15 มี.ค. 2565 รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ได้เข้ายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นครั้งที่ 4
รวิสราได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของรัฐบาลเยอรมนี The German Academic Exchange Service (DAAD) แต่ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวของศาลทำให้ไม่สามารถเดินทางออกไปได้ โดยที่ผ่านมาเธอได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาลไปแล้ว 3 ครั้ง
การยื่นคำร้องในครั้งที่ 1 และ 2 นั้น ศาลมีคำสั่งยกคำร้อง โดยอ้างว่า “ยังไม่ผ่านการคัดเลือกว่าจะได้รับทุนหรือไม่” ประกอบกับศาลมองว่า เงื่อนไขที่จำเลยเสนอว่าหากได้รับอนุญาต ยินดีจะไปรายงานตัวและแสดงที่อยู่ต่อสถานทูตหรือสถานกงสุลไทยที่ประเทศเยอรมันทุกๆ 30 วัน โดยขอให้อาจารย์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นนายประกัน และบิดาของจำเลยเป็นผู้กำกับดูแลตามเงื่อนไขดังกล่าว “เป็นการยากที่จะกำกับดูแล”
.
ส่วนการยื่นคำร้องครั้งที่ 3 ศาลต้องการให้ยื่นเอกสารรับรองจากมหาวิทยาลัยผู้ให้ทุน เพื่อแสดงว่ารวิสราได้รับทุนจริง และในการตั้งผู้กำกับดูแล ศาลต้องการให้มีคำรับรองให้ความยินยอมจากผู้นั้นมาด้วย ดังนั้น รวิสาจึงได้ขอคืนคำร้องครั้งที่ 3 เพื่อที่จะได้เตรียมจัดหาเอกสารดังกล่าวมายื่นเพิ่มเติมใหม่ต่อไป
.
สำหรับการยื่นคำร้องครั้งที่ 4 รวิสราได้ยื่นคำร้องโดยยืนยันว่า ได้รับทุนดังกล่าวจริง พร้อมส่งเอกสารเพิ่มเติมแก่ศาล ซึ่งประกอบด้วย
- หนังสือรับรองจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ออสนาบรึค (University of Applied Science Osnabrück) สหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ลงวันที่ 11 มี.ค. 2565 ฉบับภาษาเยอรมันและฉบับแปลเป็นภาษาไทย
- จดหมายมอบทุนและเอกสารการมอบทุน
- จดหมายจากตัวแทนผู้มอบทุนประจำประเทศไทย ซึ่งแจ้งรายละเอียดการมอบทุนและกำหนดการแผนการศึกษา ฉบับลงวันที่ 22 ก.พ. 2565 และจดหมายของเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงเทพมหานคร ถึงจำเลย ฉบับลงวันที่ 18 ก.พ. 2565
ทั้งนี้ รวิสราได้นำเรียนต่อศาลด้วยว่า เธอมีความจำเป็นที่จะต้องเดินทางไปยังประเทศเยอรมนีเพื่อเข้าเรียนหลักสูตรเตรียมความพร้อมทางภาษาและการใช้ชีวิตในขณะศึกษาชั้นปริญญาโท เป็นช่วงระยะเวลาสั้นๆ ระหว่างวันที่ 4 เม.ย. – 30 ก.ย. 2565 เท่านั้น โดยเธอได้รับการตอบรับจากสถาบันทางภาษาศูนย์คาร์ล ดุยส์แบร์ก กรุงเบอร์ลินแล้ว ตามที่ปรากฏใน
- จดหมายรับรองจากสถาบันทางภาษาศูนย์คาร์ล ดุยส์แบร์ก กรุงเบอร์ลิน ลงวันที่ 7 มี.ค. 2565 ทั้งฉบับภาษาเยอรมันและฉบับแปลเป็นภาษาไทย
และเนื่องจากช่วงระยะเวลาดังกล่าวยังมิได้มีการเริ่มพิจารณาคดี จึงจะใช้โอกาสนี้ไปดำเนินการแจ้งกับทางมหาวิทยาลัยที่ให้ทุน กรณีขอพักการศึกษาในระหว่างที่เดินทางกลับมาร่วมการพิจารณาคดีของศาลในเดือนมีนาคม 2566 เพื่อรักษาสิทธิในการศึกษาของเธอไว้
ขณะเดียวกัน รวิสรายังได้ดำเนินการขออนุญาตต่อสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เพื่อให้สามารถเดินทางและอยู่ในประเทศเยอรมนีเป็นเวลาเพียง 6 เดือน กล่าวคือ ในช่วงระหว่าง 1 เม.ย. – 20 ก.ย. 2565 เมื่อครบกำหนดแล้ว ก็จะเดินทางกลับมายังประเทศไทย โดยจะกลับมาถึงในช่วงก่อนการเริ่มพิจารณาคดีและจะอยู่ภายในประเทศไทยจนกระทั่งการพิจารณาคดีเสร็จสิ้น ซึ่งเธอก็ได้ยื่นเอกสารประกอบ ได้แก่
- เอกสารหนังสือเดินทางและหนังสือตรวจลงตรา (วีซ่า) การอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศเยอรมัน ทั้งฉบับภาษาเยอรมันและฉบับแปลเป็นภาษาไทย
.
นอกเหนือจากเอกสารข้างต้น ซึ่งล้วนแต่แสดงให้เห็นว่ารวิสราเป็นผู้รับเลือกให้ได้ทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของรัฐบาลเยอรมนีจริง และยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาที่จะกลับมาร่วมการพิจารณาคดีของศาลแล้ว รวิสรายังขอให้ศาลแต่งตั้งบุคคลที่พำนักอาศัยอยู่ในประเทศเยอรมนีขึ้นเป็นผู้กำกับดูแล เพื่อที่จะได้ช่วยเหลือศาลในการติดตามและกำกับดูแลให้เธอเดินทางกลับไปยังประเทศไทยก่อนที่จะเริ่มกระบวนการพิจารณาคดีในนัดสืบพยานตามที่ศาลได้กำหนดวันนัดไว้แล้ว ซึ่งในครั้งนี้เธอได้ยื่นเอกสารคำยินยอมจากบุคคลนั้นแก่ศาลด้วย
อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 15 มี.ค. 65 เวลา 17.46 น. สันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งให้รวิสรานำหนังสือของมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้พักหรือหยุดการศึกษาไว้ชั่วคราวเพื่อเดินทางกลับมาร่วมการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษามายื่นต่อศาลก่อน แล้วศาลจึงจะพิจารณาคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อไป
ทั้งนี้ หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนดังกล่าวแล้ว การไม่อนุญาตให้เดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาตามที่จําเลยได้รับทุนแล้วนั้น เป็นการทําลายโอกาสทางการศึกษาของจําเลย ทั้งขัดต่อหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ โดยหากปรากฏผลคําพิพากษาของศาลในภายหลังว่าจําเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ก็ไม่อาจเยียวยาด้วยวิธีใดๆ ต่อโอกาสทางการศึกษาของจําเลยที่สูญเสียไปแล้ว
ทั้งนี้ คดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนีนี้ ศาลอาญากรุงเทพใต้กำหนดนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ 2-3, 7–10 และ 14 มี.ค. 2566 ส่วนกำหนดนัดสืบพยานจำเลยนั้น คือ ในวันที่ 15 – 17 และ 21 – 23 มี.ค. 2566
.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
จากถนนเลือนลั่นถึงผืนฟ้า: หลากเสียงสะท้อนบนถนนสาย 112
.