เกือบ 2 เดือนของการต่อสู้และปากคำทนายความ กรณีการยื่นคำร้องกว่า 7 ครั้ง เพื่อเดินทางไปเรียนต่อ ป.โท ที่เยอรมันของ ‘รวิสรา’ จำเลยคดี ม.112 

ภายหลังจากการยื่นคำร้องถึง 7 ครั้ง กระทั่งศาลอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศได้ราว 11 เดือน วันนี้ (10 เม.ย. 2565) รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตคณะอักษรศาสตร์ ภาควิชาภาษาเยอรมัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจำเลยในคดี มาตรา 112 และ 116 เหตุจากการอ่านแถลงการณ์ด้านหน้าสถานทูตเยอรมันเมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ได้เตรียมตัวเดินทางไปยังประเทศเยอรมันเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท สาขา ‘การจัดการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร’ ที่มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรึค (University of Applied Science Osnabrück) ได้รับทุนสนับสนุนจาก DAAD หรือ German Academic Exchange Service องค์กรด้านการสนับสนุนทุนการศึกษาของรัฐบาลเยอรมนี

สาเหตุที่นำไปสู่การยื่นคำร้องหลายต่อหลายครั้ง นั่นก็เพราะ 1 ในเงื่อนไขการประกันตัวในชั้นพิจารณาคดีของจำเลยในคดีนี้คือ “ห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรก่อนได้รับอนุญาตจากศาล” เดิมกำหนดการในการเดินทางของรวิสราจะต้องไปถึงเยอรมันก่อนวันที่ 4 เม.ย. 2565 เพื่อเรียนปรับพื้นฐาน แต่ขั้นตอนการยื่นคำร้องกลับกินระยะเวลาถึงเกือบ 2 เดือน ตั้งแต่ต้นเดือน ก.พ. จนถึงต้นเดือน เม.ย. กว่าที่ศาลจะมีคำสั่งอนุญาต ก่อภาระให้กับรวิสราและครอบครัว ทั้งในเรื่องค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการเดินทางมาศาล ทว่ายังโชคดีอยู่บ้างที่ทางมหาวิทยาลัยเข้าใจในสถานการณ์ที่เธอต้องเจอ ทำให้ได้เลื่อนกำหนดระยะเวลาเดินทางสำหรับกรณีนี้

ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนชวนย้อนอ่านเส้นทางการต่อสู้เพื่อขอเดินทางออกนอกประเทศไปศึกษาต่อของรวิสรา ทบทวนเนื้อหาคำร้องในแต่ละครั้งของฝ่ายจำเลย ผลสรุปคำสั่งศาล รวมไปถึงข้อคิดเห็นของทนายความที่ให้ความช่วยเหลือในการเข้ายื่นคำร้องในคดี

.

.

ครั้งที่ 1: 7 ก.พ. 2565 เงื่อนไขห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเป็นเงื่อนไขสำคัญเพื่อไม่ให้จำเลยหลบหนี

หลังทราบผลว่าตนเองได้รับทุน รวิสราได้ยื่นคำร้องต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2565 – 15 ก.ย. 2567 เพื่อเข้าเรียนในหลักสูตรเตรียมความพร้อมจนกระทั่งสิ้นสุดทุนการศึกษา ตามที่เธอได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อที่เยอรมัน คำร้องของรวิสราได้ระบุชื่อทุนและหลักสูตรการเรียนชัดเจน พร้อมทั้งแนบเอกสารยืนยันเป็นจดหมายและเอกสารการมอบทุน (ฉบับจริงและฉบับแปลเป็นภาษาไทย)

อย่างไรก็ตาม ศาลมีคำสั่งว่า “เงื่อนไขการห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ถือเป็นเงื่อนไขสำคัญในการอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เพราะเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี การที่จำเลยขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยอ้างว่าได้รับทุนในการศึกษาต่อ แต่เป็นการขอเดินทางในระยะที่ยาวนาน และกระทบกับวันนัดสืบพยานของศาลที่นัดไว้ล่วงหน้าแล้ว จึงเห็นควรไม่อนุญาต”

.

