เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 2567 ทนายความเดินทางไปที่ทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์เพื่อเข้าเยี่ยม “บุ้ง – เนติพร” นักกิจกรรมกลุ่มทะลุวัง ซึ่งขณะอยู่อดอาหารและจำกัดการดื่มน้ำเพื่อประท้วงตาม 2 ข้อเรียกร้องเข้าสู่วันที่ 48 แล้ว ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค. 2567
การประท้วงครั้งนี้บุ้งมี 2 ข้อเรียกร้องด้วยกัน ได้แก่
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
การประท้วงครั้งนี้เริ่มต้นภายหลังจากบุ้งถูกสั่งจำคุกในวันที่ 26 ม.ค. 2567 ใน 2 กรณีด้วย
- ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งจำคุก 1 เดือนในคดีละเมิดอำนาจศาล กรณีบุ้งวิวาทกับ รปภ.
- ศาลอาญากรุงเทพใต้สั่งถอนประกันในคดีมาตรา 112 ทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ
การถูกสั่งคุมขังอีกครั้งด้วย 2 กรณีข้างต้น ทำให้บุ้งรู้สึกว่าตนเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรมและผู้มีอำนาจยังคงใช้กฎหมายปิดปากประชาชนด้วยการสั่งคุมขังอีกครั้ง ต่อมาเธอจึงอดอาหารและน้ำเพื่อประท้วง เมื่อผ่านไประยะหนึ่งเธอถูกพาตัวไปที่ รพ.ราชทัณฑ์ ก่อนจะถูกส่งตัวไปยัง รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ จนถึงปัจจุบัน
ปัจจุบัน แม้ผ่านมากกว่า 1 เดือนแล้ว แต่บุ้งยังคงอดอาหารประท้วงต่อไป และได้ตัดสินใจจิบน้ำในปริมาณที่จำกัดร่วมด้วย ท่ามกลางสภาพร่างกายที่ยังไม่สู้ดีและน่าเป็นกังวล อาทิ อ่อนเพลียมาก ซูบผอม รู้สึกพะอืดพะอม เวียนหัว แร่ธาตุโพแทสเซียมในเลือดต่ำ รวมถึงค่าความเป็นปกติต่าง ๆ ของร่างกายหลายอย่างไม่เป็นไปสภาพปกติ
ในวันนี้บุ้งได้ฝากข้อความออกมาเผยแพร่สาธารณะเกี่ยวกับเจตนารมณ์ที่จะยังเดินหน้าประท้วงต่อไปและเชิญชวนประชาชนทุกคนที่เห็นด้วยกับการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมลุกขึ้นเรียกร้องไปด้วยกัน ซึ่งเธอได้ฝากข้อความออกมา ดังนี้
จดหมายจาก ‘บุ้ง’ : ‘ไม้ซีก’ งัด ‘ไม้ซุง’ แห่งความอยุติธรรม
สวัสดีค่ะ ‘บุ้ง’ นะคะ นี่ก็ล่วงเลยมาเป็นเดือนแล้วที่บุ้ง ตะวัน และแฟรงค์ต้องเอาชีวิตเข้าแลก เพราะเราอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในประเทศที่เรารัก
ตั้งแต่เล็กจนโต การเป็นลูกสาวตุลาการของบุ้ง ทำให้บุ้งได้รับรู้ว่าประเทศนี้ไม่ได้มีอยู่เพื่อให้ความยุติธรรมกับประชาชนคนตัวเล็ก ๆ เอาเสียเลย จนถึงตอนนี้ทุกอย่างชัดเจน ไม่ต้องเป็นลูกผู้พิพากษาก็คงเห็นว่ากระบวนการยุติธรรมนี้ล้มเหลวขนาดไหน การมีอยู่ของพวกเขาไม่เคยดำเนินไปเพื่อประชาชน แต่กลับตั้งอยู่เพื่อพวกผู้มีอำนาจ และคนไม่กี่กลุ่มในประเทศอย่างหน้าไม่อาย พวกเขาคิด พวกเขาทำกันอย่างโจ่งแจ้ง ไม่อายสายตาประชาชน แล้วจะให้เราอยู่เฉย ๆ ได้ยังไง
แค่ตั้งคำถามก็ติดคุก แค่บีบแตรก็ติดคุก
ถ้ากล้าทำกันขนาดนี้โดยไม่อายสายตาชาวโลก ทำไมไม่สั่งประหารกันเลยล่ะคะ พวกคุณอยากกำจัดเราอยู่แล้ว รัฐประหารเวลาชีวิตของเราด้วยนิติสงคราม ขโมยอนาคตไปจากพวกเรา สั่งฆ่า สังหารหมู่ คน 6 ตุลาฯ คนเสื้อแดงพวกคุณก็ทำมาแล้ว
ถ้าไม่ยอมปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมให้พวกเราก็เอาชีวิตพวกเราอีก 3 คนเลย พวกเรายินดีแลก
เพราะถ้าไม่สู้ก็อยู่อย่างทาส บุ้งไม่ขอเป็นทาส ไม่ว่าจะชาตินี้หรือชาติไหน ขอตายอย่างที่เราได้เลือก ตายอย่างมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์
สังคมไทยมักเป็นแบบนี้เสมอ บอกให้คนที่สู้เลิกสู้ เพราะประชาชนก็ไม่เชื่อมั่นในตัวเองว่าจะสามารถต่อกรกับรัฐเผด็จการได้ แทนที่จะบอกให้คนที่กล้าหาญเลิกสู้ ควรหันมาถามตัวเองดีกว่าไหมว่า ‘ทำไมไม่ลุกขึ้นสู้กับความไม่ยุติธรรม’ ทำไมถึงเลือกที่จะเมินเฉย
เขากล่าวหาว่าบุ้ง ตะวัน และแฟรงค์เป็นแค่ ‘ไม้ซีกงัดไม้ซุง’ ก็ขอให้ ‘ไม้ซีก’ ทั้งหลายที่ยังไม่ยอมแพ้ลุกขึ้นมาสู้ให้มีการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรมเกิดขึ้นให้ได้ ให้รู้กันไปเลยว่า ไม้ซีกแบบพวกเราเมื่อรวมกันก็สามารถเผาไม้ซุงแห่งความอยุติธรรมให้วอดวายได้ เราจะชนะได้อย่างไร ถ้าเราไม่ร่วมมือกัน
หากยังไม่ยอมแพ้ วันที่ประชาชนเป็นเจ้าของประเทศอย่างแท้จริงต้องมาถึงอย่างแน่นอน
14 มี.ค. 2567
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
- การอดอาหารประท้วง (Hunger Strike) ในเรือนจำ ปี 2567
- ครั้งแล้วครั้งเล่า อดอาหารประท้วง ‘เรียกร้องอะไร’ ในเรือนจำ สำรวจทุกข้อเรียกร้องนานปี แต่ยังไม่คืบหน้า?
- โดยปราศจากน้ำและอาหาร: การอดอาหารประท้วงอย่างหิวกระหาย เดิมพันขั้นสุดท้ายของผู้เรียกร้องทางการเมือง
- วางชีวิตเป็นเดิมพัน: พลังของการอดอาหารประท้วง กลไกการทำงานในฐานะปฏิบัติการทางการเมือง ผลลัพธ์และการตอบสนองจากรัฐ
- กรพินธุ์ พัวพันสวัสดิ์: เมื่อถูกรัฐกักขัง การทรมานร่างกายด้วยการ “อดอาหาร” จึงเป็นอาวุธอย่างสุดท้ายของประชาชน