เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 2561 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 เรื่อง การให้ประชาชนและพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรมทางการเมือง เพื่อปลดล็อคการทำกิจกรรมทางการเมืองอันจะนำไปสู่การเลือกตั้ง
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนมีข้อสังเกตต่อการจำกัดสิทธิเสรีภาพที่ยังดำรงอยู่ แม้จะมีคำสั่งฉบับนี้ ดังต่อไปนี้
1. กรณีการทำธุรกรรมทางการเงินและการดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ได้ยกเลิกคำสั่ง คสช.ที่ 10/2557 ซึ่งมีผลระงับธุรกรรมทางการเงินหรืออายัดบัญชีของนายจาตุรนต์ ฉายแสง แต่ไม่รวมถึงกรณีของนายจารุพงศ์ เรืองสุวรรณ ที่ขณะนี้ไม่ได้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว รวมถึงยกเลิกคำสั่ง คสช. ที่ 26/2557 ที่ให้ระงับธุรกรรมทางการเงินนายสมบัติ บุญงามอนงค์ จ่าสิบตำรวจประสิทธิ์ ไชยศีรษะ ซึ่งทั้ง 3 คนถูกระงับธุรกรรมทางการเงินเนื่องมาจากไม่เข้ารายงานตัวตามคำสั่ง คสช.
2. กรณีการกำหนดเงื่อนไขห้ามเคลื่อนไหวทางการเมือง (MOU)
(3) ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557 เรื่อง การกำหนดเงื่อนไข การปล่อยตัวของบุคคลที่มารายงานตัวต่อ คสช.
คำสั่งดังกล่าวยกเลิกเงื่อนไขการปล่อยตัวบุคคล หรือ MOU ของคนที่มารายงานตัวและถูกกักตัวตามพระราชบัญญัติกฎอัยการศึก พ.ศ.2457 ซึ่งห้ามไม่ให้ผู้ถูกปล่อยตัวเดินทางออกนอกประเทศโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก คสช. และห้ามเคลื่อนไหวหรือสนับสนุนการชุมนุมทางการเมือง
อย่างไรก็ตาม ยังมีเงื่อนไขการปล่อยตัว หรือ MOU ของผู้ถูกควบคุมตัวตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ซึ่งประกาศใช้หลังยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักรเมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2558 ในข้อ 11 ที่มิได้ถูกยกเลิกไปด้วย และการกำหนดว่า การยกเลิกประกาศและคำสั่งในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้ ยังคลุมเครือและขาดความชัดเจนว่า คดีฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัวที่กำลังดำเนินคดีอยู่ในศาลทหารจะยุติลงหรือไม่ ทำให้เป็นภาระในการต่อสู้คดีของจำเลย
นอกจากนี้แม้บุคคลที่ยอมลงนามในเงื่อนไขการปล่อยตัว หลังมารายงานตัวต่อ คสช. จะไม่มีผลผูกพันใด ๆ ตามประกาศคสช.ฉบับที่ 39/2557 แล้ว แต่ผู้ที่ไม่มารายงานตัวตามคำสั่ง คสช. ยังคงมีความผิดตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 และจะถูกดำเนินคดีในศาลทหาร
3.กรณีความผิดเกี่ยวกับการห้ามชุมนุมหรือมั่วสุมทางการเมือง
(7) คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่อง การรักษาความสงบเรียบร้อยและความมั่นคงของชาติ เฉพาะในข้อ 12
…การยกเลิกประกาศและคำสั่งตามข้อ 1 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้
คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 มีผลยกเลิกความผิดฐานมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ทำให้ประชาชนและพรรคการเมืองสามารถดำเนินกิจกรรมทางการเมืองได้ตั้งแต่วันที่ 11 ธ.ค. 2561 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม การกำหนดว่า การยกเลิกประกาศและคำสั่งในคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้ ยังคลุมเครือและขาดความชัดเจนว่า คดีชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ที่ฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งกำลังดำเนินคดีอยู่ทั้งในศาลทหารและศาลยุติธรรมจะยุติลงหรือไม่ ทำให้เป็นภาระในการต่อสู้คดีของจำเลย
