29 มี.ค. 2565 เวลา 09.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้นัดไต่สวนคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรเพื่อไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทที่ประเทศเยอรมนี ของ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116
รวิสราได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของรัฐบาลเยอรมนี The German Academic Exchange Service (DAAD) แต่ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวของศาลทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ โดยที่ผ่านมาเธอได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาลแล้ว 6 ครั้ง ตั้งแต่วันที่ 7 ก.พ. 2565 โดยสองครั้งแรก ศาลไม่อนุญาต 5 ครั้งถัดมา ศาลให้ยื่นเอกสารต่างๆ เพิ่มเติม โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 28 มี.ค. 2565 รวิสราได้นำหนังสือจากมหาวิทยาลัยออสนาบรึค ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รวิสราได้รับทุนให้เข้าศึกษาต่อ พร้อมผ่านการรับรองเอกสารจากสถานทูตเยอรมนีประจำประเทศไทยแล้ว เข้ายื่นต่อศาล และศาลนัดไต่สวนคำร้องเป็นวันนี้
ตามกำหนดของรวิสราหลังได้รับทุนการศึกษา เธอต้องเดินทางไปศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2565 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก่อน
เวลา 10.00 น. ณ ห้องพิจารณาคดี 705 ศาลได้นั่งบัลลังก์และแจ้งก่อนดำเนินการไต่สวนคำร้องว่า วัตถุประสงค์ในการนัดไต่สวนวันนี้ เพราะศาลต้องการทราบรายละเอียดเกี่ยวกับผู้กำกับดูแลของรวิสราทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและประเทศเยอรมนี โดยต้องการให้ผู้กำกับดูแลทั้งสองคนสามารถติดต่อสื่อสารกันได้ อีกทั้งต้องการให้ผู้ปกครองช่วยติดต่อกับผู้กำกับดูแลทั้งสองอีกทางหนึ่งด้วย
พยานปากที่ 1: รวิสรา เอกสกุล (ผู้ร้อง)
รวิสราแถลงต่อศาลว่า นายประกัน (สงวนชื่อและนามสกุล) และเสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลที่ 1 ในคดีนี้ เป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคณะที่ตนศึกษาจบมา ในคดีนี้ อาจารย์ได้มาสังเกตการณ์และติดตามอย่างใกล้ชิดตั้งแต่การรับทราบข้อกล่าวหา เนื่องจากมีนิสิตจุฬาฯ ถูกดำเนินคดีด้วย
ต่อมาในวันที่อัยการมีคำสั่งฟ้องในคดีนี้ อาจารย์ได้เดินทางไปดูแลลูกศิษย์ในวันนั้นด้วย และได้เสนอตัวเป็นนายประกันให้รวิสรา เนื่องจากเธอยังไม่มีนายประกัน อาจารย์จึงได้ทำหน้าที่เป็นนายประกันให้กับรวิสราในคดีนี้ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
หลังจาก อาจารย์เป็นนายประกันในคดีนี้ รวิสราก็จะคอยส่งข่าวคราวให้เป็นระยะๆ และเมื่อรวิสราได้รับคัดเลือกให้ได้รับทุนการศึกษาไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนี รวิสราก็ได้แจ้งกับอาจารย์เป็นคนแรกและได้พูดคุยกันถึงความกังวลเกี่ยวกับเงื่อนไขที่ศาลห้ามเดินทางออกนอกประเทศ โดยอาจารย์ได้แนะนำเกี่ยวกับการศึกษาต่อและให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ อาจารย์ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการที่เธอได้รับทุนการศึกษาให้ไปศึกษาต่อยังประเทศเยอรมนีในครั้งนี้แต่อย่างใด
