วันที่ 16 ก.พ. 2566 ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “ชิติพัทธ์” (สงวนนามสกุล) หรือ “นกฮูก” อายุ 23 ปี หลังถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 138, 140, 215, 216, ฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ทั้งเรื่องการร่วมจัดกิจกรรมรวมกลุ่ม และฝ่าฝืนเคอร์ฟิว รวมทั้งความผิดเรื่องครอบครองกัญชา กรณีเข้าร่วมชุมนุมบริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 16 ก.ย. 2564
ย้อนอ่านข่าวจับกุม >>> #ม็อบ16กันยา จับตามหมายจับ 3 ราย จับหลังชุมนุมดินแดง 2 ราย ถูก คฝ. ฟาดด้วยปืน-รุมกระทืบ ก่อนศาลไม่ให้ประกัน 1 ราย
ในคดีนี้ ชิติพัทธ์ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมบริเวณถนนมิตรไมตรี พาตัวไปยัง สน.ดินแดง ในช่วงคืนวันที่ 16 ก.ย. 2564 โดยเช้าวันถัดมา พนักงานสอบสวน สน.ดินแดง ได้ยื่นขอฝากขังต่อศาล ก่อนศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกัน โดยระบุว่าเขาเคยถูกจับกุมและได้รับการประกันตัวมาแล้วในคดีอื่น การกระทำครั้งนี้ของชิติพันธ์จึงเป็นการผิดเงื่อนไขการประกัน เกรงว่าจะไปก่อเหตุร้ายอีก ทำให้เขาต้องถูกคุมขังในระหว่างสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ นานกว่า 54 วัน ก่อนจะได้รับการประกันตัวในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2564
ก่อนหน้าคดีนี้ ชิติพัทธ์เคยถูกจับกุมภายหลังการชุมนุม #ม็อบ29สิงหา2564 ที่ด่านตรวจหน้า ธกส. ถนนนครสวรรค์ และเคยถูกแจ้งข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ก่อนศาลอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยคดีนี้จนถึงปัจจุบันก็ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ส่วนคดีชุมนุม #ม็อบ16กันยา2564 อัยการมีคำสั่งฟ้องไปเมื่อวันที่ 3 พ.ย. 2564
ในวันนี้ (16 ก.พ. 2566) ศาลอาญาได้มีคำพิพากษายกฟ้องชิติพัทธ์ โดยเห็นว่ามีความผิดในข้อหาเดียวคือเรื่องการฝ่าฝืนเคอร์ฟิว โดยมีใจความสำคัญระบุว่า ศาลพิพากษายกฟ้องจำเลยในข้อหาครอบครองกัญชา เนื่องจากมีประกาศให้ยกเลิกกัญชาไม่เป็นสารเสพติดประเภท 5 อีกต่อไป โจทก์จึงไม่มีอำนาจในการฟ้องร้อง
ส่วนข้อหาอื่นๆ พยานโจทก์เบิกความถึงเหตุการณ์ ในขณะจับกุมจำเลยริมถนนมิตรไมตรี ใกล้บริเวณที่มีการชุมนุม โดยเบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่าพยานไม่เห็นว่าผู้ใดเป็นผู้ขว้างปาสิ่งของ ประทัดยักษ์ใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ การนำสืบได้ความเพียงว่า ตามวันเวลาเกิดเหตุจำเลยถูกจับกุมในที่เกิดเหตุ และขณะถูกจับกุมไม่พบว่าจำเลยมีประทัดยักษ์อยู่กับตัว และไม่มีประจักษ์พยานที่เห็นว่าจำเลยเข้าร่วมชุมนุมด้วยหรือไม่อย่างไร
นอกจากนี้ พยานโจทก์ไม่อาจยืนยันได้แน่ชัดว่าจำเลยร่วมอยู่ในกลุ่มผู้ชุมนุม หรือต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฏิบัติการตามหน้าที่จริงหรือไม่ โจทก์ไม่มีบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดและพยานหลักฐานอื่นใดที่เป็นพยานแวดล้อมมานำสืบเพื่อแสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมการชุมนุมดังกล่าวจริงตามฟ้อง
