จากเพื่อนถึงเพื่อน: ฟังสมาชิกอาชีวะพิทักษ์ประชาชนฯ เล่าถึง “คทาธร-คงเพชร” หลัง 99 วัน การคุมขัง

 “ต๊ะ” คทาธร และ “เพชร” คงเพชร สองสมาชิกกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ประชาชนเพื่อประชาธิปไตย วัย 26 ปี และ 18 ปี ตามลำดับ ถูกคุมขังอยู่ภายในเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นเวลากว่า 3 เดือนแล้ว นับแต่เมื่อวันที่ 11 เม.ย. 2565 จากเหตุมีระเบิดไว้ในครอบครอง หลังศาลอาญามีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัว

เพชรและต๊ะถูกจับกุมขณะกำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา 53  #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เจ้าหน้าที่ระบุว่าในระหว่างจับกุม ทั้งสองได้ร่วมกันต่อสู้ขัดขวางเจ้าพนักงาน

อย่างไรก็ดี ทั้งสองต่างได้รับบาดเจ็บจากการจับกุม โดยต๊ะเล่าว่าระหว่างชุลมุนขณะที่ถูกจับกุม เขาถูกเจ้าหน้าที่พยายามเตะตัดขาหลายรอบ ก่อนจะถูกจับใส่กุญแจมือ ทำให้มีรอยช้ำจากการถูกบีบคอและมีรอยแดงจากการถูกสวมกุญแจมือ ด้านเพชรเองก็บอกว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่ตีเข่าถึง 3 ครั้ง

ย้อนอ่านข่าว  จับ 2 วัยรุ่นระหว่างเดินทางไปร่วมงาน #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เหตุมีระเบิดในครอบครอง ก่อนศาลไม่ให้ประกันตัว

จากการเข้าเยี่ยมของทนายความ ทำให้ทราบได้ว่าทั้งต๊ะและเพชรพยายามออกกำลังกาย ให้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง ในส่วนของสภาพจิตใจ ทนายบอกว่าทั้งสองรู้สึกคิดถึงคนข้างนอก และมีความหวังในการยื่นประกันทุกครั้ง ด้วยอยากออกมาจากที่ตรงนั้นในเร็ววัน

ต๊ะ และ เพชร เข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองมาตั้งแต่ปี 2564 จากนั้นจึงได้เข้ามาเป็นสมาชิกของกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ จากการชักชวนของเพื่อนพี่น้องที่ได้พบปะกันในการชุมนุม

กล่าวได้ว่าทั้งสองเป็นหนึ่งในหลายๆ ฟันเฟืองของการเคลื่อนไหวทางการเมืองช่วงปีที่ผ่านมา ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนจึงสอบถามเรื่องราวของทั้งสองจากพี่และเพื่อนในกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ เพื่อเล่าสู่กันฟังถึงชีวิตของทั้งสองคน

ต๊ะ: ไอ้ต้าวใจเกเร 

“แนน” สมาชิกคนหนึ่งของกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ ระบุว่าต๊ะเข้ากลุ่มมาก่อน จากนั้นแนนและต๊ะก็ได้รู้จักกันมากขึ้นจากการทำกิจกรรม ทั้งกิจกรรมที่กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ เป็นผู้จัด รวมถึงกิจกรรมของกลุ่มอื่นๆ เช่น ลงพื้นที่ช่วยเหลือคนถูกน้ำท่วมบ้านที่ จ.อยุธยา ซึ่งทางกลุ่มได้เข้าไปช่วยแจกของ, ช่วยทำห้องน้ำให้ม็อบชาวนา และดูแลความเรียบร้อยตอนกลางคืนให้ม็อบ P-Move ในช่วงที่มีการชุมนุมในกรุงเทพฯ 

“เขาไม่ได้ทำแค่กิจกรรมการเมืองอย่างเดียว แต่ยังช่วยสนับสนุนการชุมนุมในประเด็นอื่นๆ ด้วย” 

แนนได้เล่าถึงจุดเริ่มต้นของการออกมาทำกิจกรรมและเข้าร่วมการชุมนุมทางการเมืองของต๊ะว่า ต๊ะเคยบอกกับเธอว่าสิ่งที่ทางโรงเรียนสอน มันใช้ไม่ได้ในชีวิตประจำวัน อันที่จริงโดยส่วนตัวแนนเองคิดว่าต๊ะก็ไม่ได้คิดจะยุ่งเกี่ยวกับเรื่องการเมืองมากนัก เพียงแต่การศึกษาในระดับที่โตขึ้น ทำให้ต๊ะได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่มันบิดเบี้ยว ได้เห็นตัวอย่างการเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนเลวและสนใจมาก แม้ในช่วงนั้นพ่อแม่จะไม่เห็นด้วยกับเรื่องดังกล่าว แต่ต๊ะก็อาศัยการหาข้อมูลด้วยตนเอง ทั้งจากช่องยูทูป และการพูดคุยกับพ่อแม่พี่น้องเสื้อแดง 