ต่อมาศาลได้ถามถึงเหตุผลที่เลือก “ชัช ขำเพชร” เป็นผู้กำกับดูแลที่ 2 โดยรวิสราแถลงว่าชัชเป็นนักวิจัยระดับศึกษาปริญญาเอกที่สถาบันกฎหมายระหว่างประเทศวัลเธอร์ชึคกิ้ง ที่ประเทศเยอรมนี เหตุผลที่เสนอชื่อชัชเป็นผู้กำกับดูแลคนที่ 2 ต่อศาล เนื่องจากได้รับการแนะนำมาจากอาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายมหาชน คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งรู้จักกันมาก่อน เนื่องจากครั้งหนึ่งเคยได้เรียนภาษาเยอรมันด้วยกัน
จากนั้น รวิสราจึงได้ลองติดต่อกับชัช เพื่อร้องขอให้เป็นผู้กำกับดูแลในคดีนี้ โดยแจ้งให้ทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับหน้าที่ของผู้กำกับดูแลและเอกสารที่ต้องจัดเตรียม โดยเบื้องต้นทราบว่าชัชจะพำนักอยู่ที่ประเทศเยอรมนีอีกประมาณ 1-3 ปี
รวิสราได้แถลงต่อศาลเพิ่มเติมว่า หลังยื่นคำร้องขอไปศึกษาต่อครั้งล่าสุด และศาลมีคำสั่งให้ผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลนำเอกสารส่วนบุคคลต่างๆ ไปขอการรับรองจากสถานทูตไทยประจำประเทศเยอรมนีเพิ่มเติมด้วยนั้น ชัชได้แจ้งกลับมาว่าจำเป็นจะต้องทำการนัดหมายล่วงหน้ากับสถานทูตไทยตามลำดับก่อน โดยเมื่อเข้าไปดูลำดับนัดหมายแล้วพบว่า ลำดับนัดหมายที่เร็วที่สุดอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม ปี 2565
รวิสราจึงได้ร้องขอต่อศาลว่า จะขอส่งเอกสารดังกล่าวในภายหลัง โดยหากศาลอนุญาตให้ส่งเอกสารในภายหลังได้ ชัชจะดำเนินการในขั้นตอนต่อไปทันที โดยศาลตอบรับว่าจะขอไปพิจารณาดูก่อน
พยานปากที่ 2: นายประกัน – ยันวริสราปฏิบัติตามคำสั่งศาลอย่างเคร่งครัด ไม่เห็นเหตุผลที่ต้องทิ้งโอกาสเรียนต่อ แจงเข้าใจดีว่าศาลลำบากใจ เพราะต้องการสร้างมาตรฐานออกนอกประเทศ
นายประกัน (สงวนชื่อและนามสกุล) และผู้เสนอตัวเป็นผู้กำกับดูแลคนที่ 1 ในคดีนี้ แถลงต่อศาลว่า ตนประกอบอาชีพเป็นอาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก่อนหน้านี้เคยเป็นนายประกันให้กับนิสิตจุฬาฯ ที่ถูกดำเนินคดีทางการเมืองหลายคน แต่ทั้งนี้รวิสราไม่ได้มีคุณสมบัติที่ตนจะเป็นนายประกันให้ เนื่องจากจบการศึกษาไปแล้ว
แต่เนื่องจากในคดีนี้มีนิสิตปัจจุบันของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ถูกดำเนินคดีด้วย 1 ราย ตนจึงเดินทางไปสังเกตการณ์และติดตามตั้งแต่การรับทราบข้อกล่าวหา และในวันที่พนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีนี้ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้ ตนเห็นว่ารวิสราไม่มีนายประกันจึงได้เสนอตัวเองเป็นนายประกัน แม้รวิสราจะเป็นบัณฑิตของคณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และไม่ได้เป็นศิษย์ปัจจุบันแล้ว แต่ตนมีความมั่นใจในตัวของเธอว่าเป็นคนดี มีความตั้งใจ และรักความยุติธรรม ในความเห็นของตน รวิสราเป็นเด็กที่มีนิสัยเรียบร้อย ขี้เกรงใจ ตรงไปตรงมา และมีความจริงใจ
