ก.ย. 66 ศาลพิพากษาคดี 112 รวม “6 คดี” 3 คดี ศาลสูงไม่ให้สิทธิประกัน 100%  “อานนท์-สมบัติ-รีฟ” ต้องเข้าเรือนจำ

ตลอดทั้งเดือนกันยายน 2566 ที่ผ่านมา ศาลมีคำพิพากษาในคดีที่มีข้อกล่าวหาหลักเป็นข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 อย่างน้อย 6 คดี ของจำเลย 6 ราย แบ่งเป็นคำพิพากษาของศาลชั้นต้น 4 คดี และคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์ 2 คดี โดยทุกคดีศาลพิพากษาว่า มีความผิดตามฟ้อง ไม่มีคดีใดเลยที่ศาลพิพากษายกฟ้อง

ผลจากคำพิพากษาตลอดเดือนดังกล่าว ทำให้ต่อมามีผู้ไม่ได้รับการประกันตัวจากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกา ต้องถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงปัจจุบันเพิ่มขึ้นอีก 3 ราย ได้แก่ สมบัติ ทองย้อย, “รีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน และอานนท์ นำภา

ทั้ง 6 คดีอาจสามารถจำแนกได้เป็น 3 ประเภท ตามลักษณะพฤติการณ์และเหตุแห่งคดี ได้แก่ 

  1. คดีที่ถูกฟ้องจากการสื่อสารในโลกออนไลน์และการใช้โซเซียลมีเดีย จำนวน 4 คดี
  2. คดีที่ถูกฟ้องจากการแสดงออก จำนวน 1 คดี
  3. คดีที่ถูกฟ้องจากใช้สิทธิเสรีภาพในการชุมนุมทางการเมืองและปราศรัยวิพากษ์วิจารณ์ จำนวน 1 คดี 

หากแบ่งตามการต่อสู้คดีในชั้นศาล อาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่

  1. กลับคำให้การเป็นรับสารภาพ จำนวน 1 คดี
  2. ยืนยันต่อสู้คดีด้วยการสืบพยานในชั้นศาล จำนวน 5 คดี 

รับสารภาพ 1 คดี: ลงโทษจำคุก แต่ได้ลดโทษ และรอลงอาญา 

ในจำนวนคดีทั้งหมด 6 คดี เป็นคดีที่จำเลยให้การรับสารภาพก่อนการสืบพยานในชั้นพิจารณาคดี จำนวน 1 คดี คิดเป็น 16.66% ของจำนวนคดีทั้งหมดที่ทราบว่าศาลมีคำพิพากษาในเดือน ก.ย. นี้  

นั่นคือคดีของ “ธีรวัช ยอดสิงห์” พนักงานร้านอาหาร ปัจจุบันอายุ 21 ปี ขณะเกิดเหตุเป็นนักศึกษา ปวช. อายุ 19 ปีเศษ ถูกฟ้องจากการแชร์โพสต์เฟซบุ๊กเพจ “KonThaiUk” พร้อมกับข้อความวิพากษ์วิจารณ์การแต่งกายของรัชกาลที่ 10 เมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2563

คดีของธีรวัช ศาลจังหวัดสมุทรปราการพิพากษาว่าผิดตามฟ้อง แต่ขณะเกิดเหตุมีอายุไม่ถึง 20 ปี ศาลจึงลดมาตราส่วนโทษให้ 1 ใน 3 ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 76 คงจำคุก 2 ปี 8 เดือน และลดโทษอีกกึ่งหนึ่งเนื่องจากให้การรับสารภาพ คงเหลือโทษจำคุก 1 ปี 4 เดือน โดยศาลให้รอลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี และคุมประพฤติ 2 ปี

นับว่านี่เป็นเพียงคดีเดียวจากทั้งหมด 6 คดีที่ศาลมีคำพิพากษาในเดือนนี้ ที่ศาลพิพากษาให้รอการลงโทษไว้  ธีรวัชจึงได้รับการปล่อยตัวกลับในวันนั้นทันที โดยไม่ต้องยื่นประกันตัวต่อศาล

สู้ชั้นศาล 5 คดี: ลงโทษจำคุกไม่รอลงอาญา ‘ทุกคดี’ 

คดีที่จำเลยยืนยันต่อสู้ในชั้นศาลมีจำนวน 5 คดี คิดเป็น 83.33% ของจำนวนคดีทั้งหมดที่ศาลมีคำพิพากษาในเดือน ก.ย. นี้ โดย ‘ทุกคดี’ ศาลมีคำพิพากษาจำคุก โดยไม่ให้รอการลงโทษไว้

