตื่นเต้นหันกลับไปคุยกับเก่งซึ่งนั่งรออยู่ม้านั่งด้านหลัง แล้วบอกกับทนายว่า รู้สึกตื่นเต้น รู้สึกขนลุก แบงค์ขอให้ทนายอ่านให้ฟังทุกข้อความ เมื่ออ่านจบแบงค์บอกว่า “คดีของผมก็ไม่ต่าง ฝากประเด็นนี้ให้กับทนายในคดีด้วย”
แบงค์แสดงความเห็นส่วนตัวว่า “เขากำลังไล่เก็บคดี 112 แต่คดีการเมืองธรรมดา ผมมองว่า มันผ่อนคลายกว่า ผมมีลางสังหรณ์ว่า ทิศทางมันจะดี มีคนถูกปล่อยมากขึ้น เมื่อคืนก็มีคนหนึ่งมั้ง เหมือนกับข้างในมีนโยบายให้ผู้ต้องขังที่ได้รับการประกันตัว แต่ต้องมาอยู่ที่นี่เพราะไม่มีเงินประกันตัว ให้ได้รับการประกันตัว พวกบัญชีม้า ก็มีไม่ฟ้องบ้าง อะไรแบบนี้
“ตอนนี้คนมันล้น ที่แดนผมก็ 500 กว่าคนเข้าไปแล้ว”
แบงค์ยังได้ฝากบอกแฟนว่า “อยากกินข้าวไข่เจียว วันนี้วันเกิดเค้า เค้าขอให้อ้วนมีความสุขมาก ๆ เค้าจะรีบออกไปหาอ้วนนะ คำอวยพรจากเจ้าของวันเกิด”
จนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566 แบงค์ถูกคุมขังมาแล้ว 69 วัน
.
“เก่ง” พลพล: หวังเรื่องการประกันตัวเพราะมีครอบครัวต้องดูแล
ระหว่างที่พูดคุยกับแบงค์ เก่งนั่งรออยู่ตรงม้านั่งด้านหลัง สีหน้านิ่งเฉย เก่งสวมเสื้อแขนสั้นสีฟ้าอ่อน กางเกงสีดำ เช่นเดิม ผมสั้นกว่าแบงค์ เก่งกล่าวทักทายทนายมีรอยยิ้มอยู่บ้าง
เก่งถามว่า เมื่อกี้แบงค์ตื่นเต้นอะไร ทนายแจ้งเรื่องศาลยกฟ้องพุฒิพงศ์ทุกข้อหา ในคดีม็อบ 15 มิ.ย. 2565 ทนายอ่านรายละเอียดในคดีจากข่าวให้เก่งฟังอีกครั้ง เก่งบอกว่า วันที่เขาไปมอบตัวก็เป็นวันเดียวกันกับพุฒิพงศ์ รายละเอียดคดีก็คล้ายกัน
เก่งพูดด้วยท่าทีเศร้า ๆ ว่า “หวังเรื่องประกันตัวนะ ผมก็มีภาระทางครอบครัวที่ต้องออกไปดูแล บางทีก็มีคิดมากเพราะอยู่ข้างในนี้ช่วยเหลือครอบครัวไม่ได้เลย แถมยังเป็นภาระให้เขาอีก ล่าสุดแม่เข้ามาเยี่ยม เล่าให้ฟังว่า รถมอเตอร์ไซค์ของน้องถูกยึด เนื่องจากไม่มีเงินส่งงวด ผมเครียดเลย ถ้าผมอยู่ข้างนอก รถน้องก็คงจะไม่ถูกยึด ตอนนอนก็คิดมากเรื่องภาระครอบครัวนั่นนี่ ผมหวังได้ประกัน แต่ก็ไม่อยากคาดหวังเพราะกลัวเจ็บ ผมแอบหวังว่าจะได้ออกไปก่อนปีใหม่”
ทนายถามถึงวิธีการจัดการความเครียดของเก่ง เก่งบอกว่า เขาปล่อยให้ตัวเองคิดมาก คิดไปจนสุดทาง แล้วบอกกับตัวเองว่า
“ช่วงนี้แฟนผมไม่สบาย ไม่ได้มาหา 2 สัปดาห์แล้ว แต่มีเขียนจดหมายมาหาบ้าง ไม่ได้ขาดหายไป ล่าสุดแม่พาหลาน ลูกของพี่สาวมาเยี่ยม ผมเห็นแล้วผมจะร้องไห้ แต่ไม่อยากให้แม่ ให้หลานเห็นว่าอ่อนแอ ก็พยายามฝืนยิ้มไว้”
ทนายถามถึงอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ เก่งบอกว่า ตอนนี้นอนหลับเป็นปกติ แต่ก็ยังต้องกินยาอยู่ เพราะยาทำให้หลับยาว ไม่ตื่นขึ้นมากลางดึก “เมื่อวานผมไปหาหมอ ก็ขอยาเพิ่ม คือไม่ได้มีอาการอะไรหนัก แต่ผมอยากมียาไว้กินมากหน่อย” เก่งพูดยิ้ม ๆ ส่วนเรื่องร่างกายปกติ ไม่มีไข้ ไม่มีหวัด แข็งแรงดี
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2566 ทนายความได้ยื่นประกันตัวเก่งอีกครั้ง ต่อมา วันที่ 4 พ.ย. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งอนุญาตให้ประกันโดยให้ติด EM ซึ่งญาติจะได้เดินทางมาทำสัญญาประกันในวันที่ 6 พ.ย. 2566 คาดว่าเก่งจะได้รับการปล่อยตัวในช่วงเย็น รวมเวลาถูกคุมขังระหว่างอุทธรณ์ทั้งสิ้น 69 วัน
.
“ดั๊ก” สุขสันต์: เริ่มกลับมาป่วยอีกรอบ
ดั๊กทักทายทนายและพูดถึงสุขภาพของตัวเองว่า เริ่มกลับมาเจ็บคออีกแล้ว “คราวที่แล้วที่ผมเล่าว่า ท้ายห้องเริ่มป่วยกัน 4 คน ตอนนี้กลาง ๆ ห้องก็เริ่มป่วยแล้ว ผมยังหายดีได้ไม่ถึงครึ่งเดือนเลย เหมือนจะต้องป่วยอีกแล้ว เมื่อเช้าเริ่มครั่นเนื้อครั่นตัว ก็เลยงดออกกำลังกาย” อย่างไรก็ตาม ดั๊กบอกว่ายังมียาแก้แพ้ที่เก็บไว้จากรอบที่แล้วอยู่ เลยยังพอมียากิน
“ตอนนี้เหลืออยู่ 6 เม็ด เพราะครั้งก่อนได้ยามาตอนที่หายป่วยแล้วก็เลยเก็บไว้เพราะขอยายากมาก” ดั๊กยังบอกอีกว่า
ช่วงนี้ดูเหมือนยาพาราจะหายากในเรือนจำ โดยน่าจะขายกันเม็ดละ 10 บาทเลยทีเดียว เขายังเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำช่วง เสาร์-อาทิตย์ (28-29 ต.ค.) ที่ผ่านมาว่า มีฝนตกหนักจนน้ำท่วมข้างใน
“เหมือนน้ำในท่อมันระบายไม่ทัน น้ำเน่าในท่อมันก็เจิ่งนองขึ้นมา นานหลายชั่วโมงเลย จนขึ้นห้องแล้วก็ยังไม่ลดเลย”
เมื่อทนายถามว่า เขาอ่านหนังสืออะไรอยู่ สุขสันต์บอกว่า ตอนนี้ยืมการ์ตูนมาอ่าน เพราะอ่านเรื่องผีหมดแล้ว
“ไม่รู้จะอ่านอะไรเลย ที่นี่ (เรือนจำกลางคลองเปรม) หนังสือดูน้อยกว่าที่พิเศษ (เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ)” สุขสันต์ยังแนะนำให้ทนายไปอ่านเรื่องผีมาด้วย บอกว่าสนุก “พอพี่อ่านแล้วค่อยเข้ามาเล่าให้ผมฟัง”
จนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566 ดั๊กถูกคุมขังมาแล้ว 54 วัน
.