4. กรณีการดำเนินกิจกรรมทางการเมือง
ก่อนหน้านี้ในยุค คสช. มีประกาศและคำสั่งจำนวนหนึ่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม และห้ามประชาชนดำเนินกิจกรรมทางการเมือง ประกาศและคำสั่งเหล่านี้ถูกยกเลิกโดยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ดังนี้
(5) ยกเลิกประกาศ คสช. ฉบับที่ 57/2557 เรื่อง ให้พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญบางฉบับมีผลบังคับใช้ต่อไปเฉพาะในข้อ 2 ซึ่งห้ามมิให้พรรคการเมืองที่มีอยู่แล้วดําเนินการประชุม หรือดําเนินกิจการใด ๆ ในทางการเมือง และการดําเนินการเพื่อการจัดตั้งหรือจดทะเบียนพรรคการเมืองให้ระงับไว้เป็น การชั่วคราว รวมทั้งให้ระงับการจัดสรรเงินสนับสนุนแก่พรรคการเมืองของกองทุนเพื่อการพัฒนา พรรคการเมืองไว้เป็นการชั่วคราว
(6) คำสั่ง คสช. ที่ 80/2557 เรื่อง ให้บุคคลปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด ซึ่งกำหนดให้บุคคลที่มีความเกี่ยวข้องทางการเมือง 18 ราย ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและละเว้นการเคลื่อนไหวหรือประชุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ หากฝ่าฝืนเงื่อนไขดังกล่าวหรือดําเนินการช่วยเหลือสนับสนุนกิจกรรมทางการเมือง ให้ถือว่าเป็นผู้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กําหนดไว้ในประกาศ คสช. ฉบับที่ 39/2557
(8) คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 53/2560 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง เฉพาะในข้อ 4 ข้อ 5 และข้อ 7 ซึ่งห้ามพรรคการเมืองจัดประชุมใหญ่ รวมทั้งการจัดตั้งสาขาพรรคการเมืองและตัวแทน พรรคการเมืองประจําจังหวัด การประชุมสมาชิกพรรคการเมือง หรือ การดําเนินการอื่นใดในทางการเมือง การประชุมเพื่อยื่นคำขอจดทะเบียนจัดตั้งพรรคการเมืองใหม่ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจาก คสช.
(9) คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) เฉพาะในข้อ 6 ซึ่งกำหนดให้พรรคการเมืองจะดำเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดำรงตำแหน่งใด ๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดำเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ คณะกรรมการ การเลือกตั้งและ คสช. อาจกำหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับ การดำเนินการดังกล่าวก็ได้
ความคลุมเครือของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561
แม้คำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 ดูเหมือนจะยกเลิกความผิดทางอาญาฐานฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว และฐานชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป แต่การระบุให้การยกเลิกประกาศและคำสั่งไม่กระทบกระเทือนถึงการดำเนินคดี การดำเนินการ หรือการปฏิบัติตามประกาศหรือคำสั่งที่ได้กระทำไปก่อนการยกเลิกโดยคำสั่งนี้ ยังก่อให้เกิดความคลุมเครือในการตีความและเป็นภาระในการต่อสู้คดีของจำเลย
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า จะต้องยึดหลักการตามมาตรา 2 ประมวลกฎหมายอาญา ซึ่งรับรองหลักไม่มีโทษโดยไม่มีกฎหมาย (Nullum Crimen Nulla Poena Sene Lege) อันเป็นหัวใจของกฎหมายอาญาว่า “บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย” นอกจากนี้ ในวรรค 2 ของมาตราเดียวกันยังกำหนดอีกว่า ถ้าหากมีกฎหมายบัญญัติขึ้นในภายหลังให้การกระทำนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ก็ให้ผู้กระทำความผิดนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด หรือหากถ้าขณะนั้นมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษเเล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิด หรือหากได้รับโทษอยู่ ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง
ดังนั้น ผลของการประกาศคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 22/2561 จึงทำให้ความผิดฐาน ฝ่าฝืนเงื่อนไขการปล่อยตัว และมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมืองตั้งเเต่ 5 คนขึ้นไป ถูกยกเลิกไป ศาลไม่อาจอ้างประกาศคำสั่งที่ถูกยกเลิกมาบังคับใช้แก่ลงโทษผู้ถูกดำเนินคดีในความผิดฐานนี้ได้อีก นอกจากนี้ ยังทำให้สิทธิในการดำเนินคดีอาญาระงับลงด้วย ตามมาตรา 39 (5) ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
อำนาจที่คณะรักษาความสงบแห่งชาตินั้นยังควบคุมอยู่
แม้ คสช. จะผ่อนคลายมาตรการการควบคุมการดำเนินการทางการเมืองเพื่อนำไปสู่บรรยากาศการเลือกตั้ง แต่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเห็นว่า อำนาจในการควบคุมและจำกัดเสรีภาพประชาชนนั้นยังคงมีอยู่ในประเด็นสำคัญต่อไปนี้
- หัวหน้า คสช. ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ. 2557 และมาตรา 265 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งอำนาจดังกล่าวจะคงอยู่จนกว่าจะมีคณะรัฐมนตรีตั้งขึ้นใหม่เข้ารับหน้าที่หลังการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกตามรัฐธรรมนูญนี้ อันหมายความว่าหัวหน้าคสช. จะยังมีอำนาจอย่างเด็ดขาดที่จะออกคำสั่งใดๆ ก็ตาม เพื่อควบคุมเเละบริหารประเทศตลอดระยะเวลาก่อน ระหว่าง และหลังการเลือกตั้ง โดยคำสั่งนั้นยังเป็นที่สุด เพราะปราศจากการตรวจสอบจากศาล อีกทั้งยังชอบด้วยกฎหมายเเละรัฐธรรมนูญ
- เจ้าหน้าที่ทหารซึ่งเป็นเจ้าพนักงานรักษาความสงบเรียบร้อยตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 และเจ้าพนักงานป้องกันและปราบปรามตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2559 ยังคงมีอำนาจในการจับกุม เข้าไปในเคหสถาน ยึด ควบคุมตัวบุคคลไม่เกิน 7 วัน หรือ “การปรับทัศนคติ” จะยังมีอยู่ และเป็นปฏิบัติการหลักที่ทำให้ประชาชนหวาดกลัวในการใช้สิทธิเสรีภาพตลอดมา
- ความผิดฐานมั่วสุม หรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใด ๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ตามคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 3/2558 ซึ่งยกเลิกแล้วแต่กำหนดเงื่อนไขไม่ให้กระทบกระเทือนคดีนั้นขาดความชัดเจน ทำให้บุคคลที่ถูกดำเนินคดีด้วยข้อหาดังกล่าวยังคงมีภาระในการต่อสู้คดีเพื่อให้ได้มาซึ่งเสรีภาพ นอกจากนี้ ประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 ซึ่งกำหนดความผิดแบบเดียวกันยังไม่ถูกยกเลิกแต่อย่างใด
- ความผิดฐานฝ่าฝืนคำสั่งให้มารายงานตัวตามประกาศ คสช. ฉบับที่ 41/2557 นั้นยังคงอยู่ เช่นเดียวกับการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร ในคดีที่เกิดขึ้นระหว่าง 25 พ.ค. 2557 – 11 ก.ย. 2559 ซึ่งมิได้ถูกยกเลิกไปด้วยคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 55/2559 ทำให้บุคคลไม่อาจใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกได้อย่างเต็มที่
- นอกจากประกาศและคำสั่ง คสช. แล้ว คสช. ยังมีเครื่องมือในการควบคุมเสรีภาพในการแสดงออก ผ่านการดำเนินคดีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2560 และพระราชบัญญัติการชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558