จับตา! ฟังคำพิพากษาคดี ม.112-116 “เพชร ธนกร” ปราศรัยชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ ตั้งคำถามถึงสถาบันกษัตริย์

ในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางจังหวัดนนทบุรี นัดฟังคำพิพากษาในคดีของ “เพชร” ธนกร เยาวชนนักกิจกรรมทางการเมือง วัย 19 ปี ซึ่งถูกฟ้องในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และ 116 จากเหตุขึ้นปราศรัยในการชุมนุม #คนนนท์ท้าชนเผด็จการ ที่บริเวณลานกิจกรรมท่าน้ำนนทบุรี เมื่อ 10 ก.ย. 2563

.

เยาวชนรายแรกผู้ถูกดำเนินคดีในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” (มาตรา 116) ก่อนถูกแจ้ง 112 เพิ่ม

สืบเนื่องจากการถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 เพชรพร้อมผู้ปกครอง ทนายความ และที่ปรึกษากฎหมาย เดินทางไปรับทราบข้อกล่าวหาที่ สภ.เมืองนนทบุรี ในวันที่ 8 ธ.ค. 2563 โดยมี พ.ต.ท.ภาสกร ไชยทวีวงศ์ รองผู้กำกับสืบสวน สภ.เมืองนนทบุรี เป็นผู้กล่าวหา 

สำหรับคดีนี้ เพชรถูกดำเนินคดีพร้อมกับนักกิจกรรมอีก 4 ราย ได้แก่ “รุ้ง” ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุล, “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก, “ไบรท์” ชินวัตร จันทร์กระจ่าง และ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ หากแต่ขณะเกิดเหตุเพชรยังเป็นเยาวชน (อายุ 17 ปี) จึงถูกแยกมาดำเนินคดีที่ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี

แรกเริ่มเพชรถูกแจ้งข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามมาตรา 116 เท่านั้น ต่อมาพนักงานอัยการจังหวัดคดีเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีได้มีหนังสือ (ลงวันที่ 2 ก.ย. 2563) ระบุให้พนักงานสอบสวน แจ้งข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 เพิ่มเติม เพราะมีความเห็นว่าถ้อยคำปราศรัยของเพชรในบางส่วนมีการตั้งคำถามถึงความจำเป็นในการใช้คำราชาศัพท์ และเรื่องการประทับในต่างประเทศของในหลวงรัชกาลที่ 10 จึงถือว่ามีพฤติการณ์เข้าข่ายข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ ด้วย 

อย่างไรก็ดี เพชรให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา พร้อมทั้งได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมต่ออัยการขอให้ไม่สั่งฟ้องคดี เมื่อวันที่ 8 เม.ย. 2564 โดยยืนยันว่าพฤติการณ์ไม่เป็นความผิดตามข้อกล่าวหา และการสั่งฟ้องคดีนี้ไม่เป็นประโยชน์แก่สาธารณะ หากแต่พนักงานอัยการคดีเยาวชนและครอบครัวมีความเห็นสั่งฟ้อง และศาลรับฟ้องไว้เป็นคดีหมายเลขดำที่ ยชอ.1/2565

ภายหลังศาลรับฟ้อง ทนายความได้ยื่นประกันตัวเพชรระหว่างพิจารณาคดี ด้วยหลักทรัพย์จำนวน 20,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ ก่อนศาลอนุญาตให้ประกันและกำหนดวันนัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 1 มี.ค. 2565

.

บรรยายฟ้องระบุ ตั้งคำถาม “กษัตริย์ยังเป็นสถาบันยึดเหนี่ยวจิตใจหรือไม่” เป็นการจาบจ้วงต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

จากเอกสารคำฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 10 ก.ย. 2563 จําเลยกับพวกซึ่งถูกแยกดําเนินคดีต่างหาก ได้ร่วมกันกล่าวปราศรัยบนเวทีลานท่าน้ํานนทบุรี โดยเป็นการปราศรัยด้วยถ้อยคําซึ่งมีลักษณะให้เกิดความปั่นป่วน หรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน มีสาระสําคัญเกี่ยวกับการโจมตีการทํางานของรัฐบาล เรียกร้องให้นายกรัฐมนตรีลาออก แก้ไขรัฐธรรมนูญ และปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์ 

สำหรับจำเลยได้กล่าวปราศรัยว่า

“เราคือมนุษย์คนหนึ่ง เราขอสนับสนุนและยืนยันว่าไม่ควรมีการใช้คําราชาศัพท์แบ่งชนชั้นเกิดขึ้นในประเทศไทยค่ะ ขนาดที่พระมหากษัตริย์ในต่างประเทศเนี่ยยังคงใช้ ยูกับไอ แล้วทําไมประชาชนประเทศไทยอย่างเราจะใช้คุณกับฉันกับลูกหลานศักดินาไม่ได้คะ