ครั้งที่ 2: 2 มี.ค. 2565 จำเลยยังไม่แน่ว่าได้รับทุนหรือไม่ บุคคลที่จะกำกับดูแลจำเลยอยู่ประเทศไทย ยากที่จะดูแลให้ทำตามเงื่อนไขศาล

หลังคำร้องถูกปฏิเสธในครั้งแรก รวิสราจึงเข้ายื่นครั้งที่ 2 ในอีกเกือบเดือนถัดมา โดยได้ให้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า เธอจะต้องเดินทางไปยังประเทศเยอรมันเพื่อศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อมในช่วงวันที่ 4 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2565 ซึ่งเป็นระยะเวลาก่อนหน้าการสืบพยานในคดีที่จะมีขึ้นช่วงเดือนมีนาคม 2566 เป็นเวลานาน ไม่กระทบต่อการพิจารณาคดี เมื่ออบรมเสร็จ เธอจะขอขยายระยะเวลาการศึกษาเพื่อกลับมาเข้าร่วมการพิจารณาคดี รวมทั้งยืนยันสิทธิการรับทุน โดยขั้นตอนนี้จำเป็นต้องดำเนินการด้วยตนเอง ณ มหาวิทยาลัยที่ได้รับทุนการศึกษา และจะเดินทางกลับประเทศไทยในวันที่ 15 ก.พ. 2566 เพื่อเป็นหลักประกันต่อศาล รวิศราจึงได้ขอให้ศาลกำหนดเงื่อนไขให้เธอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรได้อย่างจำกัดจนถึงวันดังกล่าวเท่านั้น 

นอกจากนี้ รวิศรายังเสนอเพิ่มเติมด้วยว่า ระหว่างที่ศึกษาอยู่เธอยินดีที่จะไปรายงานตัวต่อศาล ณ สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเบอร์ลิน หรือสถานกงสุลไทย ประจำประเทศเยอรมัน ทุก 30 วัน พร้อมกันนี้ยังได้แนบเอกสารรับรองการได้รับทุน จดหมายการมอบทุนจากตัวแทนผู้มอบทุนประจําประเทศไทยที่ระบุรายละเอียดการมอบทุนและแผนการศึกษา พร้อมทั้งจดหมายของเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจํากรุงเทพฯ ที่มีถึงจําเลยเพื่อยืนยันว่าตนได้รับทุนเรียนต่อจริง

วันต่อมา มนัส ภักดิ์ภูวดล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งว่า จำเลยที่ 11 (รวิสรา) ยังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่ ทั้งเงื่อนไขที่จำเลยเสนอมาว่าหากได้รับอนุญาต จำเลยยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่ประเทศเยอรมันทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนายประกันและบิดาของจำเลยเป็นผู้กำกับดูแลตามเงื่อนไข แต่บุคคลทั้งสองอยู่ในประเทศไทย ส่วนจำเลยอยู่ต่างประเทศ จึงเป็นการยากที่จะกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไขได้ จึงไม่เป็นการหนักแน่นเพียงพอที่จะแสดงให้เห็นว่าจำเลยจะปฏิบัติตามเงื่อนไขโดยเคร่งครัด จนกลับมาเข้าสู่กระบวนการพิจารณาคดีของศาลได้ตามกำหนด ซึ่งเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวโดยห้ามจำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรนั้นเป็นข้อสำคัญในการอนุญาต เพราะเกรงว่าจำเลยจะหลบหนี กรณีจึงยังไม่มีเหตุที่จะอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ให้ยกคำร้อง

จับตาคำสั่งศาล: “รวิสรา” ผู้ถูกดำเนินคดี 112 อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน ยื่นขอไปศึกษาต่อ ตปท. หลังได้ทุนเรียนต่อ

ศาลอาญากรุงเทพใต้ไม่ให้ “รวิสรา” ลาเรียนต่อ ตปท. อ้างยังไม่ผ่านการคัดเลือกทุน ยากจะกำกับดูแลให้ปฏิบัติตามเงื่อนไข ทั้งที่ส่งเอกสารยืนยันได้ทุนแล้ว

.

