อย่าลืมเวหา: ย้อนดู 3 คดี ม.112 ก่อนอดอาหารประท้วงเรียกร้องสิทธิประกันตัว-การนิรโทษกรรมผู้ต้องขังทางการเมือง

#อย่าลืมฉัน

‘อาร์ต’ เวหา แสนชนชนะศึก – นักกิจกรรมอิสระจากจังหวัดพิษณุโลกวัย 39 ปี ยังคงถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ในระหว่างชั้นอุทธรณ์มาแล้วกว่า 123 วัน (ข้อมูลวันที่ 17 ก.ย. 2566) นับตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. 2566 หลังศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา ในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากกรณีใช้บัญชีทวิตเตอร์ “ฟ้าฝน ver. เกรี้ยวกราด” โพสต์เรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ในพิธีพระบรมศพในหลวง ร.9 และประสบการณ์การถูกคุมขังในเรือนจำชั่วคราวพุทธมลฑล เขตทวีวัฒนา หรือ #คุกวังทวี จนเกิดกระแส #แอร์ไม่เย็น ในทวิตเตอร์ ในปี 2564  

หลังจากที่เวหาถูกคุมขังมาสามเดือนเศษ หลังการเริ่มอดอาหารของวารุณี เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2566 เขาเริ่มอดอาหารประท้วงพร้อมกับเสนอสามข้อเรียกร้องที่ว่าด้วย สิทธิการประกันตัว, ข้อเสนอการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม และ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ต้องขังทางการเมือง

53 วัน: ถูกจับกุมคดี 112 คดีแรก ถูกฝากขังชั้นสอบสวน

เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 2564 เวหาถูกจับกุมตามหมายจับ ม.112 เหตุจากการโพสต์ทวิตเตอร์ดังกล่าว พนักงานสอบสวน บก.ปอท. ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังเวหาต่อศาลอาญา ศาลอนุญาตให้ฝากขังเวหา และไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวตั้งแต่วันที่ 11 ส.ค. 2564 เรื่อยมา

จนกระทั่งในวันที่ 2 ต.ค. 2564 เวหาได้รับการประกันตัว ให้วางหลักประกันจำนวน 90,000 บาท โดยมีเงื่อนไขว่าห้ามจำเลยกระทำการใดในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก รวมแล้วเวหาถูกคุมขัง 53 วันในชั้นสอบสวน

99 วัน: ถูกฝากขังกรณีแชร์โพสต์เพจ ‘เยาวชนปลดแอก’ และถูกถอนประกันคดี ม.112 กรณีโพสต์ข้อความ #คุกวังทวี

แต่แล้ว เวหาก็ต้องเข้าเรือนจำอีกครั้ง เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2565 หลังจากถูกจับกุม แจ้งข้อหา และคุมขังระหว่างสอบสวนในคดี ม.112 อีกคดีหนึ่งของ สน.พญาไท จากกรณีแชร์โพสต์เพจเฟซบุ๊ก ‘เยาวชนปลดแอก’ ซึ่งมีเนื้อหาวิพากษ์วิจารณ์การจัดการวัคซีนของรัฐบาล และโพสต์ข้อความวิพากษ์วิจารณ์ศาลเนื่องในวันขึ้นปีใหม่ และศาลอาญาไม่อนุญาตให้ประกันตัวระหว่างสอบสวน

หลังจากนั้นหนึ่งเดือนเศษ วันที่ 21 เม.ย. 2565 ศาลอาญานัดไต่สวนถอนประกันตัวในคดีมาตรา 112 คดีแรกที่เขาถูกกล่าวหา เนื่องจากกรณีถูกร้องว่าฝ่าฝืนเงื่อนไขการประกันตัวเมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2564 จากข้อความที่เวหาโพสต์ถึงกรณีศาลมีคำพิพากษาคดีติดสติกเกอร์ กูKult  

หลังการไต่สวน ศาลเห็นว่าเขาผิดเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราว จึงเพิกถอนคำสั่งประกันตัว ทำให้ในครั้งนี้เวหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำด้วย ม.112 จากทั้งสองคดี