ในจำนวน 5 คดีนี้ มี 2 คดี ศาลชั้นต้นที่อ่านคำพิพากษามีคำสั่งให้ประกันตัวภายในวันที่มีคำพิพากษาทันที ได้แก่ คดีของ “พิมชนก ใจหงษ์” ที่ศาลจังหวัดเชียงใหม่ และคดีของ “มีชัย” ที่ศาลจังหวัดสมุทรปราการ 

ส่วนอีก 3 คดี ศาลชั้นต้นส่งให้ศาลสูง (ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา) เป็นผู้พิจารณาสั่งให้ประกัน ทำให้ผู้ถูกกล่าวหาต้องถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเพื่อรอฟังคำสั่ง ซึ่งใช้เวลาเฉลี่ย 2-3 วัน ต่อมา ‘ทุกคดี’ ที่ศาลสูงเป็นผู้พิจารณาสั่งล้วนแต่ไม่ได้รับการประกันตัว 100% และต้องถูกคุมขังในเรือนจำมาจนถึงปัจจุบัน ได้แก่ คดีของ “วีรภาพ วงษ์สมาน” และ “อานนท์ นำภา” ที่ศาลอาญา กับคดีของ “สมบัติ ทองย้อย” ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้

  1. เป็นคดีที่ ‘ศาลชั้นต้น’ มีคำพิพากษา จำนวน 3 คดี

    ศาลพิพากษาจำคุกตั้งแต่กรรมละ 3 – 4 ปี โดยมีเพียงคดีของ “พิมชนก ใจหงษ์” เพียงคดีเดียวที่ได้รับการลดโทษ โดยได้ลดโทษ 1 ใน 3 เนื่องจากศาลเห็นว่าให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณาคดี

    คดีของพิมชนกถูกฟ้องจากการโพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กว่า ‘รัฐบาลส้นตีน สถาบันก็ส้นตีน🔥🙂’ เมื่อวันที่ 17 ก.พ. 2565 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี ได้ลดโทษ 1 ใน 3 คงเหลือจำคุก 2 ปี และได้ประกันตัวระหว่างอุทธรณ์ภายในวันนั้นทันที

    ส่วนอีก 2 คดี ถูกพิพากษาจำคุกโดยไม่ได้ลดโทษ ได้แก่ คดีของ “อานนท์ นำภา” ถูกฟ้องจากการปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ14ตุลา ที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ศาลพิพากษาจำคุก 4 ปี ส่วนอีกคดีหนี่งเป็นของ “วีรภาพ วงษ์สมาน” ถูกฟ้องจากการพ่นสีสเปรย์ข้อความ “ควรปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ #ไอ้ษัตริย์” บริเวณแยกดินแดง ระหว่างการชุมนุมเมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2564 ศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี
  1. เป็นคดีที่ ‘ศาลอุทธรณ์’ มีคำพิพากษา จำนวน 2 คดี 

หนึ่งคดีมีแนวโน้มของผลคำพิพากษาในทิศทางที่ดีขึ้นจากเดิม นั่นคือ คดีของ “สมบัติ ทองย้อย” ถูกฟ้องจากโพสต์ข้อความ “#กล้ามาก #เก่งมาก #ขอบใจนะ” ประกอบกับแปะภาพบันทึกหน้าจอจากข่าวมติชนเกี่ยวกับบัณฑิตมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไม่เข้ารับปริญญาทั้งคณะ เมื่อวันที่ 30 ต.ค. 2563 ในคอมเมนต์ข้อความดังกล่าว พร้อมกับอีก 2 ข้อความ กล่าวถึงการทำตัวใกล้ชิดประชาชนและการแจกลายเซ็น ซึ่งโพสต์เมื่อวันที่ 2 พ.ย. 2563 ถูกฟ้องเป็น 2 กรรม 

คดีดังกล่าว ศาลอาญากรุงเทพใต้เคยพิพากษาลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี รวมจำคุก 6 ปี แต่เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่า สมบัติมีความผิดลงโทษจำคุกกรรมละ 3 ปี เช่นเดิม แต่เห็นว่าคำให้การในชั้นพิจารณาคดีเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษจำคุกเหลือกรรมละ 2 ปี รวมจำคุก 4 ปี 

