จับกุม “แบงค์ ณัฐพล” คดี ม.112 หลังแกนนำ ศปปส. ไปกล่าวหา เหตุโพสต์ภาพถือกระดาษข้อความหน้าพระบรมฉายาลักษณ์ ก่อนศาลให้ประกัน

วันที่ 18 ม.ค. 2567 เวลาประมาณ 20.37 น. ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนได้รับแจ้งว่า “แบงค์” ณัฐพล (สงวนนามสกุล) นักกิจกรรมจากกลุ่มทะลุแก๊สวัย 21 ปี ได้ถูกตำรวจจับกุมในคดีตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 โดยนำตัวไปที่ สน.ทุ่งสองห้อง โดยพบต่อมาว่าเป็นคดีที่มีแกนนำกลุ่ม ศปปส. ไปกล่าวหาไว้เมื่อสองวันก่อนหน้า และตำรวจได้สืบสวนพร้อมขอศาลออกหมายจับอย่างรวดเร็ว โดยไม่ได้มีการออกหมายเรียกก่อน

.

ตำรวจไม่ให้ทนายพบผู้ต้องหากว่าครึ่งชั่วโมง อ้าง ผกก. สั่ง – แบงค์เล่าถูกตำรวจขับรถปาดหน้าจับกุม ยึดโทรศัพท์ ไม่ให้ติดต่อใคร

เวลาประมาณ 21.30 น. หลังทนายความเดินทางติดตามไปถึง สน.ทุ่งสองห้อง ตำรวจกลับไม่อนุญาตให้พบแบงค์ ที่ถูกควบคุมตัวอยู่ในห้องควบคุมตัวผู้ต้องหา อ้างว่าผู้กำกับกำชับมา ทั้งยังนำแผงเหล็กมากั้นหน้าห้องไว้ด้วย ส่วนที่ประตูด้านหน้าสถานีตำรวจ ก็มีการปิดประตูและติดป้าย “พื้นที่ควบคุม” โดยมีเพื่อนนักกิจกรรมและผู้สื่อข่าวติดตามมาอยู่ด้านหน้าจำนวนหนึ่ง

จนเวลาประมาณ 22.06 น. ตำรวจจึงได้อนุญาตให้ทนายพบกับแบงค์ ใช้เวลารอกว่าครึ่งชั่วโมง

แบงค์ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าเขาถูกจับกุมหน้าบ้านพักย่านซอยเทพลีลาในเวลาประมาณ 18.00 น. เศษ ระหว่างที่ขับรถจักรยานยนต์เข้าบ้าน ได้มีชายนอกเครื่องแบบขับรถจักรยานยนต์ตัดหน้า และนำรถยนต์มาจอดปิดด้านข้าง ก่อนมีชายประมาณ 8-9 คน ไม่มีใครใส่เครื่องแบบ มารุมล้อมเขา บางส่วนยังน่าจะปลอมตัวเป็นคนจรจัดอยู่บริเวณดังกล่าวด้วย 

เจ้าหน้าที่บางนายได้แสดงบัตรตำรวจ ก่อนจะอ่านหมายจับในข้อหาตามมาตรา 112 โดยไม่ได้ให้เขาดูหมายจับ แต่ใช้วิธีอ่านให้ฟังอย่างรวบรัด แบงค์จำได้ว่าตำรวจไม่ได้ระบุถึงข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ ด้วย แต่กลับมีการแจ้งในภายหลัง

หลังอ่านหมายจับ ตำรวจจะใส่กุญแจมือ แต่เขายืนยันว่าไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี และจะเดินทางไปพร้อมกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จึงไม่ได้ใส่ แต่ได้ตรวจยึดโทรศัพท์มือถือของเขาไว้ และไม่ยอมให้เขาติดต่อญาติ หรือทนายความระหว่างจับกุม โดยอ้างว่า “นาย” สั่งไม่ให้ติดต่อ

แบงค์ถูกพาตัวไปทำบันทึกจับกุมที่ สน.สำราญราษฎร์ โดยเขาไม่สามารถติดต่อใครได้ จนหลังทำบันทึกแล้ว ประมาณ 20.00 น. เขาจึงได้ติดต่อกับเพื่อนว่าตนถูกจับกุม และตำรวจกำลังจะพาไปยัง สน.ทุ่งสองห้อง ข่าวเรื่องการจับกุมเขาจึงมีเพื่อนนักกิจกรรมได้รับทราบ

.

