รัฐบาลแพทองธาร ยังสืบทอดนโยบายให้ตำรวจติดตามประชาชนที่เคยชุมนุม-แสดงออกทางการเมือง พร้อมจัดทำรายชื่อ ‘บุคคลเฝ้าระวัง’

ในวันอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี แพทองธาร ชินวัตร ประเด็นสถานการณ์สิทธิมนุษยชนประการหนึ่งในรัฐบาลชุดนี้ที่ควรได้รับการพูดถึง คือแนวนโยบายที่เจ้าหน้าที่รัฐ โดยเฉพาะเจ้าพนักงานตำรวจ ดำเนินการติดตามสอดแนมถึงบ้านของประชาชน ที่เคยออกมาชุมนุมหรือแสดงออกทางการเมือง รวมทั้งการปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ กลับเป็นสิ่งที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นนโยบายที่มีลักษณะสืบเนื่องเรื่อยมากว่า 10 ปีแล้ว ตั้งแต่หลังรัฐประหาร 2557 ภายใต้รัฐบาลทหารของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา สืบเนื่องมาถึงรัฐบาลเพื่อไทย ทั้งในช่วงเศรษฐา ทวีสิน และรัฐบาลปัจจุบัน

ในช่วงเวลาเกือบ 7 เดือน หลังการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของแพทองธาร ชินวัตร และการแต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดนี้ (4 กันยายน 2567- 22 มีนาคม 2568) เท่าที่ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเก็บบันทึกข้อมูลได้ พบสถานการณ์การติดตามคุกคามของเจ้าหน้าที่รัฐ ต่อนักกิจกรรมและประชาชน อย่างน้อย 56 กรณี พอจะแยกลักษณะการคุกคามได้เป็น

  • กรณีเจ้าหน้าที่รัฐไปติดตามคุกคามถึงบ้านหรือสถานที่ทำงาน อย่างน้อย 26 กรณี
  • กรณีเจ้าหน้าที่รัฐปิดกั้น-แทรกแซง-รบกวนการทำกิจกรรมสาธารณะ อย่างน้อย 16 กรณี
  • การติดตามสอดแนม อย่างน้อย 6 กรณี
  • การเรียกมาพูดคุยหรือโทรติดต่อ 4 กรณี
  • การกักตัวหรือควบคุมตัวโดยมิชอบด้วยกฎหมาย อย่างน้อย 2 กรณี
  • กรณีเผชิญปัญหาเรื่องการเดินทางไปต่างประเทศ แม้ไม่ได้มีเงื่อนไขศาล อย่างน้อย 2 กรณี

.

.

มาตรการที่ตำรวจไปติดตามคุกคามถึงที่พักอาศัยประชาชน มักเกิดขึ้นในช่วงที่มีบุคคลสำคัญลงพื้นที่ ทั้งกรณีที่เป็นสมาชิกราชวงศ์ และบุคคลในคณะรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่จะไปติดตามถามข้อมูลนักศึกษา นักกิจกรรม หรือประชาชน ที่อยู่ในรายชื่อ “บุคคลเฝ้าระวัง” ในพื้นที่จังหวัดนั้น ๆ  อาจเนื่องมาจากมีประวัติการเข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง ถูกดำเนินคดีต่าง ๆ หรือแม้แต่การเคยออกมาเรียกร้องในประเด็นทรัพยากรธรรมชาติ ที่ไม่ใช่เรื่องประเด็นทางการเมืองก็ตาม

กรณีการติดตามประชาชน เพราะมีสมาชิกราชวงศ์ลงพื้นที่ ในช่วงรัฐบาลแพทองธาร อาทิ กรณีนิสิตมหาวิทยาลัยนเรศวรอย่างน้อย 2 ราย ถูกตำรวจไปพบครอบครัวถึงบ้านเนื่องจากมีเสด็จไปพิษณุโลกในช่วงปลายเดือนตุลาคม 2567, กรณีของจุฑาทิพย์ ศิริขันธ์ บัณฑิตจากธรรมศาสตร์ ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง ได้ถูกตำรวจไปติดตามถึงบ้านที่อำนาจเจริญถึง 2 ครั้งในช่วงปลายปี 2567 เนื่องจากมีการเสด็จของสมาชิกราชวงศ์ไปยังจังหวัดนครราชสีมา

.

.

