แอมเนสตี้เรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีต่อ “สายน้ำ” ก่อนนัดฟังคำพิพากษา คดี 112 เยาวชนใส่เสื้อครอปท็อปเดินแฟชั่นโชว์ #ม็อบ29ตุลา63

ในวันที่ 20 ก.ค. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางฯ นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “สายน้ำ” กรณีถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จากเหตุแต่งเสื้อครอปท็อป (เสื้อกล้ามเอวลอย) เข้าร่วมเดินแฟชั่นโชว์ ‘รันเวย์ของประชาชน’  และเขียนข้อความบนร่างกาย ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 ที่บริเวณด้านหน้าของวัดแขก บนถนนสีลม โดยคดีนี้นับเป็นคดีมาตรา 112 คดีที่ 2 ของสายน้ำที่ศาลจะมีคำพิพากษาจากที่เขาถูกกล่าวหาทั้งหมด 3 คดี 

วันนี้ 18 ก.ค. 2566 แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้แถลงเรียกร้องต่อสถานการณ์การดำเนินคดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และการใช้เสรีภาพในการชุมนุมต่อเยาวชนในประเทศไทย “ทางการไทยต้องยุติการดำเนินคดีต่อสายน้ำ รวมถึงเยาวชนอีกกว่าร้อยคน ซึ่งถูกดำเนินคดีอาญาในคดีอื่นๆ จากการเข้าร่วมการชุมนุมประท้วงโดยสงบ โดยทางการต้องดำเนินการอย่างทันทีและไม่มีเงื่อนไข” ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ นักวิจัยระดับภูมิภาคประจำประเทศไทย แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ให้ความเห็นไว้ 

ชนาธิป ตติยการุณวงศ์ ยังเปิดเผยว่า “สายน้ำ” ไม่ควรถูกดำเนินคดีหรือลงโทษใดๆ ตั้งแต่แรก กระบวนการทางกฎหมายเหล่านี้อาจส่งผลให้เขาต้องถูกพรากอิสรภาพไป เพียงเพราะเข้าร่วมกิจกรรมจำลองการเดินแฟชั่นโชว์ระหว่างการชุมนุมประท้วงโดยสงบ ขณะที่มีอายุยังไม่ถึง 18 ปี การดำเนินคดีอาญาหลายข้อหาต่อสายน้ำ เน้นย้ำให้เห็นว่าทางการไทยได้พรากสิทธิในเสรีภาพการแสดงออกและการชุมนุมประท้วงโดยสงบไปจากเด็กหลายคน  (อ่านข้อเรียกร้องภาษาไทย และ ข้อเรียกร้องภาษาอังกฤษ)   

อีก 2 วัน ชี้ชะตา “สายน้ำ” ข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์จากการร่วมงาน ‘รันเวย์ของประชาชน’     

ในคดีนี้ สายน้ำ ถูกแจ้งข้อกล่าวหาร่วมกับ “นิว” จตุพร แซ่อึง ทั้งหมด 5 ข้อกล่าวหา ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112, ฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ, พ.ร.บ. โรคติดต่อฯ, พ.ร.บ.ชุมนุมฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมการโฆษณาโดยใช้เครื่องขยายเสียงฯ โดยในคดีนี้มีนางสาว วริษนันท์ ศรีบวรธนกิตติ์ แอดมินเพจ #เชียร์ลุง เป็นผู้กล่าวหา

สำหรับคดีของจตุพรนั้น ศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำพิพากษาจำคุก 3 ปี ก่อนลดเหลือ 2 ปี โดยไม่รอลงอาญา แต่ได้ประกันตัวชั้นอุทธรณ์หลังถูกคุมขังเป็นเวลา 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 12-14 ก.ย. 2565 ส่วนคดีความของสายน้ำถูกแยกฟ้องที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง 

ในคำฟ้องของคดีนี้ มีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 29 ต.ค. 2563 จำเลยกับพวกได้ร่วมกันชุมนุม มั่วสุม และกระทำการจัดทำกิจกรรมอันเป็นการยุยงให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย และในลักษณะที่เสี่ยงต่อการแพร่เชื้อโรค โดยมีการเดินแบบแสดงแฟชั่น อันเป็นการดูหมิ่น หมิ่นประมาท แสดงความอาฆาตมาดร้าย และ เสียดสีสถาบันพระมหากษัตริย์ซึ่งเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้ 

โดยจำเลยแต่งกายด้วยชุดเสื้อกล้ามเอวลอยสีดำ (เสื้อคร็อป) สวมกางเกงยีนส์ขายาว ใส่รองเท้าแตะ และเขียนข้อความที่ร่างกายบริเวณแผ่นหลังลงมาถึงเอวว่า “พ่อกูชื่อมานะ ไม่ใช่วชิราลงกรณ์” โดยก่อนที่จำเลยจะเดินออกมา พวกของจำเลยซึ่งทําหน้าที่พิธีกรได้ประกาศว่า “เตรียมตัวหมอบกราบ” แล้วเมื่อจำเลยเดินผ่านกลุ่มผู้ชุมนุม มีผู้ชุมนุมตะโกนคําว่า “ทรงพระเจริญ” และ “ในหลวงสู้ๆ”

ในคดีนี้สายน้ำได้ปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และที่ปรึกษาทางกฎหมาย (ทนายความ) ได้แถลงแนวทางการต่อสู้คดีว่า การกระทำของจำเลยเป็นเพียงการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออก ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญและมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล อีกทั้งยังเป็นการแต่งกายตามสมัยนิยม

ศาลได้ทำการสืบพยานโจทก์เมื่อวันที่ 16-17, 22 ก.พ. และ 26-28 เม.ย. 2566 และนัดสืบพยานจำเลยไปเมื่อวันที่ 3, 10, 12 พ.ค. 2566 ก่อนศาลนัดฟังคำพิพากษา

ปัจจุบัน “สายน้ำ” ถูกดำเนินคดีทางการเมืองเป็นจำนวนทั้งสิ้น 23 คดี โดยเป็นคดีที่มีข้อหาหลักเป็นมาตรา 112 จำนวน 3 คดี  โดยศาลมีคำพิพากษาแล้ว 1 คดี คือ คดีถูกกล่าวหาว่าพ่นสีสเปรย์ใส่รูปรัชกาลที่ 10 ซึ่งศาลพิพากษายกฟ้องข้อหา ม.112 เนื่องจากหลักฐานไม่ชัดเจนว่าจำเลยเป็นผู้กระทำ แต่ลงโทษในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

เรื่องที่เกี่ยวข้อง:

เปิดเผย ปลอดภัย เป็นธรรมหรือไม่: บทสนทนากับ “สายน้ำ” กับประสบการณ์พิจารณาคดีในศาลเยาวชนครั้งแรก 

“สายน้ำของการเปลี่ยนแปลงย่อมไม่ไหลหวนกลับ”: บทสนทนากับเยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.112 กับเวลา 24 ชม. ก่อนฟังคำสั่งฟ้องคดี

“เราจะโอบอุ้มเด็กๆให้เดินไปสู่จุดที่เขาก็ต้องการได้อย่างไร โดยเขาไม่บอบช้ำ” เสียงจากแม่สายน้ำ เยาวชนคนที่ 2 ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาหมิ่นกษัตริย์

X