ครั้งที่ 3: 10 มี.ค. 2565 ศาลขอเอกสารรับรองการได้รับทุนจากทางมหาวิทยาลัย พร้อมหนังสือรับรองการแต่งตั้งผู้กำกับดูแล

รวิสรายังไม่ละความพยายาม เข้ายื่นคำร้องอีกครั้ง ยืนยันว่าตนได้รับทุนดังกล่าวจริง โดยอ้างถึงเอกสารยืนยันการได้รับทุนที่เคยยื่นไปแล้ว เนื้อหาในคำร้องระบุว่า จําเลยมีเจตนาต้องการกลับมาร่วมการพิจารณาคดีของศาล และเพื่อให้ความมั่นใจแก่ศาล จําเลยจึงขออนุญาตต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจําประเทศไทย เพื่อเดินทางและอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นระยะเวลาเพียง 6 เดือน และขอให้ศาลแต่งตั้งเอกอัครราชทูตไทยประจําประเทศเยอรมนีหรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้กํากับดูแลจําเลย 

รวิสรายังได้ยืนยันหลักการที่ว่า จำเลยยังเป็นเพียงผู้ถูกกล่าวหาว่าเท่านั้น ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาว่าเป็นความผิด อีกทั้งการถูกกล่าวหาในฐานความผิดที่มีอัตราโทษทางอาญาไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จเพียงพอว่าจําเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี ก่ออุปสรรค หรือก่อความเสียหายในการดําเนินคดี ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทําความผิดไม่ได้

อีกทั้งหากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน การไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาตามที่จําเลยได้รับทุนแล้วนั้น เป็นการทําลายโอกาสทางการศึกษาของจําเลยอย่างสิ้นเชิง และหากปรากฏผลคําพิพากษาของศาลในภายหลังว่าจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่อาจเยียวยาด้วยวิธีใดๆ ต่อโอกาสทางการศึกษาของจําเลยที่สูญเสียไปแล้ว

วันเดียวกันนั้น รวิสราได้รับแจ้งจากเจ้าหน้าที่ว่า ศาลต้องการให้ยื่นเอกสารรับรองจากมหาวิทยาลัยที่ให้ทุนว่ารวิสราได้รับทุนจริง และในการตั้งผู้กำกับดูแลต้องมีคำรับรองให้ความยินยอมจากผู้นั้นมาด้วย โดยที่ศาลไม่มีอำนาจตั้งเอกอัครราชทูตให้เป็นผู้กำกับดูแลจำเลยเองได้ รวิสราจึงขอคืนคำร้อง เพื่อจัดหาเอกสารมายื่นเพิ่มเติมอีกครั้ง

“รวิสรา” จำเลย 112 เข้ายื่นคำร้องต่อศาล ขอไปเรียนต่อที่เยอรมันครั้งที่ 3 ศาลขอให้นำเอกสารรับรองจากมหาลัย-ผู้กำกับดูแลมาแสดง

.

ครั้งที่ 4: 15 มี.ค. 2565 ศาลขอหนังสืออนุญาตพักการศึกษาที่รับรองโดยมหาวิทยาลัยเพื่อเข้าร่วมการพิจารณาคดีก่อน จึงจะพิจารณาคำร้อง

รวิสราพร้อมทนายความเข้ายื่นคำร้องเป็นครั้งที่ 4 โดยแนบเอกสารยืนยันการได้รับทุนเพิ่มเติม ได้แก่ หนังสือรับรองจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรึค (University of Applied Science Osnabrück) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 และจดหมายรับรองจากสถาบันทางภาษาศูนย์คาร์ล ดุยส์แบร์ก กรุงเบอร์ลิน ลงวันที่ 7 มี.ค. 2565 พร้อมทั้งแนบหนังสือเดินทางและหนังสือตรวจลงตรา (วีซ่า) การอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศเยอรมันของเธอ เพื่อยืนยันว่า เธอขออนุญาตเดินทางและอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นเวลาเพียง 6 เดือน และจะเดินทางกลับมายังประเทศไทยก่อนการเริ่มพิจารณาคดีในเดือนมีนาคม 2566

รวิสรายังขอให้ศาลแต่งตั้งบุคคลที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีขึ้นเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือศาลในการติดตามและกำกับดูแลให้เธอเดินทางกลับประเทศไทยก่อนที่จะเริ่มการสืบพยาน ซึ่งในครั้งนี้เธอได้ยื่นเอกสารคำยินยอมจากบุคคลนั้นแก่ศาลด้วย

อย่างไรก็ตาม สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่งว่า ให้จำเลยนำหนังสือของมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้จำเลยพักหรือหยุดการศึกษาไว้ชั่วคราว เพื่อเดินทางกลับมายังประเทศไทยร่วมการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษาในช่วงเวลาดังกล่าว มายื่นต่อศาลก่อน เพื่อประกอบการพิจารณาสั่งคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของจำเลยต่อไป

ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังต้องการเอกสารเพิ่มเติม หลัง “รวิสรา” ยื่นเอกสารขอไปเรียนต่อเป็นครั้งที่ 4

.

