ศาลให้สอบถามไปยัง รพ.ราชทัณฑ์ ถึงอาการและศักยภาพในการรักษาโควิด หลังแม่เพนกวินยื่นคำร้องขอให้ย้ายลูกไป รพ.ธรรมศาสตร์ฯ

25 สิงหาคม 2564 – วันนี้ที่ศาลอาญา รัชดาฯ มารดาของ “เพนกวิน” พริษฐ์ ชิวารักษ์ ได้เข้ายื่นคำร้องต่อศาล เพื่อขอย้ายตัวเพนกวินให้ไปรักษาอาการป่วยจากการติดเชื้อไวรัสโควิด 19 ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ เนื่องจากปรากฎชัดแล้วว่า การถูกคุมขังและรักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์นั้น อาจส่งผลให้จำเลยไม่ได้รับการรักษาอย่างดี เต็มประสิทธิภาพ โดยเฉพาะล่าสุดในขณะนี้ พบว่าปอดของเพนกวินมีฝ้าขาวขึ้น ต้องให้ออกซิเจน อีกทั้งยังเจอปัญหาเนื่องจากได้รับยาแก้หอบหืดผิดชนิด ต้องถูกคุมขังในสภาวะที่ไม่เหมาะสม

ก่อนหน้านี้ ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์เพื่อขอความอนุเคราะห์ให้ส่งตัวเพนกวินเข้ารับการรักษาโรคที่โรงพยาลาลธรรมศาสตร์ฯ เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 ต่อมา สุรีย์รัตน์ ชิวารักษ์ มารดาของเพนกวิน ยังได้เข้ายื่นหนังสือเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขอให้ย้ายตัวจําเลยมาที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด

>>> รองอธิการฯ มธ. ยื่นหนังสือราชทัณฑ์ ขอส่งตัว ‘เพนกวิน-สิริชัย’ รักษาโควิด รพ.มธ. หลังตรวจพบเพนกวินปอดเป็นฝ้า

สำหรับเนื้อหาในคำร้อง มีใจความโดยสรุปว่า คดีนี้ ศาลนัดพร้อมกําหนดวันนัดสืบพยานในวันที่ 7 กันยายน 2564 เวลา 09.00 น. แต่ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 ศาลได้มีคําสั่งเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวจําเลย

ผู้ร้องเป็นมารดาของจําเลยและเป็นผู้ประกันจําเลย ขอเรียนต่อศาลว่า ระหว่างที่จำเลยถูกคุมขังไว้ตามหมายขังของศาลหลังถูกเพิกถอนการปล่อยชั่วคราวระหว่างการพิจารณาคดี ตั้งแต่วันที่ 9 สิงหาคม 2564 จําเลยได้ติดเชื้อโควิด-19 และได้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลราชทัณฑ์ 

ผู้ร้องได้เข้าเยี่ยมจําเลยแล้วทราบว่าขณะนี้ อาการของจําเลยมีความน่าเป็นห่วงว่าจะได้รับอันตรายถึงชีวิตเนื่องจากเชื้อโรคลงปอด ประกอบกับจําเลยยังมีโรคประจําตัวเป็นโรคหอบหืดและมีน้ําหนักตัวมาก เป็นบุคคลที่มีภาวะเสี่ยงสูง ควรได้รับการรักษาจากแพทย์หรือสถานพยาบาลนอกโรงพยาบาลราชทัณฑ์ เนื่องจากโรงพยาบาลราชทัณฑ์ไม่มีความพร้อมเพียงพอ จําเลยถูกกักขังระหว่างเข้ารับการรักษารวมไว้กับจําเลยหรือผู้ต้องหาคนอื่นโดยไม่ได้แยกกันเป็นสัดส่วน ซึ่งไม่ใช่การรักษาที่ถูกต้อง

เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ซึ่งเป็นสถานศึกษาของจำเลยได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เพื่อขอให้ส่งตัวจําเลยเข้ารับการรักษาโรคที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ โดยโรงพยาบาลมีความพร้อมและยินดีรับตัวจําเลยไว้เพื่อควบคุมตัวและรักษาโรค และเมื่อวันที่ 24 สิงหาคม 2564 ผู้ร้องได้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมขอให้ย้ายตัวจําเลยมาคุมขัง ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เพื่อรักษาโรค แต่ก็ไม่ได้รับการตอบกลับแต่อย่างใด

