เมื่อวันอังคาร 20 เมษายน 2564 ที่ผ่านมา ทนายความของ “ฟ้า” พรหมศร วีระธรรมจารี นักกิจกรรมทางการเมือง ได้เดินทางไปยังศาลจังหวัดธัญบุรีเพื่อยื่นคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว เป็นครั้งที่ 4 โดยวางหลักทรัพย์ประกันเป็นเงินสดจำนวน 200,000 บาท พร้อมกับคำร้องประกอบ และได้ขอให้เรียกพนักงานสอบสวนมาเพื่อไต่สวนคำร้องฯ อย่างไรก็ตาม ภายในวันเดียวกันนั้นเอง ศาลจังหวัดธัญบุรีได้มีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัวชั่วคราว โดยระบุว่า พิเคราะห์จากเนื้อหาในคำร้องประกอบแล้ว กรณียังไม่มีเหตุให้เปลี่ยนแปลงคำสั่ง ให้ยึดตามคำสั่งเดิม
สำหรับคดีความของฟ้า สืบเนื่องมาจากกรณีขึ้นปราศรัยที่ด้านหน้าของศาลจังหวัดธัญบุรี ระหว่างติดตามการจับกุมตัว “นิว” สิริชัย นาถึง เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2564 โดยถูกกล่าวหาในข้อหาหลัก คือตามมาตรา 112 ของประมวลกฎหมายอาญา ฟ้าถูกคุมขังที่เรือนจำอำเภอธัญบุรีมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ภายหลังจากที่เดินทางไปยัง สภ.ธัญบุรี เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาตามหมายเรียก
>> ศาลไม่ให้ประกันตัว “พรหมศร” หลังถูกแจ้งข้อหา ม.112 กรณีปราศรัยหน้าศาลธัญบุรี
สำหรับเนื้อหาในคำร้องประกอบการยื่นประกันของฟ้าครั้งนี้ เริ่มต้นด้วยการเท้าความถึงเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ภายหลังจากที่พนักงานสอบสวน สภ.ธัญบุรี ได้ยื่นคำร้องขอฝากขังผู้ต้องหา ต่อมา ได้มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยที่ศาลได้มีคำสั่งยกคำร้อง ต่อมาทางทนายความได้ยื่นอุทธรณ์คำร้องของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ได้มีคำสั่งยืนตามศาลจังหวัดธัญบุรี
ในการยื่นคำร้องครั้งนี้เชื่อว่ามีเหตุผลข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายหลายประการที่เชื่อว่ามีผลให้เปลี่ยนแปลงคำสั่งศาลได้ ได้แก่
- ผู้ต้องหายินยอมให้ศาลกำหนดเงื่อนไขว่า หากได้รับการประกันตัว จะต้องไม่ยุ่งเกี่ยวกับการชุมนุมที่พูดพาดพิงสถาบันฯ จะยินยอมให้มีการติดเครื่องมือติดตามตัวอิเล็กทรอนิกส์ (EM) หรือห้ามออกนอกเขตกำหนด และจะเดินทางมาตามที่ศาลนัดหมายทุกครั้ง
- ผู้ต้องหาไม่มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนีมาตั้งแต่ต้น ได้เดินทางมาพบพนักงานสอบสวนตามหมายเรียกเพื่อรับทราบข้อกล่าวหา แม้ในวันก่อนหน้า (16 มีนาคม 2564) ผู้ต้องหาจะเพิ่งประสบกับอุบัติเหตุบนท้องถนน มีบาดแผลฉกรรจ์หลายแห่ง แต่ผู้ต้องหาก็มาตามกําหนดนัดเพื่อแสดงความบริสุทธิ์ใจ เนื่องจากเชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรม
- ในการยื่นขอประกันตัวในครั้งนี้ มีการวางหลักประกันตามหลักเกณฑ์มาตรฐานที่ศาลกำหนด มีความน่าเชื่อถือ นอกจากนั้น พยานหลักฐานทั้งหมด ทางพนักงานสอบสวนก็ได้รวบรวมไว้หมดแล้ว ผู้ต้องหาไม่สามารถเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับพยานหลักฐานได้ ผู้ต้องหาเองก็มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หากไม่ได้รับการปล่อยตัวอาจทำให้ได้รับความเดือดร้อน ไม่สามารถแสวงหาหลักฐานมาเพื่อต่อสู้ในคดีได้
- การฝากขังของพนักงานสอบสวนถือว่าไม่มีเหตุผลและน้ำหนักเพียงพอ ในการไต่สวนคําร้องฝากขังครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2564 ศาลจังหวัดธัญบุรีเองก็ได้กล่าวกําชับกับพนักงานสอบสวนแล้วว่า ให้ดําเนินการรวบรวมพยานหลักฐานโดยเร็ว ปรากฏว่าผ่านไปเดือนกว่าแล้ว ก็ยังคงไม่เสร็จสิ้น เพื่อให้ได้ข้อเท็จจริงที่ถูกต้องครบถ้วนประเด็นนี้ หากศาลเห็นสมควร ขอศาลได้โปรดเรียกพนักงานสอบสวนมาทําการไต่สวนเพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจ
