พรุ่งนี้ (14 พ.ค. 2568) ทนายความจะยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองที่อยู่ในระหว่างการต่อสู้คดีรวมทั้งสิ้น 12 คน เพื่อยืนยันสิทธิในการประกันตัวของผู้ที่คดียังไม่ถึงที่สุด และเพื่อรำลึกเหตุการณ์เสียชีวิตระหว่างควบคุมตัวของ ‘บุ้ง’ เนติพร เมื่อปีที่ผ่านมา (14 พ.ค. 2567)
สำหรับข้อเรียกร้องของ ‘บุ้ง’ เนติพร ในการประท้วงอดอาหารและน้ำระหว่างถูกควบคุมตัวในครั้งสุดท้ายมี 2 ข้อ ได้แก่
- ปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม
- จะต้องไม่มีคนเห็นต่างทางการเมืองถูกคุมขังอีก
ในครั้งนี้ ทนายความเตรียมยื่นประกันตัวผู้ต้องขังทางการเมืองทั้งสิ้น 12 คน โดยแบ่งออกเป็นผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 จำนวน 5 คน และผู้ต้องขังในคดีอื่น ๆ ที่มีเหตุมาจากสถานการณ์ทางการเมืองจำนวน 7 คน
.
ยื่นประกันตัว 5 ผู้ต้องขังคดีมาตรา 112
สำหรับผู้ต้องขังคดีมาตรา 112 ที่ทนายความยื่นประกันตัวในครั้งนี้มีจำนวน 5 คน โดยมีผู้ที่ถูกขังในระหว่างอุทธรณ์ ได้แก่ อานนท์ นำภา, “อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน, “มานี” เงินตา คำแสน, “ขุนแผน” เชน ชีวอบัญชา, อัฐสิษฎ (สงวนนามสกุล)
อานนท์ นำภา ยื่นประกันตัว 5 คดี – ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 596 วัน (ตั้งแต่วันที่ 26 ก.ย. 2566) โดยเขาถูกขังหลังมีคำพิพากษาในคดีมาตรา 112 จากศาลชั้นต้นรวมแล้ว 7 คดี และโทษในคดีต่าง ๆ ที่ยังไม่สิ้นสุด ปัจจุบันอานนท์มีโทษจำคุกรวมกัน 20 ปี 25 เดือน 20 วัน (ประมาณ 22 ปี เศษ) ก่อนหน้านี้ในเกือบทุกคดีเคยยื่นขอประกันตัวและศาลมีคำสั่งยกคำร้องมาแล้วรวมไม่ต่ำกว่า 47 ครั้ง
“อารีฟ” วีรภาพ วงษ์สมาน ยื่นประกันตัว 1 คดี – เขาถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 594 วัน (ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย. 2566) หลังศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุก 3 ปี กรณีพ่นสีข้อความใต้ทางด่วนดินแดง ก่อนหน้านี้เคยยื่นประกันตัวและศาลยกคำร้องมาแล้ว 11 ครั้ง
“มานี” เงินตา คำแสน และ “ขุนแผน” เชน ชีวอบัญชา ยื่นประกันตัวคนละ 1 คดี – ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 300 วัน (ตั้งแต่วันที่ 18 ก.ค. 2567) หลังศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี 6 เดือน จากกรณีทำกิจกรรมหน้าศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยศาลเคยมีคำสั่งยกคำร้องมาแล้ว 4 ครั้ง
อัฐสิษฎ ยื่นประกันตัว 1 คดี – ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 441 วัน (ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ. 2567) หลังถูกพิพากษาจำคุก 2 ปี 12 เดือน กรณีถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำเพจ BackArt วาดงานศิลปะจำนวน 2 ภาพ ก่อนหน้านี้เคยยื่นประกันตัวมาแล้ว 6 ครั้ง
.
