เมื่อวันที่ 14 ก.ย. และ 12 พ.ย. 2561 ศาลทหารกรุงเทพนัดสืบพยานในคดี “พลเมืองรุกเดิน” ซึ่งมีนายพันธ์ศักดิ์ ศรีเทพหรือ “พ่อน้องเฌอ” สมาชิกกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ถูกกล่าวหาในข้อหาฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 เรื่องชุมนุมมั่วสุมทางการเมือง ตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป, ข้อหายุยงปลุกปั่น ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116, และข้อหาตามพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากเหตุที่พันธ์ศักดิ์เดินจากบ้านพักย่านบางบัวทองไปรายงานตัวในคดี “เลือกตั้งที่(รัก) ลัก” ที่ศาลทหารกรุงเทพ เพื่อเรียกร้องให้ยุติการดำเนินคดีพลเรือนในศาลทหาร
พยานที่มาเบิกความใน 2 ครั้งนี้เป็นอดีตรองผู้กำกับสืบสวน สน.ชนะสงคราม คือ พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ เบิกความว่า เมื่อวันที่ 14 มี.ค. 58 ตนได้รับแจ้งเหตุจากพ.ต.ท.สถิต สังข์ประไพ ว่านายพันธ์ศักดิ์ ได้นัดทำกิจกรรม “พลเมืองรุกเดิน เมื่อความยุติธรรมไม่มา เราจะเดินไปหามัน” ในวันที่ 15 มี.ค. 58 โดยมีการโพสต์ชักชวนคนมาร่วมในเฟซบุ๊ก เพื่อให้คนที่ไม่เห็นด้วยกับการบังคับใช้กฎหมายของ คสช. มาร่วมเดินขบวน
พยานเห็นว่ากิจกรรมดังกล่าวเป็นกิจกรรมทางการเมือง เพราะเป็นการต่อต้านซึ่งส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยรวม
ในวันที่ 15 มี.ค. พยานได้วางกำลังตำรวจอยู่ที่บริเวณหน้าโชว์รูมเบนซ์ ธนบุรี โดยมีพ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา รองสารวัตรสืบสวน สน.ชนะสงคราม ส่วนตัวพยานเองนำกำลังอีกส่วนไปที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์
ในตอนเช้า พยานได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวว่านายพันธ์ศักดิ์มีกิจกรรมการวางดอกไม้บริเวณถนนรางน้ำตรงจุดที่ฝังหมุดเพื่อรำลึกถึงสมาพันธ์ ศรีเทพ ลูกชายของพันธ์ศักดิ์ ที่ถูกยิงเสียชีวิตจากการสลายการชุมนุม นปช. เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 และจะเดินไปที่ มธ.ท่าพระจันทร์ โดยใช้เส้นทางที่ผ่านสัญลักษณ์ทางการเมืองต่างๆ เช่น อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
พยานเบิกความต่อว่ากิจกรรมดังกล่าวมีผู้ที่ร่วมเดินทั้งหมด 7 คน โดยมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสืบสวนนครบาล 1 ทหารและหน่วยข่าวกรอง เป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ ติดตามสังเกตการณ์กิจกรรมของพันธ์ศักดิ์ และยังมีสื่อต่างๆ คอยติดตามทำข่าวด้วย
อัยการได้ถามพยานว่าแล้วทราบได้อย่างไรว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบ และใครเป็นผู้ชุมนุม พยานตอบว่าระหว่างที่นายพันธ์ศักดิ์เดิน เจ้าหน้าที่ฝ่ายข่าวได้ถ่ายภาพตลอดการเดิน ทำให้สามารถแยกได้ว่าใครเป็นเจ้าหน้าที่ใครเป็นผู้ชุมนุม