ในเรือนจำครั้งนี้ เวหาได้เข้ามาอยู่ในแดน 3 เขาเล่าถึงสภาพความเป็นอยู่ข้างในว่าเป็นไปด้วยความแออัด “ห้องที่ผมอยู่มีคน 35 คน แออัดมาก มีห้องน้ำขนาด 1.5 x 1.5 เมตร แค่ห้องเดียว ที่ทั้ง 35 คน ต้องใช้ทั้งขับถ่าย ซักผ้า ล้างจาน และอาบน้ำ เนื่องจากผู้ต้องขังในแดน 3 จะได้รับอนุญาตให้ออกจากห้องวันละ 1 ครั้ง ครั้งละ 1 ชม. เท่านั้น และห้องที่ผมอยู่ก็ไม่มีล็อกเกอร์ไว้เก็บของ ทำให้พื้นที่ในห้องยิ่งจำกัดและแออัดมากขึ้น”

เวหากล่าวว่าสิทธิขั้นพื้นฐานที่คนคนหนึ่งควรจะได้รับไม่ว่าเขาจะอยู่ที่ใด ก็คือ ‘อาหารที่ดี’ เห็นว่าโภชนาการในเรือนจำยังอยู่ในระดับที่ย่ำแย่ ผู้ต้องขังได้กินของหวานอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง ซึ่งมักจะเป็นถั่วเขียวต้มน้ำตาล ส่วนผลไม้นั้นไม่มี 

ประการถัดมา ‘ข้าวของเครื่องใช้’ เขาเล่าว่าไม่ได้รับสิ่งใดที่เป็นข้าวของเครื่องใช้จากเรือนจำนอกจากชุดออกศาล เขาเห็นว่าบางคนอยู่ข้างใน ต้องขอเศษสบู่จากเพื่อน ทั้งสบู่ ยาสระผม แปรงสีฟัน ยาสีฟัน ทั้งที่สิ่งดังกล่าวเป็นสิ่งพื้นฐานในการดำรงชีวิต และประการสุดท้ายที่เขากล่าวก็คือ ‘ยารักษาโรค’

จากนั้น ภายใต้การเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวของนักกิจกรรมหลายคน เมื่อวันที่ 17 มิ.ย. 2565 ศาลอาญาอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวเวหาในคดี ม.112 ทั้ง 2 คดี กำหนดเงื่อนไขว่าให้ติดกำไล EM, ห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 20.00 – 05.00 น., ห้ามกระทำการในลักษณะเดียวกับที่ถูกกล่าวหาอีก และห้ามเข้าร่วมชุมนุมที่จะสร้างความเสื่อมเสียแก่สถาบันฯ พร้อมทั้งตั้งแม่ของเขาเป็นผู้กำกับดูแล รวมระยะเวลาถูกคุมขังในเรือนจำเป็นครั้งที่สองทั้งสิ้น 99 วัน นับตั้งแต่ศาลอนุญาตให้ฝากขังในวันที่ 11 มี.ค. 2565 

ถูกแจ้งข้อหา ม.112 คดีที่สาม แต่ได้ประกันตัวโดยตลอด

หลังจากนั้นเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2565 เวหายังถูกแจ้งข้อหามาตรา 112 เป็นคดีที่ 3 โดยเป็นคดีของ บก.ปอท. ถูกกล่าวหาจากโพสต์ข้อความถึงคำพิพากษาในคดีของ “นรินทร์” ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ติดสติกเกอร์ กูKult บนพระบรมฉายาลักษณ์ ซึ่งข้อความนี้ถูกใช้เป็นเหตุในการสั่งถอนประกันตัวก่อนหน้านี้ด้วย 

คดีนี้ พนักงานสอบสวนได้ให้ปล่อยตัวไป โดยไม่มีการควบคุมตัวไว้ หลังจากนั้นอัยการมีคำสั่งฟ้องคดีต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 27 มี.ค. 2566 โดยศาลอนุญาตให้ประกันตัวระหว่างพิจารณา

ภาพเวหากำลังเดินออกจากเรือนจำหลังได้รับการประกันตัว จากไข่แมวชีส

เข้าเรือนจำอีกครั้ง: หลังศาลมีคำพิพากษาคดี ม.112 เป็นคดีแรก

วันที่ 18 พ.ค. 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 แรกของเวหา โดยเห็นว่ามีความผิดตามฟ้อง ให้ลงโทษทั้ง 3 กระทงตามฟ้อง จำคุกกระทงละ 3 ปี จำเลยให้การรับสารภาพ จึงสมควรลดโทษเหลือกระทงละ 1 ปี 6 เดือน รวมจำคุก 3 ปี 18 เดือน โดยไม่รอลงอาญา หลังพิพากษา ศาลอาญามีคำสั่งให้ส่งคำร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณา ทำให้เขาถูกควบคุมตัวไปยังเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ เพื่อรอฟังคำสั่งศาลอุทธรณ์ 