ส่วนอีกคดีหนึ่ง ศาลอุทธรณ์ยืนตามศาลชั้นต้นทั้งในส่วนคำวินิจฉัยและโทษจำคุก นั่นคือ คดีของ “มีชัย” (สงวนนามสกุล)  ถูกฟ้องจากการโพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊กส่วนตัวรวม 2 ข้อความ มีเนื้อหาตั้งคำถามต่อการใช้ภาษีประชาชนของสถาบันกษัตริย์ ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น จำคุก 4 ปี แต่ให้การเป็นประโยชน์ต่อการพิจารณา จึงลดโทษให้ 1 ใน 3 เหลือจำคุก 2 ปี 8 เดือน

  

ถูกคุมขังหลังศาลมีคำพิพากษา 3 ราย: “สมบัติ – วีรภาพ – อานนท์” เข้าเรือนจำ เหตุศาลสูงสั่งไม่ให้ประกันตัว 

จากสถานการณ์คำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ของศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ตลอดทั้งเดือน ก.ย. 2566 ต่อมา มีผู้ไม่ได้รับการประกันตัวและต้องเข้าเรือนจำ จำนวน 3 ราย และถูกคุมขังระหว่างสู้คดีมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งล้วนเป็นผลจากคำสั่งไม่ให้ประกันของศาลสูง โดยเป็นคำสั่งของศาลอุทธรณ์ 2 คดี และคำสั่งจากศาลฎีกา 1 คดี

คำสั่งไม่ให้ประกันทั้ง 3 คดี ศาลอ้างเหตุผลสำคัญคล้ายกัน เป็นเรื่อง ‘เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี’ แม้ว่าจำเลยทุกคนจะมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งและมีครอบครัวที่ต้องดูแลก็ตาม  

  1. วีรภาพ วงษ์สมาน – มีที่พำนักอยู่ในกรุงเทพฯ มีครอบครัวและลูกชายอายุ 8 เดือน ต้องคอยดูแล

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่ให้ประกัน: “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานแล้ว การกระทำของจำเลยมีลักษณะไม่เกรงกลัวต่อกฎหมายบ้านเมือง พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 3 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยในระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง”

  1. อานนท์ นำภา – มีที่พำนักในกรุงเทพฯ มีครอบครัว มีลูกสาวอายุ 7 ขวบ และลูกชายอายุ 10 เดือนต้องคอยดูแล รวมถึงเป็นทนายความว่าความให้กับจำเลยหลายคดี ซึ่งมีนัดหมายว่าความเกือบทุกวัน ไปจนถึงต้นปี 2567

คำสั่งศาลอุทธรณ์ที่ไม่ให้ประกัน: “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดีประกอบพยานหลักฐานในสำนวนแล้ว การกระทำของจำเลยกระทบกระเทือนและสร้างความเสียหายต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข พฤติการณ์เป็นเรื่องร้ายแรง ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุก 4 ปี หากอนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว มีเหตุเชื่อว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราวจำเลยระหว่างอุทธรณ์ ให้ยกคำร้อง

“ส่วนที่จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลอุทธรณ์ไต่สวนพยานผู้ร้องก่อนมีคำสั่งในคำร้องขอปล่อยชั่วคราวนั้น เนื่องจากพยานหลักฐานในสำนวนเพียงพอต่อการวินิจฉัยแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องไต่สวนพยานผู้ร้องอีก ให้ยกคำร้องในส่วนนี้”

  1. สมบัติ ทองย้อย – มีที่พำนักในกรุงเทพฯ มีครอบครัว ภรรยา และลูกสาว 1 คน รวมถึงมีธุรกิจส่วนตัวต้องดูแลด้วย ก่อนหน้านี้เขาเคยถูกคุมขังในคดีนี้แล้วในระหว่างอุทธรณ์ แต่ต่อมาเมื่อต้นปี 2566 ที่ผ่านมา ศาลฎีกาให้ประกันตัว โดยระบุในคำสั่งเห็นว่าจำเลยไม่มีพฤติการณ์หลบหนี พร้อมกำหนดเงื่อนไขการประกัน ให้ใส่กำไล EM และเพิ่งได้ถอดไปเมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2566 แต่ 

คำสั่งศาลฎีกาที่ไม่ให้ประกันตัวครั้งล่าสุด: “พิเคราะห์ความหนักเบาแห่งข้อหาและพฤติการณ์แห่งคดี ประกอบกับศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยมีกำหนด 4 ปี หากปล่อยชั่วคราวมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่าจำเลยจะหลบหนี จึงไม่อนุญาตให้ปล่อยจำเลยชั่วคราวในระหว่างฎีกา”