สิ่งเหล่านี้ทำให้ต๊ะมองเห็นภาพปัญหาต่างๆ ที่ทับถมและพัวพันกันอย่างยุ่งเหยิงได้ชัดเจนขึ้น และในที่สุดก็ได้ออกมาเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหว

ในช่วงแรกๆ ที่ออกมาร่วมชุมนุม ต๊ะจะขับรถมอเตอร์ไซค์ฮอนด้า PCX มาพร้อมกับเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียวกัน พอนานวันเข้า ต๊ะก็เริ่มติดเพื่อนกลุ่มดังกล่าวมาก ขณะที่ทางบ้านเข้าใจว่าต๊ะออกมาทำงาน แต่ในครั้งหนึ่งที่ออกมา ปรากฏรถมอเตอร์ไซค์ของต๊ะหายในที่ชุมนุม ทำให้ทางบ้านรู้ว่าลูกออกมาม็อบ จึงเกิดการทะเลาะกันขนานใหญ่ กระทั่งต๊ะตัดสินใจออกมาใช้ชีวิตด้วยตนเอง 

“พ่อต๊ะเค้าบอกว่าถ้าเลือกม็อบ ก็ไม่ต้องเข้าบ้าน” 

ในฐานะเป็นพี่ แนนระบุว่าต๊ะถือเป็นเด็กนิสัยดี เวลาทุกคนเจอต๊ะก็จะพากันเรียกเขาว่า “ไอ้ต้าวใจเกเร” ซึ่งหมายถึงมีม (meme) ฝรั่งผมสีทองหุ่นล่ำที่เห็นได้ทั่วไปในอินเทอร์เน็ต ต๊ะเป็นคนที่มักจะถูกแกล้งบ่อยๆ เขาถือเป็นเสียงหัวเราะและความสุขของพี่ๆ เพื่อนๆ ในกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ 

เมื่อคุยกันเรื่องการเข้าเยี่ยม แนนก็บอกว่าเธอมีโอกาสได้เข้าเยี่ยมต๊ะอยู่บ้าง เนื่องจากในช่วงนี้ เรือนจำยังให้เยี่ยมได้เดือนละครั้ง และในการเข้าเยี่ยมครั้งหนึ่งเธอรับรู้ได้ผ่านสายตาของต๊ะว่า เขาไม่โอเคกับการอยู่เบื้องหลังกำแพงเรือนจำ

.

“แฮปปี้” หนึ่งในเพื่อนกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ ได้รู้จักกับต๊ะในการชุมนุมที่หน้าราบ 11 เมื่อปี 2564 หลังเขาได้รับการชักชวนเข้ามาเป็นสมาชิกกลุ่มอาชีวะฯ

เธอเล่าว่าต๊ะเป็นคนเต็มที่ในทุกอย่าง เวลาเจอปัญหาหรือรู้ว่าใครมีปัญหาเขาก็ทุ่มสุดตัว ช่วยเหลือในทุกอย่าง เขาเป็นคนรักเพื่อนรักฝูง และในกลุ่มพวกเราก็อยู่กันเป็นครอบครัว สำหรับการออกมาร่วมชุมนุมหรือทำกิจกรรมทางการเมืองของต๊ะ แฮปปี้ระบุว่าเหตุผลสำคัญที่อยู่เบื้องหลังคือ “เขามีความต้องการที่จะเห็นประเทศมันดีขึ้น” 

แฮปปี้เล่าต่อไปว่าเวลาที่กลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ ออกไปทำกิจกรรมมักจะมีภาพของความรุนแรงปรากฏสู่สายตาสังคม แต่เอาเข้าจริงแล้วถ้าฝั่งเจ้าหน้าที่ไม่ทำอะไร ความรุนแรงก็จะไม่เกิด 

ในฐานะเพื่อนคนหนึ่ง แฮปปี้มองว่าต๊ะเป็นเพื่อนที่เธอสามารถพูดคุยได้ทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเรื่องการเมืองหรือเรื่องทั่วๆ ไป ด้วยเพราะมีความไว้ใจกันในระดับหนึ่ง ประกอบกับต๊ะเป็นคนอัธยาศัยดี ไม่เป็นพิษเป็นภัยกับใคร เช่นเดียวกันกับเพชร และโดยปกติแล้วทั้งสองเป็นคนอารมณ์ดี ชอบหามุกตลก หาเรื่องตลกมาเล่าให้พี่ๆ เพื่อนๆ ฟัง ทำให้เป็นสีสันในกลุ่ม