ครั้งที่ 5: 21 มี.ค. 2565 ศาลยกคำร้อง ระบุ หนังสือจากมหาวิทยาลัยยังไม่ได้รับการรับรองจากสถานทูต กำหนดให้ผู้กำกับดูแลต้องเป็นญาติที่มีภูมิลำเนาอยู่ในไทยและเยอรมันเท่านั้น

รวิสราได้ดำเนินการประสานงานกับมหาวิทยาลัยออสนาบรึค จนกระทั่งมหาวิทยาลัยได้ออกหนังสือรับรอง ลงวันที่ 17 มี.ค. 2565 รวิสราจึงเข้ายื่นเป็นเอกสารเพิ่มเติม หนังสือรับรองของมหาวิทยาลัยออสนาบรึคดังกล่าวระบุว่า รับทราบว่าเธอถูกดำเนินคดีใน “ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” พร้อมได้ทราบถึงกำหนดการพิจารณาคดีของศาลในช่วงเดือนมีนาคม 2566 และได้อนุญาตให้รวิสราลาพักการศึกษาในช่วงเวลาดังกล่าวได้ โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา

หนังสือจากมหาวิทยาลัยยังเน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่รวิสราจะมาเป็นหนึ่งในนักศึกษา เนื่องจากคุณค่าทางวิชาการของรวิสราเหมาะสมกับหลักสูตรมหาบัณฑิตอย่างดียิ่ง และรวิสราได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) อันเป็นการแสดงให้เห็นคุณค่าทางวิชาการระดับสูงของรวิสรา

ต่อมา เนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่ง ระบุว่า เอกสารที่จำเลยนำมาส่ง ไม่ปรากฏว่าได้ผ่านการรับรองจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย จึงเห็นควรให้ไปดำเนินการในส่วนนี้ให้เรียบร้อยก่อน และเห็นว่าบุคคลที่จะมาเป็นผู้กำกับดูแลผู้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เป็นบุคคลที่ไว้วางใจว่าจะดูแลจำเลยได้  ดังนี้ จึงเห็นควรให้จำเลยเสนอชื่อผู้กำกับดูแลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ประเทศเยอรมัน เช่น อาจารย์ ญาติใกล้ชิด มาให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมก่อน แล้วจึงพิจารณาสั่งคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของจำเลยต่อไป

ศาลยังให้ “รวิสรา” หาผู้กำกับดูแลที่อยู่ในไทยและเยอรมันเพิ่ม หลังยื่นขอไปเรียนต่อครั้งที่ 5

.

ครั้งที่ 6: 28 มี.ค. 2565 ผู้ที่จะทำการกำกับดูแลยังมีคุณสมบัติไม่ตรงตามระเบียบคณะกรรมการศาลยุติธรรมฯ สั่งยกคำร้องอีกครั้ง

อีกเพียง 1 สัปดาห์ ก็จะถึงกำหนดการเริ่มต้นศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อม รวิสราและทนายความเข้ายื่นคำร้องอีกครั้ง นอกจากจะแนบหนังสืออนุญาตให้รวิสราลาพักการศึกษาเพื่อร่วมการพิจารณาคดีในช่วงเดือนมีนาคม 2566 ของทางมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองจากสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย รวิสรายังเสนอชื่อพี่สาวซึ่งมีภูมิลำเนาอาศัยอยู่ทั้งในประเทศเยอรมนีและประเทศไทยด้วย เป็นผู้กำกับดูแล พร้อมทั้งแนบหนังสือของพี่สาวที่แสดงความยินยอมเป็นผู้กำกับดูแล

ในครั้งนี้ ศาลได้มีคำสั่งให้ไต่สวนคำร้องของรวิสรา พร้อมให้ทนายความและอาจารย์ที่เป็นนายประกันในคดีเข้าร่วมการไต่สวน และให้ผู้ที่เสนอชื่อเป็นผู้กำกับดูแลนำเอกสารส่วนบุคคลต่างๆ ไปขอการรับรองจากสถานทูตไทยประจำประเทศเยอรมนีเพิ่มเติมด้วย

