ศาลฎีกาพิพากษายืน กักขัง 1 เดือน “ไบรท์ ชินวัตร” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุปราศรัยหน้าศาล 29 เม.ย. 64

26 มี.ค. 2567  ศาลอาญานัดฟังคำสั่งของศาลฎีกาในคดีของ “ไบรท์”​ ชินวัตร จันทร์กระจ่าง นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี ซึ่งถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากเหตุปราศรัยหน้าศาลอาญาเมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 คดีนี้ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้กำหนดโทษใหม่เป็นกักขัง 1 เดือนแทน ก่อนชินวัตรจะยื่นฎีกาคำพิพากษาและศาลกำหนดนัดฟังคำสั่งในวันนี้ 

ศาลฎีกาพิพากษายืนตามศาลชั้นอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 1 เดือน โดยเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นระยะเวลา 1 เดือน

คดีนี้มี ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา คำกล่าวหาบรรยายว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน ได้รวมตัวกันมาทํากิจกรรมยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัฒน์” ที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา โดยมีชินวัตรเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา”และข้อความต่าง ๆ อยู่เป็นระยะ ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา

ชินวัตรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ก่อนศาลนัดไต่สวนในช่วงเช้าของวันที่ 8 มิ.ย. 2564 กระทั่งเวลาประมาณ 14.20 น. ของวันเดียวกัน ศาลมีคำสั่งว่าชินวัตรมีความผิดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 30-33 ลงโทษจำคุก 4 เดือน ไม่รอลงอาญา ต่อมา ศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัว

>>> อ่านบันทึกการไต่สวนคดี ลงโทษจำคุก 4 เดือน “ไบรท์ ชินวัตร” คดีละเมิดอำนาจศาล เหตุปราศรัยหน้าศาลอาญา 29 เม.ย. 64 แต่ไม่ถอนประกันคดี 19 กันยาฯ

ต่อมา ชินวัตรได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ก่อนศาลอุทธรณ์นัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 2 มิ.ย. 2565 ศาลอุทธรณ์เห็นว่าบทลงโทษที่ศาลชั้นต้นเคยพิพากษาจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญานั้นสูงเกินไป จึงให้กำหนดบทลงโทษใหม่ เป็นให้ลงโทษจำคุก 1 เดือน โดยเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นระยะเวลา 1 เดือน ก่อนอนุญาตให้ประกันตัวชินวัตรในชั้นฎีกา

ต่อมา ชินวัตรได้ยื่นคำร้องฎีกาคำพิพากษาต่อศาลฎีกา ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษาในวันนี้

เวลา 09.45 น. ที่ห้องพิจารณา 712 ไบรท์ถูกคุมตัวมาด้วยชุดนักโทษสีน้ำตาล เท้าเปล่า และมีเครื่องพันธนาการคือกุญแจข้อเท้า โดยในวันนี้ภรรยาและลูกทั้งสองคนของเขาได้เดินทางมาให้กำลังใจที่ศาลด้วย ชินวัตรได้ใช้เวลาพูดคุยกับครอบครัวอยู่สักระยะหนึ่ง ก่อนที่ศาลจะออกพิจารณาคดีในเวลา 10.25 น. 

ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา สรุปใจความสำคัญได้ว่า คดีนี้มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาว่า การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเป็นการใช้เสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น และเป็นการกระทำที่เกิดนอกห้องพิจารณา มิได้เกิดขึ้นต่อหน้าศาลที่พิจารณาคดีแต่อย่างใด และผู้ถูกกล่าวหามิได้ประพฤติตนไม่เรียบร้อยในระหว่างการพิจารณาหรือภายในศาล การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงไม่เป็นความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