กรณีของนักกิจกรรมที่จังหวัดตรังและพัทลุง ไม่น้อยกว่า 3 ราย ที่ถูกตำรวจไปติดตามถึงบ้าน ช่วงที่มีการเสด็จไปยังจังหวัดสงขลา เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ 2568 หรือกรณีของ พิภพ อุดมอิทธิพงศ์ นักแปลอิสระ ผู้ออกมาร่วมกิจกรรมยืนหยุดขังอย่างสม่ำเสมอ ถูกตำรวจมาติดตามถึงบ้านในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2568 เนื่องจากมีเสด็จเช่นกัน

นอกจากนั้น ในช่วงรัฐบาลเพื่อไทยนี้ ยังเริ่มพบกรณีเจ้าหน้าที่รัฐติดตามประชาชน ในช่วงที่ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งภายหลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ เดินทางไปยังจังหวัดต่าง ๆ อีกด้วย โดยช่วงต้นปีที่ผ่านมา ช่วงการเลือกตั้งนายกฯ อบจ. ในจังหวัดศรีสะเกษ มีรายงานกรณีประชาชนอย่างน้อย 3 ราย ที่เคยออกมาชุมนุมทางการเมือง ถูกตำรวจโทรติดต่อสอบถามความเคลื่อนไหว และบางรายถูกติดตามไปหาถึงบ้านด้วย

บางกรณีก็มีเจ้าหน้าที่ไปติดตามผู้ที่เคยเคลื่อนไหวทางการเมือง โดยไม่ทราบเหตุแน่ชัด อ้างเพียงว่าได้รับคำสั่ง “นาย” ให้มาติดตามบุคคลที่ถูก “เฝ้าระวัง” เช่น กรณีของ “นัท” ศิลปินแร็ปเปอร์วง Liberate The People และ Rap Against Dictatorship (R.A.D.) ที่ถูกตำรวจไปสอบถามข้อมูลถึงบ้านเมื่อช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หรือผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 บางราย ก็ถูกตำรวจไปติดตามถึงที่ทำงาน อ้างว่ามีคำสั่งมาจากระดับตำรวจภูธรภาค อาทิกรณีของพงศธรณ์ ตันเจริญ อดีตนิสิตมหาวิทยาลัยมหาสารคาม

ส่วนกรณีการกักตัวหรือควบคุมตัวโดยมิชอบ มีกรณีเมื่อต้นปี 2568 ที่ผ่านมา พบว่ามีกรณีของบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ที่เคยทำกิจกรรมทางการเมือง ได้ถูกเจ้าหน้าที่ตัวให้อยู่บริเวณพื้นที่ใกล้ ๆ กับตำรวจตลอดระยะเวลาพิธีรับปริญญาทั้งสองวัน แม้มีกฎหมายใดให้อำนาจให้เจ้าหน้าที่ดำเนินการลักษณะนี้

.

.

ในส่วนสถานการณ์การปิดกั้นแทรกแซงกิจกรรมสาธารณะ พบว่ามีหลายกรณีของการชุมนุมสาธารณะในช่วงรัฐบาลแพทองธาร ที่เผชิญกับปัญหาการใช้เสรีภาพการชุมนุม โดยเฉพาะการชุมนุมบริเวณใกล้ทำเนียบรัฐบาล มักเผชิญกับสถานการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจออกประกาศห้ามชุมนุมใกล้ทำเนียบฯ ในรัศมี 50 เมตร แม้การชุมนุมจะไม่กระทบต่อการรักษาความปลอดภัยสาธารณะและความสงบเรียบร้อยก็ตาม อาทิ การชุมนุมของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-move) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2567

รวมทั้งยังมีการยกประกาศห้ามการชุมนุมในรัศมี 50 เมตร ดังกล่าว ที่ออกโดยอาศัยพฤติการณ์จากการชุมนุมอื่น มาเหมารวมห้ามการชุมนุมของอีกกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้แยกแยะพฤติการณ์หรือจำนวนผู้เข้าร่วมแต่ละการชุมนุมที่แตกต่างกัน จนส่งผลเป็นการจำกัดเสรีภาพการชุมนุม เช่น กรณีการชุมนุมของเครือข่ายประชาชนไม่เอากฎหมายเขตเศรษฐกิจพิเศษ (SEC), อดีตลูกจ้างบริษัทยานภัณฑ์ ที่ชุมนุมเรียกร้องการชดเชยการเลิกจ้าง หรือแม้แต่การชุมนุมของเครือข่ายประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของปลาหมอคางดำ

รวมทั้งมีกรณีที่ตำรวจอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 เรื่องการห้ามการชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ทั้งที่คำสั่งยกเลิกไปแล้ว มาใช้ต่อการชุมนุมของกลุ่มฅนรักษ์บ้านเกิดด่านขุนทด ซึ่งคัดค้านการทำเหเหมืองแร่โปรแตซ เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2568 ที่ผ่านมาด้วย

.

ภาพตำรวจประกาศห้ามการชุมนุมใกล้ทำเนียบฯ ต่อคนงานยานภัณฑ์ (ภาพจากเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน)

.

