เมื่อวันที่ 27 มิ.ย. 2565 ที่ศาลอาญา รัชดาฯ ทนายความได้เข้ายื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว ครั้งที่ 4 ในคดีของ คงเพชร หรือ “เพชร” วัย 18 ปี ซึ่งถูกกล่าวหากรณีครอบครองระเบิด หลังจากมีกิจกรรมรำลึก #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565
>>ศาลยังไม่ให้ประกัน “ปฏิมา-คทาธร-คงเพชร” ส่วน “เอกชัย-สมบัติ” รอส่งศาลสูงพิจารณาคำร้อง
ต่อมาในช่วงเย็น ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวคงเพชร เนื่องจากเคยมีคำสั่งไม่อนุญาตในระหว่างสอบสวนและพิจารณาโดยระบุเหตุผลไว้ชัดแจ้งแล้ว กรณีไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม ไม่อนุญาตให้ปล่อยชั่วคราว ยกคำร้อง
.
เปิดเหตุผลขอปล่อยตัวชั่วคราว “ยินยอมให้ติดอุปกรณ์ EM-ยันกติการะหว่างประเทศ ICCPR ขอแสวงหาหลักฐานสู้คดี”
ในส่วนคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวระบุโดยสรุปว่า ขอวางหลักประกันเป็นเงิน 1 แสนบาท พร้อมให้ศาลติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) เพื่อเป็นหลักประกันอันน่าเชื่อถือว่าผู้ต้องหาจะไม่หลบหนี
นอกจากนี้ ผู้ต้องหาเห็นว่าคดีมีหนทางจะต่อสู้คดีได้ ทั้งในปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ยิ่งไปกว่านั้น ผู้ต้องหาเป็นเพียงบุคคลธรรมดา ไม่ได้มีอิทธิพลเพื่อที่จะไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่นใด และไม่อาจก่ออุปสรรคหรือความเสียหายต่อการดำเนินคดีในชั้นศาล
ที่สำคัญคงเพชรมีอายุเพียง 18 ปี 2 เดือน รวมถึงต้องประกอบอาชีพรับจ้างเพื่อหาเลี้ยงจุนเจือครอบครัว หากยังถูกคุมขังต่อไป ย่อมส่งผลกระทบต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของผู้ต้องหาอย่างร้ายแรง
ทั้งนี้ ผู้ต้องหายังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่ากระทําความผิดในฐานความผิดที่มีโทษทางอาญาเท่านั้น ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาลว่าเป็นความผิด ตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ที่ว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” ขอให้ศาลใช้เพื่อประกอบการพิจารณาให้อนุญาตปล่อยตัวชั่วคราว
อนึ่ง “คงเพชร” ได้ถูกคุมขังระหว่างการสอบสวนอยู่ที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ มาเป็นเวลา 79 แล้ว หลังจากเขาถูกจับกุมพร้อมกับ คทาธร หรือ “ต๊ะ” ขณะกำลังเดินทางจากย่านดินแดงไปยังแยกราชประสงค์ เพื่อร่วมงานรำลึก 12 ปี การสลายการชุมนุมคนเสื้อแดง 10 เมษา 2553 #ยุติธรรมไม่มี12ปีเราไม่ลืม เมื่อวันที่ 10 เม.ย. 2565 ก่อนจะถูกฝากขังต่อศาลอาญา ในวันที่ 11 เม.ย. 2565 และไม่ได้รับการอนุญาตให้ประกันตัว
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน จนถึงวันที่ 28 มิ.ย. 2565 ยังมีผู้ถูกคุมขังในคดีเกี่ยวเนื่องกับการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง อย่างน้อย 22 คน
.
อ่านเรื่องราวที่เกี่ยวข้อง
บันทึกเยี่ยมคทาธร-คงเพชร: เสียงสะท้อนสภาพความเป็นอยู่ในเรือนจำ กับความหวังถึงการประกันตัว
.