“บุ๊ค” ธนายุทธ: ในห้องขังไม่มีน้ำล้างตรงส้วม ต้องตักน้ำจากที่อาบน้ำด้วยถุงพลาสติก
เมื่อเจอหน้าทนาย บุ๊คก็เริ่มเล่าเรื่องที่แฟนของเขาช่วยมาร้องเรียนเรื่องเสื้อผ้าที่หายไปในเรือนจำ บุ๊คบอกว่า การเรียกร้องสิ่งต่าง ๆ เองจากในเรือนจำ ‘คืบหน้าช้ามาก ๆ’ แต่พอมีความเคลื่อนไหวจากข้างนอก จะมีการแก้ปัญหาไวมาก
“เหมือนที่เพื่อน ๆ มาเรียกร้องทวงสิทธิให้ผู้ต้องขัง จากแต่ก่อนกว่าจะขอยาได้ต้องรอแล้วรออีก แต่พอเพื่อน ๆ มา มีการแจกยาเลย ซึ่งจริง ๆ เจ้าหน้าที่ข้างในรู้ปัญหาหมด แต่เลือกที่ไม่สนใจ ยิ่งแดน 6 เป็นแดนวินัย คือจะเป็นแดนที่มีแต่ผู้ต้องขังที่ทำผิดวินัยส่งมาที่นี่ ทุกคนจะรู้กันว่าแดนนี้แย่สุด” บุ๊คแสดงความเห็น
“เมื่อวานผมซื้อเสื้อกีฬาสีขาวมาใหม่ ก็เลยสกรีนเสื้อด้วยข้อความว่า ‘ที่นี่ไม่มีเสรีภาพและความเท่าเทียม lll’ แล้วแขวนไว้ เจ้าหน้าที่เห็นก็เดินมาคุยกับผมว่า สกรีนเสื้อแบบนี้ได้ไง สกรีนอย่างนี้มันสร้างความเกลียดชัง สร้างความขัดแย้ง อยู่ที่นี่ต้องทำตามกฎ เขาใช้คำว่ามึง กู ไอ้เหี้ยเลย แล้วเขาก็เรียกคนที่สกรีนเสื้อมาคุยด้วยว่า ทำไมไม่ปรามด้วย จริง ๆ แล้วในเรือนจำมันสกรีนข้อความกันหยาบคายเยอะ เช่น ไอ้ค-ยขโมยจังว่ะ สกรีนชื่อบ้าน (คล้าย ๆ กับสังกัด) แต่พอเป็นข้อความเกี่ยวกับการเมืองเขาก็มีปัญหาเลย แล้วเขาก็เรียกพี่เอ (กฤษณะ) มาคุมให้ลบออก”
บุ๊คบอกว่า ตอนนี้เขารู้สึกว่าถูกจับตามองมากขึ้น และรู้สึกเหมือนตัวเองโดนกดดันมาก ๆ
“อย่างตอนเพลงสรรเสริญขึ้น ผมจะไม่ยืน แต่ถูกกดดันจากเพื่อนร่วมห้อง เพราะตอนอยู่ชั้นบน ผมไม่ยืน เจ้าหน้าที่ก็ทำโทษทั้งห้อง ทำให้เพื่อน ๆ ร่วมห้องกดดันผมทางอ้อม ตอนผมยืน ผมยืนแบบทิ้งขา เพื่อนก็บอกว่า ทำไมยืนนักเลงจัง ยืนตรง ๆ ดี ๆ ไม่ได้หรอ ผม มาย พี่เอ เราก็ต้องจำใจยืนกัน
“เมื่อสองวันก่อน มีคนที่เค้าสติไม่ค่อยดี เขาไม่ได้ยืนเพลงสรรเสริญ เพื่อน ๆ ในห้องก็ไปจับเขายืน หรือบางคนสวดมนต์ยังไม่จบ แต่เพลงสรรเสริญขึ้นก่อน เขาก็ไปบังคับให้ยืน ผมว่ามันเกินไป กลายเป็นว่าพวกเราต้องยืนเพลงสรรเสริญ เพราะถ้าไม่ยืนเพื่อนร่วมห้องจะซวย โดนทำโทษไป ถ้าเราไม่ทำตามเพื่อน เราก็อยู่กับเพื่อนไม่ได้”