ก่อนจะตัดสินใจเป็นนายประกันให้กับรวิสรา ตนได้สอบถามเกี่ยวกับประวัติการศึกษาระดับอุดมศึกษาที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังได้ไปพูดคุยกับอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาของรวิสราเมื่อครั้งยังเป็นนิสิตอยู่ โดยอดีตอาจารย์ที่ปรึกษาได้ยืนยันว่ารวิสรามีความประพฤติดี ตั้งใจเล่าเรียน
อาจารย์แถลงกับศาลเพิ่มเติมอีกว่า ไม่รู้จักกับนายชัช ขำเพชร ผู้เสนอตัวเป็นกำกับดูแลคนที่ 2 ซึ่งอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี หากศาลต้องการให้ติดต่อสื่อสารกันในฐานะผู้กำกับดูแลระหว่างที่รวิสราเดินทางไปศึกษาต่อ ตนก็มีความยินดีและไม่ได้ติดขัดในเรื่องใด อาจารย์แถลงอีกว่า เข้าใจดีว่าในคดีนี้ศาลมีความลำบากใจ เนื่องจากต้องการสร้างมาตรฐานในการขออนุญาตเดินทางออกนอกราชอาณาจักร โดยเฉพาะคดีตามมาตรา 112 ซึ่งเป็นคดีเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ แต่ “สิ่งที่สำคัญที่สุดของการเป็นครู คือการสร้างอนาคตให้กับผู้เรียน” ที่ผ่านมาตนได้พยายามผลักดันให้นิสิตหลายคนได้รับทุนการศึกษาเพื่อเล่าเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น และพบว่าทุกคนต่างก็มีชีวิตที่ดีขึ้นจากเดิมทั้งนั้น ฉะนั้นตนจึงไม่เห็นเหตุผลใดเลยที่รวิสราจะต้องโยนทิ้งโอกาสในการไปเรียนต่อครั้งนี้ ในฐานะผู้ใหญ่คนหนึ่งตนพร้อมจะสนับสนุนอย่างสุดความสามารถให้รวิสราได้ไปเรียนต่อ และมีอนาคตที่ดีขึ้นตามที่ตั้งใจไว้
สุดท้าย อาจารย์แถลงเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่รวิสราถูกกล่าวหาในคดีนี้ก็ได้เดินทางมาศาลตามนัดหมายทุกครั้ง และเมื่อศาลร้องขอเอกสารใดๆ เพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณา รวิสราก็ได้จัดการหามาให้โดยทันทีและครบถ้วน โดยไม่ได้ใช้วิธีที่ผิดกฎหมายหรือหลบหนีและหลบเลี่ยงแต่อย่างใด จึงมั่นใจว่าหากศาลอนุญาตให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี รวิสราจะยังคงปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ศาลกำหนดต่อไปอย่างแน่นอน
พยานปากที่ 3: ธนชาติ เอกสกุล (บิดาของรวิสรา) – ขอโอกาสให้ลูกสาวเรียนต่อ แจงความฝันของคนที่เรียนภาษาเยอรมันมาทั้งชีวิตคือการได้ไปเรียนที่เยอรมันสักครั้ง
บิดาของรวิสราแถลงว่า ลูกสาวเป็นเด็กที่มีความขยัน ตั้งใจเรียนหนังสือ ภูมิลำเนาเดิมของครอบครัวนั้นอาศัยอยู่ที่จังหวัดลพบุรี แต่รวิสรามีความมุ่งมั่นตั้งใจที่จะสอบเข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาตอนปลายที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา กรุงเทพฯ โดยการสอบคัดเลือกครั้งแรกนั้นรวิสราไม่ผ่านการคัดเลือก ในปีต่อมาจึงเข้ารับการสอบคัดเลือกอีกครั้งจนผ่านการคัดเลือก สามารถเข้าเรียนต่อในสายการเรียนเอกภาษาเยอรมันได้ เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการเรียนอย่างมาก