ขณะเดียวกัน กิจกรรมในมหาวิทยาลัย ก็เผชิญกับการติดตามคุกคามจากเจ้าหน้าที่รัฐอยู่ อาทิที่กลุ่มอิสระล้อการเมือง และนักศึกษาธรรมศาสตร์หลายคนถูกตำรวจ และฝ่ายความมั่นคง ติดตามคุกคาม ในช่วงที่มีการรับปริญญา และมีกิจกรรมฟุตบอลประเพณีจุฬาฯ-ธรรมศาสตร์ ในช่วงเดือนมกราคม-กุมภาพันธ์ 2568 ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกของนักศึกษาอย่างมาก

ทั้งยังมีกิจกรรมสาธารณะอีกหลายรูปแบบที่ถูกเจ้าหน้าที่รัฐเข้าติดตามสอดส่อง อาทิ เสวนาเรื่องภาพยนตร์ “วิมานหนาม” และสิทธิของผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่มหาวิทยาลัยขอนแก่น ก็มีรายงานว่ามีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเดินทางมาในงานเสวนา ขอถ่ายใบลงทะเบียนผู้เข้าร่วม และสอบถามถึงนักกิจกรรมที่เป็นหนึ่งในผู้ร่วมเสวนาด้วย  หรือกิจกรรม “Write for Rights” ที่ร้านหนังสือ House of Commons ก็ได้มีเจ้าหน้าที่นอกเครื่องแบบเข้ามาแสดงตัว เรียกผู้ดูแลร้านไปพูดคุย ถามข้อมูลส่วนตัว รายละเอียดงาน อ้างว่ามาตรวจความเรียบร้อย พร้อมถ่ายรูปร้านไว้ด้วย

นอกจากนั้น ยังพบว่าในช่วงต้นปี 2568 ยังมีสถานการณ์ที่นักกิจกรรมประสบปัญหาการเดินทางออกนอกประเทศ เนื่องจากการถูกตำรวจส่งเรื่องระงับการออกพาสปอร์ตไปยังกรมกงสุล โดยที่ไม่ได้มีคำสั่งศาลหรือเงื่อนไขศาลแต่อย่างใด หรือมีคดีที่ติดค้างอยู่แต่อย่างใด ทำให้ต้องไปดำเนินเรื่องปลดล็อกดังกล่าว ใช้เวลาและกลายเป็นภาระของประชาชนอีกด้วย

.

.

สำหรับการจัดทำรายชื่อบุคคลเฝ้าระวัง เมื่อวันที่ 7 ก.พ. 2568 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติยังได้มีความเห็นจากการตรวจสอบกรณีของเยาวชนที่เข้าร่วมชุมนุมทางการเมือง และได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจัดทำรายชื่ออยู่ใน “กลุ่มบุคคลเฝ้าระวังพิเศษ” พร้อมมีการรวบรวมข้อมูลส่วนบุคคลและครอบครัวหลายประการ โดยเห็นว่าการดำเนินการดังกล่าวนี้ เป็นการแทรกแซงสิทธิเกินสมควรแก่เหตุ โดยไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้โดยเฉพาะในลักษณะรับรองการกระทำ รวมทั้งไม่ปรากฏหลักเกณฑ์และมาตรฐานในการกำกับการปฏิบัติงานที่รัดกุมเพียงพอไม่ว่าจะเป็นในเรื่องการกำหนดลักษณะของบุคคลที่ต้องเฝ้าระวัง หรือวิธีปฏิบัติในการติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล

ทาง กสม. ได้มีมติให้มีข้อเสนอแนะต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ  ให้ยกเลิกการจัดทำบัญชีบุคคลหรือปฏิบัติการในลักษณะเฝ้าระวังและติดตามความเคลื่อนไหวของบุคคล เพียงเพราะบุคคลดังกล่าวนั้นแสดงความคิดเห็นหรือแสดงออกทางการเมืองด้วย แต่ยังไม่มีรายงานการเปลี่ยนแปลงสถานการณ์ในเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้น

ทั้งนี้ ควรกล่าวด้วยว่าโดยโครงสร้างของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ตร.) ขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี ทำให้การเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกนโยบายรัฐที่ส่งผลกระทบต่อการใช้สิทธิเสรีภาพของประชาชนดังกล่าว สามารถสั่งการได้โดยนายกรัฐมนตรีโดยตรงอีกด้วย

.

อ่านภาพรวมสถานการณ์การติดตามคุกคามประชาชนหากมีบุคคลสำคัญลงพื้นที่เพิ่มเติม ความมั่นคงปลอดภัย “ประชาชน” อยู่ตรงไหน?: ส่องสถานการณ์ติดตามคุกคามโดยรัฐเมื่อบุคคลสำคัญลงพื้นที่

อ่านรายงานสถานการณ์การคุกคามประชาชนช่วงปี 2567 คุกคามประชาชนปี 2567 พบไม่น้อยกว่า 121 กรณี: สถานการณ์ตำรวจไปบ้าน-ติดตามบุคคลเฝ้าระวัง-คนโพสต์เรื่องสถาบันฯ ยังดำรงอยู่

X