พยานเบิกความต่อว่าเมื่อนายพันธ์ศักดิ์กำลังจะเดินถึงธรรมศาสตร์ ตนได้ไปดักรอที่ประตูของมหาวิทยาลัย เพื่อเชิญนายพันธ์ศักดิ์ไปคุยกับผู้ช่วยอธิการบดี แต่พยานจำชื่อผู้ช่วยอธิการฯ ไม่ได้แล้ว เพื่อให้นายพันธ์ศักดิ์ไปชี้แจงถึงจุดประสงค์ของกิจกรรม เพราะนายพันธ์ศักดิ์ไม่ได้แจ้งกับทางมหาวิทยาลัยเอาไว้ก่อน พยานได้เชิญตัวนายพันธ์ศักดิ์ไปที่ห้องประชุมใต้ตึกโดม
ในห้องประชุมมีตัวพยาน นายพันธ์ศักดิ์ ผู้ช่วยอธิการบดี และฝ่ายสถานที่ของมหาวิทยาลัย การพูดคุยได้มีการแจ้งกับนายพันธ์ศักดิ์ว่าทางมหาวิทยาลัยให้ใช้สถานที่ไม่ได้ เพราะนายพันธ์ศักดิ์เป็นคนนอกมหาวิทยาลัย หากจะใช้สถานที่ต้องทำหนังสือแจ้งขอใช้สถานที่ก่อน ส่วนพยานได้บอกกับพันธ์ศักดิ์ว่าการชุมนุมทางการเมืองจะเป็นการฝ่าฝืนประกาศ คสช. ฉบับที่ 7/2557 อีกทั้งนายพันธ์ศักดิ์ยังได้โพสต์ในเฟซบุ๊กด้วยว่าจะค้างที่มหาวิทยาลัย ทางมหาวิทยาลัยจึงได้แจ้งว่าไม่สามารถให้ค้างคืนในพื้นที่ได้
พยานเบิกความอีกว่านายพันธ์ศักดิ์ได้บอกกับพยานว่าจะไม่ทำกิจกรรมแล้ว แต่จะขอพักผ่อนที่ลานปรีดีและพูดคุยกับเพื่อนที่มาด้วยกันแทน และจะไม่ค้างที่มหาวิทยาลัย รวมถึงจะไม่ใช้เครื่องขยายเสียงด้วย เมื่อเสร็จแล้วก็จะแยกย้ายกันกลับ
หลังจากพูดคุยกันเสร็จแล้ว นายพันธ์ศักดิ์ได้เดินออกไปที่ลานปรีดี โดยมีมวลชนที่มาให้กำลังใจราว 20 คน ไปนั่งจับกลุ่มๆ ละ 5-10 คน พูดคุยกันอยู่ในลาน บางคนนำเข็มกลัดที่มีโลโก้ของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ มาขายชิ้นละ 15-20 บาท แต่ตนไม่ทราบว่าพวกเขาคุยอะไรกัน
ในระหว่างที่นายพันธ์ศักดิ์และมวลชนกำลังนั่งพูดคุยกัน ก็ได้มีเจ้าหน้าที่ถ่ายภาพนิ่งและส่งข้อมูลให้ผู้บังคับบัญชาทราบโดยตลอด จนถึงเวลา 19.00 จึงแยกย้ายกันกลับ
พ.ต.ท.สมยศ เบิกความต่อว่าในวันที่ 16 มี.ค. 58 ได้มีคำสั่งให้ตั้งคณะทำงานร่วมกันกับสถานีตำรวจนครบาลในพื้นที่ต่างๆ ที่นายพันธ์ศักดิ์เดิน เพื่อรวบรวมข้อมูลการทำกิจกรรมของเขา และทำรายงานให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ ส่วนพยานเองได้รับคำสั่งแต่งตั้งให้เป็นเจ้าพนักงานสืบสวนสอบสวนในครั้งนี้ด้วย ตนจึงได้ทำรายงานเหตุความมั่นคงให้กับผู้บังคับบัญชาทราบ
หลังอัยการทหารถามพยานเสร็จสิ้น ทางทนายจำเลยได้แถลงขอเลื่อนนัดถามค้านพยานปากนี้ออกไปก่อน เนื่องจากต้องการขอให้ศาลเรียกหลักฐานที่เป็นบันทึกคำให้การพยานปากนี้ในชั้นสอบสวนมาใช้ประกอบการถามค้านก่อน เนื่องจากอัยการไม่ได้นำบันทึกคำให้การพยานมาส่งต่อศาล แต่มีการนำพยานปากนี้เข้ามาสืบในชั้นศาล อัยการแถลงไม่คัดค้าน ศาลจึงอนุญาตให้เลื่อนการถามค้านออกไป และให้ทนายความทำคำร้องขอให้ศาลออกหมายเรียกหลักฐานดังกล่าวมา
ต่อมาในการสืบพยานวันที่ 12 พ.ย. 61 การสืบพยานครั้งนี้เป็นช่วงทนายความถามค้าน พ.ต.ท.สมยศ อุดมรักษาทรัพย์ ต่อจากนัดสืบพยานครั้งก่อน
พยานเบิกความตอบคำถามทนายความสรุปได้ว่าการเดินรณรงค์เพื่อให้คดีพลเรือนไม่ถูกนำมาพิจารณาในศาลทหารสามารถทำได้ ถ้ามีการรับรองเอาไว้ในรัฐธรรมนูญ
พ.ต.ท.สมยศ เบิกความต่อว่าในวันเกิดเหตุ ตนเองประจำอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ส่วนพ.ต.ท.ปิติพันธ์ กฤดากร ณ อยุธยา รองสารวัตรสืบสวน สน.ชนะสงคราม จะอยู่ช่วงรอยต่อระหว่างพื้นที่รับผิดชอบ ตัวพยานเองจะได้รับแจ้งสถานการณ์ผ่านทางแอพพลิเคชั่นไลน์