ทำให้จนถึงปัจจุบัน (4 ต.ค. 2566) มีผู้ถูกคุมขังภายหลังจากการที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 13 ราย แบ่งเป็นผู้ต้องขังระหว่างสู้คดี จำนวน 10 ราย ได้แก่ วุฒิ, เวหา, ทีปกร, วารุณี, วัฒน์, โสภณ, อุดม, สมบัติ, วีรภาพ และอานนท์ อีกกลุ่มหนึ่งเป็นผู้ต้องขังที่คดีสิ้นสุดแล้ว (นักโทษเด็ดขาด) จำนวนอย่างน้อย 3 ราย ได้แก่ อัญชัญ, อดีตพลทหารเมธิน และปริทัศน์

พื้นเพ 6 จำเลยใน 6 คดี: เป็นนักกิจกรรมถึง 4 ราย เป็นประชาชนธรรมดา 2 ราย   

เมื่อสำรวจพื้นเพของจำเลยทั้ง 6 คน ที่ศาลมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 ในช่วงเดือนนี้ พบว่า จำเลยมีช่วงอายุในขณะเกิดเหตุ ตั้งแต่ 18 – 53 ปี อายุเฉลี่ยอยู่ที่ 33 ปี โดย “วีรภาพ” เป็นจำเลยที่มีอายุน้อยที่สุดที่ศาลมีคำพิพากษาในเดือนนี้ ด้วยอายุขณะเกิดเหตุเพียง 18 ปีเศษเท่านั้น (ปัจจุบันอายุ 20 ปี) ขณะที่ “สมบัติ” เป็นจำเลยที่มีอายุมากที่สุด ด้วยวัย 53 ปี (ปัจจุบันอายุ 55 ปีแล้ว)

ในจำนวนนี้เป็นนักกิจกรรมที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมืองมาก่อน จำนวน 4 ราย ได้แก่ อานนท์, พิมชนก, วีรภาพ และสมบัติ ส่วนอีก 2 รายเป็นเพียงประชาชนธรรมดาเท่านั้น ได้แก่ มีชัยและธีรวัช

จากคดี 112 ทั้งหมด 280 คดี หลังพ้นเดือน ก.ย. 66 ศาลมีคำพิพากษาไปแล้ว 32.5% 

จากการติดตามและเก็บข้อมูลของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในคดีมาตรา 112 เฉพาะคดีที่เกิดขึ้นนับแต่ช่วงเดือนพฤศจิกายน 2563 เป็นต้นมา พบว่า จนถึงปัจจุบัน (4 ต.ค. 2566) มีผู้ถูกดำเนินคดีจากการแสดงออกและการชุมนุมทางการเมืองในข้อหาตามมาตรา 112 แล้วอย่างน้อย 258 คน ใน 280 คดี

ภายหลังผ่านพ้นเดือนกันยายน 2566 ทำให้ปัจจุบัน ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาคดี ม.112 แล้ว อย่างน้อย 91 คดี คิดเป็น 32.5% ในจำนวนนี้เป็นคดีที่จำเลยต่อสู้คดี 52 คดี เป็นคดีที่จำเลยรับสารภาพ 39 คดี 

  • ในคดีที่จำเลยต่อสู้คดี และศาลมีคำพิพากษาแล้ว แยกได้เป็นคดีที่ศาลยกฟ้อง 15 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 24 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 7 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้องข้อหามาตรา 112 แต่ลงโทษในข้อหาอื่น ๆ 6 คดี
  • ในคดีที่จำเลยรับสารภาพ และศาลมีคำพิพากษาแล้ว แยกได้เป็นคดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยไม่รอลงอาญา 17 คดี, คดีที่ศาลลงโทษจำคุก โดยให้รอลงอาญา 20 คดี และคดีที่ศาลให้รอกำหนดโทษ 2 คดี 

คดีเหล่านี้ถึงที่สุดแล้วจำนวน 11 คดี แยกเป็นคดีที่สิ้นสุดหลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษารวม 9 คดี และสิ้นสุดหลังศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษา 2 คดี ที่เหลืออีก 80 คดี ยังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์หรือฎีกาของอัยการหรือฝ่ายจำเลย 

เรื่องที่เกี่ยวข้อง

สถิติคดีมาตรา 112 ที่ศาลมีคำพิพากษา

X