ในวันที่ 29 มี.ค. 2565 ศาลได้ไต่สวนพยานทั้งหมด 3 ปาก ได้แก่ รวิสราเอง นายประกัน และบิดาของจำเลย ในส่วนของรวิสราได้ให้การถึงสาเหตุที่เลือกนายประกันในคดีนี้ คืออาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้เป็นผู้กำกับดูแล เนื่องจากเป็นผู้ติดตามดูแลจำเลยอย่างใกล้ชิดตั้งแต่ต้น ส่วนผู้กำกับดูแลที่ 2 ซึ่งเป็นนักวิจัยระดับศึกษาปริญญาเอกที่สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศวัลเธอร์ชึคกิ้ง ประเทศเยอรมนีเป็น ตนได้รับการแนะนำมาจากอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรู้จักกันมาก่อน อีกทั้งบุคคลดังกล่าวจะพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนีอีกประมาณ 1-3 ปี 

สำหรับนายประกันของรวิสรา ให้การว่า รวิสราปฏิบัติตามคำสั่งศาลและเงื่อนไขการปล่อยตัวชั่วคราวอย่างเคร่งครัดตลอดมา ทั้งยังไม่เห็นเหตุผลที่จำเลยต้องทิ้งโอกาสในการเรียนต่อ ระบุอีกว่า เข้าใจดีว่าศาลลำบากใจ เพราะต้องการสร้างมาตรฐานในการขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 แต่ “สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นครู คือการสร้างอนาคตให้กับผู้เรียน”

ด้านพ่อของรวิสราแถลงยืนยันว่า การที่ลูกสาวเพิ่งยื่นขอทุนการศึกษาในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เพราะมีเจตนาจะหลบหนีจากการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่อย่างใด แต่เป็นความตั้งใจที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว และการที่ลูกสาวถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 ศาลก็ยังไม่ได้ตัดสินว่ากระทำผิดจริง จึงไม่ยุติธรรมหากจะตัดสิทธิไม่ให้เธอไปศึกษาต่อ เพียงเพราะว่าถูกดำเนินคดีนี้ 

ภายหลังการไต่สวน สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่ง ระบุว่า บุคคลที่จำเลยได้แสดงต่อศาล เพื่อขอให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวทั้งสอง ไม่มีคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว…พ.ศ. 2561 เนื่องจากผู้กำกับดูแลที่ 1 คือนายประกัน อันเป็นบุคคลต้องห้าม ส่วนผู้กำกับดูแลที่ 2 ไม่ได้รู้จักจำเลยเพียงพอ เมื่อยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมมีคุณสมบัติตามระเบียบดังกล่าว ในอันที่จะกำกับดูแล หรือให้คำปรึกษา หรือคอยกำชับ หรือตักเตือนให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด และป้องกันการหลบหนีของจำเลยในระหว่างที่จำเลยจะเดินทางไปศึกษาและพักอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักรตามที่จำเลยร้องขอ

ศาลนัดไต่สวน “รวิสรา” พรุ่งนี้ หลังยื่นขอไปเรียนต่อเยอรมันครั้งที่ 6

ศาลยกคำร้อง “รวิสรา” ครั้งที่ 6 หลังไต่สวนขอไปศึกษาต่อเยอรมัน ชี้คุณสมบัติผู้กำกับดูแลยังไม่เป็นไปตามระเบียบศาลยุติธรรม

.

ครั้งที่ 7: 31 มี.ค. 2565 ศาลอนุญาตให้เดินทางออกนอกประเทศในที่สุด แต่กำหนดห้ามทำกิจกรรมเสื่อมเสียต่อสถาบันฯ และให้รายงานผลการเรียนให้ศาลทราบทุกภาคการศึกษา

เพื่อให้ได้เดินทางไปศึกษาต่อตามที่ตั้งใจ รวิสราพร้อมทนายความยังพยายามเข้ายื่นคำร้องครั้งที่ 7 โดยได้ชื่อเสนอผู้กำกับดูแล รวม 4 คน เป็นบุคลลที่เคยได้เสนอชื่อและหนังสือยินยอมแล้วก่อนหน้านี้ 3 ราย ได้แก่ พี่สาวของรวิสรา และนักวิจัย-นักศึกษาปริญญาเอก ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลในประเทศเยอรมนี และพ่อของรวิสรา เป็นผู้กำกับดูแลในประเทศไทย พร้อมทั้งเสนอชื่ออาจารย์ที่ปรึกษาเมื่อครั้งเป็นนิสิตอักษรศาสตร์ จุฬาฯ เพิ่มเติมเป็นผู้กำกับดูแลในประเทศไทยอีกคน ต่อมา ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องดังกล่าว

