จับตา ฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 5 คดี ม.112 ของ “บัสบาส” หลังศาลชั้นต้นลงโทษจำคุก 28 ปี มากที่สุดในคดียุคหลังปี 2563 

ในวันที่ 18 ม.ค. 2567 เวลา 9.00 น. ศาลจังหวัดเชียงรายนัดฟังคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ภาค 5 ในคดีของ “บัสบาส” มงคล ถิระโคตร พ่อค้าขายเสื้อผ้าออนไลน์และนักกิจกรรมในจังหวัดเชียงรายวัย 30 ปี ผู้ถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการโพสต์เฟซบุ๊กรวม 27 โพสต์ ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2564

คดีนี้ บัสบาสถูกจับกุมดำเนินคดีสองครั้งภายหลังเดินทางไปนั่งอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิการประกันตัวของผู้ต้องขังทางการเมือง หน้าศาลอาญาในช่วงสงกรานต์ของปี 2564 โดยมี พ.ต.ท.ปราโมทย์ บุญตันบุตร จากกองบังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเชียงราย เป็นผู้กล่าวหาในสองคดี ที่ถูกรวมการพิจารณาเข้าด้วยกัน

ในชั้นพิจารณา ศาลจังหวัดเชียงรายได้สั่งพิจารณาคดีนี้เป็นการลับ ไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าฟังการพิจารณา และมีช่วงการพิจารณาที่ศาลใช้การสืบพยานโดยระบบการบันทึกภาพและเสียง 

ต่อมาทางฝ่ายจำเลยประสบปัญหาในการขอคัดถ่ายวิดีโอดังกล่าว เนื่องจากข้อบังคับประธานศาลฎีกาไม่อนุญาตให้คู่ความทำข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ซ้ำ แต่อนุญาตให้เพียงไปตรวจดูวิดีโอบันทึกการสืบพยานนี้ที่ศาล ภายใต้การควบคุมดูแลของเจ้าหน้าที่

หลังจากสืบพยานเสร็จสิ้น วันที่ 26 ม.ค. 2566 ศาลจังหวัดเชียงรายมีคำพิพากษา โดยเห็นว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดในจำนวน 14 ข้อความ และยกฟ้องอีก 13 ข้อความ ในกรณีข้อความที่เกี่ยวกับอดีตกษัตริย์รัชกาลที่ 9 หรือข้อความที่ไม่สามารถระบุตัวบุคคลได้ว่าโพสต์หมายถึงบุคคลใด และบางโพสต์แม้จะมีภาพรัชกาลที่ 10 แต่ศาลก็เห็นว่าไม่เป็นการดูหมิ่นหรือหมิ่นประมาท ทำให้ไม่เข้าองค์ประกอบมาตรา 112

ศาลพิพากษาลงโทษจำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา ลดโทษให้เหลือกระทงละ 2 ปี ทั้งหมด 14 กระทง รวมโทษจำคุก 28 ปี

หลังพิพากษา ศาลชั้นต้นได้ส่งคำร้องขอประกันตัวให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา และศาลอุทธรณ์ภาค 5 ได้มีคำสั่งในวันเดียวกันนั้นเลย โดยอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ เนื่องจากเห็นว่าจำเลยไม่เคยผิดสัญญาประกัน แต่กำหนดเงื่อนไขการประกันตัว ได้แก่ ห้ามกระทำการที่เสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ และห้ามเดินทางออกนอกประเทศ

.

ฝ่ายจำเลยได้ยื่นอุทธรณ์คำพิพากษาต่อมา โดยมีประเด็นสำคัญ 4 ประเด็น โดยสรุปได้แก่

1) การกระทำของจำเลยไม่น่าจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เมื่อตีความสถานภาพขององค์พระมหากษัตริย์ตามหลักการรัฐธรรมนูญ และประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ไม่เป็นความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรโดยแท้ เพราะพระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชสถานะเป็นประมุขแห่งรัฐตามอำนาจสถาปนาโดยรัฐธรรมนูญตามระบอบประชาธิปไตย สมควรตีความกฎหมายให้คุ้มครองพระมหากษัตริย์ควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพของประชาชนตามหลักสิทธิมนุษยชน เจตนารมณ์คุ้มครองชื่อเสียงพระมหากษัตริย์ตามมาตรา 112 ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร คำพิพากษาศาลชั้นต้นไม่สอดคล้องกับหลักนิติวิธีในการตีความกฎหมายตามระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข  

2) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายเมื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามมาตรา 112 ด้วยเหตุที่ไม่เป็นการใส่ความพระมหากษัตริย์ ไม่เป็นการดูหมิ่นเหยียดหยามพระมหากษัตริย์และพระราชินี ไม่เป็นการแสดงความอาฆาตมาดร้าย แม้จะมีถ้อยคำหยาบคายอยู่ แต่ก็ไม่ถึงขนาดจะเป็นความผิดต่อกฎหมาย แม้จะมีข้อความที่ศาลอาจพิจารณาว่าเป็นความผิด แต่ความเสียหายก็เบาบางไม่อาจระคายเคืองเบื้องพระยุคลบาท   

3) การดำเนินคดีกับจำเลยไม่เป็นประโยชน์ต่อฝ่ายใด แต่ถูกใช้เป็นข้ออ้างในการปกป้องผลประโยชน์ไม่ให้ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์นโยบายหรือการกระทำของผู้มีอำนาจรัฐ ส่งผลให้เกิดการตีความบังคับใช้มาตรา 112 อย่างกว้างขวางเกินขอบเขต การเร่งรีบดำเนินคดีโดยพนักงานสอบสวนก่อให้เกิดข้อสงสัยหรือพิรุธว่าเป็นไปตามคำสั่งหรือนโยบาย ไม่มีดุลพินิจอิสระ แต่เป็นไปตามลำดับชั้นบังคับบัญชา เพื่อมิให้จำเลยทำกิจกรรมต่อต้านรัฐบาล 

4) เมื่อไม่เป็นความผิดตามมาตรา 112 แม้อยู่ในหมวดความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร เมื่อความผิดต่อพระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ไม่ใช่ความผิดต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักรโดยแท้ ก็ไม่เป็นความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) (5)

.

นอกจากสองคดีนี้ บัสบาสยังถูกฟ้องในคดีมาตรา 112 ที่ศาลจังหวัดเชียงรายในภายหลังอีกคดีหนึ่ง จากการโพสต์อีก 2 ข้อความ โดยในคดีที่สามนี้ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2566 ศาลชั้นต้นก็ได้มีคำพิพากษาเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุก 4 ปี 6 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ระหว่างรอการประกันตัวในคดีนี้ บัสบาสได้ถูกนำตัวไปคุมขังที่เรือนจำกลางเชียงรายเป็นระยะเวลา 1 คืน ก่อนศาลอุทธรณ์ภาค 5 จะอนุญาตให้ประกันตัว

ทั้งนี้ ในการถูกคุมขัง 1 คืน ดังกล่าว บัสบาสยังได้ร้องเรียนว่าเขาได้ถูกเจ้าหน้าที่ของเรือนจำกล่าวถ้อยคำในลักษณะข่มขู่ และมีการกรีดเสื้อผ้าและรองเท้าของเขาก่อนนำไปทิ้งด้วย

สำหรับอัตราโทษในคำพิพากษาของบัสบาสในสองคดีแรกนั้น นับได้ว่าสูงที่สุดในคดีมาตรา 112 ที่เกิดขึ้นในยุคตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา แต่ยังต่ำกว่ากรณีของ “อัญชัญ” ซึ่งคดีเกิดขึ้นในยุค คสช. ที่ถูกศาลอาญาพิพากษาลงโทษจำคุกรวม 87 ปี จากการเผยแพร่คลิปเสียงของ “บรรพต” ดีเจผู้จัดรายการใต้ดิน จำนวน 29 กรรม โดยเธอให้การรับสารภาพ ศาลจึงลดโทษเหลือจำคุก 29 ปี 174 เดือน (คิดเป็นราว 43 ปี 6 เดือน) มากที่สุดเท่าที่ทราบข้อมูล ซึ่งปัจจุบันเธอก็ยังคงถูกคุมขังในเรือนจำ

หากไม่มีการเปลี่ยนแปลงอัตราโทษ และรวมโทษจำคุกในสามคดีของบัสบาส เขาจะถูกจำคุกถึง 32 ปี 6 เดือน จึงต้องจับตาคำพิพากษาคดีทั้งหมดในศาลอุทธรณ์หรือกระทั่งศาลฎีกาต่อไป

.

อ่านบันทึกการสืบพยานในคดีนี้ บันทึกจากห้องพิจารณาลับ “บัสบาส มงคล” ต่อสู้คดี ม.112 ถูกฟ้อง 27 กรรม ก่อนฟังคำพิพากษา

อ่านเรื่องราวชีวิตของบัสบาส เสียงเพลงพังก์ ในโลกขบถของ “บัสบาส” ผู้ต่อสู้คดี 112

.

X