บุ๊คบอกอีกว่า ตั้งแต่เพื่อนมาเรียกร้องเรื่องสิทธิของผู้ต้องขัง ในนี้ก็มีความเปลี่ยนแปลงขึ้น แต่จริง ๆ เขาต้องการให้กระทรวงยุติธรรมหรือผู้มีอำนาจเกี่ยวข้องมาตรวจสอบทุก ๆ แดน ทุกภาคส่วน โดยเฉพาะเรื่องสุขอนามัยและฝุ่น
“ตรงนี้แก้ไม่ได้สักที และผมก็คิดว่าเขาคงไม่แก้ ถ้าไม่มีการเคลื่อนไหวจากข้างนอก อย่างเรื่องผ้าห่มที่ผมเคยเล่าให้ฟัง บางคนใช้ของปี 60 เลย ทั้ง ๆ ที่เรื่องพวกนี้มันจัดการได้เลย ตอนผมย้ายลงมาเป็นผู้ช่วยงาน ผมได้ฟูกนอนหนาประมาณ 1 นิ้ว ผมรู้สึกว่า มันเป็นสิทธิที่ทุกคนควรได้เหมือนกันอย่างเท่าเทียม ไม่เข้าใจว่าเขาจะเก็บไว้ทำไม
“มันควรเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ผู้ต้องขังได้รับทุกคน มันทำให้เห็นว่า ความเท่าเทียมที่นี่ไม่มีเลย ความไม่เท่าเทียมมันชัดมาก ๆ แม้แต่เรื่องญาติมาเยี่ยม คนไหนที่ไม่มีญาติ ไม่มีทนายมาเยี่ยมจะถูกรังแกได้ง่าย ทั้งจากผู้คุมและนักโทษด้วยกัน”
บุ๊คยังเล่าเกี่ยวกับการร้องเรียนในเรือนจำต่อไปว่า “วันก่อนมันมีคนไปร้องเรียน ผู้คุมมาประกาศออกไมค์หน้าเสาธงเลยว่า มีอะไรอย่าร้องเรียนนะ ใครไปร้องเรียน กูขอให้ญาติมันรถคว่ำตาย ผมตกใจในคำพูดเขามาก ผมมองว่า เขาร้องเรียน คุณก็แค่พิสูจน์ว่ามันไม่จริง คุณเป็นถึงเจ้าหน้าที่มีอำนาจเหนือกว่าพวกผมอยู่แล้ว
“คือเวลามีคนร้องเรียน เจ้าหน้าที่ก็ชอบมาบอกว่า ทำไมไม่มาคุยกันก่อน ก็เคยไปคุยแล้วมันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่พอร้องเรียนแล้วมันเห็นผลไง ยิ่งเรื่องไปถึงข้างนอก มีการร้องเรียนเข้ามา จะได้รับการแก้ไขไวมาก มีเจ้าหน้าที่บางคนพูดว่า ‘ผมอยู่มา 20-30 ปี ไม่เห็นมีใครมาร้องเรียนต่อหน้า’ คือพูดมาได้ไง เจ้าหน้าที่ที่นี่รู้ปัญหาหมดแหละ แต่เลือกที่จะเพิกเฉย”
บุ๊คบอกว่า ที่แดน 6 มีสิ่งที่เขาเห็นว่าเป็นปัญหามาก ๆ คือเรื่องการไม่มีน้ำในบล๊อกขับถ่าย ทำให้ต้องเอาถุงซื้อของไปใส่น้ำจากบล๊อกอาบน้ำมาล้าง ซึ่งส่งผลต่อสุขอนามัยของผู้ต้องขังเป็นอย่างมาก
เขายังบอกว่าที่ผ่านมาเคยถูกเรียกเข้าไปคุยเกี่ยวกับการเคลื่อนไหวผ่านโซเชียลมีเดียอีกด้วย