ต่อมาในวันที่ 20 พ.ค. 2566 ศาลอุทธรณ์มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวในระหว่างอุทธรณ์คดี เห็นว่าศาลชั้นต้นลงโทษสูง เกรงว่าจำเลยจะหลบหนี  หลังจากนั้นเวหาก็อยู่ในเรือนจำโดยที่ไม่ได้รับสิทธิในการประกันตัวเรื่อยมา จนกระทั่งวันนี้เวหาถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาแล้ว 123 วัน (ข้อมูล ณ วันที่ 17 ก.ย. 2566)

ครั้งนี้ เวหาเล่าว่าในช่วงแรก เขาได้ไปทำงานอยู่ในกองงานห้องสมุดเพื่อดูแลความเรียบร้อย จึงได้เห็นปัญหาขาดแคลนหนังสือ “หนังสือส่วนใหญ่มีแต่หนังสือธรรมะ หนังสือสวดมนต์ แต่หนังสือพวกนี้กลับไม่ใช่เป็นหนังสือที่ผู้ต้องขังอยากอ่าน บางคนอยู่ในนี้หลายปี ซึ่งความบันเทิงส่วนใหญ่ก็ไม่พ้นไปจากหนังสือพวกนี้ แต่ที่มีอยู่มันเก่ามาก แมกกาซีนบางเล่มยังเป็นของปี 46-47 ไม่ก็ชำรุดจนอ่านไม่ได้

“ส่วนหนังสือกฎหมาย ในแดนที่มีก็พวกกฎหมายตราสามดวง และ พ.ร.บ.ต่าง ๆ แต่เรื่องที่เกี่ยวกับผู้ต้องขังอย่างกฎหมายแพ่ง กฎหมายอาญา กลับไม่มีเลย” เวหากล่าว

หลายครั้งที่ทนายความเข้าไปเยี่ยมเวหาในเรือนจำ เวหามักจะคอยถามไถ่ถึงสถานการณ์ทางการเมืองข้างนอกเรือนจำ อย่างเรื่องการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร ความคืบหน้าของ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ อีกทั้งยังแสดงความเป็นห่วงเป็นใยต่อเพื่อน ๆ ที่ถูกคุมขังหรือได้รับความไม่เป็นธรรมในกระบวนการยุติธรรมอยู่เสมอ

อดอาหารประท้วง หวังว่าผู้มีอำนาจจะได้ยินเสียงจากคนในเรือนจำ

จากนั้น วันที่ 29 ส.ค. 2566 เวหาเริ่มตัดสินใจอดอาหารประท้วงเพื่อยืนเคียงข้างวารุณี ผู้ที่ถูกพรากอิสรภาพด้วยคำพิพากษามาตรา 112 และส่งเสียงข้อเรียกร้องของตัวเอง

หนึ่ง ขอสิทธิในการประกันตัวให้ผู้ต้องขังทางการเมืองทุกคนที่คดียังไม่ถึงที่สิ้นสุด หากคนไหนที่คดีสิ้นสุดแล้ว ก็ขอให้เขาได้รับการนิรโทษกรรมและออกจากเรือนจำไปใช้ชีวิตข้างนอก ผมอยากให้พวกเรามีโมเมนต์อยู่พร้อมหน้ากับครอบครัวแบบคุณทักษิณบ้าง

สอง ขอเรียกร้องให้ สส. เข้ามารับข้อเสนอในการ “ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม” จากมือของผู้ต้องขังในเรือนจำ

สาม ขอให้รัฐบาลใหม่มีการดำเนินการและรายงานความคืบหน้าเกี่ยวกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผู้ต้องขังทางการเมือง 

ในส่วนคดีมาตรา 112 ทั้งสามคดีของเวหา ในคดีแรกนั้น ยังอยู่ระหว่างรอยื่นอุทธรณ์คำพิพากษา ส่วนคดีแชร์โพสต์เยาวชนปลดแอกนั้น ศาลอาญานัดสืบพยานในช่วงวันที่ 31 ต.ค. 2566 นี้ 

ส่วนคดีที่สาม กรณีโพสต์ถึงคำพิพากษาคดีสติกเกอร์ กูKult ศาลอาญานัดสืบพยานระหว่างวันที่ 19-21 ธ.ค. 2566 นี้เช่นกัน 

เรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

แถลงการณ์จาก ‘เวหา’ เปิดเหตุผลอดอาหารประท้วง พร้อม 3 ข้อเรียกร้องทวงสิทธิประกัน – ปฏิรูปยุติธรรม – นิรโทษกรรม

X