และด้วยความเป็นเพื่อนกัน ทำให้แฮปปี้ตัดสินใจโกนผมเพื่อเรียกร้องสิทธิในการประกันตัวให้ทั้งต๊ะและเพชร ในกิจกรรมยืนหยุดขังที่จัดโดยกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ 

เธอบอกว่า “เพราะรู้ว่าเพื่อนเป็นคนรักผม เพื่อนชอบมาบ่นให้ฟังทุกครั้งเวลาจะไปเรียน ไปทำงาน หรือทำอะไรก็ตามที่ต้องตัดผม เราก็เลยรู้ว่า เออ เพื่อนเรามันรักผมนะ เราก็เลยเลือกแสดงออกด้วยการโกนหัวเพื่อที่จะบอกเพื่อน บอกน้องเราว่า เรารักพวกเขามากกว่าผมของเรา อีกอย่างเรารู้ว่าเวลาเข้าไปข้างใน (เรือนจำ) จะต้องตัดผม เราก็เลยอยากตัดเป็นเพื่อนพวกเขาด้วย”

แฮปปี้กล่าวว่าเธอยังไม่มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมเพื่อนและน้อง (หมายถึงเพชร) เลย แต่ก็พอรู้เรื่องราวของทั้งสองจากทนายและคนอื่นๆ ที่ได้เยี่ยม และยังบอกด้วยว่าปกติทั้งต๊ะและเพชรก็ชอบออกกำลังกายกันอยู่แล้ว ดังนั้นเธอจึงไม่แปลกใจเลยว่าเมื่อเข้าไปอยู่ข้างในแล้ว ทั้งสองจะพากันฟิตหุ่นจนกล้ามขึ้น

“เพชร อุบลฯ”

สำหรับ “เพชร” คงเพชร พื้นเพเขาเป็นคนจังหวัดอุบลราชธานี จึงทำให้คนในกลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ พากันเรียก เขาว่า “เพชร อุบลฯ” 

แนนเล่าว่าเพชรออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ช่วงปี 2564 และเคยถูกจับครั้งหนึ่งจากดินแดงในเหตุการณ์ #ม็อบ13กันยา ในครั้งนั้นเพชรได้ถูกทำร้ายร่างกายในระหว่างจับกุมด้วย เธอจึงได้ติดตามไปถึงที่สถานีตำรวจ และทำให้ทราบว่าเพชรคือน้องชายของเพื่อนตนเองในสมัยมัธยม 

หลังเหตุการณ์ดังกล่าว แนนระบุว่าเพชรยังคงออกมาร่วมกิจกรรมชุมนุมอยู่เรื่อยๆ โดยจะมาพร้อมกลุ่มเพื่อนๆ รุ่นราวคราวเดียว เธอจึงได้พาเพชรไปฝากเข้ากลุ่มอาชีวะพิทักษ์ฯ เพื่อที่จะได้มีคนปรึกษาและให้คำแนะนำได้

ในส่วนของการออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองของเพชร แนนเล่าว่าเพชรไม่พอใจการบริหารที่ล้มเหลวอย่างชัดเจนของรัฐบาล โดยเพชรเคยเล่าว่าครอบครัวของเขามีอาชีพรับเหมาก่อสร้าง และก่อนหน้าที่จะมีรัฐบาลชุดนี้ ที่บ้านมีงานจ้างเข้ามาตลอด แต่พอเปลี่ยนรัฐบาลทุกอย่างก็เปลี่ยนไป งานที่เคยมีเยอะก็ลดหาย ขณะที่ภาระค่าใช้จ่ายต่างๆ ยังมีเช่นเดิม 

บรรยากาศเช่นนั้นทำให้เพชรซึ่งกำลังอยู่ในช่วงคาบเกี่ยวระหว่างวัยรุ่นกับผู้ใหญ่ พยายามมองหาต้นเหตุที่ทำวิถีความเป็นอยู่ของครอบครัวเปลี่ยนแปลงไป ขณะเดียวก็กันได้พยายามลดทอนความเดือดร้อนของครอบครัวด้วยการทำงานพาร์ทไทม์ไปพร้อมๆ กับการเรียนหนังสือ แต่ถึงกระนั้น ความเดือดร้อนต่างๆ ยังคงอยู่ มิหนำซ้ำยังมีแนวโน้มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ เพราะภาวะโรคระบาด