- สําหรับคดีอื่นๆ ของผู้ต้องหาที่ถูกกล่าวหาที่ สน. อื่น ทั้งหมดเป็นแต่เพียงการแสดงออกและการใช้สิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเท่านั้น การถูกตั้งข้อกล่าวหาเป็นเพียงการกล่าวหาของเจ้าหน้าที่ตํารวจ ยังไม่มีคดีใดที่พนักงานอัยการสั่งฟ้องคดี และยังไม่ปรากฏว่ามีศาลใดพิพากษาลงโทษ จึงต้องถือว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ หากยึดถือเพียงข้อกล่าวหาจากเจ้าหน้าที่ตํารวจเป็นเหตุผลประกอบว่า ผู้ต้องหาถูกดําเนินคดีในคดีอื่นที่มีลักษณะเดียวกันกับที่ถูกกล่าวหาในคดีนี้ และมีคําสั่งไม่อนุญาตให้ประกันตัวนั้น จะเป็นการสร้างบรรทัดฐานให้อํานาจเบ็ดเสร็จแก่เจ้าหน้าที่ของรัฐในการแจ้งข้อกล่าวหาแก่บุคคลต่างๆ แล้วนําตัวมาฝากขังแล้วอ้างเป็นเหตุให้ศาลไม่อนุญาตให้ประกัน โดยไม่มีกลไกการถ่วงดุลตรวจสอบตามหลักนิติรัฐ
ผู้ต้องหาจึงขอให้ศาลได้โปรดตรวจสอบข้อเท็จจริงในประเด็นดังกล่าวนี้ ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ต้องหา ไม่เชื่อเพียงข้อกล่าวหา กล่าวอ้างลอยๆ จากเจ้าหน้าที่รัฐ และขอศาลได้โปรดคํานึงยึดถือหลักการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้ต้องหาเป็นผู้บริสุทธิ์ คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของผู้ต้องหา และมีคําสั่งอนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว ผู้ต้องหาตามกฎหมายต่อไปด้วย
- ผู้ต้องหาขอเรียนว่า การที่ผู้ต้องหาถูกกล่าวหาในคดีที่มีโทษทางอาญาไม่ใช่เหตุผลเพียงพอว่า ผู้ต้องหาจะมีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือก่อให้เกิดความเสียหายต่อการสอบสวน และตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights – ICCPR) ซึ่งประเทศไทยได้ร่วมเป็นภาคี ต้องปฏิบัติตามกติกาดังกล่าว ในข้อ 14 (1) กล่าวว่า “บุคคลทุกคนซึ่งต้องหาว่ากระทําผิดอาญาต้องมีสิทธิได้รับการสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะพิสูจน์ตามกฎหมายได้ว่ามีความผิด” และในปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ข้อ 111 ที่ว่า “ทุกคนที่ถูกกล่าวหาว่ากระทําผิดทางอาญามีสิทธิที่จะได้รับการสันนิษฐานไว้ก่อนว่าบริสุทธิ์ จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่ามีความผิดตามกฎหมาย ในการพิจารณาคดีที่เปิดเผยซึ่งตนได้รับหลักประกันที่จําเป็นทั้งปวงสําหรับการต่อสู้คดี”
นอกจากนี้ ในบทบัญญัติข้อที่ 50 ของ ICCPR มีบทบังคับที่ชัดเจนกับรัฐภาคีว่า “บทบัญญัติของกติกานี้จะครอบคลุมทุกภาคของรัฐที่เป็นรัฐร่วม โดยปราศจากข้อจํากัดหรือข้อยกเว้นใดๆ” และมาตรา 29 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยล่าสุดปี 2560 กําหนดว่า ก่อนที่จะมีคําพิพากษาจนถึงที่สุดว่าบุคคลได้กระทําผิด ศาลหรือองค์กรของรัฐจะปฏิบัติกับบุคคลนั้นเสมือนผู้กระทําความผิดไม่ได้
ดังนั้น หากพิจารณาตามหลักสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศฯ และปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ดังกล่าวแล้ว ย่อมเห็นได้ว่าผู้ต้องหาทั้งหมดยังเป็นผู้บริสุทธิ์อยู่ ไม่อาจจะถือได้ว่ามีพฤติการณ์ตามที่พนักงานสอบสวนกล่าวหา
ในส่วนท้ายคำร้องระบุว่า หากพนักงานสอบสวนคัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวในคดีนี้ ผู้ต้องหาขอศาลได้โปรดเรียกพนักงานสอบสวนและผู้ต้องหามาไต่สวนเหตุในการคัดค้านการขอปล่อยตัวชั่วคราว ว่ามีมูลเหตุจริงเท็จเพียงใด เพื่อประกอบการใช้ดุลพินิจของศาล