ในห้วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ จ.นครราชสีมา มีงานใหญ่ประจำปีและการมาเยือนของบุคคลสำคัญอย่าง เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ เสด็จงานฉลองวันแห่งชัยชนะของท้าวสุรนารี วันที่ 23 มี.ค. 2568 และกรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ เสด็จพระราชทานปริญญาบัตรที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ในวันที่ 25 มี.ค. 2568
ท่ามกลางบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลองของผู้คนมากมาย มีเรื่องราวจาก “บุ๊ค” วรัญญู คงสถิตย์ธรรม หนึ่งในนักกิจกรรมขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมในพื้นที่นครราชสีมา ถูกติดตามอย่างใกล้ชิดและถูกละเมิดความเป็นส่วนตัว ผ่านการจับตาการใช้ชีวิตและการเดินทางของเขาอย่างต่อเนื่องถึง 3 วัน แม้จะเคยเจอเรื่องราวลักษณะเดียวกันมาก่อนหน้า แต่เหตุการณ์ทั้งหมดสร้างความรู้สึกไม่ปลอดภัยให้กับบุ๊คอีกครั้ง และยิ่งน่ากังวลหากการละเมิดสิทธิเสรีภาพเช่นนี้เกิดขึ้นภายใต้การอ้างเหตุผลด้านความมั่นคงของรัฐ
_________
ช่วงเช้าของวันที่ 23 มี.ค. 2568 เริ่มต้นอย่างไม่สงบสำหรับบุ๊ค วันที่เขาเตรียมออกไปทำงานตามปกติ แต่พี่สาวกลับเดินมาหาด้วยความกังวล บอกว่ามีคนแปลกหน้าขับรถคล้ายรถตำรวจมาสอบถามถึงตัวเขา
“ผมสังเกตเห็นรถกระบะและมอเตอร์ไซค์ขับวนเวียนในละแวกบ้าน” บุ๊คเล่าถึงการถูกเฝ้ามองที่ครอบครัวของเขาคุ้นเคยมานานหลายปี “พอจะออกไปทำงานที่ร้านซึ่งห่างจากบ้านไป 4 กิโลเมตร ก็พบว่ามีคนมาเฝ้าทั้งหน้าซอยและหลังซอย”
แม้พยายามใช้ชีวิตตามปกติโดยการขับรถออกไปทำงาน แต่เงาที่ตามติดไม่ห่างทำให้เขารู้สึกอึดอัด ตลอดวันนั้นและวันต่อมาเขาสัมผัสได้ถึงสายตาที่จับจ้องแม้ในยามค่ำคืนที่ออกไปทานอาหารกับเพื่อน
จนถึงเช้าวันที่ 25 มี.ค. บุ๊คกลับมาถึงบ้านหลังจากทำงานหนักตลอดคืน ต้องการเพียงการพักผ่อน แต่สิ่งที่เขาพบคือชาย 2 คน ยืนเฝ้าอยู่แถวทางเข้าบ้าน
ด้วยความรำคาญแต่พยายามไม่สนใจ บุ๊คขับรถออกไปซื้ออาหารเช้า แต่ชายทั้งสองก็ตามมาติด ๆ ความอดทนของบุ๊คจึงถึงขีดสุด เขารู้สึกทนไม่ไหวและตัดสินใจที่จะไปแจ้งความ จึงจอดรถหน้าบ้านและถ่ายภาพกลุ่มคนเหล่านั้นไว้เป็นหลักฐาน แต่สถานการณ์กลับแย่ลง “หนึ่งในสองคนนั้นจอดรถ ถอดหมวกกันน็อค และเดินเข้ามาตะคอกผม” บุ๊คเล่าด้วยน้ำเสียงสั่นไหว “เขาบอกว่า ‘นี่กูไปเฝ้าไอ้เตอร์ (มกรพงษ์) มันยังทำตัวน่ารักกว่ามึงนะ มึงอย่ามาเก๋าใส่กู’ แล้วก็ด่าทอต่าง ๆ ต่อหน้าเพื่อนบ้าน”
บุ๊คพยายามสอบถามถึงเหตุผลที่ถูกติดตาม แต่กลับได้รับคำตอบว่า “เป็นแฟนคลับที่คอยติดตาม” คำตอบที่ฟังแล้วชวนให้ขบขัน หากไม่มีการคุกคามอย่างชัดเจน
ด้วยความกังวลว่าสถานการณ์อาจลุกลามบานปลาย บุ๊คจึงโทรหาตำรวจสายตรวจ ซึ่งมาถึงหลังจากนั้นอีกราว 20-30 นาที ระหว่างที่รอ ชายคนที่พยายามเข้ามาหาเรื่องก็ยังคงอยู่ไม่ห่างจากบุ๊ค “เจ้าหน้าที่ตำรวจบอกว่าจะติดตามเรื่องนี้ให้ แต่ไม่ได้ดำเนินการอะไรกับคนเหล่านั้น” บุ๊คกล่าว