ทั้งยังได้ความจากการถามค้านว่าขณะที่โจทก์จับกุมจำเลย มีเพื่อนอยู่ด้วย จำเลยให้ความร่วมมืออย่างดีไม่ได้มีการขัดขืน และจากการตรวจค้นตัวจำเลยก็ไม่พบอาวุธ อุปกรณ์ใดที่ส่อพิรุธเกี่ยวพันกับกระทำความผิด และจำเลยได้นำสืบต่อสู้ว่าไม่ได้ร่วมขว้างปาสิ่งของใส่เจ้าหน้าที่ตำรวจ
เมื่อโจทก์ไม่มีพยานหลักฐานอื่นมานำสืบยืนยันให้แน่ชัดว่าจำเลยกระทำการตามฟ้อง และจำเลยให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา โดยในคดีอาญา โจทก์มีหน้าที่ต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบเพื่อพิสูจน์ให้ได้ว่าจำเลยเป็นผู้กระทำความผิดตามที่ถูกกล่าวหา จึงต้องยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลย
อย่างไรก็ตาม พยานโจทก์ได้เบิกความต่อศาลว่า ขณะจับกุมจำเลยเป็นเวลาประมาณ 21.40 น. ซึ่งสอดคล้องกับการพยานหลักฐานการจับกุม และจำเลยไม่ได้โต้แย้งหรือคัดค้านหลักฐานในส่วนนี้ แสดงให้เห็นว่าจำเลยได้ออกนอกเคหสถานภายหลังเวลา 21.00 น. ซึ่งเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงมีความผิดตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาตรา 18 และแม้ต่อมามีการประกาศให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แล้ว
แต่ประกาศดังกล่าวไม่ใช่กฎหมายที่บัญญัติในภายหลังว่าการกระทำของผู้ที่ฝ่าฝืนได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดห้ามออกนอกเคหสถานในเวลา 21:00 น. ถึง 04:00 น. ไม่เป็นความผิด จึงไม่มีผลลบล้างการกระทำของจำเลย ดังนั้นการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิด จึงพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดในฐานความผิดดังกล่าว ลงโทษปรับ 5,000 บาท
เนื่องจากในคดีนี้ชิติพัทธ์ได้ถูกคุมขังมาในชั้นสอบสวน มาเป็นระยะเวลาร่วมกว่า 54 วัน เขาจึงไม่ต้องจ่ายค่าปรับดังกล่าว โดยศาลจะทำการหักค่าปรับจากจำนวนวันที่เคยถูกคุมขังไปแล้ว และยังสามารถทำเรื่องขอค่าทดแทนการถูกคุมขังโดยไม่มีความผิด หากคดีถึงที่สุดแล้วได้
ชิติพัทธ์เคยบอกเล่ากับทนายความระหว่างการถูกคุมขังในช่วงปี 2564 ว่าเขาประสบกับความยากลำบากในการดูแลสุขภาวะทางใจ โดยก่อนหน้าถูกคุมขัง เขากำลังเข้ารับการรักษาภาวะป่วยทางจิตใจหลังจากประสบสถานการณ์รุนแรง (Post-Traumatic Stress Disorder หรือ “PTSD”) เขาเริ่มมีอาการดังกล่าวหลังจบการศึกษาด้านการท่องเที่ยว จากวิทยาลัยเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง และยังไม่สามารถหางานได้นับตั้งแต่ตอนนั้น เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 เขาเคยเล่าว่าปัจจัยความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจและปากท้องของครอบครัว คือแรงผลักดันให้เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองในช่วงปี 2563-64 ขณะอายุ 20 ปี
ชิติพัทธ์อาศัยอยู่กับแม่เพียงสองคน ทำให้แม่ประสบความยากลำบากช่วงที่เขาถูกคุมขัง นอกจากนั้นเขายังติดเชื้อโควิด-19 ระหว่างถูกคุมขังในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ อีกด้วย