“เราจะไม่ให้ความเชื่อผิดๆ มาครอบงําเรา เราจะไม่ให้ศาสนามาครอบงําเราอีกต่อไป เพราะศาสนาเป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ใช่เอาไปครอบงําใครแบบผิดๆ เราควรมองความเป็นจริง เราจะยอมเป็นฝุ่นใต้ละอองธุลีพระบาทหรือจะยอมเป็นฝุ่นใต้ตีนใครอีกหรือเปล่า ในยุคนี้เราคงเชื่อได้หรือเปล่าว่าพระมหากษัตริย์คือสถาบันที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ แต่ว่าพระมหากษัตริย์ตอนนี้ไม่ได้อยู่ที่ไทย แต่อยู่ที่เยอรมัน เสวยสุขท่ามกลางภาษีของประชาชน แล้วเราจะเชื่อได้อย่างไรว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นสถาบันที่ยึดเหนี่ยวจิตใจประชาชนคนไทยอย่างเรา” 

พนักงานอัยการระบุว่าถ้อยคำที่จำเลยและพวกร่วมกันปราศรัยเป็นความเท็จ และเป็นการจาบจ้วงล่วงเกิน ดูหมิ่น ใส่ความ หมิ่นประมาท หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ โดยประการที่น่าจะทําให้รัชกาลที่ 10 เสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น เกลียดชัง ทําให้ประชาชนเสื่อมศรัทธา ไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ซึ่งอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ และมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญหรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต 

.

เจรจาให้เข้ารับมาตรการฯ กว่า 4 ครั้งก่อนเริ่มสืบพยาน ทั้งอัยการและศาลชี้เป็นผลประโยชน์สูงสุดของจำเลยเยาวชน ระบุไม่จำเป็นต้องกระโจนเข้าสู่กระบวนการพิจารณา

เกี่ยวกับข้อต่อสู้สำคัญของจำเลยในคดีนี้ คือการยืนยันว่าถ้อยคำที่ปราศรัยไม่ใช่สิ่งผิด แต่เป็นการใช้สิทธิในการแสดงความคิดเห็น เสรีภาพในการแสดงออก และเสรีภาพในการชุมนุมโดยสุจริต อีกทั้งยังเป็นการชุมนุมอย่างสงบและปราศจากอาวุธ ที่สามารถกระทำได้ตามระบอบประชาธิปไตย ซึ่งเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมายตามพันธกรณีระหว่างประเทศ และตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย

คดีนี้มีการสืบพยานขึ้นในระหว่างวันที่ 19 – 21 ต.ค. 2565 โดยฝ่ายโจทก์นำพยานขึ้นเบิกความทั้งหมด 7 ปาก ขณะที่ฝ่ายจำเลยนำพยานขึ้นเบิกความจำนวน 2 ปาก ได้แก่ จำเลย และผู้ปกครอง

ทั้งนี้ ในวันที่ 19 ต.ค. 2565 ก่อนการสืบพยาน ทั้งอัยการและผู้พิพากษาได้ขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับเพชรและที่ปรึกษากฎหมาย เรื่องการกำหนดมาตรการพิเศษเเทนการลงโทษทางอาญาเด็กเเละเยาวชน 

ในวันดังกล่าว เมื่อเวลาประมาณ 09:30 น. อัยการขอเจรจาไกล่เกลี่ยกับเพชรและที่ปรึกษากฎหมาย เรื่องการเข้าแผน หรือมาตรการพิเศษแทนการดำเนินคดีอาญา ตามมาตรา 90  โดยพนักงานอัยการได้พยายามยกประโยชน์ของการเข้ามาตรการฯ ว่าจะส่งผลดีต่อจำเลยอย่างไร หากแต่เพชรยืนยันว่าจะเข้าสู่กระบวนการสืบพยาน

เวลาต่อมาผู้พิพากษาคนหนึ่งในองค์คณะขอเจรจากับเพชรอีกครั้ง โดยครั้งนี้เป็นการเจรจาส่วนตัวระหว่างผู้พิพากษาและเยาวชน

ในเวลา 10:10 น. โดยประมาณ ทั้งเพชร ที่ปรึกษากฎหมาย รวมทั้งผู้สังเกตการณ์จากองค์กรสิทธิมนุษยชน ได้เข้าไปยังห้องพิจารณาคดี ด้วยคาดว่าศาลจะมีคำสั่งเริ่มการพิจารณา แต่เมื่อไปถึงปรากฏว่าองค์คณะมีการเจรจากับเพชรอีกครั้ง โดยพยายามชี้ให้เห็นว่าการเลือกรับมาตรการพิเศษฯ เป็นประโยชน์สูงสุดอย่างไร แต่เพชรก็ยังยืนยันดังเดิมว่าต้องการให้มีการพิจารณาคดีไปตามขั้นตอนของกฎหมาย อย่างไรก็ดี เนื่องจากขณะนั้นเป็นเวลาใกล้เที่ยงแล้วศาลจึงนัดสืบพยานโจทก์ 2 ปาก ในช่วงบ่าย