1 เม.ย. 2565 ศาลอาญากรุงเทพใต้ทำการไต่สวนพยาน 3 ปาก ได้แก่ ผู้กำกับดูแลในไทยทั้งสองคน และรวิสราเอง โดยอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ได้ให้การว่า ตนรู้จักกับรวิสราตั้งแต่สมัยยังเรียนมัธยม ได้เห็นถึงความประพฤติดี ชีวิตส่วนตัว และความตั้งใจศึกษาเล่าเรียนของรวิสรามาโดยตลอด ทั้งยังระบุว่า ทุนที่รวิสราได้รับเป็นทุนที่ทรงเกียรติและมีคุณค่า มีขั้นตอนในการสอบคัดเลือกที่ยากลำบากมาก แม้ตนเป็นผู้จบระดับชั้นปริญญาเอกจากประเทศเยอรมนี แต่เมื่อครั้งที่เป็นนิสิตอยู่นั้น แม้จะเป็นคนหนึ่งที่มีผลการเรียนอยู่ในเกณฑ์ดีที่สุดในขณะนั้น แต่ก็ไม่เคยสอบชิงทุนที่รวิสราได้รับได้เลยสักครั้ง 

พ่อของรวิสราให้การว่า ตนพร้อมทำหน้าที่ผู้กำกับดูแล และยังเสนอพี่สาวของรวิสราเป็นผู้กำกับดูแลในเยอรมันอีกคน เพราะเป็นคนสุขุม คอยดูแล ให้คำแนะนำน้องสาวมาตั้งแต่ยังเล็ก ทั้งยังเคยได้รับทุนการศึกษานี้มาก่อน พ่อของรวิสรายืนยันว่า ตนมั่นใจว่าจะสามารถทำหน้าที่ผู้กำกับดูแลได้และจะทำหน้าที่ให้ดีที่สุด หากพบว่าลูกสาวกระทำผิดเงื่อนไขที่ศาลกำหนด จะรายงานโดยทันทีอย่างแน่นอน

ด้านรวิสราให้การว่า หลังจากเรียนจบ ตนตั้งใจจะนำความรู้กลับมาพัฒนาประเทศชาติ ที่มากไปกว่านั้น ทางเยอรมนีเชื่อมั่นในหลักสิทธิมนุษยชนอย่างมาก โดยเฉพาะหลักการสันนิษฐานว่าบริสุทธิ์ (Presumption of Innocence) เพราะแม้รวิสราจะถูกดำเนินคดีตามมาตรา 112 แต่เยอรมนีก็ยังยินดีมอบทุนการศึกษาดังกล่าวให้ นอกจากนี้ ตนไม่ได้คิดจะหลบหนีหรือกระทำผิดเงื่อนไขแต่อย่างใด เพราะจะทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้รับความเดือดร้อน

สุดทัาย สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้มีคำสั่งอนุญาตให้รวิสราเดินทางออกนอกราชอาณาจักรโดยตั้งแต่วันที่ 2 เม.ย. 2565 จนถึงวันที่ 15 ก.ย. 2567 แต่ได้กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติม “ห้ามทำกิจกรรมหรือก่อเหตุหรือเข้าร่วมชุมนุมที่จะส่งผลกระทบกระเทือนต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ระหว่างที่อยู่ในประเทศไทยและในระหว่างที่อยู่ในประเทศเยอรมนี”

และกำหนดต่อไปว่า เมื่อจำเลยมีความตั้งใจที่จะไปศึกษาต่อ จึงให้จำเลยตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและให้ส่งผลการศึกษาเล่าเรียนมาให้ศาลทราบภายใน 1 เดือน นับแต่วันประกาศผลการศึกษาของแต่ละภาคการศึกษา ให้ตั้งอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บิดา และพี่สาวของจำเลยเป็นผู้กำกับดูแล โดยให้บุคคลทั้งสามติดต่อประสานงาน และร่วมมือกันในการกำกับดูแล หรือให้คำปรึกษา หรือคอยกำชับ หรือตักเตือนให้จำเลยปฏิบัติตามเงื่อนไขตามคำสั่งของศาลอย่างเคร่งครัดและป้องกันการหลบหนีของจำเลย และให้ผู้กำกับดูแลเสนอรายงานเกี่ยวกับข้อปฏิบัติและข้อห้ามตามคำสั่งของศาล ในระหว่างที่พักอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีต่อศาลทุกๆ เดือน โดยให้รายงานต่อศาลครั้งแรกภายในวันที่ 30 เม.. 2565 และครั้งต่อไปภายในวันสิ้นเดือนของเดือนถัดไป