เมื่อรวิสราเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 เธอได้สมัครสอบคัดเลือกและได้เข้าศึกษาต่อในสาขาวิชาภาษาเยอรมัน ที่จุฬาลงกรณ์หาวิทยาลัย และเมื่อจบการศึกษาในระดับอุดมศึกษา รวิสราตัดสินใจหางานทำเพื่อฝึกประสบการณ์ก่อนสัก 1 ปี แล้วจึงจะค่อยยื่นขอทุนการศึกษาไปเรียนต่อที่ประเทศเยอรมนี แต่ต่อมาถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ในคดีนี้เสียก่อน จึงเพิ่งได้มีเวลายื่นขอทุนการศึกษาจนได้รับคัดเลือกให้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนีในครั้งนี้
บิดาของรวิสราแถลงยืนยันว่า การที่ลูกสาวเพิ่งยื่นขอทุนการศึกษาในช่วงเวลานี้ ไม่ใช่เพราะมีเจตนาจะหลบหนีจากการถูกดำเนินคดีมาตรา 112 แต่อย่างใด แต่เป็นความตั้งใจที่มีมาก่อนหน้านี้แล้ว และได้บอกอีกว่า “ความฝันของคนที่เรียนภาษาเยอรมันมาตลอดทั้งชีวิต คือการได้ไปเรียนที่ประเทศเยอรมันจริงๆ สักครั้ง”
รวิสราเป็นคนที่รักษ์โลกและสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อม จึงได้สมัครคัดเลือกเข้ารับทุนการศึกษาเพื่อศึกษาต่อในระดับปริญญาโท ในสาขาการจัดการองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร และขอให้ศาลได้อนุญาตให้รวิสราได้ไปศึกษาต่อที่ประเทศเยอรมนี
บิดาของรวิสราได้บอกกับศาลอีกว่า จริงอยู่ที่ลูกสาวถูกกล่าวหาว่ากระทำความผิดตามมาตรา 112 แต่ในขณะนี้ความผิดดังกล่าว ศาลยังไม่ได้ถูกตัดสินว่ากระทำผิดจริง ฉะนั้นจึงไม่เป็นการยุติธรรมหากจะตัดสิทธิ์ไม่ให้เธอไปศึกษาต่อ เพียงเพราะว่าถูกดำเนินคดีนี้ จึงขอให้ศาลได้ใช้ดุลยพินิจและให้การถูกกล่าวหาเป็นเรื่องของกระบวนการยุติธรรมที่จะต้องพิสูจน์กันในชั้นศาลต่อไป
เวลา 11.30 น. หลังดำเนินการไต่สวนพยานทั้ง 3 ปากแล้วเสร็จ ศาลได้แจ้งว่าให้รอฟังคำสั่งภายในวันนี้
ศาลยกฟ้องคำร้อง ชี้คุณสมบัติผู้กำกับดูแลทั้งสองคนยังไม่เป็นไปตามระเบียบศาลยุติธรรม
เวลา 17.30 น. นายสันติ ชูกิจทรัพย์ไพศาล รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้ ได้มีคำสั่งยกคำร้องของรวิสรา โดยระบุเหตุผล
“พิเคราะห์คำร้องของจำเลยที่ 11 แล้ว เห็นว่า ตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว…พ.ศ. 2561
ข้อ 4 ผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มิใช่บุคคลตามข้อ 5 ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้ที่รู้จักผู้ถูกปล่อยชั่วคราวเป็นอย่างดีและผู้ถูกปล่อยชั่วคราวให้ความเคารพเชื่อฟัง หรือเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนที่ผู้ถูกปล่อยชั่วคราวมีที่อยู่อาศัยให้ดูแลรักษาความสงบเรียบร้อย และ (2) เป็นผู้สมัครใจ มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลมอบหมาย
ข้อ 5 ผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราวที่มีหน้าที่ในการให้คําปรึกษาเพื่อป้องกันการหลบหนี หรือภัยอันตรายหรือความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นในระหว่างที่ได้รับการปล่อยชั่วคราว ต้องมีคุณสมบัติ ดังต่อไปนี้