ยื่นประกันตัว 7 ผู้ต้องขังในคดีอื่น ๆ ที่มีเหตุจากสถานการณ์ทางการเมือง
สำหรับผู้ต้องขังคดีอื่น ๆ ที่เกิดจากสถานการณ์ทางการเมือง ยื่นประกันตัวในครั้งนี้ จำนวน 7 คน ได้แก่ “วิจิตร” (นามสมมติ), ประวิตร, ไพฑูรย์, สุขสันต์, คเชนทร์, ขจรศักดิ์ (สงวนนามสกุล) และ “พีรพงศ์” (นามสมมติ)
“วิจิตร” ยื่นประกันตัว 1 คดี – เขาถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 57 วัน (ตั้งแต่วันที่ 18 มี.ค. 2568) หลังศาลอาญาพิพากษาจำคุก 10 ปี และไม่อนุญาตให้ประกันตัวในคดี พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ กรณีโพสต์ข้อความ 10 ข้อความ ช่วงหลังรัฐประหาร 2557
ประวิตร ยื่นประกันตัว 1 คดี – ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 673 วัน (ตั้งแต่วันที่ 11 ก.ค. 2566) หลังถูกพิพากษาจำคุก 6 ปี 4 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาเผาป้อมตำรวจจราจรใต้ทางด่วนดินแดงในการชุมนุมเมื่อปี 2564
ไพฑูรย์ และสุขสันต์ ยื่นประกันตัวคนละ 1 คดี – ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 608 วัน (ตั้งแต่วันที่ 14 ก.ย. 2566) หลังถูกกล่าวหาว่าขว้างปาระเบิดใส่เจ้าหน้าที่ได้รับบาดเจ็บใน #ม็อบ11กันยา64 โดยสุขสันต์ถูกพิพากษาจำคุก 22 ปี 2 เดือน 20 วัน และจำคุกไพฑูรย์ 33 ปี 12 เดือน ต่อมาไพฑูรย์ถูกศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาจำคุกอีก 8 ปี ในคดีตรวจพบวัตถุระเบิดในครอบครอง
ปัจจุบันรวมโทษจำคุกของไพฑูรย์เป็น 41 ปี 12 เดือน (หรือประมาณ 42 ปี) และโทษจำคุกของสุขสันต์คือ 22 ปี 2 เดือน 20 วัน โดยครั้งนี้ทนายความจะยื่นขอประกันตัวทั้งสองคนในคดีจากเหตุ #ม็อบ11กันยา64
คเชนทร์ และขจรศักดิ์ ยื่นประกันตัวคนละ 1 คดี – ถูกขังระหว่างอุทธรณ์มาแล้ว 638 วัน (ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค. 2566) หลังศาลพิพากษาจำคุกคเชนทร์ 10 ปี 6 เดือน และจำคุกขจรศักดิ์ 11 ปี 6 เดือน ในคดีที่ถูกกล่าวหาปาระเบิดใส่อาคาร สน.พญาไท และวางเพลิงป้อมจราจรที่แยกพญาไท ในการชุมนุมเมื่อปี 2564
“พีรพงศ์” (นามสมมติ) ยื่นประกันตัว 1 คดี – ถูกขังระหว่างฎีกามาแล้ว 117 วัน (ตั้งแต่วันที่ 17 ม.ค. 2568) หลังศาลอุทธรณ์พิพากษาจำคุก 2 ปี 4 เดือน 15 วัน ในคดีถูกกล่าวหาว่าร่วมขว้างปาวัตถุระเบิดใส่ป้อมตำรวจ บริเวณแยกอโศกมนตรี ใน #ม็อบ11ตุลา64
.
อย่างไรก็ตาม ถ้าหากคำร้องขอประกันตัวถูกส่งไปยังศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกาเป็นผู้พิจารณาสั่ง จะต้องรอฟังคำสั่งในอีกประมาณ 2-3 วัน
จากการติดตามของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ปัจจุบันยังคงมีผู้ถูกคุมขังในเรือนจำจากการแสดงออกทางการเมือง หรือมีมูลเหตุเกี่ยวข้องกับการเมือง จำนวนอย่างน้อย 48 คน ซึ่งในจำนวนนี้มีผู้ต้องขังที่ไม่ได้รับการประกันตัวระหว่างการต่อสู้คดี อย่างน้อย 28 คน (เป็นคดีตามมาตรา 112 จำนวน 19 คน)
ดูรายชื่อผู้ต้องขังทางการเมือง