ภาพการกั้นรั้วเหล็กหน้าห้องควบคุมผู้ต้องหา

.

ตำรวจลงบันทึกจับกุมอ้างว่าหลบหนี ทั้งที่อยู่ที่บ้าน-ไม่เคยได้รับหมายเรียก

ตามบันทึกจับกุมระบุว่า การจับกุมเกิดขึ้นภายใต้การอำนวยการของ พล.ต.ท.ธิติ แสงสว่าง ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และนายตำรวจระดับต่าง ๆ อีก 11 นาย ได้สั่งการให้ชุดจับกุมที่นำโดย พ.ต.ท.คชภพ คงสมบูรณ์ สารวัตรสืบสวนของกองบัญชาการตำรวจนครบาล 6 พร้อมนายตำรวจอีก 16 นาย จากทั้ง บก.น.6 และ สน.สำราญราษฎร์ เข้าจับกุม

การจับกุมอ้างหมายจับของศาลอาญาที่ 233/2567 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2567 ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยบันทึกจับกุมยังอ้างว่าตำรวจชุดจับกุมสืบทราบว่าเขาหลบหนีมาอยู่ในบ้านบริเวณดังกล่าว จึงเดินทางมาตรวจสอบ ทั้งที่ข้อเท็จจริงณัฐพลไม่ได้หลบหนีแต่อย่างใด และบ้านดังกล่าวก็เป็นที่พักของเขาอยู่แล้ว ทั้งเขาไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน ทำให้เขาปฏิเสธจะลงลายมือชื่อในบันทึกจับกุมที่ไม่ตรงตามข้อเท็จจริง

.

พบคดีมี แกนนำ ศปปส. เป็นผู้กล่าวหา ตำรวจใช้เวลา 2 วันหลังแจ้งความ สืบสวน-ขอหมายจับ

ต่อมาทราบว่าคดีนี้มี อานนท์ กลิ่นแก้ว แกนนำของกลุ่มศูนย์รวมประชาชนปกป้องสถาบัน (ศปปส.) ซึ่งเป็นผู้แจ้งความคดีมาตรา 112 ไว้หลายสิบคดี เป็นผู้กล่าวหาไว้ที่ สน.สำราญราษฎร์ กรณีเจ้าหน้าที่นำตัวมาสอบสวนที่ สน.ทุ่งสองห้อง จึงไม่ใช่ท้องที่ของสถานีตำรวจเจ้าของคดีแต่อย่างใด

ร.ต.ท.สุฤเศฬษฐ์ บัวผัน รองสารวัตรสอบสวน สน.สำราญราษฏร์ ที่เดินทางมาที่ สน.ทุ่งสองห้อง ได้เป็นผู้แจ้งข้อกล่าวหาและสอบสวนณัฐพล โดยพฤติการณ์โดยสรุประบุว่า เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2567 เวลา 15.00 น. ผู้กล่าวหาได้มาพบ พ.ต.ท.ภาณุพงศ์ จินดาหลวง รองผู้กำกับการสืบสวน สน.สำราญราษฎร์ แจ้งว่าเมื่อวันที่ 15 ม.ค. 2567 เวลาประมาณ 23.00 น. ได้พบผู้ใช้เฟซบุ๊กโพสต์รูปภาพชายใส่เสื้อและกางเกงสีดำ สวมหมวกกันน็อค พร้อมถือกระดาษสองแผ่นเขียนข้อความไม่เหมาะสม บริเวณหน้าพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และพระราชินี หน้าวัดสุทัศน์ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ สน.สำราญราษฏร์ และได้เขียนข้อความประกอบภาพ ซึ่งผู้กล่าวหาเห็นว่าเข้าข่ายความผิดมาตรา 112 จึงมาร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน

บันทึกยังระบุถึงการสืบสวนของเจ้าหน้าที่ ที่พิสูจน์ทราบผู้ใช้เฟซบุ๊กและยืนยันตัวบุคคล การตรวจสอบภาพจากกล้องวงจรปิดในจุดที่เกิดเหตุ ซึ่งพบว่ามีณัฐพลเป็นหนึ่งในสองผู้ต้องหา และพบว่ามีชื่อของ “ต๊ะ” คทาธร เป็นหนึ่งในผู้ถูกออกหมายจับด้วย

ณัฐพลได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา ทั้งยังปฏิเสธไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกแจ้งข้อกล่าวหา และไม่ยินยอมพิมพ์ลายนิ้วมือ เนื่องจากเห็นว่าเคยพิมพ์ไว้ในคดีก่อนหน้านี้ และมีประวัติอยู่ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่แล้ว ทำให้พนักงานสอบสวนมีการแจ้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 368 “ทราบคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งการตามอำนาจที่มีกฎหมายให้ไว้ ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งนั้นโดยไม่มีเหตุหรือข้อแก้ตัวอันสมควร” เพิ่มเติมอีก 1 ข้อหา 

จากนั้นตำรวจได้ควบคุมตัวณัฐพลไว้ในช่วงคืนที่ผ่านมา ก่อนจะนำตัวไปขอฝากขังที่ศาลอาญาในสายวันนี้

.

ภาพหน้า สน.ทุ่งสองห้อง ตำรวจมีการติดป้ายข้อความ “พื้นที่ควบคุม” (ภาพโดยไข่แมวชีส)

.

ตำรวจนำตัวขอฝากขัง ศาลอาญาให้ประกันตัว

วันที่ 19 ม.ค. 2567 ในช่วงสาย พนักงานสอบสวนนำตัวณัฐพลไปขออำนาจฝากขังที่ศาลอาญา ซึ่งศาลอนุญาตให้ฝากขัง ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันตัว โดยมีนายประกันจากกองทุนราษฎรประสงค์

ต่อมาเวลา 16.32 น. ศาลอาญามีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวผู้ต้องหา เนื่องจากมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง น่าเชื่อว่าหากอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี โดยให้วางหลักประกัน 180,000 บาท

ศาลยังกำหนดเงื่อนไขประกัน ห้ามผู้ต้องหากระทำการใด ๆ ในลักษณะเดียวกับข้อกล่าวหาในคดีนี้อีก หากฝ่าฝืนเงื่อนไขที่ศาลกำหนด ศาลจะพิจารณาเพิกถอนคำสั่งอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว

.

ทั้งนี้ แบงค์ ณัฐพล พื้นเพเป็นคนจังหวัดอุตรดิตถ์ มาทำงานเป็นไรเดอร์ส่งอาหารในกรุงเทพฯ โดยเขาต้องดิ้นรนหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่อายุ 12 ปี เนื่องจากพ่อแม่แยกทางกัน หลังออกมาร่วมเคลื่อนไหวทางการเมือง เขาเคยถูกดำเนินคดีในข้อหาตามมาตรา 112 มาก่อนแล้ว 1 คดี จากกรณีถูกกล่าวหาว่าร่วมวางเพลิงเผาซุ้มเฉลิมพระเกียรติ บริเวณหน้ากระทรวงแรงงาน ระหว่างชุมนุม #ม็อบทะลุแก๊ส เมื่อวันที่ 14 ก.ย. 2564 คดีนี้อยู่ระหว่างรอการสืบพยานในชั้นศาล

ต่อมาเขายังถูกดำเนินคดีกรณีถูกกล่าวหาว่าวางเพลิงรถยนต์ตำรวจ ระหว่างการชุมนุม “ราษฎรเดินไล่ตู่” หรือ  #ม็อบ11มิถุนา2565 บริเวณแยกดินแดงด้วย คดีหลังนี้ทำให้เขาถูกคุมขังในสองช่วง คือในช่วงระหว่างสอบสวนและระหว่างพิจารณา เป็นเวลากว่า 8 เดือน ก่อนศาลจะให้ประกันตัว และในช่วงหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี โดยถูกคุมขังราว 2 เดือนเศษ ก่อนศาลจะให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ โดยให้ติดกำไล EM ในระหว่างประกันตัวด้วย

.

X