ความผิดหวังปรากฏชัดในน้ำเสียงบุ๊ค “ผมสันนิษฐานว่าพวกเขาไม่ใช่ตำรวจ แต่เป็นคนที่ทำงานให้กับตำรวจ” บุ๊คตัดสินใจเดินเข้าบ้าน ก่อนจะพบว่ามีตำรวจตามมาอีก 3 นาย จึงเดินออกไปคุยอีกครั้ง “ผมระบายออกไปว่าการกระทำแบบนี้มันล้ำเส้นเกินไป แค่การมานั่งเฝ้าก็ทำให้ถูกละเมิดสิทธิความเป็นส่วนตัวอยู่แล้ว”
และในเช้าวันเดียวกัน เวลาประมาณ 08.00 น. บุ๊คขับรถมอเตอร์ไซค์ไปที่ สภ.โพธิ์กลาง ซึ่งห่างจากบ้านราว 2 กิโลเมตร เพื่อลงบันทึกประจำวันเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น “ผมแจ้งรายละเอียดกับร้อยเวรที่รับเรื่อง แต่ต่อมาพบว่ามีตำรวจหลายนายทยอยเข้ามาคุย” บุ๊คเล่า “จนกลายเป็นว่าผมต้องมาพูดเรื่องเดิมซ้ำไปซ้ำมา เหมือนการรั้งตัวไว้” กว่าจะได้ลงชื่อในบันทึกประจำวันก็เป็นเวลาประมาณ 11.00 น. ทั้งที่วันนั้นบุ๊คเป็นประชาชนคนแรก ๆ ที่เข้าไปแจ้งความที่สถานีตำรวจ
ในระหว่างนั้น เขาถามตรงไปตรงมาว่า ต้องถูกรั้งตัวไว้ถึงกี่โมง ตำรวจบอกว่าช่วงบ่ายโมง นั่นเป็นช่วงเวลาใกล้เคียงกับที่กรมสมเด็จพระเทพฯ จะเสด็จกลับ “มีตำรวจเข้ามาคุยกับผมเรื่อย ๆ ส่วนใหญ่มาสอบถามถึงเจตนาการเคลื่อนไหวของกลุ่ม Korat Movement” เขาเล่า
สำหรับบุ๊ค กรณีของเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์ฯ ที่จะเสด็จนั้น เขาไม่รับรู้มาก่อน ส่วนกรณีของกรมสมเด็จพระเทพฯ เขาทราบเพราะเป็นงานรับปริญญาที่ต้องเสด็จประจำทุกปี แต่ไม่ได้อยู่ในความสนใจ
“ขบวนเสด็จไม่ได้อยู่ในความสนใจของผมเลย” บุ๊คย้ำชัดเจน “หากจะมีการไปที่ขบวนเสด็จ มันคือการเดินทางไปเพื่อตอบโต้สิ่งที่ตำรวจทำกับนักกิจกรรมในโคราช เช่น การที่เราโดนล้อม หรือถูกติดตาม”
เขาเล่าว่า ก่อนหน้านี้วิธีการตอบโต้คือการสื่อสารผ่านเฟซบุ๊ก เล่าถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้น “บางครั้งก็ไปนั่งดูขบวนเสด็จ ทำให้พวกเขาร้อนรนกันหมด เป็นการตอบโต้ของผม ก่อนมีวิธีการใหม่คือการไปแจ้งความ”
อย่างไรก็ตาม เมื่อสอบถามไปยัง “เตอร์” มกรพงษ์ ก็พบว่า ในช่วงเดียวกันนี้เตอร์ไม่ได้ถูกติดตามตัวอย่างที่คนที่มาด่าทอบุ๊คกล่าวอ้างแต่อย่างใด
ก่อนหน้านี้ ในพื้นที่นครราชสีมา บุ๊คเคยถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการจัดกิจกรรมเรียกร้องทางการเมือง 3 คดี และคดีมาตรา 112 อีก 1 คดีที่ยังอยู่ในชั้นสอบสวน ปัจจุบันบุ๊คทำเพลงและทำงานที่บาร์แห่งหนึ่งในตัวจังหวัด
“ไม่ว่าจะเจอมากี่การคุกคามตลอด 5 ปีที่ผ่านมา ผมก็ยังไม่ชิน” บุ๊คกล่าวอีกตอน “ปีก่อน ๆ ผมเคยขับรถมอเตอร์ไซค์ล้มในขณะถูกขับจี้มาก ๆ ยังรู้สึกหลอนระแวงไปหมด”
ไม่เพียงแต่ตัวเขา ครอบครัวของบุ๊คก็ได้รับผลกระทบไม่น้อย “คนที่บ้านจะรู้สึกไม่ดีตลอด โดยเฉพาะการมาของทั้งบุคคลในเครื่องแบบและนอกเครื่องแบบ ทั้งเที่ยวสอบถามจากเพื่อนบ้านว่าผมอยู่ที่ไหน หลานบ้านนี้เป็นคนยังไง ทำให้คนแถวนี้ตกใจ”
บุ๊คกล่าวทิ้งท้ายด้วยความรู้สึกค่อนข้างแย่ “ยิ่งมีคนเข้ามาด่าถึงบ้าน ผมเห็นว่าเป็นเรื่องที่แย่มาก และคนทั่วไปเขาไม่ทำ ยิ่งเรื่องนี้เกิดจากรัฐยิ่งเป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น”
.
อ่านเนื้อหาที่เกี่ยวข้อง
ความมั่นคงปลอดภัย “ประชาชน” อยู่ตรงไหน?: ส่องสถานการณ์ติดตามคุกคามโดยรัฐเมื่อบุคคลสำคัญลงพื้นที่