ก่อนหน้าจะถึงวันเกิดเหตุ พยานได้เห็นโพสต์ของนายพันธ์ศักดิ์ พยานมีความเห็นต่อโพสต์ดังกล่าวว่ามีความขัดแย้งในตัวเอง เนื่องจากเป็นการโพสต์ให้คนมาร่วมให้กำลังใจ แต่ไม่เกินครั้งละ 5 คน แต่หากไม่โพสต์เลย ก็จะไม่มีคนมาร่วม แต่ถ้าอ่านตามตัวหนังสือในโพสต์ดังกล่าวแล้ว ก็ไม่ได้มีลักษณะชักชวนคนให้มาก่อความวุ่นวาย
ทนายความจึงได้ถามต่อว่าในวันเกิดเหตุ ก็ไม่ได้เกิดความวุ่นวายขึ้น และกิจกรรมก็เป็นไปโดยสงบทั้งตอนเดินและตอนจำเลยอยู่ในธรรมศาสตร์แล้วใช่หรือไม่ พ.ต.ท.สมยศตอบว่าใช่ แต่พยานก็ไม่ทราบว่าจำเลยและคนที่มาให้กำลังใจพูดคุยอะไรกันระหว่างนั่งพักในธรรมศาสตร์ เพราะไม่ได้ยินและผู้ใต้บังคับบัญชาก็ไม่ได้รายงาน นอกจากนั้นหลังการชุมนุมเสร็จสิ้น รัฐบาลก็ยังสามารถบริหารงานได้ตามปกติ
พ.ต.ท.สมยศเบิกความต่อว่าเขาทราบว่าจำเลยเป็นสมาชิกของกลุ่มพลเมืองโต้กลับ ทนายความได้ถามต่อว่าแล้วการแสดงสัญลักษณ์ของกลุ่มหรือการติดเข็มกลัดที่มีสัญลักษณ์ของกลุ่ม ถือว่ามีความผิดตามกฎหมายหรือไม่ พยานตอบว่าไม่ผิด
พ.ต.ท.สมยศเบิกความว่าขณะที่ตนอยู่ในธรรมศาสตร์ จำเลยเดินเข้ามาในมหาวิทยาลัยเหมือนประชาชนทั่วไป และจำเลยก็ได้บอกกับพยานว่าเข้ามาเพื่อพักผ่อน และคนที่มาที่ธรรมศาสตร์ก็มาในลักษณะให้กำลังใจจำเลย แต่พยานจำไม่ได้ว่าหลังจากพวกของจำเลยแยกย้ายกันกลับในเวลา 19.00 น. แล้วได้ไปกินลาบกันต่อหรือไม่
หลังทนายความถามค้านเสร็จ อัยการทหารได้ถามติงว่าพ.ต.ท.สมยศมีความเห็นว่าจำเลยมีเจตนาที่จะไม่ต้องการให้มีคนมาร่วมชุมนุมเกิน 5 คนจริงตามที่ได้โพสต์ไว้ในเฟซบุ๊กหรือไม่ พยานตอบว่าตนเห็นว่าจำเลยต้องการให้คนที่เห็นด้วยกับจำเลยมาร่วมให้กำลังใจตามเส้นทางที่เดิน แต่ก็มีคนมาร่วมเดินด้วย แต่ถ้าจำเลยไม่ต้องการให้มีคนมาร่วมเกิน 5 คนจริง ก็ต้องเตือนและห้ามปรามคนที่มาร่วม แต่ก็ยังมีคนมาร่วมเดินเกิน 5 คน จึงกลายเป็นว่ามีการชุมนุมเกินกว่า 5 คน
พ.ต.ท.สมยศเบิกความต่อว่าถ้าดูตามโพสต์เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 58 แล้วจะมีการตั้งเวทีปราศรัย แต่ในวันที่ 15 เมื่อจำเลยเดินมาถึงธรรมศาสตร์แล้ว พยานได้ชี้แจงกับจำเลยว่าถ้าจะใช้สถานที่ทำกิจกรรมจต้องแจ้งกับทางมหาวิทยาลัยก่อน แต่จำเลยได้บอกกับเขาว่าต้องการเข้ามานั่งพักผ่อนเท่านั้น ซึ่งมหาวิทยาลัยได้เปิดให้คนทั่วไปเข้ามาที่ลานปรีดี พนมยงค์ ที่อยู่ริมแม่น้ำได้อยู่แล้ว แต่ต้องออกจากมหาวิทยาลัยก่อนประตูปิดในเวลาสี่ทุ่ม และไม่สามารถให้ค้างได้ จำเลยจึงมาใช้สิทธินี้เท่านั้น
พ.ต.ท.สมยศเห็นว่าตอนที่จำเลยเดินนั้น ชัดเจนว่าเป็นกิจกรรมทางการเมือง และมีคนมาร่วมเดิน 7 คน ทางเจ้าหน้าที่จึงได้ดำเนินการออกหมายจับ แต่ในช่วงที่จำเลยอยู่ในธรรมศาสตร์ ตนเห็นว่ายังไม่ชัดเจนว่าเป็นการชุมนุมทางการเมือง จึงไม่ได้ดำเนินคดีกับคนที่มาร่วม
หลังการสืบพยานปากนี้เสร็จสิ้น ศาลทหารได้นัดสืบพยานต่อไปในวันที่ 25 ก.พ., 5 และ 19 มี.ค., 2 เม.ย. ปี 2562