ทั้งนี้ ระหว่างพักเที่ยง ปรากฏว่าเจ้าหน้าที่ประจำห้องพิจารณาได้มาบอกแก่เพชรว่าหัวหน้าองค์คณะผู้พิพากษาอยากเจรจากับเพชรอีกครั้งในเรื่องการตัดสินใจเข้า-ไม่เข้ามาตรการพิเศษฯ ซึ่งเพชรเปิดเผยว่าในครั้งนี้ได้มีการหยิบยกเรื่องผลกระทบต่อครอบครัวมาด้วย 

อย่างไรก็ตาม เพชรยืนยันว่าตนไม่เข้ารับมาตรการดังกล่าวและต้องการที่จะสู้คดีต่อไป การสืบพยานจึงดำเนินต่อไปในเวลา 13:30 น. โดยประมาณ 

ทั้งนี้ ก่อนจะมีการสืบพยานขึ้น ศาลมีคำสั่งให้ผู้สังเกตการณ์ทั้งหมด รวมถึงที่ปรึกษากฎหมายซึ่งไม่ได้มีใบแต่งตั้งให้ออกจากห้องพิจารณา แม้เพชรจะแถลงต่อศาลว่าต้องการให้มีผู้สังเกตการณ์และที่ปรึกษากฎหมายท่านอื่นๆ อยู่ด้วย แต่ศาลก็ไม่อนุญาตโดยระบุว่าเป็นมาตรการของการสืบพยานคดีเยาวชนที่ไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นซึ่งมิใช่คู่ความเข้าฟังการพิจารณา

.

ในวันที่ 21 ต.ค. 2565 ภายหลังเสร็จสิ้นกระบวนการพิจารณาคดีแล้ว ศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรีได้นัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้ ในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 

.

ปัจจุบัน เพชร ธนกร ถูกดำเนินคดีทางการเมืองรวมแล้ว 8 คดี (มีจำนวน 3 คดีที่เหตุเกิดหลังอายุเกิน 18 ปีแล้ว) โดยเป็นคดีมาตรา 112 จำนวน 3 คดี โดยในคดีเหล่านี้ ธนกรยังคงยืนยันว่าต้องการที่จะต่อสู้คดีแทนการเข้ารับมาตรการพิเศษ โดยระบุว่าต้องการให้คดีความของตนเป็นหมุดหมายสำหรับคดีการเมืองในศาลเยาวชนฯ คดีอื่นๆ ต่อไป

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ศาลเยาวชนและครอบครัวกลางได้อ่านคำพิพากษาคดี 112 ของเพชร จากเหตุปราศรัยในการชุมนุม #ม็อบ6ธันวา บริเวณวงเวียนใหญ่ เมื่อวันที่ 6 ธ.ค. 2563 โดยสรุปได้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 และรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 พิเคราะห์แล้วเห็นว่า แม้คำปราศรัยของจำเลยจะไม่ได้มีการกล่าวถึงพระนามของกษัตริย์พระองค์ใด แต่เห็นว่าประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ไม่ได้คุ้มครองแค่กษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่ง แต่คุ้มครองทั้งสถาบันกษัตริย์ กำหนดลงโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา แต่ศาลได้เปลี่ยนจากโทษจำคุกเป็นคุมประพฤติ โดยให้นำตัวไปฝึกอบรมที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน กำหนดขั้นต่ำ 1 ปี 6 เดือน ขั้นสูงไม่เกิน 3 ปี โดยคดียังอยู่ระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไป

ศาลยังระบุในส่วนคำขอนับโทษจำคุก หรือระยะเวลาฝึกอบรมของจำเลยให้เรียงต่อจากโทษจำคุก หรือระยะการฝึกอบรมองจำเลยในคดีนี้ และในคดีปราศรัย #คนนนท์ไม่ทนเผด็จการ ของศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัดนนทบุรี ซึ่งมีกำหนดนัดฟังคำพิพากษาในวันที่ 22 ธ.ค. 2565 นี้ด้วย

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง: 

รัฐต้องฟังเสียงของเยาวชน: บทสนทนากับ ‘ธนกร’ เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม. 116

“ธนกร” เยาวชนรายแรกที่ถูกตั้งข้อหา ม.116 ยื่นหนังสือขออัยการสั่งไม่ฟ้อง ยืนยันสิทธิเสรีภาพ ตามกฎหมายระหว่างประเทศ และรัฐธรรมนูญไทย

สภ.เมืองนนทบุรี แจ้งข้อหา ม.116 “ธนกร” เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 รายแรก เหตุชุมนุมที่ท่าน้ำนนท์

X