(1) เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการให้คําปรึกษา หรือผ่านการอบรม การให้คําปรึกษาทางจิตสังคมตามหลักสูตรที่สํานักงานศาลยุติธรรมจัดหรือรับรอง และ (2) เป็นผู้สมัครใจ มีความพร้อมและเหมาะสมที่จะปฏิบัติหน้าที่ตามที่ศาลมอบหมาย
ข้อ 6 บุคคลต่อไปนี้ต้องห้ามเป็นผู้กํากับดูแลผู้ถูกปล่อยชั่วคราว…(2) ผู้ประกัน บุคคลซึ่งเป็นหลักประกัน หรือบุคคลซึ่งเป็นเจ้าของหลักประกันในการขอปล่อยชั่วคราว
ดังนั้นเมื่อบุคคลที่จำเลยที่ 11 ได้แสดงต่อศาล เพื่อขอให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว คือรองศาสตราจารย์ดร.แพร จิตติพลังศรี เป็นผู้ประกันจำเลยที่ 11 ในคดีนี้ จึงเป็นบุคคลต้องห้ามตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมดังกล่าว
ส่วนนายชัช ขำเพชร ซึ่งจำเลยที่ 11 ประสงค์ให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวขณะไปศึกษาและพักอาศัยที่ประเทศเยอรมนี จำเลยที่ 11 เบิกความตอบศาลว่าตนเองมิได้รู้จักนายชัช เพียงแต่อาจารย์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป็นเพื่อนกับพี่สาวจำเลยที่ 11 แนะนำให้ทราบถึงบุคคลที่คิดว่าจะเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวได้ในระหว่างที่พักอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี จำเลยที่ 11 จึงติดต่อนายชัชเพื่อขอให้เป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกกปล่อยชั่วคราว จึงน่าเชื่อว่านายชัชเองก็ไม่ได้รู้จักจำเลยที่ 11 เป็นอย่างดีเช่นกัน เท่ากับว่านายชัชมิได้มีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยที่ 11 ตามข้อ 4 ของระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมดังกล่าว
ในชั้นนีจึงยังไม่มีบุคคลที่เหมาะสมมีคุณสมบัติตามระเบียบคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรมว่าด้วยคุณสมบัติ ลักษณะต้องห้าม การแต่งตั้ง และการปฏิบัติหน้าที่ของผู้กำกับดูแลผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราว…พ.ศ. 2561 ในอันที่จะกำกับดูแล หรือให้คำปรึกษา หรือคอยกำชับ หรือตักเตือนให้ผู้ถูกปล่อยตัวชั่วคราวปฏิบัติตามเงื่อนไขของศาลอย่างเคร่งครัด และป้องกันการหลบหนีของจำเลยที่ 11 ในระหว่างที่จำเลยที่ 11 จะเดินทางไปศึกษาและพักอาศัยอยู่ที่ประเทศเยอรมนี จึงยังไม่มีเหตุสมควรเพียงพอที่จะอนุญาตให้จำเลยเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ตามที่จำเลยที่ 11 ร้องขอ”
เรื่องที่เกี่ยวข้อง
คดี 112 – 13 ปชช.-น.ศ.-นักกิจกรรม อ่านแถลงการณ์หน้าสถานทูตเยอรมัน
การยื่นคำร้องขอเรียนต่อเยอรมันทั้ง 6 ครั้ง
ครั้งที่ 4: ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังต้องการเอกสารเพิ่มเติม หลัง “รวิสรา” ยื่นเอกสารขอไปเรียนต่อเป็นครั้งที่ 4
ครั้งที่ 5: ศาลยังให้ “รวิสรา” หาผู้กำกับดูแลที่อยู่ในไทยและเยอรมันเพิ่ม หลังยื่นขอไปเรียนต่อครั้งที่ 5
ครั้งที่ 6: ศาลนัดไต่สวน “รวิสรา” หลังยื่นขอไปเรียนต่อเยอรมันครั้งที่ 6