“เจ้าหน้าที่บอกว่า ขอได้มั้ยอย่าบอกญาติ ขอให้ลบโพสต์บ้าง เขาพูดถึงด้วยว่า ของแดน 4 แดน 5 ก็มีการโพสต์ ผมมองการกระทำแบบนี้เป็นการคุกคามนะ ที่ผ่านมาเรื่องจดหมาย Domimail ผมก็ถูกควบคุมแล้ว บางอันส่งไม่ได้ก็แก้ไขให้ตลอด แต่เรื่องพูดคุยกับญาตินี่จะควบคุมอะไรอีก
“อย่างเรื่องยา ที่เป็นปัญหาขาดแคลน พอมีเรื่องออกไปข้างนอก คุณก็แจกยาได้ทันที ปัญหาที่มี เจ้าหน้าที่รู้หมดแต่ไม่แก้ไข ถ้าไม่ร้องเรียนก็ไม่มีความเปลี่ยนแปลง จะมาบอกไม่ให้บอกญาติได้ยังไง”
บุ๊คทิ้งท้ายว่า “ตอนนี้กำลังใจยังดีอยู่ ขอบคุณทุกคนที่คอยติดตาม คอยช่วยเหลือเพื่อนในเรือนจำ อาหารที่ส่งมาได้รับตลอด และเป็นกำลังใจดีมาก ๆ การได้กินดี ๆ มันเยียวยาเราได้ดีเลย”
จนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566 บุ๊คถูกคุมขังมาแล้ว 46 วัน
.
สุดใจ: จากคนทำกิจกรรมยืนหยุดขังสู่การเป็นผู้ต้องขัง “อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน สู้จนกว่าพี่น้องเราจะได้รับความยุติธรรม”
ทนายบอกว่าวันนี้ (31 ต.ค.) ทนายได้เจอสุดใจโดยไม่ผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์เป็นครั้งแรก โดยสุดใจอยู่ในชุดเสื้อแขนสั้นสีฟ้าออกเข้ม กางเกงขาสั้นสีดำ ผิวคล้ำดูกร้านแดดและลมตามแบบคนทำงานหนักมาทั้งชีวิต แต่ใบหน้าเปื้อนยิ้มแทบจะตลอดเวลาของการพูดคุย
สุดใจเล่าให้ฟังว่า เพิ่งได้ลงไปข้างล่าง (พ้นจากช่วงกักตัว) เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา ส่วนเรื่องห้องนอนได้ย้ายจากห้องเดิมที่เป็นห้องกักโรคไปห้องที่ 4 แล้ว ตอนนี้คนในห้องมีราว ๆ 37-38 คน ยังไม่ค่อยแออัด แต่คิดว่าถ้าถึง 40 คน น่าจะอึดอัด สุดใจต้องนอนใกล้ห้องน้ำ โดยปลายเท้าจรดห้องน้ำ เวลามีคนเข้าห้องน้ำ สุดใจต้องพับขาและที่นอนเข้าครึ่งหนึ่ง เพื่อให้คนอื่นสามารถเข้าห้องน้ำได้ “ตอนดึก ๆ คนไม่ค่อยเข้าห้องน้ำก็ค่อยสบายขึ้น นอนโดยไม่พะวงได้”
เรื่องอาหารการกิน เขาบอกว่านาน ๆ จะกินที่โรงเลี้ยงของทางเรือนจำเพราะรสชาติอาหารจืด ๆ เป็นน้ำต้มผัก นาน ๆ จะเจอเนื้อสักชิ้น ต้องอาศัยซื้อพริกน้ำปลา น้ำพริกแมงดา หรือน้ำพริกตาแดง มาปรุงกินอีกทีถึงจะกินได้ แต่ดีที่มีอาหารจากข้างนอกส่งเข้ามาให้