เห็นว่า ในชั้นอุทธรณ์ ศาลพิพากษาว่า แม้การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาเกิดนอกห้องพิจารณา มิได้เกิดต่อหน้าศาล แต่ถ้อยคำที่ผู้ถูกกล่าวหาปราศรัยนั้นมีการใส่ความ ก้าวร้าว หยาบคาย ดูหมิ่น เหยียดหยาม ข่มขู่แสดงความอาฆาตมาดร้ายต่อศาลโดยปราศจากหลักฐาน ถือเป็นเรื่องร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและทำให้ประชาชนขาดความเชื่อถือต่อศาลยุติธรรม การกระทำของผู้ถูกกล่าวหาจึงเป็นการประพฤติตนไม่เรียบร้อยในบริเวณศาลแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่ผู้ถูกกล่าวหาฎีกาว่า คดีนี้ ผู้ถูกกล่าวหาถูกดำเนินคดีเช่นเดียวกับคดีอาญา ผู้กล่าวหาได้ขอนับโทษต่อ และศาลอาญาได้ดำเนินกระบวนพิจารณาดังเช่นกระบวนพิจารณาคดีอาญา บทบัญญัติเรื่องละเมิดอำนาจศาลมีโทษจำคุก อันเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพของบุคคลเฉกเช่นเดียวกับบทลงโทษในคดีอาญา ถูกกล่าวหาจะต้องถูกดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานอื่นร่วมด้วยในการกระทำเดียว ดังนั้นผู้ถูกกล่าวหาจึงอาจถูกลงโทษทางอาญาซ้ำจากการกระทำครั้งเดียว เป็นการลงโทษซ้ำซ้อน

เห็นว่า ความผิดฐานละเมิดอำนาจศาลเป็นความผิดต่อศาลซึ่งกฎหมายให้ศาลมีอำนาจพิเศษ ในการลงโทษโดยไม่ต้องมีผู้ใดร้องขอหรือเป็นโจทก์ฟ้อง ส่วนคดีที่ผู้ถูกกล่าวหาถูกฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง ข้อหาดูหมิ่นศาลนั้น เป็นคนละเรื่องคนละประเด็นกับคดีละเมิดอำนาจศาล ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่จำเลยฎีกาให้ศาลลงโทษสถานเบาเนื่องจากเป็นโทษที่สูงเกินกว่าเหตุนั้น เห็นว่า จำเลยมีการปราศรัยโจมตีด้วยถ้อยคำหยาบคาย ซึ่งถือเป็นเรื่องร้ายแรง ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นและทำให้ประชาชนขาดความน่าเชื่อถือต่อศาลยุติธรรม การที่ศาลอุทธรณ์ได้กำหนดบทลงโทษใหม่ โดยเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นระยะเวลา 1 เดือน นับว่าเป็นคุณต่อผู้ถูกกล่าวหามากแล้ว

พิพากษายืนตามศาลอุทธรณ์ ลงโทษจำคุก 1 เดือน โดยเปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นระยะเวลา 1 เดือน

ภายหลังจากการอ่านคำพิพากษา ศาลได้แจ้งให้ชินวัตรได้ใช้เวลาอยู่กับภรรยาและลูกทั้งสองอีกสักระยะ เจ้าหน้าที่จึงอนุญาตให้ชินวัตรได้พูดคุยกับครอบครัวอีกราว 5 นาที ก่อนจะคุมตัวเขาออกไป

ปัจจุบัน ชินวัตรถูกคุมขังอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เป็นเวลา 27 วันแล้ว หลังศาลอาญาได้พิพากษาจำคุกชินวัตร 3 ปี ในคดีมาตรา 112 เมื่อวันที่ 29 ก.พ. 2567 ที่ผ่านมา

อย่างไรก็ตาม ผลจากคำพิพากษาในวันนี้อาจทำให้ชินวัตรถูกย้ายตัวจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปรับโทษกักขังในสถานที่อื่น ได้แก่ สถานกักขังจังหวัดปทุมธานี เนื่องจากคดีนี้ได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว แต่ยังต้องติดตามการย้ายตัวต่อไป 

ทั้งนี้ สำหรับคดีมาตรา 112 ของชินวัตร ที่เขาเปลี่ยนคำให้การเป็นรับสารภาพ ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาออกมาทั้งหมด 5 คดีแล้ว โดยมี 1 คดีที่ศาลพิพากษาให้รอลงอาญา ขณะที่อีก 4 คดี ศาลลงโทษจำคุกโดยไม่รอลงอาญาทั้งหมด ได้แก่ คดีชุมนุม #2ธันวาไปห้าแยกลาดพร้าว ลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีชุมนุม #25พฤศจิกาไปSCB ลงโทษจำคุก 3 ปี, คดีปราศรัยหน้า สน.บางเขน ลงโทษจำคุก 1 ปี 6 เดือน และคดีชุมนุม #ม็อบ29พฤศจิกา63 “ปลดอาวุธศักดินาไทย” ลงโทษจำคุก 3 ปี 

หากนับโทษจำคุกในสี่คดีที่ไม่รอลงอาญานี้ ชินวัตรมีโทษจำคุกจากคำพิพากษา รวม 10 ปี 6 เดือน แต่ทั้งนี้ในแต่ละคดีจะมีการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

X