ศาลฎีการับคำร้องขอฎีกาของ “ไบรท์ ชินวัตร” ชี้ข้อหาละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติพิเศษ ไม่ใช่ความผิดอาญาทั่วไป จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิอุทธรณ์ – ฎีกา

วันที่ 23 พ.ค. 2566 เวลา 09.30 น. ศาลอาญานัดฟังคำสั่งของศาลฎีกาในคดีของ “ไบรท์ — ชินวัตร จันทร์กระจ่าง” นักกิจกรรมในจังหวัดนนทบุรี ถูกกล่าวหาในข้อหาละเมิดอำนาจศาล จากเหตุปราศรัยหน้าศาลอาญา เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 2564 โดยในคดีนี้ศาลชั้นต้นเคยมีคำพิพากษาจำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา และต่อมาศาลอุทธรณ์ได้กำหนดโทษใหม่เป็นกักขัง 1 เดือนแทน ก่อนให้ประกันตัวระหว่างฎีกา

คดีนี้มี ชวัลนาถ ทองสม ผู้อำนวยการสำนักอำนวยการประจำศาลอาญา เป็นผู้กล่าวหา คำกล่าวหาบรรยายว่า เมื่อวันที่ 29 เม.ย. 64 กลุ่ม “แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ประมาณ 300 คน ได้รวมตัวกันมาทํากิจกรรมยื่นจดหมาย “ราชอยุติธรรม” พร้อมทั้งยืนอ่านกลอน “ตุลาการภิวัฒน์” ที่บริเวณบันไดทางขึ้นศาลอาญา โดยมีชินวัตรเข้าร่วมชุมนุมและปราศรัยผ่านเครื่องขยายเสียง พร้อมทั้งตะโกนข้อความ “ปล่อยเพื่อนเรา”และข้อความต่างๆ อยู่เป็นระยะ ทําให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยภายในศาลอาญา

เวลา 09.45 น. ที่ห้องพิจารณาคดี 712 ไบรท์เดินทางมาถึงห้องพิจารณาพร้อมครอบครัว และทนายความ ซึ่งศาลได้ขึ้นพิจารณาคดี ก่อนอ่านคำสั่งของศาลฎีกา สรุปใจความสำคัญได้ว่า ตามที่ศาลชั้นต้นได้เคยมีคำพิพากษาให้จำคุก 4 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ต่อมาศาลอุทธรณ์ได้กำหนดโทษใหม่เป็นลงโทษจำคุก 1 เดือน โดยให้เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นโทษกักขังแทน เป็นระยะเวลา 1 เดือนนั้น

ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วว่า บทบัญญัติมาตรา 31 และมาตรา 33 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นบทบัญญัติให้อำนาจศาลลงโทษผู้กระทำความผิดฐานละเมิดอำนาจศาล

แม้ว่ามาตรา 33 กำหนดบทลงโทษให้จำคุกและปรับซึ่งเป็นโทษทางอาญาด้วยก็ตาม แต่บทบัญญัติในเรื่องละเมิดอำนาจศาลเป็นบทบัญญัติพิเศษไม่เกี่ยวกับการลงโทษผู้กระทำผิดทางอาญาทั่วไป จึงไม่อยู่ในข้อบังคับการจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์และฎีกา ทั้งไม่ใช่ในกรณีที่การฎีกาจะอนุญาตให้ทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตให้ฎีกาจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ จากผู้พิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ จึงให้ยกคำร้องของผู้กล่าวหาและให้รับฎีกาของผู้ถูกกล่าวหาไว้พิจารณา ให้ศาลชั้นต้นดำเนินการต่อไป

กล่าวโดยสรุปคือ ศาลฎีกาเห็นว่าในข้อหาละเมิดอำนาจศาลนั้นเป็นบทบัญญัติพิเศษ ไม่ใช่ฐานความผิดทางอาญาทั่วไป จึงไม่ถูกจำกัดสิทธิในการอุทธรณ์หรือฎีกาตามวิธีพิจารณาความอาญา และไม่ใช่กรณีที่ต้องได้รับอนุญาตจากผู้พิพากษาศาลชั้นต้น – อุทธรณ์ก่อนจึงจะยื่นฎีกาได้ ทำให้คำร้องของผู้กล่าวหาที่โต้แย้งว่าการยื่นคำร้องฎีกาของไบรท์ไม่สามารถทำได้นั้นถูกยกคำร้องไป โดยศาลฎีกาได้มีคำสั่งอนุญาตให้ยื่นคำร้องฎีกาได้ และให้รับคำร้องของผู้ถูกกล่าวหาไว้ และต้องรอฟังผลคำพิพากษาของศาลฎีกาต่อไป

X