และให้จำเลยเดินทางกลับประเทศไทยก่อนถึงวันนัดพิจารณาของศาลในวันที่ 2 มี.ค. 2566 และให้พักอาศัยอยู่ในประเทศไทยจนกว่าจะพิจารณาคดีแล้วเสร็จ มีหนังสือแจ้งให้เพิกถอนหนังสือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักรของจำเลยต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง

ศาลอนุญาตให้ “รวิสรา” เดินทางไปเรียนต่อ หลังไต่สวนคำร้องครั้งที่ 7 ตั้งเงื่อนไขห้ามทำกิจกรรมกระทบกระเทือนต่อสถาบันกษัตริย์ทั้งในไทย-เยอรมนี

.

.

ปากคำทนายความที่ให้ความช่วยเหลือในคดี ระบุ การยื่นคำร้องหลายครั้งก่อภาระให้ครอบครัวจำเลย ศาลสามารถเรียกเอกสารทั้งหมดได้แต่เนิ่น ๆ ไม่จำเป็นต้องยืดเยื้อ

ตลอดการยื่นคำร้องถึง 7 ครั้งนี้ กิตติศักดิ์ กองทอง ทนายความจากศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน เป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางกฎหมายแก่รวิสราตลอดมา เขาสะท้อนให้เห็นปัญหาว่า กรณีของรวิสรา ศาลไม่จำเป็นต้องเลื่อนการพิจารณาคำร้องหลาย ๆ ครั้ง ให้เหตุผลว่าต้องการเอกสารเพิ่มเติม เพราะที่จริงแล้วสามารถขอให้จำเลยรวบรวมเอกสารที่จำเป็นมาให้ได้ตั้งแต่ครั้งที่ 2 ที่ยื่นคำร้อง และยังได้เปรียบเทียบกรณีนี้กับกรณีของณัฐพล ทีปสุวรรณ กลุ่ม กปปส. ซึ่งศาลชั้นต้นพิพากษาแล้วว่ามีความผิด และอยู่ในระหว่างอุทธรณ์ แต่กลับยังสามารถเดินทางไปต่างประเทศได้ สะท้อนความ “ไม่เป็นเนื้อเดียวกัน” ของการบังคับใช้กฎหมาย

“การเลื่อนการพิจารณาหลายครั้งอาจทำให้ตัวลูกความเข้าใจไปได้ว่า ศาลพยายามกีดกันสิทธิในการที่จะเดินทางออกนอกประเทศ เพราะทุกครั้งที่ยื่นคำร้องไป ศาลก็มักจะมีเหตุผลหรือถามหาเอกสารเพิ่มเติมตลอด ถ้าศาลเห็นแต่แรกว่า เอกสารใดจำเป็นต่อการตีความ ศาลน่าจะมีความเห็นสั่งได้ตั้งแต่ครั้งแรก ๆ แล้ว ไม่ใช่ปล่อยให้ล่วงเลยมา”

“เทียบกับกรณีของณัฐพล มันแสดงให้เห็นถึงความไม่เป็นเนื้อเดียวกันของศาลยุติธรรมที่จะมีคำสั่งในการพิจารณาคำร้องเรื่องการเดินทางออกนอกประเทศ เพราะว่าในกรณีนั้นที่เป็นข่าว ปรากฏชัดว่า ศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาลงโทษจำคุก แต่จำเลยในคดีได้ขออุทธรณ์ แต่ในขณะเดียวกัน คดีของรวิสรา ศาลยังไม่ได้ทำการพิจารณาคดีเลยด้วยซ้ำว่าเธอกระทำความผิดจริงหรือไม่ แต่กลับมีกระบวนการที่สร้างข้อยุ่งยากในการได้รับสิทธิเพื่อเดินทางไปศึกษาต่อ”