“อาหารจะทยอยส่งเข้ามา มาถึงตอนเที่ยง ๆ หรือบางวันก็ช่วงบ่าย เราก็เอาไปกินได้เลย จะขึ้นไปกินบนโรงนอนก็ได้ มีถ้วยชามที่เป็นของใช้ส่วนตัว ถ้ากินเสร็จก็ล้างแล้วเอาลงมาใส่ไว้ล็อคเกอร์เช่นเดิม กุญแจล็อคเกอร์ก็ไปซื้อมาแล้ว”
สุดใจเล่าว่า อยู่ที่แดน 1 นี้ได้รู้จักกับนักโทษทางการเมืองอยู่คนหนึ่งเป็นคนเสื้อแดง ถูกจับเมื่อปี 59 แต่เหตุการณ์ที่โดนตั้งแต่ปี 53 ข้อหา ครอบครองอาวุธสงคราม มีระเบิด มีปืน น่าจะอยู่ที่นี่มา 3-4 ปี แล้ว และน่าจะพ้นโทษพร้อม ๆ กับเขา “ก็คุยกันถูกคอ มีเพื่อนทำให้คลายเหงาได้บ้าง”
สุดใจยังบอกว่า เขาสบายดี ทุกคนไม่ต้องห่วง ร่างกายก็แข็งแรงดี ไม่มีปวดหัว ตัวร้อน หรือนอนไม่หลับ ไม่ได้มีความเครียดอะไร “ก็อยู่ไปเรื่อย ๆ ส่วนอาการกรดไหลย้อนก็ดีขึ้น อาจจะเพราะกินอาหารตรงเวลามากขึ้น”
สุดใจเล่าว่า เขาไปทำกิจกรรมหน้าศาลอาญาเสมอ “หลังเลิกงาน 5 โมงเย็น ก็จะออกจากร้านขายเกลือ นั่งรถเมล์ไป บางวันรถติดมากก็ไปไม่ทัน เพราะรถเมล์ต้องผ่านอนุสาวรีย์ชัยฯ ก่อน กิจกรรมส่วนใหญ่จะเริ่มบ่ายสาม ถึงทุ่มนึงก็เลิก
“บางวันมีคนเข้าร่วมกิจกรรมเป็นสิบ แต่บางวันก็มีเฉพาะพวกผม 3-4 คน ก็ทำกิจกรรมกันไป ในกิจกรรมก็จะมีเปิดเพลง เล่นไปเรื่อย ๆ พอหกโมงเย็นจะถือป้าย และอ่านบทกวีเกี่ยวกับปล่อยเพื่อนเรา จากนั้นจะพูดพร้อมกันว่า ปล่อยเพื่อนเรา คืนสิทธิประกันตัว ยกเลิก 112 เสร็จแล้วก็แยกย้ายกันกลับ ผมก็นั่งรถเมล์กลับ ทำอยู่แบบนี้ วันเสาร์อาทิตย์ที่ผมหยุดงาน ผมกับพวกลุงดอน ขุนแผนก็มาทำกิจกรรมนี้ที่หน้าศาลอาญาเหมือนเดิม
สุดใจบอกว่า เขาไม่เคยอาย แม้บางวันจะมีคนมาร่วมกิจกรรมน้อย “เวลาไปทำกิจกรรมกันอยู่ 3-4 คน ผมไม่อาย ผมอยากจะเปิดให้คนรู้ไปเลยว่า กระบวนการยุติธรรมมันเป็นอย่างไร ถ้าผมยังอยู่ข้างนอกผมก็ยังจะทำอยู่”
สุดใจฝากบอกคนข้างนอก นักสู้คดีการเมืองทุกคน ลุงดอนและขุนแผนว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น อุดมการณ์ไม่เปลี่ยน สู้จนกว่าพี่น้องเราจะได้รับความยุติธรรม สู้ต่อไป เราจะไม่ยอมแพ้”
ก่อนจบการสนทนา สุดใจฝากขอบคุณกองทุนราษฎรประสงค์และทีมคนจัดการที่ทำให้การใช้ชีวิตในเรือนจำไม่ลำบากและไม่โดดเดี่ยว
จนถึงวันที่ 6 พ.ย. 2566 สุดใจถูกคุมขังมาแล้ว 26 วัน