กรณีนี้มีเหตุจําเป็นเร่งด่วน ผู้ร้องจึงร้องขอต่อศาลได้โปรดมีคําสั่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 89/1 ให้นําตัวจําเลยไปควบคุมตัวเพื่อรับการรักษา ณ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ฯ เป็นการชั่วคราว โดยอยู่ในความควบคุมของโรงพยาบาลและผู้ร้อง จนกว่าจําเลยจะได้รับการรักษาให้หายขาดจากโรคติดเชื้อดังกล่าว หากศาลเห็นสมควรไต่สวนเพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงเพียงพอแก่การพิจารณาใช้ดุลยพินิจของศาล ผู้ร้องพร้อมเข้ารับการไต่สวนเมื่อศาลมีคําสั่ง

ผู้ร้องขอเรียนต่อศาลว่า จําเลยยังคงเป็นเพียงผู้ถูกฟ้องคดี ถูกกล่าวหาเพียงเท่านั้น ยังมิได้ผ่านการพิจารณาพิพากษาของศาล การถูกฟ้องในคดีอาญาไม่ได้เป็นเหตุผลเบ็ดเสร็จว่าจําเลยจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี เป็นอุปสรรค หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวนของเจ้าพนักงาน หรือเป็นอุปสรรคหรือก่อความเสียหายในการดําเนินคดีในศาลแต่ประการใด และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นภาคี ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ในข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนข้อ 11 (1) ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมายในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จําเป็นทั้งปวงสําหรับการต่อสู้คดี”

นอกจากนี้ ในบทบัญญัติข้อที่ 50 ของ ICCPR เอง มีบทบังคับที่ชัดเจนกับรัฐภาคีว่า “บทบัญญัติของกติกานี้จะครอบคลุมทุกภาคของรัฐที่เป็นรัฐร่วมโดยปราศจากข้อจํากัดหรือข้อยกเว้นใดๆ” และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญไทย พ.ศ. 2560 กําหนดว่า ก่อนที่จะมีคําพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทําผิด ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทําความผิดไม่ได้ 

ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักการด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ จําเลยยังคงเป็นผู้บริสุทธิ์ จึงควรได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานในการรับการรักษาพยาบาลจากการเจ็บป่วยในสถานพยาบาลที่เหมาะสมเพื่อรักษาชีวิตของจําเลยไว้

ต่อมาเวลา 16.00 น. ศาลอาญามีคำสั่งให้มีหนังสือสอบถามไปยังทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์ ว่าจากการติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พริษฐ์มีอาการเจ็บป่วยอยู่ในสภาพใด และโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีศักยภาพเพียงพอที่จะรักษาอาการเจ็บป่วยได้หรือไม่ แล้วรายงานผลให้ศาลทราบ

********************

สำหรับเพนกวิน เขาถูกคุมขังตั้งแต่เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 พร้อมกับเพื่อนนักกิจรรมอีก 9 ราย เหตุสืบเนื่องมาจากการชุมนุมที่ด้านหน้า บก.ตชด. ภาค 1 เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2564 เขาถูกตรวจเจอว่าติดเชื้อไวรัสโควิด-19 เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2564 พร้อมกับเพื่อนนักกิจกรรมรายอื่น 

ในขณะนี้ มีนักกิจกรรมติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 ทั้งหมด 7 ราย โดย 2 รายล่าสุดคือ “ไมค์” ภาณุพงศ์ จาดนอก และ “บอย” ธัชพงศ์ หรือชาติชาย แกดำ ซึ่งถูกตรวจเจอว่าติดเชื้อเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2564 ใน 7 รายนี้ มีเพียง “ปูน” ธนพัฒน์ เท่านั้นที่ได้รับการประกันตัวออกมา โดยมีเงื่อนไขต้องติดกำไล EM

อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง: 

ไม่ให้ประกัน! 9 นักกิจกรรม เหตุชุมนุม #ม็อบ2สิงหา หน้า ตชด. เรียกร้องให้ปล่อยตัวกลุ่มทะลุฟ้า ศาลธัญบุรีระบุไม่เกรงกลัวกม.บ้านเมือง

‘คนในโรงพยาบาลสนามทุกข์ยาก…เหมือนเอาสัตว์มาขังไว้เฉยๆ’: เสียงสะท้อนจากฟ้า พรหมศร

บันทึกเยี่ยมไมค์ บอย และนัท: ความเสี่ยงภัยโควิดและความคับแค้นของสามนักกิจกรรม

“ที่นี่ไม่ใช่โรงพยาบาล ที่นี่มันคือคุก”: บันทึกเยี่ยมนิว แซม ฟ้า และเพนกวิน

ศาลอุทธรณ์ให้ประกัน “ปูน ธนพัฒน์” ชี้เพิ่งพ้นวัยเยาวชน-เข้ามอบตัวเอง ส่วนอีก 8 นักกิจกรรมศาลยกร้องคำร้อง ด้าน “ไผ่ จตุภัทร์” นัดไต่สวนประกัน 16 ส.ค.

X