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าศาลจะอนุญาตให้รวิสราสามารถเดินทางไปเรียนต่อได้ในที่สุด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การที่ต้องเดินทางมาศาลหลาย ๆ ครั้ง เพื่อยื่นคำร้องได้สร้างภาระให้กับจำเลยและครอบครัวอย่างมาก นอกจากจะเสียเวลา ยังมีค่าใช้จ่ายที่ตามมาอีกมาก ทั้งค่าเดินทางและค่าใช้จ่ายในการแปลเอกสารเป็นภาษาไทย

“การมาศาลแต่ละครั้ง ต้องมาตั้งแต่เช้า แล้วกว่าศาลจะมีคำสั่ง เวลาก็ล่วงเลยไปจนเย็น จำเลยต้องเฝ้ารออย่างมีความหวังทุกครั้ง แล้วก็ต้องพบกับความผิดหวัง ทั้งยังเสียโอกาสในการเตรียมตัวเดินทาง ในการเตรียมสิ่งของ หรือประสานงานอย่างอื่นสำหรับการไปพักอาศัยที่ต่างประเทศ พ่อของจำเลยเองต้องเดินทางมาจากลพบุรีเพื่อมายื่นคำร้องร่วมกับลูกสาว มีค่าใช้จ่ายตามมา ประกอบกับในการยื่น ศาลยังเรียกเอกสารเพิ่ม ทำให้ต้องมีการแปลเอกสาร ซึ่งก็เป็นค่าใช้จ่ายจำนวนมาก”

ไม่ใช่แค่ความติดขัดในเรื่องของการยื่นคำร้องที่กินระยะเวลาตั้งแต่ต้น ก.พ. – ต้น เม.ย. ทนายกิตติศักดิ์ยังมีข้อสังเกตอีกประการเกี่ยวกับปัญหาที่เกิดขึ้นกับกรณีนี้ โดยเฉพาะในเรื่องของการแต่งตั้งผู้กำกับดูแลจำเลย

“มีอยู่ครั้งหนึ่ง ศาลมีคำสั่งว่า บุคคลที่น่าเชื่อถือที่สามารถแต่งตั้งเป็นผู้กำกับดูแลได้ควรจะเป็นอาจารย์หรือว่าเป็นญาติสนิท แต่ในการยื่นคำร้องอีกครั้งต่อมาโดยเสนอชื่อญาติจำเลยเป็นผู้กำกับดูแล ทางเจ้าหน้าที่ของศาลกลับแนะนำมาว่า อาจจะไม่น่าเชื่อถือในสายตาของศาล เพราะเกรงว่าจะช่วยเหลือจำเลยเวลากระทำผิดเงื่อนไขศาลแล้วจะไม่รายงานศาล นี่เป็นคำบอกเล่าผ่านทางเจ้าหน้าที่ แต่ไม่ได้ระบุไว้ในกระบวนพิจารณา”

“นับเป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของรวิสรา เธอได้ประสานกับทางมหาวิทยาลัย ทางนั้นก็เข้าใจ และเห็นใจที่เธอต้องถูกดำเนินคดีในลักษณะนี้ เลยขยายระยะเวลาในการเดินทางไปเรียนเตรียมความพร้อมให้ ซึ่งกว่าจะยื่นคำร้องแต่ละครั้ง กว่าที่ศาลจะอนุญาตก็เป็นวันที่ 1 เมษา แล้ว เดิมทีรวิสรามีกำหนดการที่จะต้องเดินทางวันที่ 1 เมษา พอดี ทำให้พลาดโอกาส ต้องเตรียมตัวทุกอย่างอย่างกระทันหัน”

ในปลายทางของการเรียกร้องที่กินเวลาร่วม 2 เดือน จนกระทั่งศาลมีคำสั่งอนุญาต ทนายกิตติศักดิ์ทิ้งท้ายว่า ตัวเขารู้สึกยินดีที่ลูกความสามารถรักษาสิทธิตัวเองไว้ได้ ถึงแม้จะมีอุปสรรค แต่ความพยายามดังกล่าวก็สัมฤทธิ์ผลในที่สุด

“แม้จะมีอุปสรรคขัดขวางระหว่างทาง ทำให้บางครั้งเธออาจจะต้องทดท้อใจไป แต่ในที่สุดแล้วก็รู้สึกยินดีที่ศาลได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ทางการศึกษา แล้วก็สิทธิในการศึกษาของจำเลย จนมีคำสั่งอนุญาตในเวลาที่อาจเรียกได้ว่า เกือบจะนาทีสุดท้ายก็ว่าได้”

.

X