อัยการสั่งฟ้อง ม.112 ชายวัย 37 ปี เหตุแชร์คลิปจากยูทูบ พร้อมแคปชั่นตั้งคำถาม-วิจารณ์กษัตริย์

เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 มีความเห็นสั่งฟ้อง ‘ทีปกร’ (สงวนนามสกุล) ชายวัย 37 ปี และยื่นฟ้องต่อศาลอาญา รัชดาฯ ในข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และข้อหาตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 จากการโพสต์ข้อความและแชร์คลิปจากยูทูบ ตั้งคำถามและวิจารณ์รัชกาลที่ 10 

ชญาพร นาคะผดุงรัตน์ พนักงานอัยการ บรรยายฟ้องมีเนื้อหาโดยสรุปว่า เมื่อวันที่ 13 ต.ค. 2563 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จําเลยซึ่งเป็นผู้ใช้เฟซบุ๊ก ได้หมิ่นประมาท ดูหมิ่น หรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ นําเข้าและเผยแพร่สู่ระบบคอมพิวเตอร์ โดยการแชร์คลิปวิดีโอจากยูทูบลงในเฟซบุ๊กของจําเลย ตั้งค่าการเข้าถึงเป็นสาธารณะ ซึ่งปรากฏภาพตัดต่อข้อความว่า “กษัตริย์มีไว้ทําไม” และมีการขีดทับสีแดงบนพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่10 โดยมีข้อความหัวข้อวิดีโอที่เป็นการวิพากษ์วิจารณ์กษัตริย์ พร้อมโพสต์ข้อความว่า “#กษัตริย์มีไว้ทําไม ผู้มีบุญคุณต่อแผ่นดินคือเหล่าราษฎร…” 

อัยการเห็นว่าข้อความและคลิปดังกล่าว เป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์ อันเป็นการหมิ่นประมาท ดูหมิ่น แสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ ทําให้รัชกาลที่ 10 ทรงเสื่อมเสียพระเกียรติ ถูกดูหมิ่น ถูกลบหลู่ และมีเจตนาไม่เคารพต่อพระมหากษัตริย์ ทําลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นที่เคารพบูชาของปวงชนชาวไทยและอยู่ในฐานะที่ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นการนําเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง เผยแพร่หรือส่งต่อซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง

ทั้งนี้ อัยการไม่ได้คัดค้านการปล่อยตัวชั่วคราวจำเลยในระหว่างการพิจารณาคดี โดยให้เป็นดุลพินิจของศาล

หลังศาลรับฟ้อง และทนายความยื่นประกันตัวในชั้นพิจารณาคดี ศาลอนุญาตให้ประกันตัวด้วยเงินสด 90,000 บาท จากกองทุนราษฎรประสงค์ นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 11 เม.ย. 2565 เวลา 09.00 น.

.

สำหรับคดีนี้ ทีปกรถูกตำรวจนอกและในเครื่องแบบจาก สน.นิมิตรใหม่ และกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) ราว 10 นาย เข้าค้นบ้านพักย่านคลองสามวาพร้อมหมายค้นในช่วง 6 โมงเช้าของวันที่ 13 ส.ค. 2564 โดยไม่มีทนายร่วมกระบวนการด้วย

ในวันดังกล่าว ทีปกรได้เห็นหมายค้นเพียงครู่เดียวโดยยังไม่ทันได้อ่านรายละเอียดก่อนจะถูกตรวจค้น โดยตำรวจพยายามจะค้นหาคอมพิวเตอร์และต้องการยึดคอมพิวเตอร์ทั้งหมดที่มีในบ้านซึ่งไม่ได้เป็นของเขา แต่เขาและครอบครัวไม่ยินยอม ท้ายที่สุดทีปกรถูกยึดโทรศัพท์มือถือพร้อมให้บอกรหัสผ่านของเฟซบุ๊กและอีเมล โดยที่ไม่มีคำสั่งศาลตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ 

หลังจากได้เซ็นเอกสารบันทึกการตรวจค้นและตำรวจได้กลับไปแล้ว ทีปกรได้ติดต่อกับศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนและเข้าไปพบพนักงานสอบสวน บก.ปอท. พร้อมทนายความ เมื่อวันที่ 23 ส.ค. 2564 ในวันดังกล่าว เขาถูกแจ้งข้อกล่าวหา หมิ่นประมาทกษัตริย์ฯ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) ระบุด้วยว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมเป็นผู้แจ้งความให้ดำเนินคดี ทีปกรได้ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และไม่ได้ถูกควบคุมตัวในชั้นสอบสวน

ทีปกรเป็นประชาชนอีกคนหนึ่งซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 โดยเขาเคยเป็นเจ้าของธุรกิจร้านนวด แต่เนื่องจากธุรกิจของเขาถูกสั่งปิดโดยนโยบายของรัฐบาลหลายต่อหลายรอบในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เขาไม่สามารถแบกภาระค่าใช้จ่ายได้อีกต่อไปและต้องปิดกิจการในที่สุด

ทีปกรกล่าวว่า การที่เขาถูกดำเนินคดีเป็นการซ้ำเติมสภาวะที่ยากลำบากอยู่แล้วในปัจจุบันให้ยากลำบากยิ่งขึ้น การจะเริ่มทำงานที่ใหม่ทั้งที่ยังมีคดีความจะต้องสะสางไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก อย่างไรก็ตาม เขาเชื่อว่าการกระทำของตนเองไม่ใช่การแสดงความอาฆาตมาดร้ายและเชื่อมั่นเรื่องเสรีภาพในการแสดงออก 

หากนับตั้งแต่ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งมีการเริ่มกลับมาบังคับใช้มาตรา 112 อีกระลอก จนถึงวันที่ 15 ก.พ. 2565 พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ไปแล้วอย่างน้อย 171 คน ใน 178 คดี ในจำนวนนี้เป็นคดีที่เกี่ยวกับการแสดงความคิดเห็นบนโลกออนไลน์ จำนวน 91 คดี 

>> สถิติผู้ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 “หมิ่นประมาทกษัตริย์” ปี 2563-65

ฐานข้อมูลคดี

คดี 112 “ทีปกร” ถูก DE กล่าวหา แชร์คลิปพร้อมแคปชั่นตั้งคำถาม-วิจารณ์กษัตริย์

X