กล่าวได้ว่า บริบทในช่วงที่ผ่านมาได้บีบคั้นความคิด ความรู้สึก จนทำให้เด็กหนุ่มวัย 17 ย่าง 18 เช่นเพชรเลือกที่จะออกมาร่วมเรียกร้องทางการเมือง ด้วยความหวังว่าจะช่วยทำให้มีเกิดเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี

ถึงกระนั้น การออกมาร่วมชุมนุมทางการเมืองของเพชรนั้นไม่ค่อยได้รับการสนับสนุนจากคนใกล้ชิดเสียเท่าไหร่ เพราะหลายคนต่างรู้สึกเป็นห่วงและมองว่าเพชรยังอยู่ในวัยที่ยังไม่ควรเข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องการเมือง แนนเล่าว่าแต่สำหรับเพชรเองแล้ว เขามีคำพูดของเขาเองที่ว่า “อย่างน้อยก็ได้เป็นหนึ่งเสียงที่ออกมาเรียกร้อง”

.

แนนเล่าต่อด้วยว่าความเป็นเพชรที่ชัดเจนมากคือ เขาใส่ใจทุกคน ยินดีช่วยเหลือทุกคน โดยเฉพาะเวลาที่รู้ว่าใครมีปัญหาเขาจะยินดีช่วยอย่างเต็มที่ ครั้งหนึ่งมีเพื่อนในกลุ่มประสบปัญหาทางบ้าน ทางจิตใจ และได้บอกกับเพชร ซึ่งเมื่อรู้ว่าเพื่อนมีปัญหา เพชรก็ได้ขับรถจักรยานยนต์ตรงจากไทรน้อยมายังห้วยขวางโดยทันที

.

ในส่วนของแฮปปี้ เธอกล่าวว่าแม้จะไม่ค่อยสนิทกับเพชรมากเท่าต๊ะ แต่สิ่งหนึ่งที่เธอพบเห็นได้จากเพชรตลอดคือความเป็นคนอัธยาศัยดี การแต่งตัวเท่ๆ การช่วยเหลือ ช่วยงาน และเล่นหยอกล้อกับพี่ๆ ในกลุ่ม

ท้ายที่สุดนี้ ทั้งแนนและแฮปปี้ต่างพูดเสียงเดียวกันว่า สิ่งที่ต้องการมากที่สุดคืออยากให้ต๊ะและเพชรได้สิทธิในการประกันตัว อันจะนำมาซึ่งการพบเจอครอบครัว พี่ๆ เพื่อนๆ ที่อยู่ข้างนอกทุกคน และที่สำคัญคือการได้ต่อสู้คดีอย่างเต็มที่

อย่างไรก็ดี ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันต๊ะ คทาธร ไปแล้วกว่า 3 ครั้ง โดยเสนอวางหลักประกันเป็นเงิน 1 แสนบาท พร้อมขอให้ศาลติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) โดยยืนยันว่าผู้ต้องหาไม่ได้มีพฤติการณ์หลบหนี หรือไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐานและยืนยันว่าทั้งสองคนประกอบอาชีพสุจริต มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง และในส่วนของเพชร คงเพชร ทนายความได้ยื่นคำร้องขอประกันไปแล้ว 4 ครั้ง โดยยังระบุถึงขณะเกิดเหตุที่ถูกกล่าวหาเขามีอายุ 18 ปี 2 เดือน ทั้งยังมีภาระต้องช่วยเหลือเศรษฐกิจของครอบครัว

แต่ศาลอาญายังคงมีคำสั่งไม่อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราวดังเดิม ทำให้จนถึงวันที่ 18 ก.ค. 2565 ทั้งต๊ะและเพชรต่างถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำมารวมเป็นเวลากว่า 99 วันแล้ว

.

อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง

ศาลอาญาไม่ให้ประกัน “คงเพชร” ครั้งที่ 4 ระบุไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม

บันทึกเยี่ยมคทาธร-คงเพชร: เสียงสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ กับความหวังถึงการประกันตัว

บันทึกเยี่ยมคทาธร-คงเพชร: ยังหวังศาลให้ประกันไปลงทะเบียนฝึกงาน-มีกำลังใจจากจดหมายของคนข้างนอก

บันทึกเยี่ยมคทาธร-คงเพชร-เวหา: อาหาร-สวัสดิการพื้นฐานในเรือนจำไม่ดี แต่ทุกคนยังแข็งแรง-อยากได้รับสิทธิประกันตัว

บันทึกเยี่ยม: “คทาธร-คงเพชร” ถูกตร.เข้าแจ้งข้อหาเพิ่ม ไม่มีทนาย จตุพลถูกผู้คุมตีก่อนย้ายแดน พร้อมความคืบหน้าผู้ต้องขังทะลุแก๊ส

X