21 มี.ค. 2565 เวลา 9.30 น. ที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ รวิสรา เอกสกุล บัณฑิตจากคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หนึ่งในจำเลยคดีชุมนุมหน้าสถานทูตเยอรมนี เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ซึ่งถูกสั่งฟ้องในข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และมาตรา 116 ได้เข้ายื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เป็นครั้งที่ 5
รวิสราได้รับทุนไปศึกษาต่อในระดับปริญญาโทของรัฐบาลเยอรมนี The German Academic Exchange Service (DAAD) แต่ด้วยเงื่อนไขการประกันตัวของศาลทำให้ไม่สามารถเดินทางได้ โดยที่ผ่านมาเธอได้ยื่นคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อศาลแล้ว 4 ครั้ง โดยสองครั้งแรก ศาลไม่อนุญาต สองครั้งถัดมา ศาลให้ยื่นเอกสารต่างๆ เพิ่มเติม โดยครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 15 มี.ค. 2565 ศาลสั่งให้นำหนังสือของมหาวิทยาลัยที่อนุญาตให้พักหรือหยุดการศึกษาไว้ชั่วคราว เพื่อเดินทางกลับมาร่วมการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษา มายื่นต่อศาลก่อน
ในวันนี้ เธอจึงได้นำหนังสือจากมหาวิทยาลัยออสนาบรึค ประเทศเยอรมัน ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยที่รวิสราได้รับทุนให้เข้าศึกษาต่อ เข้ายื่นประกอบต่อศาลเพิ่มเติม โดยหนังสือของมหาวิทยาลัยระบุรับทราบว่าเธอถูกดำเนินคดีใน “ข้อหาหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” พร้อมได้ทราบถึงกำหนดการพิจารณาคดีของศาลในช่วงเดือนมีนาคม 2566 และได้อนุญาตให้รวิสราลาพักการศึกษาในช่วงเวลาที่มีการพิจารณาคดีและฟังคำพิพากษาได้ โดยจะไม่ส่งผลกระทบต่อการศึกษา
หนังสือจากมหาวิทยาลัยยังเน้นย้ำว่า มหาวิทยาลัยมีความสนใจเป็นอย่างยิ่งที่รวิสราจะมาเป็นหนึ่งในนักศึกษา เนื่องจากคุณค่าทางวิชาการของรวิสราเหมาะสมกับหลักสูตรมหาบัณฑิตอย่างดียิ่ง และรวิสราได้รับทุนการศึกษาจากองค์กรแลกเปลี่ยนทางวิชาการเยอรมัน (DAAD) อันเป็นการแสดงให้เห็นคุณค่าทางวิชาการระดับสูงของรวิสรา
ขณะเดียวกัน ยังเสนอให้ศาลตั้งนักวิจัยไทยท่านหนึ่ง ที่กำลังศึกษาในระดับปริญญาเอกที่สถาบันทางกฎหมายระหว่างประเทศในประเทศเยอรมนี เป็นผู้กำกับดูแลจำเลย โดยมีหนังสือยินยอมเป็นผู้กำกับดูแลของนักวิจัยรายดังกล่าว ยื่นประกอบด้วย
.
.
ต่อมาเวลา 17.00 น. ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้มีคำสั่ง โดยเห็นว่าเอกสารของมหาวิทยาลัยที่จำเลยได้รับทุนการศึกษานั้น ไม่ปรากฏว่าได้ผ่านการรับรองจากสถานทูตเยอรมันประจำประเทศไทย จึงเห็นควรให้ไปดำเนินการในส่วนนี้ให้เรียบร้อยก่อน และในคำร้องของจำเลยที่เสนอเงื่อนไขให้ศาลตั้งผู้กำกับดูแลจำเลย ในขณะไปศึกษาต่อต่างประเทศว่าจะไม่หลบหนีและจะกลับมาพิจารณาคดีตามวันเวลาที่กำหนดนัด โดยได้เสนอชื่อบุคคลนั้น เห็นว่าบุคคลที่จะมาเป็นผู้กำกับดูแลผู้ปล่อยตัวชั่วคราวของศาล ต้องเป็นบุคคลที่น่าเชื่อถือ เป็นบุคคลที่ไว้วางใจว่าจะดูแลจำเลยได้ ดังนี้ ศาลจึงให้จำเลยเสนอชื่อผู้กำกับดูแลซึ่งมีภูมิลำเนาอยู่ในประเทศไทยและมีภูมิลำเนาอยู่ประเทศเยอรมัน เช่น อาจารย์ ญาติใกล้ชิด มาให้ศาลพิจารณาเพิ่มเติมก่อน แล้วจึงพิจารณาสั่งคำร้องขอเดินทางออกนอกราชอาณาจักรต่อไป
คำสั่งลงนามโดย นางเนตรดาว มโนธรรมกิจ รองอธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญากรุงเทพใต้
ทั้งนี้ ตามกำหนดของรวิสราหลังได้รับทุนการศึกษา เธอต้องเดินทางไปศึกษาในหลักสูตรเตรียมความพร้อมตั้งแต่วันที่ 4 เม.ย. ถึง 30 ก.ย. 2565 ณ กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี ก่อน
.
.
ย้อนอ่านรายละเอียดการยื่นคำร้องแต่ละครั้งของรวิสรา
ศาลอาญากรุงเทพใต้ยังต้องการเอกสารเพิ่มเติม หลัง “รวิสรา” ยื่นเอกสารขอไปเรียนต่อเป็นครั้งที่ 4
.